“ภาษา” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางความคิดและอารมณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ภาษายังถูกใช้เพื่อการจดบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ และสิ่งอื่น ผ่านรูปเขียนที่เรียกว่า “อักษร” เพื่อให้คนรุ่นหลังรับรู้และเกิดความเข้าใจในสิ่งที่คนรุ่นก่อนต้องการสื่อสาร อีกทั้งภาษายังเป็นเครื่องมือเพื่อการธำรงวัฒนธรรมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เช่นเดียวกับ “อักษรไทน้อย” อักษรท้องถิ่นที่ผู้คนในวัฒนธรรมไทยลาวใช้บันทึกเรื่องราวทั้งคดีธรรมและคดีโลก เช่น ประวัติศาสตร์ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำรายา ตำราพิธีกรรม โหราศาสตร์ นิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมคำสอน มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 มีการค้นพบใบลาน หนังสือผูก คัมภีร์ต่างๆ ที่เป็นอักษรไทน้อยในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน พบการเก็บรวบรวมใบลานที่บันทึกเรื่องราวในอดีตด้วยอักษรไทน้อยและอักษรตัวธรรมเป็นจำนวนมาก

อย่างในชุมชนท่าม่วง ต.ท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นอีกหนึ่งชุมชนลาวอพยพที่มาอาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำชี และพบว่ามีใบลานที่จดบันทึกด้วยอักษรไทน้อย และอักษรตัวธรรมอยู่จำนวนมาก ซึ่งภายหลังจากการเก็บรวบรวมและบันทึกข้อมูลโดยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่ามีการบันทึกตำรายาพื้นบ้านอีสาน นิทานคำสอนในพระพุทธศานา และวรรณกรรมท้องถิ่นหลายเรื่อง

The Isaan Record ร่วมกับโครงการวิจัยการเสริมสร้างศักยภาพทางวัฒนธรรมสู่นวัตกรรมชุมชนเพื่อความยั่งยืน (พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2569) โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ออกเดินทางไปยังชุมชนท่าม่วง เพื่อพบกับแหล่งเก็บรวบรวมคัมภีร์โบราณ หนังสือผูก และใบลานอีสาน ที่มีการบันทึกข้อมูลด้วยอักษรตัวธรรมและอักษรตัวไทน้อย ทำความรู้จักอักขระภาษาที่มีมาแต่เก่าก่อน และเรื่องราวการอพยพย้ายของผู้คนสองฝั่งโขงได้ในบทความนี้

ภาษาร่วมรากของผู้คนสองฝั่งโขง

ข้อมูลบางส่วนจากการสืบค้น อธิบายว่า อักษรไทน้อย (บ้างสะกดเป็น ไทยน้อย) ในภาคอีสานของไทยเรียก โตไทน้อย ส่วนในประเทศลาวเรียก อักษรลาวบูราณ (บูราณ แปล. โบราณ) หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า อักษรอีสาน เป็นอักษรตระกูลพราหมีที่เคยใช้ในลาวและอีสานช่วงประมาณ ค.ศ. 1500 อย่างตัวอักษรลาวในปัจจุบันก็สืบทอดอักขรวิธีโดยตรงจากอักษรชนิดนี้ ส่วนในอีสานของประเทศไทย ปัจจุบันถูกยกเลิกให้ใช้ เพราะนโยบายการแผลงเป็นไทยของรัฐบาลไทยที่กำหนดให้วัฒนธรรมไทยสยามเป็นวัฒนธรรมหลักเท่านั้น  

อธิบายเพิ่มเติม “การแผลงเป็นไทย” เป็นกระบวนการผสมกลมกลืนให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยสยามของประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติกำเนิดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยกระบวนการนี้ได้เกิดขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือตอนที่สยามกำลังสร้างรัฐชาติไทย ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมภาษาก็ถูกกำหนดให้อยู่ในกรอบเกณฑ์แบบไทยสยามเช่นกัน คือการบังคับให้ใช้อักขระภาษา “อักษรไทย” เพียงเท่านั้น

ณัชวินนท์ แสงศรีจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อธิบายหลักฐานทางภาษาและลักษณะภาษาท้องถิ่นอีสานและลาว ที่มีวัฒนธรรมร่วมรากทางภาษามาจากอาณาจักรล้านช้างไว้ว่า 

“หลักฐานทางจารึกและเอกสารโบราณประเภทต่างๆ ที่พบในภาคอีสานรวมทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ที่เรียกกันว่าอาณาจักรล้านช้างซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่หลวงพระบางและเวียงจันทน์) กล่าวได้ว่า อักษรท้องถิ่นที่กลุ่มคนวัฒนธรรมไทยลาวใช้บันทึกเรื่องราวทั้งคดีธรรมและคดีโลก

“เช่น ประวัติศาสตร์ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำรายา ตำราพิธีกรรม โหราศาสตร์ นิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมคำสอน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาคืออักษร 2 ชนิด คือ อักษรธรรมล้านช้าง (บ้างก็เรียกอักษรธรรมอีสานหรืออักษรธรรมลาว) และอักษรไทน้อย”

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และภาษา อย่าง ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่าอักษรไทน้อยมีรูปสัณฐานเหมือนกับอักษรไทยและลาวในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีรูปลักษณะเหมือน “อักษรฝักขาม” ที่ปรากฏในภาคเหนือของไทย 

“อักษรฝักขามมีรูปลักษณะยาวซึ่งกลายมาจากตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหง มีรูปลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรไทน้อยของอีสานและลาว ต่อมาลาวเปลี่ยนชื่อจาก อักษรไทน้อย เป็น อักษรลาว” 

อย่างไรก็ตามมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และข้อสันนิษฐานจากการเดินทางเผยแผ่พระศาสนาของพระสงฆ์ในยุคหนึ่ง ที่สามารถสนับสนุนคำอธิบายข้างต้น โดยชุดข้อมูลของ ธวัช ปุณโณทก นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรม ที่อธิบายว่า

“อักษรไทน้อยมีพัฒนาการมาจากอักษรไทยสุโขทัย ที่เข้ามาแพร่หลายในอาณาจักรล้านช้างและภาคอีสานนั้น น่าจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ อักษรไทยน้อยแพร่เข้าสู่อาณาจักรล้านช้างโดยตรง และอักษรไทยสุโขทัยที่แพร่เข้ามายังอาณาจักรล้านนาก่อน แล้วจึงแพร่เข้าสู่อาณาจักรล้านช้าง

“ดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ชัดว่า พระเจ้ากือนาแห่งอาณาจักรล้านนาทรงส่งราชฑูตมานิมนต์พระสุมนเถระจากอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพระยาลิไทย เพื่อไปเผยแผ่พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ที่อาณาจักรล้านนา ซึ่งพระสุมนเถระได้นำคัมภีร์ศาสนาเข้ามาด้วย 

“อักษรไทยสุโขทัยจึงน่าจะแพร่เข้ามาในครั้งนี้ ซึ่งในภายหลังรูปแบบของตัวอักษรได้มีวิวัฒนาการและแตกต่างไปจากเดิมมาก เรียกชื่อใหม่ว่า อักษรไทน้อย ถูกใช้กันอย่างกว้างขวางในดินแดนลุ่มน้ำโขง และแพร่เข้าสู่ภาคอีสานนับแต่นั้นมา 

“ตามหลักฐานศิลาจารึก พบว่า ในภาคอีสาน ศิลาจารึกที่เป็นอักษรไทน้อยได้แพร่หลายตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ดังที่ปรากฏในจารึกวัดแดนเมือง (วัดปัจจันตบุรี) อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย (พ.ศ. 2073)”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วอักษรไทน้อยมีเค้าเริ่มเดิมทีมาจากผืนแผ่นดินฝั่งซ้ายหรือขวาของแม่น้ำโขงกันแน่ แต่ปัจจุบันอักษรไทน้อยยังปรากฏให้เห็นเป็นอักษรโบราณเช่นเดียวกับอักษรธรรม ที่พบในลักษณะของอักษรเพื่อการจดบันทึกในเอกสารที่เรียกว่า “ใบลาน” เช่น คัมภีร์ บทสวด วรรณกรรม และอื่นๆ กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง 

กระทั่งมีผู้สนใจศึกษาและรวบรวมข้อมูลของอักษรประเภทนี้ไว้ เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภาษา อย่าง สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำการรวบรวมใบลานอีสานและหนังสือผูกที่เขียนด้วยอักษรตัวธรรมและอักษรไทน้อย ซึ่งวิธีการรวบรวมที่เป็นปัจจุบันมากที่สุดคือการจัดระบบและบันทึกสำเนาเป็นไฟล์ดิจิทัลเพื่อความสะดวกแก่การศึกษา

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลใบลานอีสาน โดยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน พบว่าภาคอีสานส่วนใหญ่มีการเก็บรวบรวมคัมภีร์ใบลานและหนังสือผูกเกือบทุกพื้นที่จังหวัด ทั้งที่เป็นอักษรตัวธรรมและอักษรไทน้อย บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำรายา ตำราพิธีกรรม โหราศาสตร์ นิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมคำสอน และกลอนลำ อีกทั้งคัมภีร์ใบลานและหนังสือผูกยังสะท้อนถึงมรดกทางวัฒนธรรมและศาสนาอย่าง “พระพุทธศาสนา” ของผู้คนในแถบนี้ 

ชุมชนลาวริมชี ภาษา วัฒนธรรม และความเป็นลาว

ในอดีตอีสานและลาวเคยเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน การเดินทางของผู้คนและวัฒนธรรมต่างไปมาหาสู่กันอย่างเนื่องๆ หากจะนับรวมทั้งเหตุการณ์ทางสงครามหรือการเดินทางด้วยจุดประสงค์อื่นคงไม่มีจำนวนครั้งที่ชัดเจน กระทั่งเคยมีคำกล่าวที่ว่า “บ้านพี่เมืองน้อง คองเก่าแต่โบราณ” ก็สามารถชี้ชัดให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองฝั่งที่มีมาอย่างยาวนาน

หรือแม้แต่การเดินทางของภาษาและวัฒนธรรมล้านช้างที่เคยแผ่ขยายมายังแผ่นดินสยามในยุคหนึ่ง อย่าง “อักษรไทน้อย” ก็คงเป็นที่สันนิษฐานได้ว่า ผู้คนสองแผ่นดินต่างเดินทางไปมาโดยตลอด ส่วนสิ่งที่เดินทางติดตามมาด้วยคือวิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนาความเชื่อ และอื่นๆ ที่ประกอบสร้างจนกลายเป็นวิถีสังคมเดิม แต่ดำรงอยู่บนแผ่นดินใหม่เพียงเท่านั้น

เช่นเดียวกัน ที่ชุมชนท่าม่วง ต.ท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นอีกหนึ่งชุมชนลาวอพยพที่ย้ายมาจากฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยประวัติการก่อตั้งหมู่บ้านของหมู่บ้านตามคำบอกเล่าของ สิงห์ สุทธิประภา หมอสูตรประจำชุมชน อายุ 75 ปี (เล่าเมื่อปี พ.ศ.2550) ความว่า 

“เดิมชาวบ้านท่าม่วงได้อพยพย้ายถิ่นมาจากบ้านนาพังสวนหม่อน แขวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1190 โดยการนำของพ่อใหญ่สุทธิ์ และแม่ใหญ่บับภา เหตุของการอพยพมาก็เนื่องจากเกิดศึกสงครามและความวุ่นวายในอาณาจักรล้านช้าง” 

ฉลาด ไชยสิงห์ ปราชญ์ชุมชนท่าม่วง วัย 71 ปี อดีตครูผู้นำวิชาภาษาไทน้อยเข้าไปสอนนักเรียนในโรงเรียนและเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจศึกษาอักษรชนิดนี้ ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่จะเรียกเขาว่า “อาจารย์ฉลาด” ก็เนื่องมาจากความเป็นปราชญ์และคลังสมองสำคัญที่รวบรวมข้อมูลของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ฉลาด เล่าถึงการย้ายเข้ามาตั้งชุมชนบริเวณริมแม่น้ำชีแห่งนี้ของชาวบ้านในยุคแรกให้เราฟังว่า

“ในครั้งแรกนั้น ผู้นำชุมชนได้เลือกทำเลที่ตั้งอยู่ฝั่งขวาของลำน้ำชี แต่ก็ต้องย้ายที่ตั้งมายังฝั่งซ้าย ในปี พ.ศ.2110 เนื่องจากพื้นที่ฝั่งขวาเป็นพื้นที่ที่เกิดภัยน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ อีกทั้งยังเป็นบริเวณคุ้งน้ำที่มีน้ำกัดเซาะตลิ่งอยู่เสมอ จึงย้ายมาอยู่ที่ฝั่งซ้ายซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง บริเวณแห่งนี้จะเรียกว่า “โนนตูม” เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต้นมะตูมเกิดขึ้นจำนวนมาก”

ฉลาด ไชยสิงห์ อายุ 71 ปี ปราชญ์ชุมชนท่าม่วง

จากการเดินสำรวจรอบๆ ชุมชน พบว่าสมาชิกในชุมชนต่างให้ความสำคัญต่อสำนึกร่วมในประวัติชุมชนที่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อตั้งชุมชน คือ พ่อใหญ่สุทธิ์ และ แม่ใหญ่บับพา เพราะเป็นที่สังเกตว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่ จะใช้นามสกุล “สุทธิประภา” หลายหลังคาเรือน ซึ่งจากการสัมภาษณ์อาจารย์ฉลาด ก็ทำให้เราทราบถึงมูลเหตุที่มาของนามสกุลนี้ 

“เมื่อมีการกำหนดให้ใช้นามสกุลเกิดขึ้น คนในชุมชนจึงได้นำเอาชื่อของพ่อใหญ่สุทธิ์และแม่ใหญ่บับพามาตั้งเป็นนามสกุล โดยใช้ทั้งสองชื่อรวมเข้าด้วยกัน คือ สุทธิ กับ บับภา แต่ภายหลังได้แผลงให้เป็น “สุทธิประภา” แทน”

นอกจากประวัติศาสตร์ชุมชนที่ได้จากคำบอกเล่าของปราชญ์คนสำคัญแล้ว ที่ชุมชนท่าม่วงยังมีโบราณสถานสำคัญอีกหนึ่งแห่ง คือ “สิมวัดเหนือ” ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดเหนือ ตั้งขึ้นราว พ.ศ. 2112 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2129 

ข้อมูลจากกรมศิลปากรอธิบายว่า สิมวัดเหนือมีลักษณะเป็นสิมทึบขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูน เครื่องบนและส่วนประกอบสถาปัตยกรรมทำด้วยไม้ ตั้งอยู่ในผังสี่เหลี่ยมพื้นผ้า มีขนาด 4 ห้อง และมีมุขหน้าอีก 1 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทำบันไดทางเข้า 2 ด้าน 

โดยในการก่อสร้างใช้ผนังรับน้ำหนักกับเสาไม้ ฐานอาคารก่อเป็นฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ปั้นปูนส่วนปลายให้งอนพลิ้วออกมาเล็กน้อย ตามลักษณะศิลปะพื้นถิ่น ราวบันไดเดิมปั้นปูนเป็นรูปสิงห์มอมทั้งสองด้าน ถัดขึ้นไปในส่วนของผนังภายนอกอาคารทางด้านทิศเหนือ และทิศใต้ทำช่องหน้าต่างห้องละ 1 บาน คั่นด้วยคันทวยไม้แกะสลักลายรองรับชั้นหลังคาซึ่งแต่เดิมทำทรงจั่วซ้อน 3 ชั้น แบบสิมอีสาน มุงด้วยแป้นเกล็ด ประดับช่อฟ้า หางหงส์ โหง่ และป้านลม ต่อมามีการชำรุดจึงเปลี่ยนเป็นสังกะสีและเหลือเพียงสองชั้นเท่านั้น

ตามคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ฉลาด ชุมชนท่าม่วงนอกจากจะมีประวัติศาสตร์ชุมชนมาอย่างยาวนานที่สร้างสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชน หรือแม้แต่โบราณสถานเก่าแก่อย่างสิมวัดเหนือ ที่นี่ยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ผ้าผะเหวดโบราณที่มีอายุประมาณ 200 ปี หีบใส่คัมภีร์ หรือแม้แต่เรือยาวโบราณที่ใช้แข่งขันกันในช่วงน้ำชีเหือดลด 

“ที่ชุมชนท่าม่วงเรามีการเก็บคัมภีร์ใบลาน ของโบราณต่างๆ เอาไว้ ในใบลานก็จะเขียนเป็นตัวธรรมตัวไทน้อย ที่เราอนุรักษณ์ไว้ตอนนี้ มีหลายหน่วยงานเข้ามาจัดเก็บรวบรวมให้เป็นระเบียบมากขึ้น 

“ช่วงปี พ.ศ. 2554 ที่มีการลงพื้นที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในเขต อ.เสลภูมิ ใบลานหนังสือผูกจะไม่ค่อยมีให้เห็นนัก ส่วนมากจะเจอที่ อ.สุวรรณภูมิ และในเขตเมืองร้อยเอ็ด”

เรื่องราวที่ถูกจดบันทึกในใบลานด้วยภาษาไทน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวนิทานและวรรณกรรมลาวอีสาน เช่น จำปาสี่ต้น กำพร้าผีน้อย ผาแดงนางไอ่ ส่วนอื่นๆ จะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ ตำรายา โหราศาสตร์ ประเพณี และพิธีกรรม และส่วนที่บันทึกด้วยอักษรตัวธรรม จะบันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า บทสวด และคำเทศนา 

“ช่วงปี พ.ศ. 2554-2555 ผมได้เข้าไปเปิดสอนวิชาภาษาไทน้อยที่โรงเรียนในหมู่บ้าน ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยให้นักเรียนระดับชั้น ป. 4 เรียนวิชาอักษรไทน้อยส่วนนักเรียนชั้น ป. 5 ถึง ป. 6 จะเรียนวิชาตัวธรรมอีสาน” 

อาจารย์ฉลาด ยังเสริมให้เราฟังอีกว่า ภาษาไทน้อยจะเป็นเพียงภาษาเขียนหรือตัวอักษรเท่านั้น ไม่ใช้ภาษาพูดหรือสำเนียงภาษาที่ใช้ระบบการออกเสียงต่างกัน หากแต่ความแตกต่างของอักษรชนิดนี้จะมีความแตกต่างจากภาษาอื่นๆ ที่วิธีการเขียนเท่านั้น

“ภาษาพูดที่เป็นภาษาไทน้อยจะไม่มี จะมีเพียงภาษาเขียน ในอดีตพระสงฆ์จะใช้สำหรับอ่านเทศน์ เป็นเรื่องราวนิทานพื้นบ้าน เช่น งานบุญผะเหวด ก็ใช้ภาษาไทน้อยเพื่อเทศน์ ช่วงประมาณปี 2500 ถึงจะมีหนังสือบทสวดฉบับภาษาไทยมาให้อ่านเทศน์”

ใบลานตำรายา บันทึกศาสตร์แห่งการรักษาด้วยอักษรไทน้อย

ครั้งหนึ่ง สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้ามาจัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์ใบลานและหนังสือผูกของชุมชนผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน 

โดยมีโครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาอักษรตัวธรรมและไทน้อยของคนในชุมชน อนุรักษ์ จัดเก็บและแบ่งแยกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช่น หมวดพิธีกรรม หมวดประเพณี หมวดโหราศาสตร์ หมวดนิทาน ตำนาน เรื่องเล่า และหมวดตำรายา ตามคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ฉลาด ความว่า

“มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีการเข้ามารวบรวมใบลานที่บันทึกตำรายาเป็นภาษาไทน้อย และแปลป็นภาษาไทยกลาง กลายเป็นหนังสือตำรายาท่าม่วง เล่ม 1 เล่ม 2 และเคยถวายแด่องค์สมเด็จพระเทพฯ ด้วย

“เดิมภายในใบลานจะบันทึกตำรายาพื้นบ้าน สมุนไพรอีสาน หรือสูตรการรักษาแบบต่างๆ ด้วยอักษรไทน้อย แต่เวลาอ่านจะอ่านเป็นคำอีสานหรือคำลาว เช่น คำว่าตุ่ม คำว่าฮ้อน ส่วนในหนังสือที่ทำใหม่ จะทำคำแปลภาษาไทยกลางไว้ด้านล่างประกอบกับรูปใบลานจริง เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น”

นี่เป็นเพียงหนึ่งในชุมชนภาคอีสาน ที่พบการจัดเก็บใบลานและหนังสือผูกที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำรายา ตำราพิธีกรรม โหราศาสตร์ นิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมคำสอน และกลอนลำ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดและสั่งสมกันมานาน ผ่านสื่อดั้งเดิมอย่างใบลานและหนังสือผูก ที่ทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับหนังสือประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน

ส่วนมรดกและวัฒนธรรมทางภาษาที่กำลังจะหล่นหายไปตามกาลเวลา เพราะความไม่เป็นที่นิยม รวมถึงบุคคลสำคัญที่สามารถถ่ายทอดบอกสอนเริ่มที่จะหมดสิ้นอายุขัยไปพร้อมกับกาลเวลา มีเพียงบุคคลที่สนใจหรือผู้ที่ศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการเรียนอักขระวิชาภาษาชนิดนี้

อาจารย์ฉลาด ทิ้งท้ายกับเราถึงอนาคตที่น่าเป็นห่วง หากอักษรตัวธรรมหรืออักษรไทน้อยเลือนหายไปโดยไม่มีผู้สืบทอดรักษาต่อ และกลายเป็นเพียงภาษาท้องถิ่นโบราณ ที่ถูกเก็บไว้แต่เพียงในหีบพระคัมภีร์เท่านั้น 

“ในอนาคตก็กลัวว่าจะไม่มีคนเรียนภาษานี้อีก ผมพยายามที่จะถ่ายทอดภาษานี้ให้กับคนที่สนใจ หลังเกษียณปี พ.ศ. 2556 ผมเคยถ่ายทอดวิชาภาษาไทน้อยให้กับเด็กๆ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผมดีใจมากที่มีลูกหลานสนใจอยากร่ำเรียน 

“ผมอยากให้ภาษาไทน้อยเข้าไปปรากฏอยู่ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เด็กๆ คนรุ่นใหม่ ได้เห็น ได้เรียนรู้ และเข้าใจภาษาไทน้อยผ่านสิ่งที่เขาใช้ทุกวัน”

สิ่งที่อาจารย์ฉลาด ไชยสิงห์ เป็นห่วงนั้นไม่ได้มีความหมายเพียงตำแหน่งแห่งที่ของอักษรไทน้อย ว่าจะยืนหยัดในสถานการณ์วิกฤตของภาษาเท่านั้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเสี้ยวสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์อันน่าเป็นห่วงของวิกฤตภาษาในระดับโลก

เฉพาะภาษาพูด มีการศึกษาพบว่า คนทั่วโลกถึง 97% ใช้ภาษาเพียง 4% ของโลกเท่านั้น สภาวะกลับหัวกลับหางเช่นนี้ทำให้หลายภาษาถูกลืม และมีการคาดกันว่าปลายศตวรรษที่ 21 นี้ ภาษาต่างๆ กว่า 6,000 ภาษาทั่วโลกจะไม่ถูกพูดอีกต่อไป อันเนื่องมาจากอิทธิพลของภาษาใหญ่ที่ครอบคลุมแทบทุกมิติของโลก ลักษณะเช่นนี้อธิบายว่า หากภาษาพูดยังสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหาย มิพักต้องพูดถึงภาษาเขียนซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่า

รักคุณ ปัญญาวุธาไกร จากภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน อธิบายในงานวิจัยเรื่อง การฟื้นฟูภาษาชาติพันธุ์ในภาวะวิกฤต ไว้ว่า องค์การยูเนสโก (UNESCO Ad Hoc Expert Group, 2003) ให้ความสำคัญของภาษาว่าเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ความหลากหลายของภาษาจึงเป็นหลากหลายทางมรดกด้านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หากภาษามีบางภาษาสูญสิ้นไป หรือที่เรียกว่า “การสูญภาษา” ซึ่งจะหมายถึงการสูญสิ้นความสามารถในการใช้ภาษา ภูมิปัญญา ระบบความรู้ ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ตัวตนของเจ้าของภาษาหรือผู้พูดภาษา และความเป็นมนุษย์ อันรวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมมนุษย์ในสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันผู้คนที่เกี่ยวข้องกับภาษา มีความตระหนักไม่มากพอถึงความร้ายแรงของปัญหาดังกล่าว ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือการถูกทำลายความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมอันเป็นแหล่งเก็บภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่ติดต่อกันมากว่าหลายชั่วอายุคน 

ที่มาข้อมูล: 

image_pdfimage_print