โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

มหาสารคาม – อาจารย์นิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม ไม่เชื่อว่า หากเลือกตั้งแล้ว สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในภาคอีสานจะดีขึ้น เนื่องจากกฎหมายกดขี่ประชาชนยังคงอยู่ พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เพราะเป็นคนไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และหมดเวลาทำงานไปนานแล้ว

นางสาวอังคณา พรมรักษา อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นางสาวอังคณา พรมรักษา อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์เดอะอีสานเรคคอร์ดถึงสถานการณ์สังคมการเมืองของภาคอีสานและประเทศไทยในปีนี้ หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สัญญาว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน

อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ผู้นี้เริ่มต้นว่า สถานการณ์การเมืองไม่ได้พ่วงกับการเลือกตั้ง แม้จะมีการเลือกตั้ง (หัวเราะ) สถานการณ์การเมืองคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ชีวิตคนไทยคงไม่โชติช่วงชัชวาล เพราะบริบทที่ผ่านมาของประเทศไทยและภาคอีสานอยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาดระแวง มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพและการแสดงออก รวมถึงมีการออกกฎหมายที่ควบคุมสิทธิเสรีภาพ

ส่วนสถานการณ์ในภาคอีสานที่น่าสนใจ คือ การรุกคืบเข้ามาของทุนขนาดใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ในขณะที่การแสดงออกเพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพยังมีข้อจำกัดอยู่ แม้จะมีการเลือกตั้งก็ไม่ได้เอื้อต่อคนในพื้นที่ เพราะการเลือกตั้งไม่ได้หมายถึงการปลดล็อคกฎหมายที่จำกัดการแสดงออก การเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าจะบรรยากาศสิทธิเสรีภาพจะเบ่งบาน จึงไม่ได้มีความหวังต่อการเลือกตั้ง และแม้จะมีการเลือกตั้งก็คงต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเช่นเดิม

ช่วยยกตัวอย่างกฎหมายที่ปิดกั้นการแสดงออก

กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น กฎหมายอาญาข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งทำให้ผู้ผลิตอิสระขององค์กรสื่อแห่งหนึ่งที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาท พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทำให้สื่อที่ควรเป็นตัวแทนของภาคประชาชนและภาคชุมชนในสัดส่วนร้อยละ 20 สามารถถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้ ทำให้ภาคประชาชนที่มีเสรีภาพในการแสดงออกน้อยอยู่แล้วถูกจำกัดเสรีภาพมากขึ้น

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยพูดถึงทีวีชุมชน เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้คิดว่าทีวีชุมชนน่าจะเกิดขึ้น แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า ทีวีชุมชนคงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเพราะมีความคิดว่าภาคประชาชนยังไม่พร้อม

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นกฎหมายอีกฉบับที่มีไว้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ในการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจึงไม่พบว่าจะมีอะไรใหม่ แม้ผู้ที่เข้ามามีอำนาจทางการเมืองอาจจะเป็นคนกลุ่มใหม่ แต่ถ้ายังอยู่ภายใต้ความคิดเก่าก็ถือว่าไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ต้องการคือ การเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดของกฎหมายที่กีดกันเสรีภาพ แต่ก็ยังไม่เห็นว่าใครจะเข้ามามีการเปลี่ยนเช่นนั้น

คิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ควรเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งอีกหรือไม่ เพราะเหตุใด

โอ้ยจะเป็น … ไม่ไหวแล้วอ่ะ (หัวเราะ) ที่ผ่านมาชัดเจนด้วยผลงาน ศักยภาพ ประสิทธิภาพ และประสบการณ์ ที่จะพูดถึงไม่ได้มีอดติใดๆ แต่ผู้ที่จะบริหารประเทศต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และทุกสิ่งทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมาะที่จะขึ้นมาก เพราะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ทีมงานก็ไม่เปิดกว้างในการนำคนเก่งเข้ามาทำงาน ประเทศไทยต้องติดต่อกับนานาประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงฉะนั้น จึงต้องสร้างประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงคือ การพัฒนาคน เด็ก และการศึกษา แต่ยังมองไม่เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญในจุดนี้

ประเทศไทยยังวนเวียนอยู่กับระบบการศึกษาในรูปแบบเดิม ซึ่งน่าแปลกใจที่คนรุ่นใหม่และนักวิชาด้านการศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษารูปแบบใหม่ๆ แต่หน่วยงานด้านการศึกษากับมองไม่เห็นประเด็นนี้ น่าแปลกใจอีกที่ประเทศไทยตัดงบประมาณด้านการพัฒนาคนและด้านการศึกษา จึงเห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ควรเปิดทางให้บุคคลที่มีความพร้อมขึ้นมาบริหารประเทศ

คิดหมดเวลาของรัฐบาลนี้แล้วหรือยัง เหตุผลในการเข้ามาสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศยังใช้ได้อยู่หรือไม่

หมดนานแล้วค่ะ เรายังไม่เห็นความปรองดองจริงๆ นะ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์คิดว่า การปรองดองคือการร้องเพลง การกิจกรรม การพูด การให้ทหารเข้ามายึดกุมทุกกิจกรรมก็คงไม่ใช่การปรองดอง การปรองดองต้องสร้างที่ตัวคนเพื่อให้คนเกิดความสำนึกอยากจะปรองดอง การปรองดองไม่สามารถบังคับกันได้ แต่สิ่งที่หัวหน้า คสช. พยายามสร้างการปรองดองคือ การเข้ามาควบคุมคน บังคับให้เกิดความปรองดองกันซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะการปรองดองต้องทำให้คนอยากปรองดองกันด้วยตัวเองและเห็นความสำคัญของการปรองดอง

กระบวนการสร้างความปรองดองต้องใช้วิธีการอื่นด้วย เช่น ต้องเปิดโอกาสให้คนอีกฟากแสดงความคิดเห็น แสดงออก และอธิบายมุมของเขา นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องรับฟังมากขึ้น การปรองดองต้องไม่ใช่การให้อีกฝ่ายหยุดพูดและอีกฝ่ายพูด

การปฏิรูปประเทศเขาก็ยังทำไม่เสร็จ

(หัวเราะ) การปฏิรูปประเทศไม่ได้แปลว่าต้องทำด้วยคนๆ เดียว หรือทำด้วยทีมเพียงทีมเดียว การปฏิรูปประเทศต้องมีกลไกและมีแผนการทำงาน ถ้า คสช. กำหนดแผนงานที่น่าสนใจและชัดเจนเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องยืนถือแผนไว้จนตาย เพราะคนอื่นก็สามารถนำแผนปฏิรูปประเทศไปดำเนินการต่อได้ การปฏิรูปประเทศไม่ได้หมายความว่า เมื่อ คสช. วางแผนไว้ 20 ปี คสช. ก็ต้องอยู่ในอำนาจนาน 20 ปี

คนเก่งในประเทศไทยยังมีอีกมาก ฉะนั้นจึงต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาพัฒนาประเทศด้วย

สิ่งที่อยากจะบอกกับรัฐบาล

(หึหึ) ไม่อยากบอกอะไรแล้วค่ะ เพราะบอกไปก็เหมือนไม่ฟัง อยากให้รัฐบาลนำสิ่งที่ทุกคนบอกไปคิดไปทำบ้าง ถ้ารัฐบาลฟังเสียงประชาชนก็จะทำให้มีประชาธิปไตยเกิดขึ้นบ้าง แต่ถ้าปกครองโดยไม่รับฟังเสียงก็จะเป็นการปิดหูปิดตารัฐบาลเอง ซึ่งจะรัฐบาลชื่นชมแต่ตัวเองอย่างที่เป็นอยู่

แต่รัฐบาลนี้ก็ไปประชุมครม.สัญจร (ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่) บ่อย สิ่งนี้คือการรับฟังเสียงของประชาชนหรือไม่

การประชุมครม.สัญจรไม่ได้เท่ากับการไปแล้วรับฟังเสียงของประชาชน ต้องพิจารณาว่าการประชุมครม.สัญจรไปเพื่อทำอะไร แล้วเกิดผลในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่ก็ยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง

ส่วนการแก้ไขปัญหาความยากจนไม่เท่ากับการให้เงิน รวมถึงโครงประชารัฐต่างๆ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ถ้าต้องการแก้ไขปัญหาจริงๆ ต้องแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ แต่ตอนนี้มีแค่เกษตรกรทางเลือกบางส่วนเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดเมื่อต้องเผชิญกับเกษตรของนายทุน

เมื่อมองถึงพื้นที่ของภาคอีสาน พบความพยายามสร้างโรงงานและเขตอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบคือ มีการเร่งให้เกิดการผลิตพืชผลทางการเกษตรเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงาน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ แหล่งน้ำ สารพิษ ทำให้ไม่มีความยั่งยืนในการใช้ชีวิต ถ้ามีเงินจำนวนมากแล้วไม่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย คนจะสามารถใช้ชีวิตได้หรือไม่

การประชุมครม.สัญจรถึงต้องตอบให้ได้ว่า ลงพื้นที่เพื่อรับทราบแล้วนำปัญหากลับไปแก้ไขหรือไม่ ลงพื้นที่ได้เปิดโอกาสให้คู่ขัดแย้งได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยหรือไม่

สถานการณ์ในภาคอีสานมีการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อเรียกร้องในหลายประเด็น การประชุมครม.สัญจรที่ผ่านมามีการรับฟังปัญหาเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ การประชุมครม.สัญจร ที่จ.สงขลา เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็พบว่า กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาไม่สามารถยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีได้ (ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมและจับกุมคุมขัง – ผู้เขียน) จึงไม่แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชนจริงหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ใจ

นโยบายประชารัฐทำให้คนอีสานมองรัฐบาลทหารในแง่บวกหรือไม่

เมื่อพิจารณาสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐ ทำให้เกิดคำถามว่า สินค้ามีเพื่อประชาชนแบบไหน ต้องการให้ประชาชนใช้ชีวิตกับสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้นหรือ ในร้านมีสินค้าไม่กี่เจ้าไม่กี่ยี่ห้อที่วางจำหน่าย ร้านธงฟ้าจึงไม่ตอบโจทย์ของผู้บริโภค การมีสินค้าไม่กี่ประเภทวางจำหน่ายทำให้สงสัยว่า จำเป็นแค่ไหนที่ประชาชนต้องซื้อสินค้าเหล่านี้ทุกเดือน เนื่องจากประชาชนไม่ได้ใช้สินค้าจากร้านธงฟ้าให้หมดไปในแต่ละเดือน เช่น ผงปรุงรส แต่ก็ต้องมาซื้อสินค้าเดิมๆ ในทุกเดือน

กรณีรัฐมนตรีบางคนมีทรัพย์สินหรูหราแต่ไม่อธิบายว่าได้ทรัพย์สินมาอย่างไร ขัดกับนโยบายปราบปรามทุจริตของรัฐบาลหรือไม่

อันนี้เป็นสิ่งย้อนแย้ง เพราะว่านโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่นถูกนำมาใช้กับเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติการเข้มงวดเป็นพิเศษ ในม.มหาสารคามมีการออกกฎระเบียบเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้น เช่น กฎระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการเพิ่มกฎระเบียบแล้ว จะสามารถทำให้ทุจริตหมดลงไปได้ เพราะกฎที่มีอยู่ไม่สามารถใช้กับบุคคลระดับบนหรือบุคลากรระดับนโยบายได้

การปราบปรามการคอร์รัปชั่นจึงเป็นเพียงการเพิ่มความเข้มงวดเฉพาะบุคลากรระดับปฏิบัติการเท่านั้น แต่บุคลากรระดับบนยังคงมีปรากฎการณ์ให้เห็นอยู่ มันจึงมีคำถามว่า การปราบปรามการคอร์รัปชั่นให้หมดไปจะทำได้จริงหรือไม่

image_pdfimage_print