ประนอม มีปัทมา ช่างเย็บผ้าวัย 58 ปี ชาวชุมชนเซินเหนือ ต.โนนคอม อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น จักรเย็บผ้าพาให้ชีพจรลงเท้าไม่ต่างไปจากนักเดินทาง ชีวิตของเธอถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่มีชื่อสั้นๆ ว่า “ความจน” และวิ่งบนถนนสายนักสู้หลังจักรเย็บผ้ามาเป็นเวลาหลายสิบปี 

จาก อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ถึงเมืองไถหนาน และเมืองไทเป ประเทศไต้หวัน คือเส้นทางที่เธอไปทำงาน ทว่าการไปต่างประเทศถึง 2 ครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตร่ำรวยพอที่จะหนีห่างจากความทุกข์ยากนี้ไปได้ เธอกลับมายังกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ด้วยความหวัง แต่เคราะห์ซ้ำกรรมแกล้ง เมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายจากเมืองจีน เมื่อปี 2562 จนต้องตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่เซินเหนือ จุดเริ่มต้นที่เธอจากมาเมื่อหลายปีก่อน

ทำนา เย็บผ้า หรือเสริมสวย 

เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง เป็นธรรมดาที่มนุษย์จะต้องเลือกเส้นทางย่างก้าวให้กับตัวเอง สิ่งนี้อาจหมายถึงการใช้ชีวิตที่หลุดจากโคจรเดิมของครอบครัว อย่างการออกไปประกอบอาชีพ การสร้างครอบครัว ไปจนถึงการแสวงหาความสำเร็จในชีวิต ไม่ต่างกันนั้น ประนอมได้เผยให้เราฟังอย่างคร่าวๆ ว่ากว่าจะมาเป็นช่างเย็บจักรปักผ้าในวันนี้ “พี่ชาย” คือคนที่ทำให้เธอต้องเลือกเส้นทางที่จะไปต่อ เพราะอีกเพียงหนึ่งป้ายสถานี เธอจะต้องตัดสินใจเลี้ยวขวาหรือเลี้ยวซ้าย

“หลังจากที่ออกโรงเรียนมา ก็ไปทำนาช่วยพี่ชายพี่สาว วันหนึ่งพี่ชายเดินผ่านไปตัดหญ้าให้ควาย ก็เลยถามว่าจะไปเรียนเสริมสวยหรือจะไปเย็บผ้า ด้วยตอนนั้นเราเองกำลังเป็นสาว ก็ไม่อยากตากแดดทำนาเท่าไหร่นัก 

“ตอนแรกก็คิดในใจว่า เราจะเรียนเสริมสวยจริงหรอ เพราะเราเองก็ไม่สวยเหมือนพี่ๆ ใครจะอยากมาเสริมสวยกับเรา ตอนนั้นก็เลยตอบไปว่าอยากเรียนเย็บผ้า เพราะอย่างน้อยน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าเสริมสวย หลังจากวันนั้นพี่ชายเลยเข้ามาส่งที่ อ.ชุมแพ หวังจะให้น้องได้เรียนเย็บผ้าเป็นอาชีพ แต่ตอนนี้พี่ชายก็เสียไปแล้วแหละ”

ประนอมบอกว่าเธอออกจากโรงเรียนตอนอายุ 17 ในช่วงแรกตนตั้งใจจะไปเรียนเย็บผ้าโดยตรงตามประสงค์ของตนและพี่ชาย แต่ช่วงแรกเธอกลับได้ทำงานในโรงงานขนมจีนแทน พร้อมกับปราณี (พี่สาว) ขณะเดียวกันที่ด้านหน้าของโรงงานขนมจีน เถ้าแก่ผู้เป็นนายจ้างก็มีจักรเย็บผ้าเครื่องเก่า ที่คอยรับจ้างเย็บผ้าให้กับผู้คนที่ผ่านไปมาในละแวก ประนอมมองว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่ตนจะได้ทดลองเย็บผ้า แม้จะเป็นการเย็บครั้งแรกอย่างไม่มีประสบการณ์ก็ตาม   

“ทำทั้งขนมจีนทั้งเย็บผ้า ทำขนมจีนตั้งแต่กลางดึกจนถึง 9 โมงเช้า พอถึง 10 โมงเช้า ก็ค่อยได้มานั่งตัดผ้าช่วยเจ้านาย”

จักรของเถ้าแก่กลายเป็นอุปกรณ์การเรียนชุดแรกที่พอจะทำให้เธอชำนาญการเย็บปัก แต่ประนอมเองก็ใฝ่เรียนรู้วิชานี้อยู่เนืองๆ ทั้งจากประสบการณ์ และเรียนจากครูช่างที่มาฝึกสอนเป็นครั้งครา

ประนอม มีปัทมา อายุ 58 ปี 

ณ เมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน กับความฝันฝ่ากำแพงหนี้  

หลังจากที่มีอาชีพสร้างรายได้ไว้พอประทังท้อง เธอแต่งงานและให้กำเนิดบุตร 2 คน ต่อมาเธอตัดสินใจเปิดร้านเย็บผ้าเป็นของตัวเอง กระทั่งสามีสิ้นลมลาจาก หมากเกมชีวิตก็เริ่มเดินซ้ายย้ายขวาอีกครั้ง บนกระดาน “หนี้” ที่สามีก่อไว้ก่อนตาย

“พอหลังจากที่พ่อ (สามี) เสีย แม่ก็ตัดสินใจไปทำงานที่ไต้หวัน ชื่อเมืองไถหนาน ไปเย็บผ้าโหลของ บริษัท Nike ตอนนั้นที่ไปสมัครจำได้ว่ามันต้องสอบก่อน พอสอบผ่านเขาก็ส่งไป แต่การไปจะไปคนละที่ เพราะบางคนก็ไปเกาหลี 

“ตำแหน่งงานตอนนั้นก็ไปเป็นช่างเย็บ กับทำแผนกเย็บป้าย เย็บเบอร์ติดเสื้อ ครั้งหนึ่งเคยโดนหัวหน้าแกล้ง ไม่จ่ายงานให้เรา เราก็นั่งรองาน รอเงิน แต่เขากลับไปจ่ายงานให้แต่คนที่เขารัก

“ตอนไปอยู่ที่นั่น มันมีหอพักให้อยู่ เวลาจะไปซื้อของก็มียามพาไปซื้อ เขาจะไม่ให้ออกไปไหน ไม่ให้ออกไปเที่ยวด้วย หัวหน้าที่นั่นโหดมาก พอเย็บผ้าได้ 2 ปี เขาก็ส่งกลับ เขาบอกว่าจ้างคนไทยแพง จ้างคนเวียดนามดีกว่า

ประนอมบอกกับเราว่า นี่ไม่ใช่การเดินทางไปทำงานเย็บผ้าต่างที่ต่างแดนครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย แต่เธอไปไต้หวันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกที่ไถหนานและครั้งต่อมาคือไทเป แต่ครั้งนี้เธอไม่ได้ไปเย็บผ้าโหลเหมือนครั้งก่อน แต่เป็นแผนกช่างรีด ซึ่งได้ค่าโอทีสูงกว่าแผนกช่างเย็บอย่างตอนนั้น

เธอเล่าให้เราฟังว่าหลายคนมักจะมองการไปทำงานต่างประเทศ จะทำให้ร่ำรวยมีรายได้มหาศาล แต่เธอบอกกับเราว่าคนดวงดีเท่านั้นที่จะกลายเป็นคนมั่งมีกลับมา

“คนได้ก็ได้ คนไม่ได้ก็ไม่ได้เลย แล้วแต่ดวง ผู้หญิงบางคนที่เขาฉลาดหน่อยก็ไปกับผู้ชาย ไปทำเรื่องอย่างว่า เพราะที่นั่นมันอิสระ ก็จะได้เงินทั้งสองทาง ทั้งจากเย็บผ้าและจากการไปทำอย่างนั้น”

ประนอมคุยกับเราไปพร้อมกับเสียงมอเตอร์ของจักรไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ตลอดเวลา แม้ตอนที่เราชวนเธอสนทนาพาทีจะเป็นเวลาดึกสงัด แต่เธอยังคงนั่งเพ่งเล็งจังหวะสอดด้ายให้เข้าในรูเข็ม 

จากไต้หวันถึงชุมแพ จากชุมแพไปกรุงเทพฯ 

หลังจากที่กลับไปทำงานรอบสอง กระทั่งถูกส่งตัวกลับเพราะหมดสัญญาจ้าง ประนอมเดินทางกลับถิ่นมาตุภูมิพร้อมกับภาระกิจใหม่ นั่นคือการส่งลูกชายและลูกสาวเข้าสู่ระบบการศึกษา และแน่นอน อ.ชุมแพ คงเป็นแหล่งงานที่ไม่สามารถป้อนรายได้อย่างเพียงพอที่จะส่งลูกทั้งสองเข้าเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น 

เธอจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเป็นลูกจ้างร้านขายผ้าให้กับนายจ้างชาวอุดรธานี ที่ห้างบิ๊กซีสาขาดาวคะนอง 

“ตอนนั้นไปขายผ้าให้คุณนาย แกเป็นภรรยาของผู้พิพากษา ตอนนั้นเราไปกับเพื่อนที่เป็นคนชุมแพอีกคน เพราะเขาก็ต้องส่งลูกเรียนเหมือนกัน ไปอยู่ด้วยกันส่งลูกเรียนด้วยกัน ตอนที่ไปทำงานเจ้านายเขาก็ไม่ค่อยเข้ามาดูเท่าไหร่ เราก็อาศัยว่าเคยเป็นช่างเย็บมาก่อนหารายได้เสริม 

“นอกจากตัดผ้าขาย ตอนนั้นเราก็แอบเย็บผ้าด้วย ตัดชุดผ้าไหมให้คนกรุงเทพฯ ใส่ เขาชอบแบบปักมุกแม่ก็ทำให้ได้ เป็นงานเสริมที่พอจะมีเงินส่งให้ลูกใช้รายเดือน ยอมรับเลยว่าตอนนั้นพยายามอดทนอย่างมาก แต่ก็ดีใจที่มีอยู่มีกินเพราะสิ่งนี้

“ถึงสิ้นเดือนก็ส่งให้ลูก ตอนนั้นกลัวลูกเที่ยวมากเพราะเรียนอยู่ที่ขอนแก่น กลัวมันเกเรเนอะ แม่ก็ส่งให้อาทิตย์ละ 500 พอกินหรือไม่พอกินก็ตกวันละ 100 แล้วค่าบ้านก็ต่างหากแม่ก็โอนไปให้อาทิตย์ละ 500 แล้ว แต่ลูกก็ไม่เคยขอเพิ่มนะ”

ประนอมเผยรายได้ที่พอประทังชีวิตให้เราฟัง ทั้งภาระค่าบ้าน ค่าดูแลลูก และค่าอื่นๆ ดูเหมือนชีวิตช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เธอสามารถประคองตัวได้แล้ว ไม่นานนักเธอก็ตัดสินใจย้ายที่แปรฐานจากย่านดาวคะนองมายังย่านมหาชัย กับอาชีพใหม่อย่าง “รปภ.หญิง” งานที่สุดจะท้าทายสำหรับเธอในตอนนั้น 

แต่อย่างไรเสีย จิตวิญญาณแห่งฝีจักรก็ยังคงติดสอยห้อยตามไปตลอด หลังเลิกงานจากการเป็นผู้รักษาความปลอดภัย เธอยังคงรับผ้าจากผู้คนในระแวกมาปะซ่อมทุกๆ วัน กระทั่งเป็นที่รู้จักในฐานะช่างซ่อมผ้าจนมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

ร้อยพันอาชีพทั้งตีนถีบและปากกัด ประนอมยังคงเฟ้นหาการงานที่จะทำให้เธอร่ำรวยเหมือนใครเขา สำหรับเธอการเป็น รปภ.หญิง นับเป็นเรื่องท้าทายที่สุดแล้ว แต่การเป็น “วินมอไซค์” อาชีพสุดท้ายก่อนจากกรุงเทพฯ ถือเป็นงานที่ท้าทายมากกว่าอย่างเคยทำมา 

“ตอนนั้นแม่รู้จักกับหัวหน้าวิน ก็เลยไปขับรถขับวินกับเขา ตอนแรกแม่ไม่มีรถเลยซื้อมอไซค์รถคันเล็กๆ นี่แหละ แต่เสื้อวินยังไม่ได้ซื้อหรอก เขาให้ยืมใส่ไปก่อน เขาให้เบอร์เสื้อไปด้วย ถ้าตำรวจจับเขาก็ไปเอาออกมาให้หัวหน้าวิน 

“ก็ขับวินอยู่แถวตลาดกุ้ง มหาชัย ตอนนั้นไม่กลัวอะไรเลยนะ ขึ้นรถแล้วก็แค่ขับรถพาคนไป มหาชัยมันได้ตังค์เยอะขนาดนั้น เคยขับรถไปส่งพม่า ให้เขาบอกทางว่าอยู่ตรงไหน เพราะว่าไม่รู้จักทางให้พม่าเป็นคนบอก พอขากลับแม่ก็ถามคนมาเรื่อยๆ เลิกงานวินมาก็พอได้มีตังค์ซื้อกับข้าว” 

กลับเซินเหนือ ภูผาม่าน บ้านเกิด 

ประนอมอาศัยใต้ชายคาเมืองกรุง กระทั่งลูกเต้าทั้งสองเรียนจบจนมีอาชีพ แต่ตัวเธอประเมินว่าการทำงานที่นี่มีรายได้ที่มั่นคงเอามาก รายได้อยู่ในระดับที่พึงพอใจจนพอมีเงินเก็บ หนี้เก่าที่สามีเคยสร้างไว้ก็ถูกใช้จนหมดในเวลาต่อมา เธอเริ่มซื้อบ้านอีกหลังเพื่อให้ลูกชายลูกสาวอยู่อาศัย

 แต่เหมือนกับพระเจ้าอยากประลองเกมกับเธออีกครั้ง ด้วยการส่งตัวเสริมที่ชื่อ “โคโรนาไวรัส” มาเป็นตัวฉุดให้หมากเกมชีวิตของประนอมต้องถอยกลับไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง

ช่วงปลายปี 2562 การอุบัติขึ้นของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ที่เดินทางมายังประเทศไทยและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หลายคนประสบปัญหาเดียวกันคือการออกไปทำงานนอกบ้านไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามกฏที่รัฐกำหนด สิ่งนี้นำมาซึ่งความปลอดภัยจากโรค แต่กลับไม่ปลอดภัยเท่าไหร่นักหากรายได้ที่เคยมีหดหายจนกลายเป็นหนี้ซ้ำหนี้ซ้อน

ประนอมเป็นอีกคนที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ เธอต้องตัดสินใจโยกย้ายที่อยู่อาศัยอีกครั้ง ในวัย 54 ปลายๆ ด้วยการกลับมาใช้ชีวิตยังบ้านเกิด ที่ บ.เซินเหนือ ต.โนนคอม อ.ภูผาม่าน ที่นี่ยังมีอ้อมกอดจากพี่สาวทั้งสองและพวกเขาต่างรอคอยวันที่เธอกลับมาหลบจากปัญหาในเมืองใหญ่

เธอขนของกลับจากกรุงเทพฯ เพื่อเริ่มชีวิตใหม่ที่เซินเหนือ เธอบอกว่าบ้านที่เคยผ่อนเช่าก็ปล่อยเช่าอีกทอดให้แรงงานชาวเมียนมา หักลบกลบดอกจากการส่งบ้าน และเงินประกันสังคมที่เธอเคยส่งจ่ายตอนที่ทำงานในกรุงเทพฯ ก็พอเหลือต่อลมหายใจในต่างจังหวัด  

“โห… ตอนที่กลับจากกรุงเทพฯ แม่ณี (พี่สาวคนกลาง) เป็นคนจ่ายค่ารถช่วย 8,000 บาท เพราะอยากให้น้องกลับมา เช่ารถหกล้อเขาไปขนของ กลับมาก็ต้องมาจ่ายหนี้ค่ารถอีก”

ปราณี เดชบำรุง พี่สาวคนกลาง ของประนอม

ความชำนาญด้านฝีจักรและความรักในอาชีพช่างซ่อมผ้าของเธอก็เริ่มอีกครั้ง อุปกรณ์ที่ขนมาพร้อมรถหกล้อจาก กทม. ได้ติดสตาร์ทมอเตอร์ที่ใต้ถุนบ้านครั้งแรก ประนอมเริ่มการทำงานจากเสื้อตัวแรกของแม่ตรี (พี่สาวคนโต) เธอตัดเย็บเสื้อตัวใหม่ให้พี่สาวด้วยความปราณีต ต่อมาคือคนในครอบครัวและคนในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงตามลำดับ 

ฝีมือการตัดเย็บของประนอมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เธออาศัยการดู Youtube เพื่อเป็นห้องเรียนวิชาออกแบบและแฟชั่น ฝึกตัดเย็บอย่างปราณีตกับครูที่ชื่อ Google ผิดบ้างถูกบ้างแต่ก็ไม่ยอมแพ้ เพราะเชื่อว่าการตัดเย็บจะเป็นศาสตร์ที่เธอต้องเรียนรู้และพัฒนาไปจนกว่าจะโรยแรง 

“ตอนนี้มันมีโทรศัพท์ให้ดู ให้เรียน มี YouTube สอนเราตลอด แต่เรียนไปก็ใช่ว่าจะเก่งไปหมด ดีที่พื้นฐานเราเคยทำอยู่แล้ว ตอนไปอยู่มหาชัยแม่ก็ไม่ได้เก่งแบบนี้นะ หลังเลิกงานมาแม่ก็มาทำ ทำอยู่เรื่อยๆ นั่งหลับบนโต๊ะจักรตลอด”

จักรตัวเก่าจากมหาชัยยังคงตั้งไว้ข้างๆ ไม่ห่างจักรตัวใหม่มากนัก มันถูกดูแลอย่างดีภายใต้ผ้าคลุมกันฝุ่น เราถามเธอว่าจักรนี้ยังใช้งานได้ไหม เธอตอบอย่างสั้นๆ ว่า ใช้ได้แต่เย็บไม่สวยเหมือนจักรสมัยใหม่ เลยอยากให้จักรตัวนี้พักผ่อนได้แล้ว เธอบอกว่าเหตุที่ตั้งไว้ตรงนี้ก็เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจ เพราะทั้งชีวิตเราผูกพันกับมันมาก มีเงิน มีรายได้ ปลดหนี้ได้ ก็เพราะจักรคู่ชีวิตเครื่องนี้ 

อาชีพคนหลังจักร

ฝีมือระดับช่างที่พัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ประนอมกลายเป็นที่รู้จักของลูกค้าใกล้ไกล กระทั่งลูกค้าในพื้นที่ต่างอำเภอ เธอก็ถูกไว้วางใจให้เป็นช่างผู้ชำนาญ ออเดอร์ในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 10 จาก 10 เป็น 100 เธอเล่าให้เราฟังด้วยสีหน้าที่ภูมิใจ 

ไม่ต่างการนั้นอาชีพช่างเย็บผ้าในหมู่บ้านก็มิได้มีเพียงหนึ่ง ที่เซินเหนือยังมีช่างอีกหลายคน สามารถเป็นคู่แข่งแย่งลูกค้ากับเธอได้ตลอด แต่ประนอมกลับไม่มองพวกเขาว่าเป็นคู่แข่งในสายงานเลยสักนิด เธอบอกว่าช่างเย็บทุกคนคือเพื่อนร่วมอาชีพของเรา พวกเราช่วยๆ หางานให้กันอยู่ตลอด วันไหนมีงานจนล้นมือก็จะแบ่งไปให้เพื่อน หรือออเดอร์ไหนที่รับไว้แล้วทำไม่ทัน ก็จะปรึกษาและแบ่งเบากันในลักษณะของเพื่อนช่วยเพื่อนมากกว่า

“ตอนมาทำแรกๆ แม่จะไม่ได้ออเดอร์เท่าเขาที่อยู่มาก่อน ช่างคนอื่นเขาตัดมานานกว่าเพราะเขาอยู่ที่หมู่บ้านตั้งแต่แรก ช่วงหลังมามันจะมีผ้าที่เขาฮิตกันคือชุดผ้าฝ้าย และที่หมู่บ้านเรามีช่างเยอะ ที่นี้ก็เลยกลายเป็นหมู่บ้านตัดผ้าโดยปริยาย งานก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากเมื่อก่อน แม้ตอนนี้ราคาสูงเท่าไหร่เขาก็ยอมตัด”

ที่เซินเหนือจะมีผ้าประจำถิ่นที่เรียกว่า “ผ้าควบ” เป็นผ้าที่ใช้เส้นด้ายสองเส้นสองสีปั่นให้เป็นเส้นเดียวกันเรียกว่าควบด้าย เป็นการเพิ่มมิติให้ผ้ามีสีสันที่มากกว่า 1 สี ในหนึ่งผืน เป็นที่นิยมของคนในชุมชนเซินเหนือเพราะเป็นลักษณะการทอผ้าที่ส่งผ่านมาจากบรรพบุรุษ เสมือนกับว่า “ผ้าควบ” คือผืนผ้าแห่งมรดก ที่ “ชาวไทภู” (ชื่อเรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณ อ.ภูผาม่าน จากการประกอบสร้างอัตลักษณ์และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับภูเขา) ภาคภูมิใจ

“ผ้าควบมันมีมาแต่โบราณแล้ว ที่อื่นเวลามีบุญมีงานเขาก็ใส่ผ้าไหมผ้าฝ้ายไป ใช่ไหม แต่บ้านเราจะนุ่งผ้าควบ ซึ่งตอนนี้เข้ามาฮิตมากไม่ต่างจากผ้าควบก็คือผ้าฝ้าย เราก็เลยได้ตัดเสื้อผ้าฝ้ายไปด้วย

“เราก็อาศัยเย็บผ้าพวกนี้เป็นอาชีพ ทีนี้พอแม่ณีไปเข้าร่วมโครงการโอทอป เราก็เลยเอาผ้าไปแข่งได้รางวัล มีชื่อเสียงจนทำให้ออเดอร์มันมีมาเรื่อยๆ ติดที่ว่าเราจะทำทันไหมเท่านั้น

“เราทำกันสามคนพี่น้อง แม่ตรี (พี่สาวคนโต) ก็จะเก่งเรื่องปลูกฝ้าย ทอผ้าฝ้าย แม่ณี (พี่สาวคนกลางก็จะถนัดงานจกลายขิตลาย และไปทำงานกับโอทอป ส่วนแม่ก็เป็นช่างตัดเย็บ ก็เลยได้ช่วยๆ กันแบบนี้แหละ”

ประนอม มีปัทมา (ซ้าย) สายตรี จอดพรม (กลาง) ปราณี เดชบำรุง (ขวา)

ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย

เราแอบถามเธอว่าชีวิตที่เซินเหนือ ชีวิตที่กรุงเทพฯ และชีวิตที่ไต้หวัน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เธอรุดตอบอย่างไม่เว้นจังหวะว่า ไม่เหมือนกัน เพราะอยู่กรุงเทพฯ เราดิ้นรนหาตังค์ค่าเช่าบ้าน พอเงินเดือนออกเราก็ต้องจ่ายค่าบ้านค่าอาหารการกิน บางครั้งก็ได้ยืมมาประทังให้ถึงสิ้นเดือน 

แต่พอเรากลับมาอยู่บ้าน บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ ชีวิตความเป็นอยู่ทำให้เรามีเงินเก็บ เงินที่เราได้จากการเย็บผ้าเราก็เอาไปทำอย่างอื่น แต่อยู่ที่กรุงเทพฯ เรามีหนี้เราต้องหาตังค์ใช้หนี้ตลอด

“พอกลับมาเย็บผ้าที่บ้าน พูดตามตรงถ้าเราทำได้น้อย มันก็จะได้น้อย ขึ้นอยู่ที่กำลังเราด้วย อย่างเวลาที่นักท่องเที่ยวเข้ามา เขาจะเอาแบบนี้ในจำนวน 7-8 ตัว เราก็ต้องทำให้ทัน หรือเวลาปลัดอำเภอเขาเข้ามาอยากสนับสนุน สั่งตัดตามจำนวน เราก็รับออเดอร์ไว้ แต่ตังค์ที่ได้จะได้ตังค์เป็นก้อน ไม่ได้เป็นเงินเดือนนะ”

จำนวนออเดอร์ที่มากโข ซึ่งสวนทางกับกำลังแรงของช่างเย็บที่มี ความขยันเท่านั้นที่จะทำให้ได้รับค่าตอบแทนมหาศาล แต่สิ่งที่เธอเผยให้เราฟังคือความเหนื่อยล้ารายวัน เพราะต้องอดหลับอดนอนทำงานหามรุ่งหามค่ำเกือบทุกวัน จนทำให้สิ่งที่ตามมา ไม่ใช่แค่เงินตราค่าตอบแทน แต่มันคือปัญหาสุขภาพ

เธอเข้ารับการผ่าตัดตาต้อกระจก ที่มีสาเหตุมาจากการอยู่ใกล้แสงสว่างเป็นเวลานาน จากดวงไฟที่เธอใช้เป็นแสงให้ความสว่างสำหรับออเดอร์ที่ต้องทำต่อในช่วงกลางคืน แต่การผ่าตาต้อกระจกก็ไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เธอบอกกับเราว่า ไม่เป็นไร แม้งานนี้จะเหนื่อยล้าหรือตาจะมองลำบาก แต่ถ้าเราจัดการเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อน มันก็พอมีแรงลุกขึ้นมานั่งหน้าจักรอีกครั้งในเช้าวันถัดไป

“ถามว่าทรมานไหม ก็ทรมานนะ เย็บผ้ามันจะทรมานกว่าเสริมสวย เสริมสวยปุ๊บมันจะได้เงินปั๊บเลย แต่งานเย็บผ้ามันจะไม่ได้ตังค์เลย บางครั้งลูกค้าก็อยากรีบใส่ มาเร่งเรา เราก็ต้องทำให้ทัน แม่ก็ต้องอดหลับอดนอนทำให้เขา”

อย่างที่บอกไปก่อนหน้า การทำธุรกิจเย็บผ้าก็คงไม่ต่างอะไรกับธุรกิจอื่นที่จะต้องมีสมาชิกในองค์กรเพิ่มมากขึ้น การมีลูกน้องทำงานน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้เธอผ่อนเบาแรงงาน และสามารถรับออเดอร์ได้มากกว่าเดิม ประนอมบอกกับเราว่าอยากมีลูกน้องไว้มาทำงานด้วย เธอพร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาเย็บผ้าให้กับคนที่สนใจ และมีรายได้อย่างที่เธอกำลังทำ

“อยากให้มีคนมาเรียนด้วย เราพร้อมที่จะสอนเขาให้หมด จะถ่ายทอดให้หมดเลย แต่ก็ไม่มีคนที่อยากมาทำอยากมาเรียนจริงๆ หรอก วัยรุ่นสมัยนี้ทั้งลูก ทั้งหลาน เขาก็ไปสนใจทำอย่างอื่นหมด

“เคยมีคนที่สนใจอยากจะมาเรียนนะ เขาถามเราว่าจะเอาค่าครูเท่าไหร่ เราก็เรียกไป 8,000 – 10,000 บาท เราจะเอาถูกกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะเราจะสอนจนกว่าเขาทำเป็น เราจะตั้งใจสอนให้จนมีอาชีพ แต่เขาก็ไม่เอาเพราะเขาบอกว่าแพงเกินไป เคยมีมาทำช่วยอยู่คนหนึ่งแต่เขาก็ทำงานไม่ละเอียด ไม่พ้นมือเรา สุดท้ายเราก็ได้ทำเอง”

กำไรเพียงนิด ไม่คุ้มทุน ไม่คุ้มแรง แต่คุ้มใจ

เราถามถึงแผนการเพิ่มรายได้ที่จะทำให้อาชีพช่างเย็บผ้าของประนอมมีเงินเก็บจนร่ำรวย เธอตอบกับเราอย่างสิ้นหวังว่าเป็นไปได้ยากมาก เพราะงานนี้มันขึ้นอยู่กับความขยันล้วนๆ ลงทุนซื้อผ้าแต่ละทีก็เกือบสิ้นเนื้อประดาตัว กำไรที่ได้ก็ไม่มากเท่าไหร่ อย่างที่เธอย้ำกับเราว่าทำมากได้มากทำน้อยได้น้อย คำๆ นี้ไม่เกินจริงเท่าไหร่หลังจากที่ฟังเธอพูด

“แม่ซื้อผ้ามาแม่จะทำเสื้อขายบุญเดือนสี่นี้ แต่แม่ยังไม่ได้ออกจากงานผ้าที่กองอยู่ตรงหน้าเลย คนจะมารับในเร็ววันก็มี ยิ่งทุกวันนี้คนตัดผ้าก็เยอะมาก และแม่ก็เก็บไม่แพงด้วย ถ้าเก็บแพงไปเขาจะหาว่าราคาจับต้องไม่ได้

“ร้านแม่จะเก็บถูกมาก แม่ไม่ขึ้นราคาถึงขั้นเพื่อนมาบอกว่าอันนี้ขึ้นแล้วนะ ตัดผ้าถุงเนี่ยจากเราตัด 300 ก็ขึ้นเป็น 350 แล้วนะ แต่แม่ก็ไม่ขึ้นเพราะว่าพอไล่ราคาไปแล้วมันก็ไม่สมควรจะขึ้น แค่ผ้าก็แพงแล้วที่เขาเอามาตัด แล้วเราจะมาเอาค่าตัดแพงๆ ซึ่งเราก็ไม่ได้ค่าแรงที่สูงเท่าไหร่หรอก แต่ว่าเราก็ไม่ขาดทุน

ประนอมอธิบายราคาต้นทุน ฝีมือ กำไร ให้เราฟังอย่างตั้งใจว่าบางคนมีผ้ามาเอง หรือบางคนก็มาซื้อกับเรา ถ้ารวมตัดด้วยก็จพราคาค่อนข้างแพง เสื้อตัวหนึ่งกับผ้า 3 เมตร ซึ่ง 3 เมตร จะอยู่ที่ราคา 600 บาท บวกค่าตัดอีก 300 บาท รวมค่าอัดกาว ถ้าไม่อัดกาวก็ 200 บาท ซึ่งผ้ากาวจะราคา 3 เมตร 100 บาท แต่เราจะต้องเป็นคนเดินทางไปซื้อเองในเมือง ซึ่งส่วนนี้เราจะไม่คิดค่าเดินทาง เธอบอกกับเราว่านี่ยังไม่รวมกับค่าไฟที่จะต้องจ่ายไปแต่ละเดือนซึ่งมีราคาสูงมาก เพราะเธอต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน

“ถ้าเป็นผ้าของเรา แม่จะคิดราคาผ้า 600 กับค่าตัดอีก 300 รวมเป็น 900 แต่ถ้าเราตัดแบบสำเร็จพร้อมขาย เราจะขายอยู่ที่ 1,500 แต่สุดท้ายเขาก็ต่อราคาลงมาเหลือ 1,400 – 1,300 อยู่ดี

“ถ้าลูกค้าจากที่อื่นมาซื้อ แม่ก็พอจะหาวิธีเอากำไรที่มากกว่านี้ได้ แต่ถ้าเป็นคนบ้านเดียวกัน แม่ก็ไม่กล้าเท่าไร่ เลยขายในราคาเกรงใจไป เขาอยู่ได้เราอยู่ได้แต่กำไรมันไม่มากหรอก ก็พอหมุนได้

“เราอาศัยว่าลูกค้าเราจะมาตัดกับเราบ่อยๆ ถึงมีคนมาบอกว่าต้องขึ้นราคาได้แล้วนะ แต่มันก็ไม่เกินกันเท่าไหร่หรอก เพราะว่าการทำงานมันอยู่ที่เรา เราทำไว ทำช้า ทำเร็วเราก็ได้เงินเหมือนกัน”

ด้วยราคาที่ไม่แพงมากนัก ประนอมเลยกลายเป็นช่างเย็บผ้าที่เป็นที่รู้จักของทุกคน จะใกล้ไกลต่างอำเภอฃหรือต่างจังหวัด หลายคนก็ติดต่อเพื่อให้เธอตัดชุดให้อยู่ไม่ขาด เธอเล่าให้ฟังว่ามีออเดอร์ตลอด ตั้งแต่ตัดชุดรำวงชาวบ้าน ชุดแสดงงานกีฬาสี ชุดสำหรับเด็กห้องเรียนพิเศษ กระทั่งชุดภรรยาผู้ว่าฯ หรือปลัดอำเภอ ต่างก็มาจากฝีจักรของเธอทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การทำงานกับผ้าก็ใช่ว่าจะสามารถจบงานได้หลังจากที่ลูกค้ามารับของ ประนอมเล่าว่าเราต้องตรวจเช็คอีกครั้งว่าเขาใส่ได้จริงไหม ขนาดตัวที่วัดตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกันอย่างไร เราก็ต้องตามเก็บให้เขาจนกว่าเขาจะใส่ได้ บางรายก็ต้องแก้ใหม่ทั้งหมด หรือพอเขามาดูแล้วไม่เป็นที่พอใจ เราก็ยินดีที่จะแก้ไขให้เขา กลายเป็นว่าเราลืมมองเรื่องทุนและกำไรไปเลย

นักตัดผ้าวัยห้าสิบแปด

เราถามประนอมถึงอนาคตอันใกล้เมื่อถึงวัยเกษียณ ในวันที่อายุ 58 เธอยังจะทำอาชีพนี้ต่อไปไหม ด้วยปัญหาสุขภาพตาที่กำลังเผชิญ ทุนและกำไรที่สวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด ไปจนถึงความรู้สึกรักและศรัทธาในอาชีพ เธอยังอยากเย็บผ้าต่อไปจนถึงวัยเกษียณหรือไม่

“จะทำจนกว่าจะทำไม่ได้นู้นแหละ ตาก็พอมองเห็นอยู่ถ้าวันไหนที่มองไม่เห็นถึงจะหยุด แต่ตอนนี้ทำได้อยู่ก็ทำไปก่อน ไม่น่าจะมีวันเกษียณ เพราะ 60 มันเป็นแค่ตัวเลข เรายังมีแรงเหลือเราก็ทำต่อดีกว่า”

เราถามเธอต่อว่า แล้วอยากให้ลูกหลานหรือคนอื่นๆ ที่ไปทำงานกรุงเทพฯ กลับมาทำงานที่บ้านเราไหม เธอตอบด้วยความมั่นใจว่า

“อยาก อยากให้กลับมา กลับมาเย็บผ้ายังได้เลย มันดีนะและมันน่าจะดีไปตลอดด้วยเพราะว่านักท่องเที่ยวก็เริ่มเข้ามารู้จักแล้ว อยากให้ลองมาเรียนวิชาเย็บผ้า อย่าพึ่งคิดว่างานเย็บผ้ามันไม่ได้เงินเยอะนะ อยากให้มาเรียนรู้ก่อน 

“ถ้าทำเป็นแล้วก็ลองออกไปทำของตัวเอง อยากให้เป็นอย่างนั้นมากกว่า แต่ก็คงเป็น ไปไม่ได้หรอก เพราะแหล่งงานมันอยู่กรุงเทพฯ แต่ใจจริงๆ ก็อยากให้กลับมา”

ประนอมทิ้งท้ายให้เราฟังถึงกระแสแฟชั่นยุคใหม่ที่หลายคนมองข้ามความงามของผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าฝ้ายพื้นเมืองที่ไม่ผ่านการฟอกสารเคมี เธอบอกว่าผ้าฝ้ายควรได้รับความนิยมไม่ต่างจากผ้าฝรั่งเพราะใส่สบายเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบอยู่ดี 

“แต่ก็มีหลายคนนะที่ยังสนใจใส่ผ้าฝ้าย วัยรุ่นก็มีมาให้แม่ตัดบ้าง ตัดแบบแฟชั่นๆ ตามที่เขาอยากได้ แม่ก็ลองทำ ก็แปลกใหม่ดี ตัดเป็นทรงกิโมโน เป็นทรงญี่ปุ่น แม่ก็ลองตัดดู เออ มันก็สวย”

image_pdfimage_print