โครงการหนึ่งที่สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) หรือ ยูเนสโก ให้ความสำคัญและทำงานมาอย่างต่อเนื่องคือการสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2558 โดยมีหลักการสำคัญคือ การสร้างพื้นที่ให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยเกิดจากพลังของฝ่ายบริหารเมืองนั้นๆ ที่จะส่งเสริม ขับเคลื่อน ร่วมกับคนในเมือง

ปัจจัยที่แต่ละเมืองจะผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คือ เมืองนั้นๆ ต้องเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา สถาบันฝึกอบรม และสถาบันวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน การใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ที่สดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ​ (Sustainable Development Goals: SDGS) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ว่าด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG4) และการเป็นเมืองที่ปลอดภัยสำหรับคนในเมืองที่จะสามารถเรียนรู้และเติบโตอย่างยั่งยืน (SDG11)

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีการประชุม Empowering Learners of All Ages: UNESCO Learning Cities Transform Lives ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีการประกาศรายชื่อ 64 เมือง จาก 35 ประเทศ เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) โดยในจำนวนรายชื่อเมืองเหล่านั้น มีตัวแทนจากประเทศไทยคือ กรุงเทพฯ ยะลา และขอนแก่น ร่วมเป็นสมาชิก ทำให้ขณะนี้มี 356 เมือง จาก 80 ประเทศ ที่จะร่วมสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต รองรับผู้คนอย่างน้อย 390 ล้านคนทั่วโลก

เทศบาลนครขอนแก่นมีประชากรประมาณ 102,909 คน แม้จะอยู่ห่างจากศูนย์กลางของประเทศ แต่ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งวัดจากขนาดพื้นที่ ความพร้อม ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และแนวทางการพัฒนาเมือง กระนั้นการได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ก็นับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ทำให้เราสนใจ ทั้งที่มาที่ไป และประโยชน์ของการเป็นสมาชิกที่จะได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับเมืองต่างๆ ในเครือข่ายเราคุยเรื่องนี้กับ ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ว่าด้วยวิสัยทัศน์ของเมือง โอกาส และความพยายามที่จะทำให้นครขอนแก่นเป็นมากกว่าคำว่า บ้านเกิดเมืองนอน

จุดเริ่มต้น

ที่มาของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เริ่มจากภาคเอกชนอย่าง บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) สภาเมืองขอนแก่น และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ​ร่วมกับ เทศบาลนครขอนแก่น ที่ช่วยกันทำงานและผลักดันจาก Local Learning ให้กลายเป็น Learning City ที่เชื่อมเมือง เชื่อมคน สร้างการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

แม้จะมีหลายข้อต่อ ต้องทำงานกับหลายภาคส่วน แต่ ธีระศักดิ์ เล่าว่า ความราบรื่นในการทำงานเกิดจากวิธีประสานงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย นั่นทำให้ผลลัพธ์ของการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต่างฝ่ายต่างได้เติมเต็มผสานความร่วมมือระหว่างกัน

“ขอนแก่นเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจนที่สุด เราต่างมีหน้าที่ เทศบาลรับผิดชอบในปีกงานราชการ ส่วนภาคเอกชนก็มีบทบาทในการรองรับ สานต่อนโยบายอีกทอดหนึ่ง”

ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น

“ตอนนี้ขอนแก่นพร้อมแค่ไหน และยังขาดเหลืออะไรบ้าง” คำถามที่ The Isaan Record ต้องการคลายข้อสงสัย

“ขอนแก่นมีความพร้อมในการสร้างนิเวศเมือง (Ecosystem) อย่างที่กล่าวว่าเราแบ่งหน้าที่กันไปทำในส่วนต่างๆ ช่วยกันสร้างนิเวศแห่งการเรียนรู้ใหม่ เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

“นโยบายหลักในการนำเสนอต่อ UNESCO คือโครงการห้องเรียน 360 องศา สืบเนื่องไปถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) นอกจากนี้เรายังมีศูนย์การเรียนรู้อื่นๆ ทั้งในและนอกระบบ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัยโฮงมูนมัง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ รวมถึงเปิดเวทีเสวนา (สภาพัฒนาเมือง) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมอภิปรายให้ความรู้ในประเด็นต่างๆ ทางสังคม

พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น

“ส่วนเรื่องช่องว่างระหว่างวัย ถือเป็นคลื่นใต้น้ำที่คอยบ่อนเซาะแนวทรายแห่งการเรียนรู้ อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาเมืองคือการรับรู้ของผู้คนแต่ละวัยที่แตกต่าง ทำให้เกิดช่องว่างของการศึกษา ผู้คนขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและกัน ปัญหาเหล่านี้เกิดจากแนวคิดที่ไม่ลงรอยของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นในสังคม”

ธีระศักดิ์ ย้ำว่า ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นโจทย์ใหญ่ของจังหวัดขอนแก่นตอนนี้ คือจะทำอย่างไรให้ผู้คนก้าวไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แนวคิดการพัฒนาเมือง

มองในภาพรวม รายงานของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อปี 2563 ซึ่งสำรวจดัชนีโอกาสของเด็กและเยาวชนไทยในการเข้าถึงการศึกษา ทรัพยากร และบริการสาธารณะต่างๆ พบว่า ร้อยละ 50 ของเด็กและเยาวชนซึ่งมีอายุระหว่าง 6-14 ปี ในกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงโอกาสเหล่านั้นครบถ้วน ขณะที่โอกาสในรูปแบบเดียวกันหากวัดไปที่ภาคอีสานกลับพบว่าเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น นี่คือตัวอย่างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่เกิดขึ้น และมันเป็นคำถามว่าหากเด็กและเยาวชนมีโอกาสเพียงเท่านี้ เมืองจะเติบโตได้อย่างไร

“เมืองจะเติบโตได้ คนก็ต้องเติบโตด้วย” ธีระศักดิ์ วางหลักการนี้เอาไว้อย่างมีนัยสำคัญ และย้ำอีกว่า ขอนแก่นเป็นเมืองที่ผู้คนค่อนข้างหลากหลาย คำถามคือเมืองพร้อมเปิดรับให้กับความหลากหลายเหล่านั้นหรือยัง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันขอนแก่นจะยังก้าวข้ามขีดจำกัดของความเจริญทางวัตถุได้ไม่มากนัก แต่เขามองว่า ที่นี่พร้อมจะพัฒนาในมิติอื่นๆ ทั้งการศึกษา การแพทย์ และการคมนาคมขนส่ง

“เทศบาลนครขอนแก่นมุ่งสร้างให้ประชากรมีศักยภาพในการเป็นผู้นำตนเอง ไม่อาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว เเต่สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตน ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการเข้าถึงการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตให้กับพวกเขา

“Smart City ไม่มีวันเกิดถ้าขาด Smart People วิธีการสร้างประชากรให้เป็นพลเมืองภิวัฒน์ ตื่นรู้ต่อความเป็นไปของบ้านเมือง และจัดสรรพื้นที่ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการสร้างเมืองให้เป็น Smart City ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ความสามารถในการปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนของสังคม”

ปัจจุบันเทศบาลนครขอนแก่นนำใช้รูปแบบการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ คือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายในชุมชนของตน เพื่อให้สอดรับกับบริบทการเติบโตของท้องที่ ไม่กระจุกตัวอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง การเริ่มต้นกระจายอำนาจเล็กๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองต่อไป

“เมืองเปลี่ยนประเทศเปลี่ยน ไม่มีทางที่การพัฒนาแค่กรุงเทพฯ จะทำให้ประเทศไทยเจริญได้”

เมืองในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า

“ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งโอกาส เราค่อยๆ โตไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง เหมือนการเดินขึ้นบันไดไปทีละก้าว ช้าแต่มั่นคง ในอีก 5 ปี ข้างหน้าคนที่อายุ 15 จะกลายเป็นคนอายุ 20 คนที่อายุ 20 จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่วัย 25 พวกเขาเหล่านี้คือกำลังสำคัญในการพัฒนาให้เมืองมีความแข็งแกร่งในทุกๆด้าน

“การเตรียมความพร้อมให้ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด ไม่เพียงแต่ในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจแต่ยังเห็นผลลัพธ์ของคุณค่าทางสังคม”

การโอบรับผู้คนที่แตกต่างหลากหลายคือสิ่งที่นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นเน้นหนักในระหว่างการสัมภาษณ์

“กลุ่มคนเปราะบางหรือผู้ขาดโอกาสด้านการศึกษาสมควรได้สิทธิ์เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ควรถูกปล่อยลอยแพไว้เบื้องหลัง เพราะพวกเขาเป็นผลผลิตจากการถูกเพิกเฉยของสังคม 

“ลองนึกภาพตามว่าท่านเป็นเด็กที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้สอน ท่านอาจจะกลายจากเด็กหน้าห้องไปเป็นเด็กหลังห้อง และสุดท้ายการหลุดจากระบบการศึกษาคงเป็นเรื่องน่าเสียดาย ในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า เราไม่อยากให้ภาพเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำและหวังให้กลุ่มคนเปราะบางเติบโตอย่างมั่นคงและมีที่ยืนในสังคมอย่างเต็มภาคภูมิ”

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันมีเด็กประมาณ 2 ล้านคน อยู่ในความดูแลของ อปท. ทั้งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 18,000 ศูนย์โดยประมาณ และโรงเรียนในสังกัดของเทศบาลอีก 1,725 แห่ง ตัวเลขเหล่านี้อธิบายว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้เด็กได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษา ซึ่งขอนแก่นเป็นอีกเมืองที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะหากมองว่า นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เมืองแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นจริงและยั่งยืน

เป้าหมายต่อไปของเทศบาลนครขอนแก่นคือการพัฒนารูปแบบการศึกษาให้มีความหลากหลายและสม่ำเสมอมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับพลวัตของสังคม พร้อมทั้งพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City อย่างเต็มรูปแบบ 

สำหรับคนที่สนใจเรื่องนี้ เทศบาลนครขอนแก่นจัดทำเว็บไซต์ Khonkaenlearningcity.com สำหรับให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวโครงการและประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ภายใต้เป้าหมาย “Khon Kean Learning City: ขอนแก่นสู่เมืองแห่งการเรียนรู้” 

อ้างอิง

image_pdfimage_print