สงครามทำให้ชายไทยที่ถูกเกณฑ์ต้องออกไปรบ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนไทยเพื่อรักษาอธิปไตย เมื่อเสร็จศึกนักรบชั้นผู้น้อยเหล่านั้นก็กลับคืนสู่ภูมิลำเนา กลายเป็นทหารปลดประจำการที่ต้องไปใช้ชีวิตเฉกเช่นเดียวกับพลเรือนทั่วๆ ไป 

หลายคนต้องพลีชีพเพื่อชาติ และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการทุพพลภาพ  จึงมีการร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2491 และกำหนดให้เป็นวันทหารผ่านศึก แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดทำให้ทหารผ่านศึกเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ อย่างยากลำบาก 

จากข้อมูลพบว่า จังหวัดหนองคายมีทหารผ่านศึกที่ปลดประจำการจำนวน 4,838 คน ในจำนวนนี้มีทหารผ่านศึกที่พิการและนอนติดเตียงอยู่ไม่น้อย นอกนั้นยังมีทหารผ่านศึกที่ยังไร้สวัสดิการใดๆ ไร้อาชีพ บางครอบครัวเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานหารายได้ บางครอบครัวไม่มีบ้านและไร้ที่ดินทำกิน 

ณ บ้านดอนสวรรค์ ต.วัดธาตุ อ.ธาตุพนม จ.หนองคาย เราพบพลทหารอาทิตย์ เสียงเสนาะ อายุ 62 ปี อดีตทหารเกณฑ์ ทบ.1 จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2526 ประจำกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 106 ซึ่งเป็นกองพันตั้งใหม่ โดยได้รับปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ใหม่ล่าสุดเข้าประจำการ

พลทหารอาทิตย์ เสียงเสนาะ อดีตทหารปืนใหญ่ 

วีรกรรมทหารผ่านศึก ณ ชายแดนกัมพูชา

เขาย้อนเล่าย้อนถึงประสบการณ์วีรกรรมการสู้รบว่า ตอนนั้นต้องสับเปลี่ยนกำลังกับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 103 ในพื้นที่ อ.บ้านกรวด จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ที่ฐานยิงปืนใหญ่ราชันในพื้นที่ต้องไปตรึงกำลังตลอดแนวชายแดนจังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2527 ทางฝั่งกัมพูชามีปัญหารบกันแบ่งฝักฝ่ายเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายเฮงสำริน ฝ่ายพรพต และฝ่ายเขียวสัมพันธ์ มีการกวาดล้างภายในประเทศ 

“ทางฝ่ายเขมรกลุ่มกู้ชาติรุกล้ำเข้ามาทางฝั่งดินแดนฝั่งไทย ใช้พื้นเคลื่อนไหว มีทั้งลูกปืน ลูกระเบิดปลิวว่อนเข้ามาในไทย สร้างความสูญเสียและเดือดร้อนให้กับแนวชายแดน กระสุนปืนใหญ่ตกเกือบโดนที่ว่าการอำเภอของไทย จากนั้นเขาก็รุกล้ำเข้ามาเป็นกิโลเมตรและสุดท้ายเขมรก็ยิงเครื่องบินรบของไทยตกทำให้นักบินเสียชีวิต”

สถานการณ์ในกัมพูชาทำให้ไทยได้รับผลกระทบตลอดแนวชายแดน มีการรุกล้ำเข้ามายึดปักหลักของกลุ่มทหารกัมพูชาไม่ทราบฝ่าย เหตุการณ์ครั้งนั้นทำคนไทยถือว่า โดนรุกล้ำอธิปไตย ทำให้พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด สั่งการให้ทหารไทยผลักดันให้ทหารกัมพูชาออกจากดินแดนไทยภายใน 24 ชั่วโมง 

หลังได้รับคำสั่ง เหล่าทหารราบ ตำรวจตระเวนชายแดน และทหารพราน จึงเข้าตรึงกำลัง โดยให้ทหารปืนใหญ่ ยิงปูพรมในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทหารราบเข้าผลักดัน

“ตอนนั้นผมในฐานะทหารปืนใหญ่ได้รับแจ้งพิกัด จึงปฏิบัติตามขั้นตอน ทางหน่วยเหนือแจ้งพิกัดมาทางกองพันปืนใหญ่ เราก็ตั้งพิกัดยิงวิถีโค้งแบบปูพรมตามเนินเขา เพื่อให้กองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่รุกล้ำแผ่นดินไทยออกก่อนจะส่งทหารราบเข้า ตอนนั้นยิงกันตั้งแต่ 5 โมงเย็นจนถึงตี 5 อีกวัน หยุดยิงเป็นพักๆ ช่วงกินข้าว กินอิ่มก็ยิงกันใหม่ ตอนนั้นพลีชีพกันไปเยอะ เพราะสมรภูมิเป็นเนินเขา” เขาเล่าอย่างออกรส

หลังศึกครั้งนั้นทำให้ พลทหารอาทิตย์ สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ภายหลังปลดประจำการก็กลับบ้านเกิดที่จังหวัดหนองคาย ด้วยอาการป่วยไม่สามารถทำงานหนักได้ต้องเข้าการรักษาตัวอยู่ตลอดเวลา

“เมื่อปี 2550 ผมกับภรรยาต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะป่วยทั้งคู่ เงินที่เก็บมาก็นำมาใช้รักษาตัวจนหมด ปีนั้นผมลำบากมาก ที่พักผมก็โดนไล่ เพราะเป็นที่การรถไฟ ไปขอความช่วยเหลือจากองค์การทหารผ่านศึกจังหวัดอุดรฯ หัวหน้าสำนักงานก็มาตรวจเยี่ยมที่บ้าน ตอนนั้นน้ำไฟไม่มี ต้องใช้ตะเกียง”

บ้านหลังเก่าและการอนุเคราะห์

ปัจจุบัน พลทหารอาทิตย์ ใช้ชีวิตกับภรรยาที่บ้านหลังเก่าๆ ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้มีอุปการะในจังหวัดหนองคาย ได้ให้อาศัยอย่างไม่เก็บค่าเช่า แต่แลกเปลี่ยนด้วยการให้ดูแลสวนกล้วยและสามารถนำผลผลิตไปขายนำเงินไว้ประทับชีวิตและมี เบี้ยยังชีพจากองค์การทหารผ่านศึกเดือนละ 3,000 บาท  

“เงิน 3,000 บาท ถามว่าพอใช้ไหม ผมใช้ชีวิตแบบพอเพียง แต่ยังมีพี่น้องทหารผ่านศึกหลายคนที่ลำบากกว่าผม ยังขาดโอกาสการเข้าถึงความช่วยเหลือหลังปลดประจำการ หลายคนลำบากยากจน ผมอยากให้ทุกคนได้รับสวัสดิการ อย่างเช่น เงินเชิดชูเกียรติ ซึ่งเป็นเงินที่น้อยนิด แต่สามารถต่อลมหายใจครอบครัว เพราะครั้งหนึ่งพวกเราก็ทำเพื่อแผ่นดินมา”

พลทหารสนิท ต้นฝาง อดีตทหารเหล่าราบค่ายศรีสองรัก จ.เลย

ขณะที่ทหารผ่านศึกอีกคนอยู่ที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย คือ พลทหารสนิท ต้นฝาง อายุ 61 ปี อดีตทหารเกณฑ์เหล่าราบ จากกองร้อย 8023 ค่ายศรีสองรัก จ.เลย เข้าประจำการเมื่อปี 2527 ได้เข้าปฏิบัติภาระกิจลาดตระเวณในพื้นที่ช่องจอม จ.สุรินทร์ 

“ช่วงประมาณ 6 โมงเย็น ผมเดินลาดตระเวนเลาะตามเนินเขา หมวดเรามี 11 นาย ผมเป็น ผบ.หมู่เดินนำหมู่ สถานการณ์ชายแดนช่องจอมเมื่อปี 2527-28 รุนแรงมาก ทางเขมรรุกล้ำเข้ามาใช้ฝั่งไทยเพื่อเคลื่อนไหวอยู่บ่อยครั้ง เราต้องตรึงกำลังตามตะเข็บแนวชายแดน เราเจอกลุ่มเขมร เขายิงใส่เราเลยด้วยปืนอาก้า ส่วนทหารไทยเราใช้เอสเค เราก็ตอบโต้ ทางเขมรก็ส่งอาร์พีจีเข้ามา ตอนนั้นก็ตอบโต้กลับไปเพื่อให้เขาล่าถอยออกไป ยิงกันหูดับตับไหม้เลย ครั้งนั้นรอดมาได้ ผมหมดแม็กไป 2 แม็ก 80 นัด แนวชายแดนช่องจอมปะทะกันบ่อย เขมรชอบล้ำเข้ามาอาจจะด้วยความไม่ตั้งใจก็ได้ เพราะฝั่งเขมรก็กวาดล้างบ่อยในช่วงนั้น”

หลังจากปลดประจำการอย่างไม่มีบาดแผลทางร่างกาย แต่บาดแผลในใจก็ยังคุกรุ่น โดยเฉพาะหลังจากเสร็จศึกไม่มีเงินเยียวยากับความเสียสละที่เคยทุ่มเท 

“อยากให้องค์การทหารผ่านศึกลงมาดูแลพวกเรามากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ผมปลดประจำการแล้ว โชคดีที่ยังมีไร่ ยังมีนาให้ทำหาเลี้ยงครอบครัว แต่อีกหลายๆ คนที่ไม่มีโอกาส ไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ ไม่มีบ้าน ครอบครัวเขาจะอยู่อย่างไร ทุกวันนี้ผมมีรายได้เลี้ยงชีพเดือนละ 600 บาท ที่ผ่านมาพวกเราเสียสละเพื่อชาติ วันนี้เราได้รับการตอบแทนสมควรหรือยัง คิดแล้วน้อยใจเหมือนกัน”

ชัยรณงค์ ดอนเกิด แกนนำทหารผ่านศึกจังหวัดหนองคาย รับเหรียญพิทักษ์เสรีชน

ขณะที่ พลทหารชัยณรงค์ ดอนเกิด แกนนำเครือข่ายทหารผ่านศึก จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เคยรับใช้ชาติจนได้รับเหรียญพิทักษ์เสรีชน ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ชายแดน กล่าวว่า ชีวิตรับราชการก็ทำงานคลุกคลีอยู่กับทหารชั้นผู้น้อย แต่โชคดีที่มีมีโอกาสสอบบรรจุเข้ารับราชการทำให้เข้าใจความรู้สึกถึงเหล่าทหารปลดประจำการ 

“ผมเห็นว่า หลายคนขาดโอกาส ขาดการช่วยเหลือ ถ้าเป็นไปได้ผมจะพยายามประสานการช่วยเหลือทุกภาคส่วนให้ดูแล ในวันนี้สมาคมทหารผ่านศึกจังหวัดหนองคาย เกิดขึ้นแล้ว ผมจะพยายามขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย โดยยึดหลักพี่น้องทหารผ่านศึกเป็นสำคัญ”

รวมเหล่าทหารผ่านศึกจังหวัดหนองคาย
image_pdfimage_print