โดย นิตยา แสนบุตร

กลุ่มผู้ต่อต้านการเหยียดเพศและการเหยียดผิว ในขบวน Women’s March ที่ The Sate House มลรัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐฯ (หมายเหตุ รูปภาพในบทความนี้ถ่ายมาจากขบวน Women’s March ปีที่แล้วซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อเป็นการประท้วงโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวที่ The Sate House มลรัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐฯ)

การปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การปกครองที่สมบูรณ์แบบ และเป็นระบอบการปกครองที่ไม่มีทางจะไปถึงจุดที่เรียกว่า “สมบูรณ์แบบ” ได้เลย

แม้แต่ในประเทศที่มีกระบวนการปกครองโดยใช้หลักการประชาธิปไตย และเรียกว่าเป็นแบบอย่างการปกครองในระบอบนี้มานานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรือประเทศในแถบยุโรปตะวันตก การเมืองการปกครองในระบอบนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์ แต่ทำไมประเทศเหล่านี้ถึงยังเป็นตัวอย่างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสากลนี้อยู่

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นสังคมที่ผู้เขียนมีโอกาสได้สังเกตการณ์และใช้ชีวิตอยู่จริงในปัจจุบัน

สหรัฐฯ แม้จะมีความภาคภูมิใจในประเทศตัวเองว่าเป็นผู้นำด้านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมักจะสร้างภาพว่าเป็นชาติที่สนับสนุน ผลักดัน หรือบางครั้งถึงขั้นกดดันให้ประเทศอื่นๆ ใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการปกครองมาโดยตลอด แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกระทำที่ไม่ได้มาจากหลักพื้นฐานการปกครองหรือกระบวนการประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกานั้นมีมาโดยตลอดและยังมีให้เห็นโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น

ในกรณีที่ประธานาธิบดีมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการออกกฏหมาย หรือที่เรียกว่า executive order ซึ่งส่วนใหญ่อำนาจด้านนี้ใช้เมื่อประธานาธิบดีต้องการจะออกกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาและอนุมัติร่างกฏหมายดังกล่าวโดยรัฐสภา ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ทุกคนล้วนเคยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จนี้มาแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ เองได้ใช้อำนาจนี้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี

แม้แต่กระบวนการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เอง แต่ละครั้ง ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งปรากฎให้เห็นอยู่ เช่น การที่คนชายขอบไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็น ระเบียบการใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลและนโยบายของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง การไม่มียานพาหนะในการเดินทางไปเลือกตั้ง เอกสารที่ต้องแสดงในวันไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ข้อจำกัดด้านภาษา (ส่วนใหญ่ข้อมูลจะเป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปน แต่ประชาชนของสหรัฐอเมริกามีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษหรือภาษาสเปน)

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น จำนวนของคนที่ออกไปใช้สิทธิในการเลือกประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2016 ที่ผ่านมามีจำนวนไม่ถึง ร้อยละ 60 ของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง (ตามเกณฑ์อายุ) รวมไปถึงข่าวลือที่ว่ารัสเซียได้ครอบงำและมีอิทธิพลต่อผลชนะการเลือกตั้งของทรัมป์ ซึ่งรวมไปถึงการใช้เฟสบุ๊คเป็นเครื่องมือสำหรับเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำลายชื่อเสียง ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งในการลงเลือกตั้งประธานาธิบดี

ตัวอย่างข้างต้นที่กล่าวมาไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ สหรัฐอเมริกาได้ใช้อำนาจเบ็จเสร็จมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว อย่างเช่น กรณีประธานาธิบดีส่งทหารไปสู้รบและทิ้งระเบิดลงที่ลาวในช่วงสมัยสงครามเวียดนาม ราวๆ 1960s ถึงต้นๆ 1970s ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม America’s Secret War การส่งทหารไปทำสู้รบครั้งนั้นไม่ได้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา และตลอดระยะเวลาการสู้รบ 8-9 ปี รัฐบาลสหรัฐปฏิเสธมาตลอดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถล่มประเทศลาว โกหกประชาชนของตัวเองว่าไม่ได้ไปทำสงคราม และฝ่าฝืนข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศที่ตกลงว่าจะปล่อยให้ประเทศลาวเป็นตัวกลาง และจะไม่ดึงเอามาเกี่ยวข้องในสงครามเวียดนาม

แต่เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากระบบที่ไม่สมบูรณ์นี้? “เรา” ผู้เป็นประชาชนของประเทศที่ผู้นำเลือกเดินเส้นทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (แม้จะอ้างว่าเป็นถึง 99.9% ก็แล้วแต่)

แม้ระบบการเลือกตั้งน่ากังขา แต่ประชาชนไม่เรียกหาอำนาจนอกระบบ

กระบวนการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและโปร่งใสยังเป็นปัญหาของรัฐบาลทั่วโลก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง กระบวนการเลือกตั้งหลายครั้ง รวมไปถึงครั้งล่าสุดที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้งให้มาบริหารประเทศนั้น ก็ยังมีข้อโต้แย้งว่ากระบวนการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ไม่ใสสะอาด อย่างเช่นที่ยกตัวอย่างไว้ก่อนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม อิทธิพลจากรัสเซีย รวมไปถึงการขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้นำและประสบการณ์ของทรัมป์

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นหลักที่ยังเป็นประเด็นโต้แย้งอยู่ เช่น การเลือกตั้งโดยใช้ระบบ electoral college (คณะผู้เลือกตั้ง – ตัวแทนประชาชนจากแต่ละรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 538 เสียง ซึ่งมีอำนาจตัดสินชี้ขาดว่า ใครจะได้เป็นผู้นำประเทศแทนการให้ประชาชนในประเทศเป็นผู้เลือกตั้งโดยตรง) ซึ่งทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ แม้ว่าคู่แข่งอย่างฮิลารี คลินตัน จะได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งจากประชาชนที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งมากกว่าทรัมป์ถึงเกือบ 2.9 ล้านเสียง แต่ทรัมป์กลับชนะการเลือกตั้ง เพราะได้รับคะแนนเสียงจากสมาชิกคณะผู้เลือกตั้งจำนวนมากกว่า 270 เสียง (จำนวนที่กำหนดให้ชนะจากจำนวนทั้งหมด 538 เสียง)

ถามว่าเป็นธรรมไหม? ก็อาจจะไม่ เพราะหลายคนตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์ว่า หนึ่งในสาเหตุที่สหรัฐฯ ปฏิวัติระบบการเลือกตั้งและกำหนดให้ใช้ระบบ electoral college นั้น มาจากการที่ผู้แทนราษฎรไม่มีความเชื่อมั่นว่าบุคคลทั่วไปจะมีความสามารถในการวิเคราะห์และใช้สิทธิในการเลือกตั้งเลือกผู้นำที่มีคุณภาพเข้ามาบริหารประเทศ การใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้งไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง

จากประวัติศาตร์ พบว่ามีเหตุการณ์ที่ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้คะแนนจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าคู่แข่งในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ มาหลายครั้งแล้ว เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 1824 ปี 1876 ปี 1888 และ ปี 2000 อีกทั้งมีการถกเถียงถึงความเหมาะสมของระบบเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอให้ยกเลิกระบบนี้โดยสิ้นเชิง หรือการให้ปรับปรุงแก้ไข รวมไปถึงการมองหาทางเลือกอื่นๆ

ฉะนั้น ถ้าพิจารณาแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนในประเทศสหรัฐฯ จะยอมรับผลการเลือกตั้ง กล่าวคือ ไม่ใช่ว่าพอเลือกตั้งเสร็จประชาชนก็แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตตามปรกติและบอกว่า เรายอมรับผลเลือกตั้ง เดี๋ยวอีก 4 ปีค่อยมาว่ากันใหม่ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้ลุกฮือชักนำอำนาจนอกระบบหรืออำนาจทหารเข้ามายึดอำนาจ

ปรากฏการณ์ในสหรัฐฯ ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ตายตัว ความไม่หยุดนิ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้แต่ในกระบวนการเลือกตั้งซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของกระบวนการนี้

การไม่ยอมรับในผลการเลือกตั้งดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าคนจำนวนมหาศาลยังไม่ยอมรับการเข้ามาครองอำนาจของรัฐบาลทรัมป์ และไม่ยอมรับการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ มันไม่ได้ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยหยุดชะงัก (เพื่อรอให้คนพร้อม รอให้เกิดการปฏิรูปการปกครอง รอให้บ้านเมืองสงบสุขก่อน แล้วค่อยเอาประชาธิปไตย)

ตรงกันข้าม มันกลับทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างพรรคเดโมแครต และภาคประชาสังคมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ปล่อยให้ประเทศชาติอยู่ในมือรัฐบาลทรัมป์ เพราะเขามีโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่พอจะเปิดโอกาสให้คนแสดงออกทางการเมืองได้ (แม้จะเห็นต่างและต่อต้านรัฐบาลอย่างชัดเจน)

ซึ่งมันทำให้เกิดปรากฏการณ์ด้านสังคมและการเมืองที่คนไทยสามารถเรียนรู้ได้

อย่างน้อยสหรัฐอเมริกาก็มีพื้นที่ให้แสดงความเห็นต่อต้าน

ทำไมประเทศสหรัฐอเมริกาเองถึงอยู่ในวิกฤตที่น่ากลัวในเชิงประชาธิปไตย สาเหตุก็เพราะสหรัฐอเมริกามีผู้นำที่เหยียดเพศ (sexist) และเหยียดผิว (racist) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเลือกใครคนใดคนหนึ่งขึ้นมาปกครองประเทศ ไม่ได้การันตีว่าคนๆ นั้นจะทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่นั่นแหล่ะ เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาหลักสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย คือประชาชนต้องมี “ส่วนร่วม” ในการปกครอง ตรวจสอบ เรียกร้อง รวมถึงใช้สิทธิในการตั้งคำถาม ท้าทาย หรือแม้แต่ประณามรัฐบาลได้

การเข้าถึงและการมีส่วนร่วมด้านการเมืองในสหรัฐอเมริกาไม่ได้หยุดแค่การออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งและการเดินขบวนขับไล่ แต่การมีส่วนร่วมด้านการเมือง (Civic Engagement) มีช่องทางอื่นๆ อีกหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น การเรียกร้องให้มีกฎหมายบางอย่าง เช่น เมื่อประชาชนคนใดคนหนึ่งเดือดร้อนเห็นปัญหาเชิงระบบ เขาก็สามารถเดินไปเคาะประตูหน้าบ้านของผู้แทนราษฎรของเขา เล่าเหตุเล่าผลให้ฟังถึงความจำเป็นที่ต้องมีการออกกฎหมายได้ ซึ่งถ้าผู้แทนคนดังกล่าวเห็นด้วย ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการร่างกฎหมายที่สามารถส่งผลเชิงนโยบายได้จริง ซึ่งถ้านักการเมืองฉลาด เขาก็จะให้ความสำคัญกับประชาชนที่เป็นฐานเสียงของเขา

เวลาไม่พอใจผลของการเลือกตั้ง คนในสหรัฐฯ ออกแบบการต่อต้านหรือว่าการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้นยังไง?

การเดินขบวนต่อต้าน มีการเดินขบวนต่อต้านทรัมป์หลังเขาชนะการเลือกตั้ง อย่างเช่น Women’s March ซี่งเป็นการเดินขบวนที่แสดงออกถึงการที่ไม่สนับสนุนการสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ สิ่งที่น่าสนใจคือ การเดินขบวนครั้งนั้นไม่ใช่เพียงแค่การประท้วงและต่อต้านพฤติกรรมและนโยบายอันไม่พึงประสงค์ของทรัมป์ผู้นำคนใหม่ แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมในครั้งนั้น (ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วม) มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้มีการเคารพและรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เรียกร้องการบริการและสวัสดิการด้านสังคมที่ทั่วถึงและเป็นธรรม เรียกร้องให้มีความเท่าเทียมด้านสังคม เรียกร้องให้มีความเท่าเทียมทางเพศ เรียกร้องให้ใช้ความรักเข้าสู้ความเกลียดชัง เรียกร้องให้คนสนับสนุนซึ่งกันและกันแทนที่จะสร้างความแตกแยก เรียกร้องให้เคารพความแตกต่างและความคิดต่าง

สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นกลยุทธ์ในการรณรงค์และเปิดโอกาสให้คนได้ใช้สิทธิในการแสดงออก ซึ่งมันทำให้คนหลากหลายมีพื้นที่ในการแสดงความคิด หรือจุดยืนในประเด็นต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเดียว และปรากฏการณ์ที่คนเข้าร่วมการรณรงค์ในครั้งนี้นั้นมีจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ (มากกว่าคนที่เข้าร่วมพิธีสาบานตนของทรัมป์อีก)

เราอาจจะยังไม่เห็นผลโดยตรงจากการรณรงค์ทำนองนี้ในหลายๆ กรณี แต่อย่างน้อย คนในสังคมมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น มีพื้นที่ในการถกเถียงตั้งถำถาม เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ขณะที่ในเมืองไทยตอนนี้ไม่มีโอกาสเช่นนี้เลย การคิดต่างถือเป็นภัยต่อชาติ การคิดต่างถือเป็นคนเลวคนเนรคุณแผ่นดิน การคิดต่างต้องเป็นเสื้อสีนั้นสีนี้ การคิดต่างต้องเป็นกบฏ ไม่รักชาติ ล้มเจ้า ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ทำให้คนเกิดความกลัว ทำให้คนไม่กล้าตั้งคำถาม จึงไม่มีโอกาสได้ผ่านกระบวนการคิดภายในตัวเองเลย ไม่มีโอกาสได้ผ่านกระบวนการคิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคนอื่น

ที่สหรัฐฯ มีตัวอย่างที่แม้จะไม่เห็นผลในทันที แต่ก็เห็นผลเป็นชัยชนะในเวลาต่อมา เช่น กรณีที่ผู้หญิงและคนเพศหลากหลายเผยเรื่องราวของตัวเองที่ถูกข่มเหง กดขี่ และล่วงละเมิดทางเพศ ตัวอย่างดังกล่าวนำมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ผลของกระบวนการประชาธิปไตยอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเลย ณ ทันที มันเป็นกระบวนการ บางทีการเปลี่ยนแปลงมันจะไม่เกิดขึ้น จนเมื่อ 30-40 ปีผ่านไป

แต่เมื่อใดที่ปราศจากกระบวนการประชาธิปไตย ปราศจากสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ เราก็จะถูกครอบงำ ถูกทำให้เชื่อว่าการเห็นต่างเป็นสิ่งที่เลวร้าย เป็นภัยต่อสังคม

ตัวอย่างล่าสุดคือผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารัฐอลาบามาที่ Roy Moore จากพรรครีพับลิกัน เพิ่งเสียที่นั่งให้กับ Doug Jones จากพรรคเดโมแครต (พรรเดโมแครตชนะการเลือกตั้งวุฒิสภาสมาชิกรัฐอลาบามาครั้งแรก ในรอบ 25 ปี) ความพ่ายแพ้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่นักการเมืองหลายคน ผู้สื่อข่าว และดาราดังในฮอลลีวูดโดนผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดนำเรื่องราวของตัวเองมาเผยแพร่เป็นขบวนการเคลื่อนไหว #MeToo จนเกิดการประณามบุคคลเหล่านั้น และมีการเรียกร้องความเป็นธรรมตามมา (Roy Moore ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิง)

ผู้เขียนร่วมณรงค์ให้ยุติการคุกคามทางเพศต่อสตรี ในกิจกรรม Women’s March

สิ่งเหล่านี้ มาจากพลังการตื่นตัวเรื่องการเมือง การตื่นตัวเรื่องประเด็นสังคม และที่สำคัญที่สุด มันแสดงพลังและความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสนับสนุนและรณรงค์ให้คนเอาเรื่องราวประสบการณ์เลวร้ายในการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับตนเองมาเผยแพร่ กล่าวคือคือ มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพของนักข่าวในการเผยแพร่ ในการตรวจสอบ สืบสวนประเด็นต่างๆ

ดังนั้นจึงยังมีแนวทางปฏิบัติและตัวอย่างที่ดีจากประเทศเหล่านี้อยู่เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยบ้านเรา

ไม่ได้แปลว่าเราต้องเดินตาม “ขั้นตอน” การพัฒนาประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

นักวิชาการบางคนแนะนำว่า เราควรจะค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ตัวอย่างบทความของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ในหนังสือรวมบทความ “ประชาธิป’ไทย” ที่วิเคราะห์ประเด็นประชาธิปไตยของไทย โดยวิจารณ์และให้ความคิดเห็นว่า เมื่อเราเริ่มระบบการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คณะราษฎรฯ ไม่ควรจะให้สิทธิในการเลือกตั้งแก่ประชาชนทุกคน โดยกล่าวว่า “โดยปรกติแล้วการพัฒนาเป็นประชาธิปไตยควรจะเริ่มมาจากคนที่มีความพร้อมก่อน” โดยให้นัยยะว่าคนที่มีการศึกษา มีทรัพย์สิน เสียภาษีควรเป็นกลุ่มคนที่ควรจะได้รับสิทธิในการเลือกตั้งก่อน ในกระบวนการประชาธิปไตย โอยอ้างว่า ตอนที่ประเทศญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นระบบนี้ เขาก็ไม่ได้ให้ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งได้

ตอนเราอ่านบทความนั้น ต้องบอกเลยนะว่าเป็นกระบวนการคิดที่ขัดแย้งกับหลักการหลักของประชาธิปไตยอย่างมาก เพราะประชาธิปไตยโดยตัวของมันเองเป็นกระบวนการที่ต้องให้คนในสังคมได้มีส่วนร่วม ประชาธิปไตยมีหลักการหลักคือ เห็นคนทุกคนเสมอภาค เท่าเทียมกัน วิธีคิดที่ว่าควรจะให้สิทธิคนที่มีการศึกษา คนที่พร้อมก่อน เพราะเราควรจะตามหลังประเทศที่เขาพัฒนามากกว่าในเรื่องนี้ มันเหมือนกับจะบอกว่า เพราะประเทศต่างๆ กดขี่ทางชาติพันธุ์ กดขี่ทางสีผิว กดขี่ทางเพศ ดังนั้น เราก็ควรจะตามเขา

สาเหตุที่ยังไม่ให้คนอีสานมีสิทธิเลือกตั้งเพราะคนอีสานส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา ยังไม่เข้าใจและมีความสามารถพิจารณาว่าควรจะเลือกใครเข้ามาบริหารประเทศ

ดังนั้น เราต้องให้การศึกษากับคนอีสานก่อนจะได้มีความรู้ความเข้าใจ และเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศ ไม่ใช่เลือกคนที่ให้ประโยชน์แบบชั่วคราว วาทะกรรมแบบนี้ทำให้สังคมมุ่งหน้ากดขี่คนอีสานต่อไป

การเมืองหรือการปกครองไม่ว่าในระบอบใดก็ตาม มันก็ย่อมเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทั้งนั้น กล่าวคือ ถ้าคนยากจนที่ยังขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานจะเลือกคนที่มีนโยบายสาธารณะที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขา เขาก็มีสิทธิ์ในการใช้สิทธินั้นลงคะแนนเสียงให้กับคนที่จะนำประโยชน์นั้นๆ มาให้แก่พวกเขา ซึ่งหากเราเข้าใจว่าสิทธิหนึ่งเสียงของแต่ละคนมันแปลไปเป็นผลประโยชน์ที่เขาควรจะได้จากการเลือกคนที่จะนำนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อเขานั้น มันก็ไม่ผิด

การมองว่าคนอีสานยังไม่มีการศึกษา ไม่มีความคิด และไม่เข้าใจกระบวนการด้านประชาธิปไตยนั้นนอกจากจะเป็นความเข้าใจผิดและเป็นภาพมุมมองที่ผิดในหลายมิติ ผู้เขียนเห็นว่า วาทะกรรมดังกล่าวเกิดจากการความไม่รู้และความโง่เขลา เพราะคนอีสานมีความตื่นตัวด้านการเมืองมานานมากกว่า 30 กว่าปีแล้ว

ตอนเด็กๆ จำได้ว่าช่วงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ คนในหมู่บ้านแต่ละคุ้มจะมานั่งคุยกันถึงผู้ลงเลือกตั้งแต่ละคนว่ามีดียังไง ถกกันว่าทำไมถึงควรจะลงคะแนนให้คนนั้น แต่ไม่ควรจะลงให้คนนี้ ถกว่านักการเมืองคนไหนโกงกินที่สุด บางคนก็จะพูดว่า “เห็นหน้าแต่ยามหาเสียง พอชนะแล้วมันหายหน้าไปเลย เลือกตั้งเทือหน้า มันบ่ได้คะแนนจากกูดอก”

การพัฒนาหรือนำการปกครองระบบประชาธิปไตยมาปรับเปลี่ยนใช้นั้น มันต้องผ่านกระบวนการลองผิดลองถูก อย่าลืมว่าหัวใจหลักสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วม ดังนั้น ถ้าจะรอให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์แล้วค่อยนำมาใช้นั้นมันเป็นไปไม่ได้ ลองคิดให้ง่ายๆ เหมือนเรานำเครื่องมือหรือระบบการสื่อสารบางอย่างมาใช้นั่นแหล่ะ หากเราจะรอให้ระบบมันสมบูรณ์ก่อนแล้วค่อยนำมาใช้ไม่ได้ หรือจะให้คนใช้เข้าใจมีความรู้เรื่องและซาบซึ้งในระบบโดยที่ไม่ผ่านกระบวนการฝึกฝน ลองผิดลองถูกก่อนมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องให้คนใช้ นั่นคือ ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ตลอด

ไม่เช่นนั้นแล้ว วงจรการกดขี่คนอีสานมันจะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ หากคนอีสานไม่มีสิทธิที่จะใช้พลังเสียง ฐานเสียงเป็นข้อต่อรองให้นักการเมืองที่ออกนโยบายทางสังคมหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นของคนอีสาน

 

image_pdfimage_print