โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ข้าพเจ้าเพิ่งมีโอกาสฟังผลงานเพลง Koisuru Fortune Cookie คุกกี้เสี่ยงทาย ของเกิร์ลกรุ๊ปที่มีสมาชิกทั้งหมด 29 คน ผ่านทางเว็บไซต์ยูทิวบ์

นักร้องกลุ่มดังกล่าวมีชื่อวงว่า BNK48 (บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต) ซึ่งเป็นกลุ่มนักร้องไอดอลที่จัดตั้งขึ้นตามกลุ่มนักร้องไอดอลต้นแบบที่ประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อว่า ABK48 นอกจากจะมีวงเกิร์ลกรุ๊ปที่ประเทศไทยแล้ว ABK 48 ยังมีสาขาที่อื่น ได้แก่ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

วง BNK48 นำทำนองเพลงญี่ปุ่นมาร้องเป็นภาษาไทย ส่วนการเข้าเป็นสมาชิกวง BNK48 ใช้วิธีการประกวดคัดเลือก (Audition) ด้วยการแสดงความสามารถต่อคณะกรรมการ

ปลายปีที่แล้ว เกิร์ลกรุ๊ปวงนี้ยังได้เป็นบุคคลแห่งปีของว๊อยซ์ทีวี โดยมีผลคะแนนออกเสียง ร้อยละ 58

ที่กล่าวถึงวง BNK48 ก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า สังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่แทนรุ่นเก่าอยู่เสมอ วงการดนตรีมีนักร้องหน้าใหม่เข้ามาทดแทนนักร้องหน้าเก่าด้วยวิธีการใหม่ คือ การออดิชั่น เช่นเดียวกับแฟชั่น เทคโนโลยี และทุกสิ่ง ที่ผันเปลี่ยนตลอดเวลา จึงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าประเทศไทยรวมถึงโลกใบนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของสิ่งใหม่

แต่สำหรับวงการการเมืองไทย เกิดปรากฎการณ์ที่ผิดปกติมาสิบกว่าปี นับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มาถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุด โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะการยึดอำนาจการปกครองโดยกองทัพเป็นสิ่งที่ล้าสมัย เนื่องจากปัจจุบันในโลกนี้มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ไทยกับซิมบับเว ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร

แต่การปกครองของไทยมีความย้อนแย้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือ ฉบับปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 หรือ ฉบับที่แล้ว บัญญัติว่าประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่ผู้มีอำนาจการปกครองคือ คสช. ไม่ได้มาจากการเลืิอกตั้ง

การปกครองโดย คสช. ยังเป็นการเหนี่ยวรั้งการก้าวเดินของประเทศไทย ด้วยการรวบอำนาจทางการเมืองให้กลับมาอยู่ที่คนกลุ่มน้อย นำโดยกองทัพและรัฐราชการ แทนที่จะเปิดกว้างด้านสิทธิเสรีภาพเพื่อทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศเช่นกันสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคืิอ คสช.ยังกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดอนาคตของประเทศจากความคิดอ่านของคนรุ่นเก่า ซึ่งล้วนอยู่ในวัยเกษียณอายุราชการให้คนรุ่นใหม่คนหนุ่มต้องปฏิบัติตาม สิ่งนี้มีความชอบธรรมต่อประชากรของประเทศหรือไม่

มีคำถามง่ายๆ คือ คนรุ่นเก่าที่นำโดย คสช. จะทราบได้อย่างไรว่า ในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เนื่องจากอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอนและมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย อาทิ

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก่อนการยึดอำนาจจะมีใครทราบหรือไม่ว่า วงเกิร์ลกรุ๊ปแบบญี่ปุ่นอย่าง BNK48 จะมีชื่อเสียงในประเทศไทยและหลายประเทศในแถบเอเชีย เนื่องจากในเวลานั้นกระแส K-POP (เกาหลีใต้) กำลังมาแรง

กรณี “ลำใย ไหทองคำ” นักร้องสาวชื่อดังที่ถูกนายกรัฐมนตรีตำหนิเรื่องการแสดงบนเวที เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาได้ยาก ก่อนหน้านี้คงไม่มีใครคิดว่า เพลงลูกทุ่งท่วงทำนองสนุกสนานที่มีเนื้อร้องภาษาไทยภาคกลางปนกับภาษาอีสานจะได้รับความนิยมกว้างขวางไปทั่วประเทศ

นี่เป็นเพียงแค่ 2 ตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การคาดการณ์อนาคตไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ยิ่งถ้าเป็นการวางแผนล่วงหน้าภายใต้การชี้นำของ คสช. ซึ่งไม่มีความคิดที่ทันสมัยเป็นที่ประจักษ์ ก็ยิ่งทำให้ยากที่จะประสบความสำเร็จ

การคาดเดาอนาคตไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือ คสช. จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

คิดดูง่ายๆ ขนาดโครงการไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นโครงการแห่งความทันสมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังยอมรับเลยว่า ไม่มีงบประมาณเพื่อการต่อยอด ในทางตรงกันข้าม งบประมาณด้านกลาโหมกลับเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ไม่มีวี่แววว่าจะมีการใช้กำลังทหารในภูมิภาค การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้สะท้อนถึงการไม่สนใจต่อโลกวันข้างหน้าของ คสช. อย่างชัดเจน

แล้วจะให้คนเจนแซต (Generation Z – คนที่เกิดหลัง ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกิดมาพร้อมดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย หรือ เป็นคนรุ่นเดียวกับสมาชิกวง BNK48 ต้องใช้ชีวิตในวันข้างหน้าตามแนวทางที่ คสช. ซึ่งเป็นคนเจนบี (เกิด พ.ศ. 2489 – 2507) กำหนดไว้อีกหรือ คนเจนแซตคิดถึงอนาคตเองไม่เป็นหรืออย่างไร (สมาชิก BNK48 มาจากความสามารถ ส่วนสมาชิก คสช. มาจากการยึดอำนาจ)

ขณะเดียวกัน การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติยังดำเนินอยู่ต่อไป สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นใน 4 ภูมิภาค เริ่มต้นที่ จ.ขอนแก่น ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ยิ่งปล่อยให้ คสช. ปกครองต่อนานเท่าไหร่ การวางยุทธศาสตร์ชาติยิ่งมีข้อผูกมัดมากขึ้นเท่านั้น นั่นเท่ากับเป็นการสร้างความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ  

การไม่ยอมจากไปของ คสช. แสดงให้เห็นผ่านหลายกรณี

กรณีแรกคือ ความพยายามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไป 90 วัน ซึ่งจะส่งผลให้การเลือกตั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่า จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 นั้น ต้องเลื่อนออกไป โดย สนช. จะนัดประชุมในวันที่ 25 มกราคมนี้

สมาชิกกลุ่ม We walk เดินมิตรภาพ เดินจากม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงอ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2561 โดยมีจุดหมายอยู่ที่ จ.ขอนแก่น ภาพจากเพจเฟซบุ๊ค People Go network

กรณีต่อมา เกิดเหตุเมื่อวันที่ 23 มกราคมนี้ พ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้แจ้งความร้องทุกข์ข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ต่อผู้จัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” จำนวน 8 คน นำโดยนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ และนายอนุสรณ์ อุณโณ กรณีนี้บ่งบอกได้ว่า คสช. ไม่เปิดกว้างให้ภาคส่วนต่างๆ ใช้เสรีภาพในการเคลื่อนไหว

เมื่อสิ่งเก่าต้องการทนอยู่ต่อไปจึงส่งผลให้อนาคตที่ไร้ความหวังของประเทศยังตกอยู่ในการควบคุมของสิ่งเก่าต่อ สิ่งใหม่จึงต้องออกแรงปะทะมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้อนาคตของประเทศกลับมาสู่มือประชาชนอีกครั้ง

image_pdfimage_print