โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 หลังหนังสือราชการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ลงนามโดย นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ลงนามแทน นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าฯ ขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2561 ถูกเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดีย ทำให้ถูกวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีข้อความภารกิจของการประชุมคือ “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” เพื่อต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่จะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร)

ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าหนังสือราชการดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2561 พล.ท.ธนากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์ว่า “เชื่อว่ามีคนวางยารองผู้ว่าฯ คนร่าง คนพิมพ์ คนตรวจเอกสาร น่าจะรู้ว่าคำว่า ‘โง่’ ไม่เหมาะ ไม่ควร แล้วนำมาให้รองผู้ว่าฯ เซ็น”

คำพูดของแม่ทัพภาคที่ 2 หมายความว่า รองผู้ว่าฯ ขอนแก่นไม่ผิด แต่ลูกน้องเป็นคนผิด และเป็นความผิดที่จงใจ เพราะมีการใช้คำว่า “วางยา”

แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเช่นนั้นหรือไม่

นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ภาพจากมติชนออนไลน์

วันเดียวกัน นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น ระบุว่า ข้อความ “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” เป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ จึงขอโทษประชาชนที่เห็นหนังสือดังกล่าว

การกล่าวเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่า หนังสือราชการดังกล่าวเป็นของจริง

แต่แทนที่เรื่องจะจบลงด้วยคำขอโทษ พร้อมคำอธิบายว่า เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมซึ่งพอรับฟังได้บ้าง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กลับชี้แจงว่า ถ้อยคำในหนังสือดังกล่าวเขียนไม่ครบถ้วน เพราะคำเต็มๆ คือคำว่า “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งสอดคล้องกับการที่จังหวัดมีนโยบายแก้ไขปัญหาวัฏจักรชีวิตคน

การออกมาให้ข่าวของอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ที่รองผู้ว่าฯ ขอนแก่นถูกตำหนิกระเตื้องขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า รองผู้ว่าฯ ขอนแก่นไม่ได้อ่านหนังสือก่อนลงนาม และที่สำคัญกว่านั้นคือ เท่ากับเป็นการยอมรับว่า ความคิดของข้าราชการต่อประชาชนที่บอกว่าประชาชน “โง่” เป็นเรื่องจริง เพียงแต่ตกหล่นคำว่า “จน เจ็บ” ด้วย

วันต่อมา (19 มี.ค.2561) มีเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงวิธีคิดในการทำงานของข้าราชการอีก นั่นคือ นายฉัตรชัย อุ่นเจริญ นายอำเภอเมืองขอนแก่น ในฐานะประธานชมรมนายอำเภอจังหวัดขอนแก่น นำตัวแทนนายอำเภอทั้ง 26 อำเภอเข้ามอบดอกไม้ให้กำลังใจนายสุชัย พร้อมบอกว่า นายสุชัยเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีความขยัน มุ่งมั่นในการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใต้บังคับบัญชามาโดยตลอด

การที่นายอำเภอเข้าพบเพื่อให้กำลังใจรองผู้ว่าฯ แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของข้าราชการไทย ที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยต้องเอาอกเอาใจข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อให้ผู้ใหญ่เกิดความพึงพอใจ ซึ่งน่าจะตามมาด้วยการอุปถัมภ์ค้ำชู

จึงมีคำถามว่า นายของข้าราชการส่วนภูมิภาคคือใครกันแน่ ระหว่างผู้บังคับบัญชากับประชาชน ทำไมนายอำเภอจึงไม่ลงไปทำความเข้ากับประชาชนที่ได้รับความเสียหาย แต่กลับไปให้กำลังใจรองผู้ว่าฯ ขอนแก่น

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ข่าวสดได้ไปสำรวจความคิดเห็นชาวจังหวัดขอนแก่นต่อกรณีที่เกิดขึ้น ได้ความว่า “ประชาชนไม่ได้โง่ แต่เหมือนถูกปิดกั้นทางการแสดงความคิดเห็น และที่สำคัญคือ ความโง่หรือความฉลาดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนลงพื้นที่แต่อย่างใด”

เสียงสะท้อนของประชาชนทำให้มองเห็นปัญหาอีกข้อที่ซ่อนอยู่คือ การที่จังหวัดขอนแก่นต้องเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต้อนรับการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี จะเข้าข่าย “ผักชีโรยหน้า” หรือไม่ เพราะถ้ามีการเตรียมตัวแบบนี้ แล้วนายกรัฐมนตรีจะรับทราบถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร หรือที่จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ต้องการรับทราบความต้องการของประชาชน แต่ลงพื้นที่เพื่อหาเสียงล่วงหน้าก่อนพรรคการเมืองอื่น เช่น การที่พล.อ.ประยุทธ์ปะทะคารมกับประชาชนที่มายื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อคราวประชุมครม.สัญจร ที่จ.สงขลา

สิ่งที่น่าพิจารณากว่านั้นก็คือ แล้วปฏิบัติการ “ผักชีโรยหน้า” เกิดขึ้นมาระหว่างการประชุม ครม.สัญจร มาแล้วกี่ครั้ง

ผลจะเป็นเช่นไร หากการประชุม ครม.สัญจร ได้รับทราบแต่สิ่งที่ถูกข้าราชการจัดฉากขึ้นมา การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนจะตรงจุดหรือไม่

สิ่งที่เกิดขึ้นจากหนังสือราชการที่มีถ้อยคำว่า “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” แล้ว จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “คำพูดไม่เหมาะสม” หรือ “วิธีคิดไม่เหมาะสม” เท่านั้น แต่มันสะท้อนถึงจุดอ่อนของระบบรัฐราชการ ว่าถูกออกแบบมาเพื่อทำงานตอบสนองแก่ประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ ยิ่งมาในยุคที่ราชการเป็นใหญ่เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจการปกครองไปจากประชาชนเกือบ 4 ปีแล้ว ความไร้ประสิทธิภาพของระบบรัฐราชการยิ่งสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

ตัวอย่างของความไร้ประสิทธิภาพคือ การเปิดโปงการทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ที่หลังจาก ป.ป.ท. ลงมาตรวจสอบ ก็พบการคอร์รัปชั่นในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ กระจายตัวค่อนครึ่งทั่วประเทศ หรือพูดได้ว่านี่คือ “การโกงเป็นระบบ”

มีคำถามว่า ระบบตรวจสอบการทุจริตของราชการยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ แล้วหน่วยราชการอื่นมีการคอร์รัปชั่น แต่ยังไม่ถูกเปิดโปงอีกหรือเปล่า  

เหตุใดวาระแห่งชาติเรื่องการปราบโกงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2559 จึงไร้ประสิทธิภาพ

เพื่อพิสูจน์ว่าการปราบโกงไมได้ผล ควรพิจารณาจากผลสำรวจของ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เรื่องประชาชนคิดอย่างไรกับข่าวทุจริต ณ วันนี้ เผยแพร่ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2561

โพลถามว่า ประชาชนคิดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ปัญหาการทุจริตได้หรือไม่

อันดับ 1 แก้ไขไม่ได้ ร้อยละ 56.61

เพราะที่ผ่านมามีหลายคดีที่เงียบหายไป ไม่สามารถเอาผิดได้ เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ พวกพ้อง และผู้มี อิทธิพล แก้ไขได้ยาก เป็นปัญหาเรื้อรัง ฯลฯ

อันดับ 2 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 23.42

อันดับ 3 แก้ไขได้ ร้อยละ 19.97

จึงเท่ากับว่าประชาชนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตได้ ในเมื่อหัวหน้ารัฐบาลเผด็จการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ แล้วจะให้ส่วนราชการอื่นๆ ปลอดจากการคอร์รัปชั่นได้อย่างไร

ส่วนการแก้ไขการคอร์รัปชั่นและปรับวิธีคิดที่ข้าราชการมีต่อประชาชนว่า “ประชาชน โง่ จน เจ็บ” ต้องแก้ไขด้วยการทำให้ประชาชนเป็นใหญ่เพื่อมาควบคุมและตรวจสอบข้าราชการเท่านั้น

หนทางที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ได้ ก็ต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลและรัฐสภามาจากประชาชน

เมื่อรัฐบาลและรัฐสภาเป็นของประชาชนแล้ว อาจเริ่มแก้ไขปัญหาจากการโอนย้ายสำนักงานของส่วนราชการส่วนกลางที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ตามด้วยยุบเลิกส่วนราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด และอำเภอ แล้วให้ส่วนราชการส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนรับหน้าที่ดังกล่าวแทนส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เนื่องจากผู้ที่มาจากประชาชนย่อมทำงานตอบสนองต่อประชาชนได้เหมาะสมกว่าผู้อื่น

ขณะที่การปราบปรามการทุจริตต้องปรับเปลี่ยนวิธีด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เสนอวิธีง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพว่า ต้องเปิดเผยข้อมูลของทางราชการทางทั้งหมดต่อสาธารณะ แล้วเลือกปกปิดเฉพาะสิ่งที่จำเป็น เช่น เรื่องความมั่นคง ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดปัจจุบันที่เลือกเปิดเผยข้อมูลของทางราชการเพียงบางส่วนเท่านั้น แล้วปกปิดส่วนอื่นทั้งหมดที่เหลือ

เพื่อพิสูจน์ข้อเสนอนี้ ลองเลือกตั้งดูก็ได้ ก็จะทราบว่า “ประชาชนไม่ได้โง่” ประชาชนเลือกอนาคตเองได้ เพียงแต่ขณะนี้ถูกรัฐราชการกดทับไว้

image_pdfimage_print