โดยรุ่งรวิน แสงสิงห์

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีละครที่โด่งดังและได้รับการพูดถึงอย่างมากอย่างละครเรื่อง “ล่า” ที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในวงกว้างถึงเนื้อหาที่รุนแรงต่างๆ

แต่ดูเหมือนว่าละครเรื่องล่าจะไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับเนื้อหาที่เรากำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ถ้าในละครไม่ได้มีการปรากฏของตัวละครที่สะดุดตาและใจผู้เขียนอย่างตัวประกอบที่สวมบทบาทเป็นผู้หญิงขายบริการที่ตัวเอกของเรื่องได้หลอกใช้ประโยชน์

หนึ่งในหญิงสาวเหล่านั้น แสดงชัดว่าเป็น “คนอีสาน” ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารตลอดทุกฉากที่เธอออกมา ความสะดุดใจอยู่ตรงที่ว่า ทำไมเธอต้องใช้ภาษาอีสานในทุกฉากที่เธอออกมา มันมีข้อความอะไรซ่อนอยู่ในบทบาทนั้นหรือไม่?

คำตอบคือ–มี มีการผูกติดอัตลักษณ์ของผู้หญิงขายบริการไว้กับความเป็นอีสานและซ่อนคำดูถูกเอาไว้อย่างแนบเนียน

เป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้หญิงอีสานกับภาพลักษณ์ของความเป็นเมียเช่าได้ผูกติดกันมาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่การเข้ามาของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอีสาน ที่ทำให้อาชีพเมียเช่ามีความรุ่งเรืองในเชิงธุรกิจ ไม่เพียงแต่เรื่องราวของเมียเช่า หรือผู้หญิงขายบริการชาวอีสานจะปรากฏอยู่ในบทละครโทรทัศน์ ยังคงปรากฎ ‘เซนส์’ ของการดูถูกเหยียดหยามอีสานในรูปแบบต่างๆ ในระบบอุตสาหกรรมบันเทิงไทยมาอย่างช้านาน

‘เซ้นส์’ ของการดูถูกเหยียดหยามอีสานในแง่ของความ เด๋อ-โง่-เงอะงะ ปรากฏอยู่ในรูปแบบการนำเสนอต่างๆ ลามไปถึงรูปลักษณ์ของคนอีสานในวงการบันเทิง การมีกราม เท่ากับ เสียงหัวเราะ การล้อเลียนกราม และโหนกแก้มสูงๆ ที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของคนอีสานเริ่มแพร่กระจายในอุตสากรรมบันเทิงของไทย เสียงหัวเราะจากรูปลักษณ์และสังขารนั้นมีราคามีค่อยๆ สูงขึ้น

[รูปปั้น “ซุปเปอร์หม่ำ” ที่ตั้งอยู่ ณ วิมานพญาแถน เมืองยโสธร ตั้งแต่ปี 2559 แสดงให้เห็นถึงการยอมรับความสำคัญของคนอีสานในวงการบันเทิงที่มีรูปลักษณ์แบบ “อีสาน” ภาพ: ข่าวท้องถิ่นยโสธร กรมประชาสัมพันธ์]

แต่ถ้าหากพิจารณาดีๆ แล้วจะพบว่าส่วนหนึ่งชาวอีสานที่อยู่ในวงการดังกล่าว ก็มีส่วนผลิตซ้ำ ‘เซ้นส์’ ของการดูถูกเหยียดหยามเช่นนี้ด้วยเช่นกัน การสยบยอมและสร้างวัฒนธรรมรองให้น่าขบขัน และเมื่อเสียงหัวเราะมันมีราคาที่แพงพอจะกลบฝังความไม่มีในทางชนชั้นและสถานะทางเศรษฐกิจ ศิลปินต่างๆ จึงยอมรับการเหยียดหยัน รูปลักษณ์ของตนผ่านการแสดงตลก ละคร ที่มีบทที่เขียนละคร บทรายการโดยคนเมืองชนชั้นกลางที่ไม่เข้าใจถึงความหลากหลายของโลกใบนี้

เราไม่สามารถโยนความผิดให้กับผู้ผลิตรายการ โปรแกรมทีวีต่างๆ ที่มี เซ้นส์ แบบดังกล่าวได้ทั้งหมด ผู้เขียนอยากเสนอว่า เราควรจะเริ่มต้นปกป้องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในอีสาน เอกลักษณ์บนใบหน้าและสีผิวของเราโดยไม่จำเป็นต้องไปผลิตซ้ำวิธีคิดของการเหยียดความต่าง ซึ่งการปกป้องอัตลักษณ์ความหลากหลายที่มีอยู่จะสร้างสรรค์สังคมโดยรวม ทั้งภาคอีสาน สังคมไทย และประชาคมโลกอีกด้วย เราไม่จำเป็นต้องอาศัยการเหยียดหยันเพื่อสร้างราคาในทางธุรกิจบันเทิงอีกต่อไป

การเปิดรับและเริ่มยอมรับความหลากหลายและถอนรากถอนโคนของ ‘เซนส์’ การเหยียดหยามในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยออกเสียจะกลายเป็น ‘ระเบียบ’ แบบแผนใหม่ที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณค่า ยอมรับซึ่งกันและกัน และเชื่อมั่นในตัวตนของตนเองได้และไม่ก้าวล้ำผู้อื่นอย่างที่แล้วมา หรือก้าวเล็กๆ นี้อาจจะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ ถ้าการถอนรากถอนโคนในครั้งนี้จะทำให้คนหันมาเคารพซึ่งกันและกันและมองกันอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ ซึ่งวิธีคิดที่เป็นมิตรโดยการมองทุกคนเท่าเทียมกันก็เป็นส่วนหนึ่งในการนำมาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอีกด้วย

อีสานและความบันเทิงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกออกไม่ได้ อีสานบนความบันเทิงและการเมืองก็แยกจากกันไม่ได้เช่นกัน

‘เซ้นส์’ ที่ผู้เขียนอ้างถึง จะว่าน่ากลัวก็น่ากลัว เพราะมันได้ไปโผล่อยู่ทุกที่ในอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย

แม้แต่ทรงผมของ จินตหรา พูนลาภ น่าแปลกใจที่ทุกครั้งที่มีใครตัดผมทรงนี้ มักจะถูกล้อเลียนว่า “ทรงจินตหรา” ผู้เขียนพยายามนึกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมเราไม่พูดว่า ‘นี่เธอตัดผมทรงแอน วินทัวร์มาหรอ’ แทนที่จะบอกว่า ‘นี่ เธอตัดผมทรงจินตรามาหรอ’ หรือว่าแท้ที่จริงแล้วมันมีรหัสทางเศรษฐกิจหรือสังคมอะไรซ่อนอยู่ในนั้นหรือไม่

[แอนนา วินทัวร์ ผู้มีอิทธิพลในวงการแฟชั่น และจินตหรา พูนลาภ นักร้องหมอลำในตำนาน]

สาเหตุที่ผู้เขียนพบคือ เพราะตัวจินตหรานั้นเป็นตัวแทนของความเป็นอีสาน และความเป็นอีสานนั้นเองได้สะท้อนความเปิ่น เซ่อ โง่ ซุ่มซ่าม และเงอะงะ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทุกครั้งที่มีคนตัดผมทรงนี้ มักจะมีผู้หวังดีล้อเลียนว่ามันคือทรงจินตหรา เพราะพวกเขาต้องการที่จะสื่อว่า เธอพลาดนะ ตัดอะไรมาน่ะ ไม่เข้ากับเบ้าหน้าเสียเลย พลาดแล้วล่ะ ดังนั้น ทรงจินตหรา เท่ากับ ความพลาด ความไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว ใครตัดมาแล้วมันไม่เข้ากับรูปหน้าในสายตาของพวกเขาก็เตรียมโดนคำล้อว่าทรงจินตหราได้เลย ซึ่งมันก็สอดคล้องกับคาแรคเตอร์ของคนอีสานที่ถูกมองจากคนกลุ่มอื่น ว่ามีความพลาด หรือทำอะไรไม่รู้เรื่องไม่รู้ราวและไม่เข้าท่า

เซ้นส์ของการเหยียดหยาม ไปโผล่ทุกที่ในอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย หนัง บทโทรทัศน์ ตลกสังขาร ที่ขายอัตลักษณ์ที่หลากหลายให้กลายเป็นเสียงหัวเราะดูถูกดูแคลน หรือแม้แต่ บนหัวของเจ้าของเพลงเต่างอย อย่างจินตรา การเหยียดหยามเหล่านี้ไปทุกที่ที่ไปได้ ไปทุกที่ที่มีอีสาน

สาเหตุคงหนีไม่พ้นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ถูกกดทับและไม่ได้รับการสนับสนุน ตลอดจนผลลัพธ์ของการย้ายถิ่น

ฐานของแรงงานอีสาน ที่เข้าไปมีบทบาทในเมืองใหญ่ต่างๆ จนทำให้เกิดการปะทะกันทางวัฒนธรรมหลักและวัฒนธรรมรอง จนทำให้ผู้ชนะทางวัฒนธรรมทึกทักเอาว่าสิ่งแปลกปลอมของวัฒนธรรมอื่น เป็นสิ่งที่น่าขบขันควรแก่การหัวเราะอย่างยิ่ง

แต่ก็ใช่ว่า อีสานจะเล่นบทโดนคนแกล้งน่าสงสารเสียทีเดียว เพราะอัตลักษณ์เด่นอีกอย่างของคนอีสาน คือ ความเป็นนักสู้ เราจึงเห็นการพยายามเอาชนะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจการเมืองของอีสานในเวทีทางเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบต่างๆ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ถึงการต่อสู้ของคนอีสาน

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ภาพของอีสานและความบันเทิงจะเริ่มเปลี่ยนเป็นแรงทางบวกมากขึ้น การผลิตผลงานที่สร้างสรรค์มากขึ้น ภาพความนิยมของความบันเทิงแบบอีสาน ความบันเทิงที่เกี่ยวกับอีสานได้ทำให้ผู้ชมทั่วประเทศ เริ่มสนใจ และ มีทัศนคติที่แตกต่างออกไปจากในอดีต เมื่อปี 2559 ละครเรื่องนาคี เรื่องราวที่เกี่ยวพันกับชาวบ้านอีสานและตำนานแบบอีส๊านอีสานอย่างพญานาค ได้ทำให้คนดูรู้สึกสนใจและหลงเสน่ห์ภาษาอีสานมากยิ่งขึ้น

นอกจากอีสานแบบย้อนยุค อีสานร่วมสมัยก็ได้กลายมาเป็นคำแสลงอย่าง “แซ่บ” ที่แปลว่าเซ็กซี่ หรือ “เงิบ” หรือแม้แต่ “ยอมใจ” ที่น่าจะกลายมาจาก “หยอมพันธุ์เด้/หยอมมันเด้” ที่สันนิษฐานว่าดารารับมาผ่านช่างแต่งหน้าชาวอีสาน ก็เป็นมิติใหม่ของอีสานในวงการบันเทิงเช่นกัน

เพราะอะไรภาษาอีสานถึงไม่ได้เป็นตัวแทนของความบ้านน๊อกบ้านนอกอีกต่อไป? เป็นเพราะว่าผู้ชมในเมืองกลุ่มใหญ่คือลูกหลานชาวอีสานอพยพ หรือเป็นเพราะความสำเร็จของการต่อสู้ทางเศรษฐกิจของอีสาน? ที่มันจะไม่เป็นตัวแทนของความไม่มี ความลาว ความบ้านนอก

ในด้านเนื้อหาเพลงภาษาอีสาน ก็หมดยุคของการเจียมเนื้อตัว หรือเพลงที่เล่าชีวิตผ่านการเป็นแรงงานเป็นหลัก อย่าง “ละครชีวิต” ของไมค์ ภิรมย์พร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า โครงสร้างทางชนชั้นนั้นได้เปลี่ยนไป มีการยกระดับทางเศรษฐกิจ และสามารถสะสมความมั่งคั่งจนเป็นอีสานใหม่ ดังทฤษฎีทางการเมืองสายอีสานมักอ้างถึง จึงทำให้แนวเพลง “ยาใจคนยาก” นั้นตกรุ่น เหลือแต่การเกิดของเพลงยุคใหม่ ที่เน้นความสนุก ความซื่อ และโชว์ความเป็นอีสานอย่างตรงไปตรงมา

การโต้กลับทางวัฒนธรรมรองอย่างอีสานมีความน่าสนใจอย่างถึงที่สุด เมื่อช่วงหนึ่งเพลง “ผู้สาวขาเลาะ” ของลำไย ไหทองคำ กลายเป็นวาระแห่งชาติที่ทำให้คนต้องลุกขึ้นมาถกเถียงถึงความเหมาะสม แต่ในอีกแง่หนึ่งเนื้อเพลงนี้ ได้ถ่ายทอดความเป็นอีสานแท้ๆ ผ่านบทเพลง กะมักเลาะ กะมักอยู่นั่นเด่ะ กะเลยซอมเบิ่งอยู่เด้อ! มันเป็น Very Isan อย่างมากในเพลงนี้ ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด ถ้านับเฉพาะรูปแบบการพรีเซนต์ของเพลง คือการบอกตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ส่วนตัวนักร้องที่มีรูปลักษณ์ที่ดูเป็นเมืองมาก (เพราะเบ้าหน้าเหมือนผ่านมีดหมอ) ไม่สำคัญเท่ากับเสียงร้องที่ยังขึ้นฮูดังอย่างอีสานแท้ๆ ทำให้ความบันเทิงแบบอีสานไม่ใช่ความบันเทิงที่ผูกติดอยู่กับสังขารและรูปลักษณ์อย่างในอดีต ผู้คนที่ชื่นชอบเพลงนี้ คงสนใจวลีท่อน โก๊ดดดดดดดดัน ที่มีความแปลกและแสดงถึงความครีเอทของคนแต่ง

ไม่เพียงแต่เพลงสนุกขำๆ เพลงซึ้งๆ ตราตรึงใจ อย่างเพลง “คำแพง” ของแซ็ค ชุมแพ ก็เป็นอีกเพลงที่มัน Very Isan มากๆ ปัจจุบันยอดวิวก็มากถึง 400 กว่าล้านวิว ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย การใช้ rhetoric อย่างคำว่า คำแพง เป็นจุดขาย ให้รู้สึกถึงความอบอุ่นน่าทนุทนอม ซึ่งมันก็ตรงกับคำว่า darling ในภาษาอังกฤษนั้นเอง ความซื่อๆ ตรงๆ มาและตรงประเด็นในแบบอีสานหลายมาเป็นสุนทรียะรูปแบบหนึ่ง ไม่ต้องเข้าถึงยาก แต่บอกง่ายๆ แต่ฟังแล้วฟิน จึงไม่แปลกใจที่นักร้องไทยสากลกระแสหลักหลายคนมักจะเลือกเพลงนี้ไปร้องคัฟเวอร์บนเวที เพราะว่ามันโดนใจ Hit the town ด้วยลูกอ้อนแบบ Very Isan นี่เอง

โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยมีแนวโน้มในการตอบรับวัฒนธรรมอีสานที่ดีขึ้น แต่เซ้นส์ของการเหยียดหยามยังคงปรากฏอยู่บ้าง แต่ที่น่าสนใจคือวงการเพลงของไทย เกิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขนาดเล็กประเภทค่ายเพลงอินดี้-สแตนอโลนที่ผลิตเพลงอีสานที่มีเนื้อหาน่าสนใจและสร้างมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

อีสานบันเทิงรุ่นใหม่นี้ อาจจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เกิดการทบทวนในระดับนโยบายทางเศรษฐกิจของชาติก็เป็นได้ ความบันเทิงแบบอีสานน่าจะพร้อมแล้วสำหรับการเป็นพื้นที่ใหม่ทางอุตสาหกรรมกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต

image_pdfimage_print