โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

นี่ก็ปี 2018 แล้วนะคะ แต่พล็อตเรื่องผู้หญิงอีสานรับบทเป็นคนใช้ยังตามมาหลอกหลอนอยู่เลย คราวนี้เป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ชายแต่งหญิงที่ฟื้นคืนชีพพล็อตนี้ขึ้นใหม่ เป็นมุกตลกของแคแร็กเตอร์คุณนายไฮโซ

“นาตาเลีย เพลียแคม” แสดงเป็นสุมณี คุณเกษม หรือที่รู้จักกันในหน้าสื่อว่า “ตุ๊กตาบาร์บี้เมืองไทย” ซึ่งบัดนี้ก็อายุ 80 ปีแล้ว นางนั่งอยู่ข้าง “เดียริส ดอลล์” ผู้แสดงเป็นจินตหรา พูนลาภ หมอลำชาวร้อยเอ็ดผู้โด่งดังค้างฟ้าในวงการบันเทิงมากว่าสามสิบปี

แดร็กควีนผู้นี้ (drag เป็นศิลปะการแสดง “ลักเพศ” แบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่ “นางโชว์” และไม่ได้หมายความว่า “แดร็กควีน” หรือ “แดร็กคิง” จะปรารถนาเป็นเพศที่ตนแสดง) ชี้ไปที่ขวดลิปกลอสบนโต๊ะข้างหน้า หันไปทาง “เดียริส ดอลล์” บอกว่า

“ช่วยหยิบหน่อยค่ะ [พิธีกร: น้องจินช่วยท่านนิดหนึ่งนะคะ] . . . ขอบคุณมากค่ะ [ชี้ไปที่ “จินตหรา”] พอดีเป็นคนใช้ที่บ้าน” (รับชมรายการฉบับเต็มได้ทาง LINE TV ที่นี่)

บทสนทนานี้ออกฉายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในช่วงเกมล้อเลียนคนดังในรายการ Drag Race Thailand ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต้องชิงไหวชิงพริบกัน “แย่งซีน” ให้ตัวละครของตัวเองโดดเด่น เน้น “ฮา” เป็นสำคัญ

แต่อะไรกันที่ “ฮา” นักหนาในโมเมนต์นี้ มันชวนหัวตรงที่มันตีแผ่ความไร้เหตุผลของคนกรุงเทพ ที่ชอบโยนบทบาทแบบนี้ให้คนอีสานใช่ไหม หรือว่ามันน่าขันตรงที่มันเป็นมุกตลกล้อคนอีสานตามประเพณีหรือไม่ 

ฉันเกรงว่าเหตุผลอย่างหลังคงมีส่วนไม่น้อย

เมื่อ “แดร็ก” ล้ำเส้นเชื้อชาติ/สีผิว

ขึ้นชื่อว่า “แดร็ก” ก็ย่อมหมายถึงการแหกกฎความเหมาะสมของสังคม พื้นที่ของการแสดง “แดร็ก” มักอยู่ในสถานที่อโคจร อันเป็นพื้นที่ไว้ทำอะไรที่สังคมบอกว่าน่าอุจาด เอามือทาบอกอุทานนี่หรือเมืองศิวิไล มันไม่ได้ “politically correct” มาแต่ไหนแต่ไร

แม้แต่ในรายการต้นตำรับสัญชาติสหรัฐอเมริกา RuPaul’s Drag Race ที่นับว่า “ซอฟต์” กว่า “แดร็ก” ตามบาร์เกย์ทั่วไป เอ็นเตอร์เทนเนอร์เหล่านี้ก็มักไม่ถือสาหาความกับมุกล้อเลียนเหยียดหยัน “ไหนๆ เราก็เป็นผู้ชายใส่วิกกันหมดไม่ใช่เหรอ” เป็นหนึ่งในวาทะที่แดร็กควีนในรายการนี้มักพูดเพื่อสื่อความว่าจะถือจริงจังไปทำไม (ถึงแม้ว่าผู้เข้าแข่งขันส่วนหนึ่งจะไม่ได้เป็นผู้ชายก็ตาม หลายคนเป็นหญิงข้ามเพศ อีกหลายคนไม่เข้ากรอบชาย/หญิง)

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแดร็กควีนจะเล่นมุกเหยียดผิว/เหยียดเชื้อชาติยังไงก็ได้ ในรายการ RuPaul’s Drag Race เองก็ไม่ได้ “ปล่อยผ่าน” มุกเหยียดผิว/เหยียดเชื้อชาติเสมอไป

ย้อนกลับไปปี 2011 ซีซั่นที่สามของรายการ RuPaul’s Drag Race “มะนิลา ลูซอน” ผู้เข้าแข่งขันชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ แสดงเป็นผู้ประกาศข่าวที่เล่นกับภาพจำล้อเลียนคนจีนอย่างตะพึดตะพือ นางพูดอังกฤษ “สำเนียงจีน” และสนใจแต่จะเป็นแม่สื่อหาเมียฝรั่งให้น้องชายเพื่อเขาจะได้มีโอกาสข้ามแดนมาอยู่สหรัฐอเมริกา

ถึงจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันคนหนึ่งที่วิจารณ์ “มะนิลา ลูซอน” ว่าเล่นมุกเหยียดคนที่ไม่ใช่เชื้อชาติของตัวเองแบบนี้ไม่โอเค แต่เจ้าของรายการ รูพอล ชาร์ลส์ ก็ให้รางวัลชนะเลิศกับนางไป

“มะนิลา ลูซอน วีคนี้เธอแหกกฎทุกข้อ ล้ำเส้นรสนิยมอันดี แล้วยังตอกย้ำภาพเหมารวมอีก [หยุดไปชั่วอึดใจ กดเสียงทุ้มลงมาก] ยินดีด้วยค่ะ เธอคือผู้ชนะของชาลเลนจ์นี้”

แต่ในซีซั่นถัดมา การณ์ก็พลิกไปอีกทาง มีคนเล่นมุกเหยียดผิวในชาลเลนจ์ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องรับบทบาทเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น “ประธานาธิบดีแดร็ก” คนแรกของสหรัฐอเมริกา

ผู้เข้าแข่งขัน “ฟีฟี โอแฮรา” แสดงเป็นนักการเมืองหญิงผิวขาวจากภาคใต้ของสหรัฐฯ มาดคุณนายอนุรักษนิยม นางชี้ไปที่ผู้เข้าแข่งขันผิวดำสองคนข้างๆ พลางเรียกพวกนางเป็นคนรับใช้ที่บ้าน

“เดี๊ยนคิดว่ามันเลิศมากเลยนะคะที่นังแจ๋ว (the help) สามารถมานั่งอยู่นั่นเพื่อร่วมชิงตำแหน่งกับดิฉันได้ ฉะนั้นแล้วเดี๊ยนจึงยินดีแนะนำแจ๋วของเดี๊ยน ดีดา ริตซ์ ค่ะ!”

ได้ยินอย่างนี้ ดีดา ริตซ์ ก็อ้าปากค้าง ส่วนผู้เข้าแข่งขันผิวดำอีกคนหนึ่งทำหน้าตึง (หรืออย่างน้อยนั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้ตัดต่อรายการนำเสนอให้ผู้ชมเข้าใจ)

พอถึงช่วงการติชมผู้เข้าแข่งขัน มิเชล วิสาจ คอมเมนเตเตอร์หลักคนหนึ่งของรายการ ตำหนิมุกตลกของนางว่า “ถ้าริจะตบมุกล้อเลียนเรื่องอ่อนไหว (off-color joke) มันจำเป็นต้องตลก ซึ่งมุกเธอเล่นแล้วออกมาน่ารังเกียจ (offensive)”

“The help” ของคนไทยผู้มีฐานะ

ประเทศไทยก็มีภาพจำของ “the help” ทำนองเดียวกับสหรัฐอเมริกา แต่แทนที่จะเป็นหญิงผิวดำ ก็กลับเป็นหญิงและเด็กสาวจากชนบทภาคอีสาน รู้จักกันในนาม “นังแจ๋ว” ภาพของคนรับใช้ชาวอีสานปรากฏขึ้นไม่ขาดสายในรายการโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และภาพยนตร์ มีตั้งแต่เป็นตัวประกอบไปจนตัวเอก

แต่ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหลัก บทบาทรอง หรือมีบทพูดประโยคเดียว ตัวละคร “แจ๋ว” เหล่านี้ก็มีหน้าที่สร้างลดบรรยากาศตึงเครียด และจะมีบุคลิกซื่อๆ กว่าชาวเมืองผู้ร่ำรวยรอบๆ ตัวเธอ “ซื่อๆ” นี้อาจหมายถึง “ซื่อจนเซ่อน่าหัวเราะ” หรือ “ซื่อสัตย์น่ายกย่อง” ก็ได้

ในหนังสือ สังคมวิทยาอีสาน (พิมพ์ปี 2559) สุภีร์ สมอนา วิเคราะห์ว่าภาพของ “นังแจ๋ว” ซึ่งปรากฏซ้ำๆ โดยไม่ค่อยมีภาพเสนออื่นๆ ที่หลากหลายของหญิงอีสาน ถือเป็นเครื่องมือตอกย้ำ “จิตสำนึกที่ผิดพลาด” (false consciousness) ที่ชนชั้นนำฝังหัวคนอีสานมาให้เชื่อว่าบทบาทของเราในสังคมคือการเป็น “บักขี้ข้า” รองมือรองตีนเขาตลอดชาติ สุภีร์เขียนไว้ว่า

ภาพของ “นังแจ๋ว” หญิงสาวอีสานที่เป็นคนรับใช้คุณหญิงคุณนายในละครหลายๆ เรื่อง ซึ่งถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นเรื่องจริง แม้ว่าตัวเธอจะพยายามเรียนรู้ชีวิตของชนชั้นกลางและยกระดับจากคนรับใช้โดยใช้ความพยายามสักเพียงใดก็ตาม แต่ผลที่สุดนังแจ๋วหญิงสาวบ้านนอกคอกนาก็ต้องยอมรับสถานภาพที่ประวัติศาสตร์ทางความคิดฝากมาให้กับตัวเธอ นั่นคือการเป็นผู้หญิงรับใช้ไปจนชั่วชีวิต อันเนื่องจากเป็นสถานภาพของตนเองที่ได้รับการกำหนดมา

ภาพของคนอีสานที่เป็นคนรับใช้ออกฉายสู่จอแก้ว ที่ผลิตซ้ำกับคนดู จึงไม่ใช่ละครธรรมดาๆ ที่สร้างความบันเทิงกับผู้ชม หากแต่เป็น “ความคิด” ที่คนอื่นฝากมาให้กับเรา ทำให้เราเข้าใจว่าคนอีสานคือคนรับใช้ คนในเมืองคือเจ้านาย ทั้งๆ ที่คนอีสานมิได้เกิดมาเพื่อเป็นเบี้ยล่างให้กับใครเสมอไป และโดยธรรมชาติของการเกิดเป็น “คน” คนอีสานสามารถเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่นักปราชญ์ ราชบัณฑิต คุณหญิง คุณนาย รัฐมนตรี นักการเมือง ตำรวจ ทหาร ไปจนถึงกรรมกรก่อสร้าง คนรับใช้ แต่ประวัติศาสตร์ความคิดตามความเป็นจริงทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกนำเสนอ และไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นเรื่องเล่าขานผ่าน “จิตสำนึกที่ถูกต้อง”

เมื่อสำรวจดูภาพแทน “นังแจ๋ว” ในสื่อไทยแล้ว ก็ยังพบว่าถึงจะพยายามสร้างภาพคนรับใช้อีสานที่มีศักดิ์ศรี มีคุณธรรม มีความสามารถอย่างไร แต่สุดท้ายเธอก็ยังไม่ก้าวพ้นไปจากตำแหน่งการเป็นลูกจ้างอยู่ดี

ภาพยนตร์มิวสิคัลแนวตลกเรื่อง หนูหิ่น เดอะมูฟวี่ (ฉายปี 2549 กำกับโดยคมกฤษ ตรีวิมล) เล่าเรื่อง “หนูหิ่น” จากบ้านโนนหินแห่ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้นั่งรถไฟไปกรุงเทพฯ ฝันเฟื่องถึงงานในโรงงานทันสมัย แต่สุดท้ายนางก็ลงเอยได้ทำงานในคฤหาสน์รับใช้คุณหนูพี่น้องสองสาว ในตำแหน่งที่นางขอให้เรียกว่าเป็น “ผู้จัดการบ้าน” ไม่ใช่คนใช้

เรื่องราวที่เหลือของ หนูหิ่น เดอะมูฟวี่ พาตัวเอกของเราทำวีรกรรมดีๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นส่งใบสมัครคุณหนูสองสาวเข้าประกวดเดินแบบ เปิดโปงคุณชายผู้แอบเข้าห้องแต่งตัวถ่ายรูปคุณหนู ปลดปล่อยคนงานอีสานที่ถูกขังเป็นแรงงานทาส ในตอนจบของหนัง พี่น้องสองสาวชนะการประกวดเดินแบบ ส่วนหนูหิ่นก็ได้รับการยกย่องเป็นคนดี และยังเป็นแรงบันดาลใจด้านแฟชั่นให้กับดีไซเนอร์จากปารีสเจ้าของการประกวดด้วย

การได้เลื่อนขั้นทางสังคมของหนูหิ่น อาจหมายถึงการ “โกอินเตอร์” บินไปสู่เมืองแฟชั่นโลก แต่มิได้หมายความว่านางจะเลื่อนไปจากตำแหน่งของคนรับใช้ ช่วงชั้นทางสังคมเป็นอย่างเก่า บทบาทของ “นังแจ๋ว” ยังเหมือนเดิม นั่นก็คือการสร้างความสุขและเสียงหัวเราะให้แก่คนรวยรอบกายเธอ

พล็อตเรื่อง “นังแจ๋ว” แม้จะทำให้ดูมีศักดิ์ศรี มีคุณธรรม มีความสามารถ ก็ไม่ได้นำไปสู่จุดที่ “นังแจ๋ว” จะกลายเป็นผู้ประกอบการอิสระอย่างที่เกิดขึ้นไม่น้อยในโลกความจริง เมื่อเจ้านายชาวกรุงเทพฯ เผลอไปเห็นอดีตคนใช้ชาวอีสานกลายเป็นแม่ค้าขายส้มตำไก่ย่างอยู่หัวมุมถนนบ้านตัวเอง

[ชุดสติกเกอร์ “หนูหิ่น” พร้อมเสียงภาษาลาว จัดทำเมื่อปี 2558 โดยบริษัท วิธิตาแอนิเมชั่น จำกัด ที่มา: ประชาชาติ]

ประเพณีล้อเลียนคนอีสาน

นอกจากพล็อตเรื่อง “นังแจ๋ว” แล้ว คนที่มีรูปพรรณสันฐานแบบหนึ่งๆ ที่เป็นเค้าหน้า “แบบอีสาน” ก็มักจะถูกมองเป็น “คนตลก” ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่ตัวตลกเลยแม้แต่น้อย จินตหรา พูนลาภ ก็เข้าข่ายนี้ด้วยเสื้อผ้าหน้าผมของนาง แม้แต่สำเนียงลำของนางก็กลายเป็นเรื่องตลกได้

แม้จะไม่มี “นังแจ๋ว” ในร่าง “จินตหรา” มันก็สามารถถูกเสกขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

เรื่องแปลกของการล้อเลียนคนอีสานจึงอยู่ที่ว่า มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหลือเกินในสังคม จนกระทั่งมันไม่เป็นเรื่องอ่อนไหว นอกจากจะมีใครพูดดูหมิ่นออกมาตรงๆ เท่านั้น

เหมือนกับมุกตลกของ “ฟีฟี โอแฮรา” ในบทบาทนักการเมืองไฮโซที่โยนบทบาท “my help” ให้กับผู้เข้าแข่งขันผิวดำ มุกตลกของ “นาตาเลีย เพลียแคม” ในบทบาทภริยาทูตไฮโซที่โยนบทบาท “คนใช้ที่บ้าน” ให้กับจินตหรา พูนลาภ ก็ถือเป็นการเสียดเย้ยทัศนคติเหยียดชนชั้นของสังคมไฮโซได้อย่างเจ็บแสบพอกัน

แสบเพราะมันจริง– “ท่าน” สุมณี คุณเกษม เองก็มองตัวเองเป็นเจ้านายที่มีลูกน้องต้อง “เลี้ยง” อยู่รอบกาย สุมณีให้สัมภาษณ์ต่อ “คุยแซ่บ SHOW” ในปี 2560 ขณะที่กำลังรับการรักษาโรคมะเร็งรังไข่ เธอเล่าถึงการเตรียมการเกี่ยวกับ “บริวาร” ของเธอว่า

เกิดมาก็ตัวคนเดียว มีลูกคนเดียว ครอบครัวเล็ก เราเตรียมทำทุกอย่างไว้ให้ลูกและบริวาร จะได้อยู่ต่อไปได้ตลอดชีวิตจะเลี้ยงเค้าต่อไป หากเราไม่อยู่แล้ว แบบคนโบราณ เลี้ยงกันจนตาย

เข้าอีหรอบ “ข้าเก่าเต่าเลี้ยง” จะเก่าแก่ยังไง ก็ยังเป็นข้าเขาอยู่ดี

แต่ต่างจากกรณีของสหรัฐฯ มุกตลกของ “นาตาเลีย เพลียแคม” ไม่ได้จริงอย่างเดียว แต่มันยังฮาด้วย แขกรับเชิญรายการ ลูกเกด-เมทินี และหมู-อาซาว่า หัวเราะขี้แตกขี้แตน ฉันเองยังสำลัก แต่หัวไปก็อ้าปากค้างไปด้วย

มุกเหยียดเชื้อชาตินี้ (ใช่ค่ะ มุกเหยียดเชื้อชาติ) ไม่ได้ถูกปล่อยผ่านเพียงเพราะมันไม่แป้ก แต่เป็นเพราะการโยนบทบาทขี้ข้าไปให้คนอีสานไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวด้วย ผู้ผลิตและผู้ร่วมรายการก็น่าจะรู้ว่ามันเป็นมุกที่ล้ำเส้น แต่ก็รู้ๆ กันว่าเป็นเส้นที่ล้ำได้ในสังคมไทย

ส่วน “เดียริส ดอลล์” ศิลปินแดร็กผู้ล้อเลียนจินตหรา พูนลาภ ก็เตรียมมุกตลกมาพอสมควร แต่อนิจจา นางพูดลาวไม่เป็น “สำเนียงอีสาน” ของนางจึงค่อนข้างพัง แต่ก็ไม่มีใครดูจะสังเกตหรือสนใจจุดนั้น การแสดงของ “เดียริส ดอลล์” ก็ยังได้รับการพิจารณาว่าดี ตลก แถมตัวศิลปินเองก็มองว่ามันเป็นการแสดงความรักและนับถือ

ที่ฉันเพ่งเล็งมาทั้งหมดนี้ไม่ได้อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ “เดียริส ดอลล์” หรือ “นาตาเลีย เพลียแคม” แต่เพื่อตีแผ่ให้เห็นว่ามุกตลกและเสียงหัวเราะนี้บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับอีสานในสายตาของสื่อไทยกรุงเทพ

นับรวมโดยไม่เรียกชื่อ ล้อเลียนโดยไม่ภูมิใจเสนอ

Drag Race Thailand มีส่วนร่วมในการลบชาติพันธุ์ลาวออกไปจากความจำส่วนรวมของสังคมไทย แต่ขณะที่ทำเช่นนั้น รายการนี้ก็ภูมิใจเสนอความเป็นจีนในสัปดาห์เปิดตัวของรายการ ซึ่งพ้องเข้ากับวันตรุษจีนพอดี

กรรมการรับเชิญคนหนึ่งคือ “ม๊าเดี่ยว” ดีไซเนอร์วัย 19 ปีจากขอนแก่น คนที่ดังระเบิดด้วยภาพลักษณ์ “กะเทยภูธร” ผู้ออกแบบและเป็นนางแบบชุดไฮแฟชั่นทำจากวัสดุรอบตัวของชาวบ้าน อย่างสุ่มไก่ มุ้ง มอง หม้อ

อย่างไรก็ตาม ตอนที่พิธีกร “อาร์ต อารยา” เชิญตัว “ม๊าเดี่ยว” เข้าเซ็ตถ่ายทำนั้น กลับไม่ได้กล่าวถึงภูมิลำเนาหรือจุดขายดั้งเดิมของนาง เพียงแต่แนะนำตัวนางว่าเป็น “น้องคนสุดท้องของวงการแฟชั่นไทยที่ดังระดับอินเตอร์แนชันแนล” พอเป็นเช่นนี้แล้ว “ม๊าเดี่ยว” จึงกลืนเข้ากับ “ครอบครัว” แฟชั่นบันเทิงไทยที่มีคนเชื้อสายจีนกุมอำนาจ ความแตกต่างทางพื้นเพอะไรไม่ต้องมาพูดถึงกัน

[“ม๊าเดี่ยว” ร่วมเป็นกรรมการรับเชิญในสัปดาห์เปิดตัวของรายการ Drag Race Thailand ในธีมวันตรุษจีน มาในชุดที่ทำจากประทัด ทั้งเดรส ต่างหู กำไล และที่คาดหน้าผาก]

ทั้งหมดที่ว่ามานี้แสดงสถานภาพของอีสานในสื่อไทยกรุงเทพ นั่นคือถูกนับรวมโดยไม่เรียกชื่อที่แท้จริง ถูกล้อเลียนโดยไม่มีใครมาภูมิใจเสนอตัวตนคนอีสานคู่ขนานกันไปบ้าง

นี่ไม่ใช่ประเด็นใหม่ รายการ Drag Race Thailand เองก็ได้เผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติในหมู่แฟนรายการชาวไทยมาแล้ว “จาจา” หนึ่งในแปดผู้เข้าแข่งขัน มาจากประเทศฟิลิปปินส์และพูดภาษาไทยไม่ได้ อยู่มาวันหนึ่ง แฟนเพจรายการแห่งหนึ่งก็โพสต์ข้อความเหยียดเชื้อชาติ “จาจา” และผู้เข้าแข่งขันในอนาคตที่อาจตามมาจากฟิลิปปินส์

ในบรรดาคำด่าทั้งหลาย มีประโยคหนึ่งที่เขียนว่า “หน้ายังกะคนกินเหล้าขาวแล้วไม่ได้นอน” ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าเครื่องดื่มที่ถูกนำมาตีตราคนชนชั้นล่างชาวอีสานจะกลายมาเป็นคำด่าคนต่างเชื้อชาติที่ถูกเกลียดได้ด้วย

พอเรื่องแดงขึ้น ผู้เข้าแข่งขันหลายคนรวมตัวกันแสดงความรักและนับถือต่อ “จาจา” โดยมีพิธีกรร่วม “ปันปัน” ถ่ายทอดสดทางวิดีโอเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ซึ่งก็ชวนให้ถามว่า แล้วอีสานล่ะ เมื่อไรกันที่ผู้ผลิตและผู้จัดรายการโทรทัศน์ไทยจะย้อนทบทวนดูให้ดีว่า ตัวเองทำอะไรไว้บ้างกับคนและวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้

image_pdfimage_print