โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

หมายเหตุ: บทความนี้เรียก “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” สั้นๆ ว่า “ดำรง” และไม่ใช้ราชาศัพท์ เพื่อเรียกบุคคลด้วยนามอื่นที่ผู้เรียกมองว่าถูกต้องกว่า เช่นเดียวกับที่เจ้าชายดำรงได้ลบชนชาติลาวออกไปจากพื้นที่ใต้การปกครองสยาม กลายเป็น “คนไทยมิใช่ลาว”

ฉันได้อ่านบทความ The Invention of ‘Isan’ History” ของ Akiko Iijima นักวิชาการจาก Tenri University เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ใน Journal of the Siam Society (วารสารสยามสมาคม) ฉบับล่าสุด (Vol. 106, 2018) แล้วมีความรู้สึกหลายอย่าง

ทั้งทึ่ง ทั้งอึ้ง ทั้งโมโหกับ “พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย”

ประเด็นสำคัญของบทความ “ประดิษฐกรรมของประวัติศาสตร์ ‘อิสาณ’” ของ อะคิโคะ อิอิจิมะ ไม่ใช่แต่เพียงว่า การเขียนประวัติศาสตร์ “อีสาน” ถูกปรุงแต่งขึ้นมาอย่างไร แต่ยังอยู่ที่การย้อนไปสืบดูว่า “แหล่งข้อมูล” ทางประวัติศาสตร์ไทยที่ถือกันว่าเป็น “ข้อเท็จจริง” นั้น แท้จริงแล้วถูกปรุงแต่งและจงใจบิดเบือนมาอย่างไร ก่อนจะปรากฏเป็นแหล่งข้อมูลฉบับตีพิมพ์

โดยเฉพาะแหล่งรวบรวมเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศอย่าง ประชุมพงศาวดาร ที่ริเริ่มโดย “พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย” หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

การบอกว่าเจ้าชายดำรง “โกหกพกลม” ไม่จำเป็นต้องหมายความในเชิงลบ ในห้องเรียนประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนมัธยมศึกษา ฉันก็ถูกสอนหลายครั้งว่าผู้ปกครองไทย/สยามสมัยก่อนเก่านี้มีดีตรงที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศ ไม่ว่าจะเป็น “ความชาญฉลาด” ของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ผู้แสดงให้เจ้าอาณานิคมจากยุโรปเห็นว่าสยาม “ศิวิไล” ประเทศของเราจึงไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง ไปจนกระทั่งการอ้างขบวนการเสรีไทย เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องมีสถานะ “ผู้แพ้สงคราม” หลังไปร่วมวงไพบูลย์กับจักรวรรดิญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

สรุปเอาจากบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยเหล่านี้ได้ว่า การพูดความจริงไม่หมด หรือการตลบตะแลงนั้นอาจเป็นเรื่องดีก็ได้ หากทำไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยแห่งชาติ

ฉะนั้น จึงไม่ควรแปลกใจหาก “พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย” จะโกหกบ้าง เพราะอนุมานได้ว่าเบื้องหลังคำโกหกนั้นย่อมมีเหตุผลที่น่าเห็นควรด้วย

ทั้งนี้ อะคิโคะ อิอิจิมะ ไม่ได้ฟันธงลงไปว่าดำรงเป็นผู้กระทำการ “โกหกพกลม” ที่ฉันจะนำเสนอต่อไปนี้ทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาจากเบาะแสแวดล้อมแล้ว ก็มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อยทีเดียว

ที่มา

อะคิโคะ อิอิจิมะ ค้นพบว่าเอกสาร พงษาวดารเมืองอุบลราชธานี เรียบเรียงโดยกรมหลวงอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) ที่เก็บอยู่ในห้องบริการเอกสารโบราณ ชั้น 4 หอสมุดแห่งชาติที่กรุงเทพฯ นั้น แท้จริงแล้วเป็นต้นฉบับของ พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ที่ปรากฏใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ ตีพิมพ์เมื่อปี 2458 หลังการเสียชีวิตของปฐมเมื่อปี 2451

นอกจากเป็นผู้ริเริ่มจัดพิมพ์ ประชุมพงศาวดาร เจ้าชายดำรงยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรกของสยามเป็นเวลาถึง 22 ปีด้วย

สมัยนั้น คำว่า “มณฑลอิสาณ” เพิ่งถูกราชการนำมาใช้แทนคำว่า “มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ” ได้ไม่ถึงยี่สิบปี ซึ่งคำหลังนี้ก็เพิ่งถูกนำมาใช้แทนคำว่า “มณฑลลาวกาว” ในปี 2442 เท่านั้น

เป็นเรื่องบังเอิญที่อิอิจิมะได้มีโอกาสเข้าถึงเอกสารต้นฉบับชิ้นนี้ เพราะปกติแล้ว กฎระเบียบของหอสมุดแห่งชาติ จะไม่อนุญาตให้ผู้มาติดต่อเข้าถึงเอกสารชั้นต้นที่มีการรวบรวมตีพิมพ์แล้ว แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติไม่ทราบว่า พงษาวดารเมืองอุบลราชธานี นี้ เป็นเอกสารต้นฉบับของ พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ จึงอนุญาตให้ผู้วิจัยเข้าถึงได้

อิอิจิมะ ค้นพบว่า ต้นฉบับตัวพิมพ์ดีดร้อยกว่าหน้า ของปฐม คเนจร นี้มีการขีดแก้ไขอยู่มาก โดยการแก้ไขส่วนหนึ่งไม่ใช่การแก้การสะกดหรือการเปลี่ยนให้อ่านง่ายขึ้น หากเป็นการบิดเบือนอย่างจงใจ และฉบับที่ตีพิมพ์ใน ประชุมพงศาวดาร ก็เป็นฉบับที่แก้ตามรอยขีดเหล่านั้นแล้ว

โกหกคำที่หนึ่ง: ไม่มีชนชาติ “ลาว” ในมณฑลอิสาณ มีแต่คนไทยเป็นพื้น และชนชาติอื่นๆ มีไม่มาก

ในฉบับร่างของ พงษาวดารเมืองอุบลราชธานี เขียนไว้ว่า

คนพื้นเมืองเปนชาติ, ลาว, เขมร, ส่วย, แลมีชนชาวประเทศอื่นคือไทย, ฝรั่ง, ญวน, พม่า, ตองซู, จีน, เข้าไปตั้งประกอบการค้าขายเปนอันมาก

แต่มีการขีดฆ่าคำว่า “ลาว” และ “ตั้งประกอบการค้าขายเปนอันมาก” กลายเป็นอย่างที่ปรากฏใน พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ เขียนว่า

คนพื้นเมืองเปนไทยเป็นพื้น นอกจากไทยมีเขมรส่วย แลลว้า แลมีชนชาวประเทศอื่นคือ ฝรั่ง, ญวน, พม่า, ตองซู, จีน, เข้าไปอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก

โดยทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันว่ารวมพลเมืองทั้งสิ้นในมณฑลนี้มีจำนวน 924,000 คนเศษ

อ่านถึงตรงนี้ฉันสะดุดกึก รู้สึกเหมือนถูกตบหน้า เพราะจำข้อความ “คนพื้นเมืองเป็นไทยเป็นพื้น” นี้ได้จากสมัยที่ค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีสาน ข้อความนี้ถูกอ้างอิง ตัดแปะไปใส่ตำราไม่น้อย แล้วก็โกรธตัวเองที่รู้ไม่เท่าทัน

เฉพาะข้อความนี้ มีการบิดเบือนอยู่สามจุดหลักๆ ด้วยกัน คือ

หนึ่ง คำว่า “ลาว” หายไป (ไม่น่าแปลกใจนัก มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้มานานแล้ว อย่างน้อยก็ในวิทยานิพนธ์ปี 2529 ของอรรถ นันทจักร์ ที่เข้าถึงเอกสาร พงษาวดารเมืองอุบลราชธานี ชื่อเดียวกันแต่คนละฉบับกับที่อิอิจิมะเข้าถึง)

สอง คำว่า “ลว้า” โผล่มา (ซึ่งตั้งอยู่บนฐานทฤษฎีว่า คนที่เราเรียกว่าลาวนั้นแท้จริงแล้วเป็นคนไทยที่พูดคนละสำเนียง ส่วนคนลว้าทางตอนเหนือของสยามเป็นคนลาวตัวจริง)

และสาม บิดเบือนภาพสังคมหลากหลายชาติพันธุ์ กลายเป็นสังคมที่มีชนชาวประเทศอื่น “เข้าไปอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก” (ข้อนี้รับไม่ได้)

ข้อสันนิษฐานของอิอิจิมะที่ไปไกลกว่าที่เคยมีมา ก็คือว่าผู้ที่ขีดฆ่าและบิดเบือนข้อมูลใน พงษาวดารเมืองอุบลราชธานี ก่อนมันจะกลายเป็น พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ นั้นไม่น่าใช่ข้าหลวงชั้นผู้น้อยที่ถูกส่งตัวไปช่วยงานอย่างที่อรรถ นันทจักร์คิด หากแต่มีแนวโน้มเป็นดำรงเอง

การลบเลือนคำว่า “ลาว” นี้เป็นไปอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงแต่เชื้อชาติ แต่กินรวมไปถึงทุกที่ที่มีคำว่าลาว ยกตัวอย่างเช่น “พระครูโพนเสม็ดพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาลาว” กลายเป็น “พระครูโพนเสม็ดพร้อมด้วยแสนท้าวพระยา,” “ครองสมบัติเป็นเอกราชตามประเพณีกระษัตริย์มลาว์ประเทศ” กลายเป็น “ครองสมบัติเป็นเอกราชตามประเพณีกระษัตริย์”

ส่วนจุดไหนที่ไม่สามารถลบคำว่า “ลาว” ทิ้งเฉยๆ ได้ ก็หาวิธีเลี่ยงให้ยังอ่านเข้าใจ เช่นการเปลี่ยนคำว่า “ภาษาลาวเรียกว่า…” กลายเป็นคำว่า “ภาษาทางนั้นเรียกว่า…” จนแทบไม่มีคำว่า “ลาว” เหลืออยู่

แล้วจะโกหกคำโตไปทำไม? ต่อประเด็นนี้ อิอิจิมะ มองว่าการสร้างข้อเท็จจริงชุดใหม่ที่ว่ามานี้ ทั้งในเรื่องการลบคำว่า “ลาว” ออกจากเชื้อชาติชนพื้นเมือง และการปลอมแปลงว่ามีประชากรต่างเชื้อชาติ “ไม่มาก” นั้นเป็นไปตามอุดมการณ์ก่อตั้งพรมแดนรัฐชาติเพื่อป้องกันการรุกรานพื้นที่จากฝรั่งเศส ที่บัดนั้นได้ครอบครอง “ดินแดนลาว” ไปแล้ว และอาจใช้กลยุทธแอบอ้างคนลาวฝั่งขวาเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองของตนเองเอาได้ ซึ่งเป็นปัญหาเพราะเมื่ออ้างคนแล้วก็อาจอ้างพื้นที่ได้ด้วย

นับเป็นเหตุผลที่น่าคิด

อิอิจิมะกล่าวอีกว่า การลบชนชาติลาวและกลืนเป็นไทย ได้เกิดขึ้นในการสำรวจสำมะโนครัวประชากรครั้งแรกของสยามด้วย (ปี 2447) ซึ่งนับเชื้อชาติจีน เขมร มอญ แต่ไม่มีเชื้อชาติลาว โดยใน คำอธิบายบัญชีสำมะโนครัว ได้ให้เหตุผลไว้ทำนองว่า ความแตกต่างระหว่าง “ไทย” กับ “ลาว” นั้นไม่มีหลักฐาน คนลาวกับคนไทยเป็นเชื้อชาติเดียวกัน ภาษาไทยกับภาษาลาว ต่างกันเพียงการออกเสียงและคำบางคำเท่านั้น หากจะเรียกชาวอุบลที่พูดคนละสำเนียงกับชาวบางกอกว่าเป็น “คนลาว” ก็ต้องเรียกชาวนครศรีธรรมราช ว่าเป็น “คนลาว” ด้วยสิ

โกหกคำที่สอง: คนแถบนี้ไม่มีใครพูด “ภาษาลาว” เพราะนับหนึ่งถึงสิบเป็นภาษาไทยกับภาษาเขมรเท่านั้น

อาจเป็นการกล่าวเท็จโดยสุจริต เพราะตามหลักฐานบันทึกแล้วดูเหมือนดำรงจะเชื่อจริงๆ ว่า การเรียกผู้คนแถบนี้ว่าเป็น “ลาว” มาแต่ไหนแต่ไรนั้นสำคัญผิด จริงๆ แล้วเขาเป็นชนชาติไทยมาตลอดต่างหาก

มีเกร็ดหนึ่งที่อิอิจิมะอ้างถึง ซึ่งฉันสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตเจอฉบับภาษาไทยในหนังสือ การเสด็จตรวจราชการหัวเมือง ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ข้อความต่อไปนี้คัดมาจากบันทึกประจำวันวันที่ 14 มกราคม 2450 ตอนดำรงไปตรวจราชการที่เมืองสกลนคร

เรื่องคนชาติต่างๆ ในมณฑลเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้ลอง สอบทางภาษาทุกพวกที่ได้มาพบ คือให้นับตามภาษาของเขาตั้งแต่ ๑ ไปจน ๑๐ แล้วจดไว้พิเคราะห์ดู เห็นมีแต่นับอย่างภาษาไทยกับ ภาษาเขมร ๒ อย่างเท่านั้น จึงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นเชื้อสายไทยพวก ๑ เชื้อสายขอมพวก ๑ ที่มาเรียกชื่อเป็นพวกนั่นนี่ต่างกันไปเป็นหลายพวก เห็นจะเกิดแต่อยู่แยกย้ายต่างถิ่นฐานกันนานเข้า ก็รู้สึกว่าต่างกันไป แต่ความจริงคงอยู่ในเป็นไทยชาติ ๑ เป็นขอมชาติ ๑ เท่านั้น (หน้า 439)

อ่านแล้วก็ทึ่งในความสามารถกลืนภาษาลาวให้กลายเป็นภาษาเดียวกับภาษาไทย!

วิธีวิทยา “นับหนึ่งถึงสิบ” ที่ดำรงใช้พิสูจน์เชื้อชาติไทยของชาวบ้าน ชวนให้นึกถึงมาตรการ “พิสูจน์สัญชาติ” ของเจ้าหน้าที่ตรวจผู้อพยพหนีจากประเทศลาวในค่ายผู้ลี้ภัยที่อุบลราชธานี

ตัวเอกของนวนิยายกึ่งบันทึกความทรงจำ โรงรูปเงา (เขียนโดย “เล็ก ใบเมี่ยง” อิงประสบการณ์ของพี่ชาย) หนีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์จากสะหวันนะเขตมาอยู่กับเครือญาติฝั่งไทย เขาไปอยู่ในค่ายผู้อพยพเพื่อขอลี้ภัยไปฝรั่งเศส ในการสัมภาษณ์เขาถูกเจ้าหน้าที่ขอให้เขียนตัวเลขลาวจากหนึ่งถึงสิบ

ปรากฏว่าเขาเขียนถูกหมด ยกเว้นเลข ໖ ผิดเป็นเลข ๖ จึงถูกเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสปฏิเสธ ประกอบกับมีคนไปฟ้องว่าเขาเป็น “คนไทยไม่ใช่คนลาวอพยพ” (หน้า 152) ทั้งที่ครอบครัวย้ายจากมุกดาหารไปอยู่สะหวันนะเขตตั้งแต่เขายังเด็ก การจำตัวเลขสับสนของตัวละครนี้อาจมาจากประสบการณ์สองฝั่งโขงตั้งแต่ก่อนไปลาวจนหลังหนีออกมาก็เป็นได้

สรุปแล้ว เมื่อรัฐต้องการผนวกคนพร้อมพื้นที่เยอะๆ เข้าภายใต้การปกครอง เกณฑ์ในการนับคนก็ดูจะกว้างเหลือเกิน แต่เมื่อรัฐต้องการจะกีดกันคนออกไปเท่าที่จะทำได้ เกณฑ์ก็แคบเข้ามาจนต้องวัดดวงและความสามารถ “ผ่านด่าน” ของแต่ละคน

โกหกคำที่สาม: ปฐม คเนจร ค้นคว้าและเรียบเรียง พงษาวดารเมืองอุบลราชธานี ตามความชอบส่วนตนนอกเวลาราชการ และดำรงมีบทบาทเป็นเพียงผู้ตรวจ

อิอิจิมะ ยังชี้ให้ผู้อ่านสงสัยด้วยว่า หรือดำรงจะมิได้เป็นเพียง “ผู้ใหญ่ใจดี” ที่ช่วย “ตรวจ” ร่างบทความของปฐม คเนจร ดังที่เขากล่าวอ้างในคำนำเสนอฉบับทางการใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ แต่ยังอาจมีบทบาทเป็น “ผู้ร่วมค้นคว้าวิจัย” ด้วยซ้ำ

ที่มาของ พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ มีเรื่องเล่าผิดแผกไปสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นของดำรงที่เขียนเป็นคำนำเสนอใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ นั้นอ้างว่างานเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นด้วยความอุตสาหะส่วนตนของนายปฐม ใช้เวลาว่างนอกราชการรวบรวมและเรียบเรียงด้วยตัวเอง และได้ส่งฉบับร่างมาให้ดำรงตรวจ

แต่ในเวอร์ชั่นที่ปรากฏใน ประวัติศาสตร์อีสาน ของเติม วิภาคย์พจนกิจ กลับเล่าไว้ในคำนำที่เขียนปี 2513 ว่า

ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๓ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มีรับสั่งให้เรียกเอาสมุดข่อย หรือเอกสารสำคัญเก่าแก่ตลอดจนสัญญาบัตรของเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรทั้งในอดีตและปัจจุบันที่มีอยู่ตามบรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงในมณฑลอีสาน หรือหัวเมืองอื่นเท่าที่จะรวบรวมได้ เมื่อได้มาแล้วมีรับสั่งให้หม่อมอมรวงวิจิตร (ครั้งเป็น ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ปลัดมณฑลประจำจังหวัดอุบลราชธานี (เมื่อครั้งเป็นมหาดไทยมณฑล) เป็นแม่กองรวบรวมเรื่องราวหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น และโปรดให้บิดาข้าพเจ้าเป็นผู้ช่วย ครั้นเรียบเรียงเสร็จแล้ว สารตรา สัญญาบัตรและเอกสารสำคัญต่างๆ ดังกล่าว หากของเมืองใดเก่าแก่ได้พยายามเก็บรักษาไว้เรียบร้อย กอปรด้วยมีหลักฐานอันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ พงศาวดารประวัติศาสตร์แล้ว พระองค์ท่านได้ประทานรางวัลแก่ผู้นั้น ตามลำดับความสำคัญมากน้อยเป็นเงินส่วนพระองค์ร่วม ๑,๐๐๐ บาท เมื่อหม่อมอมรวงศ์วิจิตรเรียบเรียงเสร็จแล้วให้ชื่อว่า พงศาวดารหัวเมืองอีสาน เป็นหนังสือไม่น้อยกว่า ๒๕ ยก (หน้า (12)-(13))

อะคิโคะ อิอิจิมะ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีเรื่องเล่าสองเรื่องที่ขัดกันนี้ น่าสงสัยว่ามีพื้นฐานมาจากอะไร? เป็นไปได้ไหมที่ดำรงอยากจะอำพรางบทบาทของตนที่มากกว่านั้น? อาจในฐานะผู้อำนวยการผลิต หรือแม้แต่ในฐานะผู้ร่วมวิจัย ซึ่งดำรงเองก็เคยรวบรวม “ตำนาน” และเอกสารเก่าจากชาวบ้าน แล้วสั่งให้คัดเอกสารที่น่าสนใจส่งกลับกรุงเทพฯ ครั้งมาตรวจราชการในมณฑลอิสาณเช่นกัน

สรุป

คนอีสานหลายคนคงจะนึกขอบคุณเจ้าชายดำรงที่มีส่วนช่วยผนวกรวมคนในภูมิภาคนี้เข้าใต้พระบรมโพธิสมภาร เป็นพลเมืองสยามโดยสมบูรณ์ ฉันเคยเห็นคนทิ้งคอมเมนต์ไว้ตามเว็บไซต์ถึงขั้นว่า เราคนอีสาน เราฉลาด บ้านเมืองเจริญ ไม่เหมือนคนลาว ดักดานอยู่กับคอมมิวนิสต์

หรือถึงจะไม่เห็นสุดโต่งขนาดนั้น ก็มีความคิดที่แพร่หลายในปัจจุบันทำนองว่าการนับคนลาวฝั่งขวาเป็นคนไทย ถือเป็นการช่วยให้คนในภูมิภาคนี้รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แปลกแยกจากคนไทยภาคอื่นๆ แม้นักคิดนักเขียนหลายคนจะยอมรับว่าคนอีสานส่วนใหญ่ก็คือคนลาว แต่ก็ยังคล้อยตามในเหตุผลในการเรียกคนลาวว่าเป็นคนไทย ไม่เห็นว่ามันขัดแย้งสวนทางกัน

อุดม บัวศรี ผู้เขียนตำราเล่มหนา วัฒนธรรมอีสาน ดูจะเดินทางสายกลางนั้น หลังจากการสืบรากเหง้าคนอีสานอยู่หลายหน้ากระดาษ เขาก็สรุปว่า “กลุ่มคนที่พูดภาษาลาว เรียกว่า คนอีสาน หรือ คนลาว” แต่ก็เสริมทันทีว่า

แต่ถ้าถือตามการแบ่งกลุ่มหรือเผ่าแล้ว คนไทยจะอยู่ในภาคใดก็ตาม เขาก็เป็นคนเผ่าไทยทั้งนั้น ไม่มีการแบ่งแยก และถ้าเราเชื่อประวัติศาสตร์ว่า อาณาจักรของชนชาติไทยในอดีตนั้นก็คือ “อาณาจักรอ้ายลาว” แล้วก็ยิ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า “ชนชาติลาว” แห่งแคว้นลาวของฝรั่งเศส นั้นเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติอ้ายลาว (Ai Lao) หรือไทย (Thai) ซึ่งยึดชื่อตำนานอันเป็นชื่อดึกดำบรรพ์ของตนไว้ได้ และที่ว่า

“เมื่อมองดูในประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยแล้ว คงทราบได้ว่าไทยในปัจจุบันนี้ รวมทั้งพวกชาติตะวันตกในพม่าและพวกไทยสยามทางใต้ด้วย ล้วนเป็นเชื้อชาติสืบเนื่องมาจากพวกลาวเดิม (Ancient Lao) ซึ่งมิใช่ชนดั้งเดิมในแถบร้อนของโลก”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คงไม่ต้องสรุปเพราะข้อความมันสวยอยู่ในตัวแล้ว “คนอีสานเป็นใคร” แล้วมองกว้างไปกว่านั้นเรายังพบว่า มีชาวเผ่าไทยกระจายกันอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น จีน ลาว พม่า อินเดีย และเกาะไหหลำอีกไม่น้อย

คนที่ถกเถียงกัน และแก่งแย่งกันด้วยทิฐิมานะที่เจือด้วยอวิชชาเท่านั้นที่ยังทุ่มเถียงและทะเลาะเบาะแว้งกันว่า ฉันเป็นลาว คุณเป็นไทย ฉันเป็นคนใต้ คุณเป็นคนเหนือ แต่เมื่อได้ศึกษาด้วยสติ ปัญญาแล้ว เราจะไม่ติดอยู่ในการแบ่งแยกของภาษาของใต้ อีสาน เหนือ กลาง เท่านั้น แต่เราจะกระโจนไปสู่มโนทรรศนะที่ยิ่งใหญ่และครอบครัวสายเลือดทุกหยดและดวงใจทุกดวงของผู้ได้ชื่อว่า “ชนชาติไทย” หรือ “คนไทย” ในแผ่นดินไทย (หน้า 26)

กว่าหนึ่งศตวรรษผ่านมาแล้ว จากคำโกหกพกลมของ “พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย” ถึงทุกวันนี้กลายเป็นความจริง พวกเราเรียกตัวเองว่า “คนไทยอีสาน” จากนโยบายราชการ ถึงทุกวันนี้กลายเป็นข้อเท็จจริงในสังคม กลายเป็นข้อสรุปทางวิชาการ ลาว=ไทย ไทย=อ้ายลาว ต่อมายังเจืออารมณ์ความรู้สึกมีชะตาร่วมกันของมวลมหาประชาชนในภูมิภาค กลายเป็นเสียงเรียกร้องทางการเมือง กลายเป็นอัตลักษณ์ กลายเป็นตัวตน กลายเป็นจิตวิญญาณของเรา

(ถ้าคุณยังอยากเถียงอีก โปรดตรวจสอบตัวเองด้วยว่าคุณมีทิฐิมานะเจือด้วยอวิชชาหรือเปล่า!)

เราคนอีสาน คือลูกหลานนายดำรงโดยแท้

image_pdfimage_print