“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” หรือ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยของประชาชนจงเจริญ” คือคำพูดที่นายครอง จันดาวงศ์ หรือ “ครูครอง” กับนายทองพันธ์ สุทธิมาศ สองนักโทษการเมือง เปล่งวาจาไว้เมื่อช่วงเที่ยงวันของวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 หรือเมื่อ 57 ปีที่แล้ว ก่อนถูกประหารชีวิต ณ สนามบินลับของเสรีไทย ที่อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บ้านเกิดของครูครอง

เพื่อไม่ให้ชื่อเสียงและการต่อสู้ของครูครองเลือนหายไป จึงมีการจัดงานในโอกาสครบรอบการสละชีวิตของครูครองเป็นประจำทุกปีในวันที่ 31 พฤษภาคม ที่บริเวณบ้านพักของนายวิทิต จันดาวงศ์ บุตรชายนายครอง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร สถานที่ตั้งสถูปบรรจุอัฐิครูครอง

สถูปบริเวณบ้านพักของนายวิทิต จันดาวงศ์ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ใช้บรรจุอัฐิของครูครองและบุคคลอื่น

ความเป็นมาของการจัดงาน

งานปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม ใช้ชื่อว่า “โครงการรำลึกวีรบุรุษประชาธิปไตยแห่งเมืองสว่างแดนดิน” งานวันแรกคืองาน “ห้องเรียนกำพืด” จัดขึ้นที่ศูนย์เรียนรู้ครอง จันดาวงศ์ ซึ่งเพิ่งก่อสร้างเสร็จในปีนี้ ส่วนงานวันที่สองมีชื่อว่า “วันรำลึกครูครอง จันดาวงศ์และมอบทุนการศึกษา” จัดงานบริเวณสนามข้างศูนย์เรียนรู้ฯ

“จริงๆ เราขอจัด เขา [เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง] ไม่ให้จัดหรอก แต่เราจัดในฐานะสถาบันการศึกษา เราเลยไม่ขอ เราจัดเลย” นายวิชาญ ฤทธิธรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อธิบายถึงการจัดงาน  

งานวันรำลึกครูครอง จันดาวงศ์และมอบทุนการศึกษา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 โดยมีนักเรียนและบุคคลทั่วไปหลายร้อยคน เข้าร่วมงาน ที่เห็นอยู่ด้านมุมบนขวาไกลออกไปคือสถูปบรรจุอัฐิของครูครอง

ส่วนวัตถุประสงค์ของงานครั้งนี้ อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระบุว่า เพื่อสืบต่องานรำลึกครูครองไม่ให้หายไป ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของครูครองสู่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ตนเชื่อว่า แม้เด็กและเยาวชนจะยังไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่ได้สัมผัส แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาจะเรียนรู้และเกิดแรงบันดาลใจ โดยหวังให้ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ยังคงหล่อเลี้ยงในใจคนหนุ่มสาว

“เขา [ครอง จันดาวงศ์] ชัดเจนมากเรื่องประชาธิปไตย วันนี้มีเยาวชนบางคนพูดว่า ดีใจที่เป็นคนสว่างแดนดิน ที่มีครูครองเป็นคนกล้า ความกล้านี้สำคัญ” นายวิชาญกล่าว

ประวัติครูครองโดยสังเขป

นายครอง จันดาวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2451 ที่บ้านคุ้มวัดศรีสะเกษ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอธาตุเชิงชุม (อำเภอเมืองในปัจจุบัน) จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อนายดี จันดาวงศ์ ต่อมาได้เป็นหมื่นศรีภักดี ส่วนมารดา ชาวบ้านเรียกกันว่า “แม่เชียงวัน” บิดามารดามีเชื้อสายไทยย้อ มีลูกทั้งหมด 8 คน [ข้อมูลบางแห่งบอกว่า 9 คน] ครูครองเป็นลูกคนสุดท้อง

เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนประชาบาลวัดศรีสะเกษ ชั้นมัธยมที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไปเป็นครูประชาบาลที่วัดบ้านตาลโกน อ.สว่างแดนดิน จากนั้น เรียนต่อระดับครูประถมกสิกรรม (ครูมูล) จ.อุดรธานี แล้วกลับมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดบ้านบงเหนือ ต.บงเหนือ อ.สว่างแดนดิน

ระหว่างนั้ันได้แต่งงานกับนางสาวคำมุก มีลูกชาย 1 คน ชื่อ จิระเดช จากนั้นได้หย่าร้างกัน แล้วแต่งงานใหม่กับนางสาวแตงอ่อน แซ่แตง ย้ายไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดบ้านทรายมูล ต.พันนา อ.สว่างแดนดิน มีบุตร 3 คน ชื่อ วิทิต ธำรง และควรครอง

รูปถ่ายครูครองภายในศูนย์เรียนรู้ครอง จันดาวงศ์ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เขาถูกจับกุม 3 ครั้งในข้อหากบฏ ก่อนถูกประหารชีวิต เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504

ต่อสู้ทางการเมืองและถูกจับ 3 ครั้ง

ครูครองเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยร่วมกับนายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร เมื่อปี 2484 และได้ลาออกจากข้าราชการครูเพื่อปฏิบัติงานให้เสรีไทย เมื่อปี 2485

เขาถูกจับครั้งแรก ข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสานและกบฏในราชอาณาจักร เมื่อปี 2491 ได้ต่อสู้คดีอยู่ประมาณ 3 ปี จากนั้น ศาลจึงยกฟ้อง

ต่อมา ครูครองได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร เขตอำเภอสว่างแดนดิน เมื่อปี 2493 ร่วมกับขบวนการสันติภาพคัดค้านการส่งทหารไทยเข้าร่วมสงครามเกาหลี

เขาถูกจับครั้งที่สอง คดีกบฏสันติภาพ ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน แต่ถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2500 หลังได้รับการนิรโทษกรรมเนื่องในโอกาสกึ่งพุทธกาล

ครูครองได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สกลนคร เมื่อปี 2500 โดยเป็น ส.ส.ได้ 10 เดือนก่อนมีการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501

ต่อมา ถูกจับครั้งที่สามเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2504 ข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และกบฏแบ่งแยกดินแดน ครูครองถูกประหารชีวิต เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 ด้วยอำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ที่ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ ในกรณีมีการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์

มูลเหตุก่อนการถูกจับกุมคือ ครูครองได้พัฒนาการ “ลงแขก” หรือ “การขอแรง” ในภาคอีสานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพลง ทำให้ทางการหวาดระแวงและกล่าวหาว่ามีการตั้ง “หน่วยงานสามัคคีธรรม” ประกอบกับเกิดการรัฐประหารในลาว โดยร้อยเอกกองแล วีระสาน เมื่อปี 2503 รัฐบาลไทยต้องการเอาใจสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในที่สุดจึงลงท้ายด้วยการจับกุมครูครอง

จึงเท่ากับว่าครูครองและครูทองพันธ์ถูกประหารชีวิตโดยไม่ผ่านขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม แต่ถูกสั่งประหารโดยอำนาจของหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น

อาจารย์วิชาญ ฤทธิธรรม แห่ง มรภ.สกลนคร หัวแรงของการจัดงานรำลึกการจากไปของ “ครูครอง จันดาวงศ์” ครบ 57 ปี

นายวิชาญ ฤทธิธรรม กล่าวถึงการใช้ ม.17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ กับการใช้ ม.44 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ความเลวร้ายของ ม.17 กับ ม.44 ไม่ต่างกัน ยิ่งเลวร้าย ยิ่งอยู่นาน เหตุผลที่ คสช. อ้างเรื่องความมั่นคงและความสงบเพื่อยึดอำนาจฟังไม่ขึ้น

“เวลาที่ผ่านมา ปีแรกยังพอฟังได้ แต่มันผ่านมาสามสี่ปี มันก็จบแล้ว … คนทำผิดให้โอกาสปีเดียวก็พอ แต่นี่คุณไม่ได้ทำผิด คุณหลงผิดและคุณใจดำมาก” อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์กล่าว

เด็ดเดี่ยวเมื่อต้องเผชิญจอมเผด็จการ

ภายในศูนย์เรียนรู้ครอง จันดาวงศ์ มีการจัดแสดงนิทรรศการหลายจุด หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกจัดแสดงคือ การถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี 2504 แล้วถูกตำรวจพาตัวจากอ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร มาขึ้นเครื่องบินที่จ.อุดรธานีไปยังสนามบินดอนเมือง ในวันที่ 16 พฤษภาคม แล้วถูกนักข่าวดักสัมภาษณ์

นักข่าว: คุณครองอยากพบนายกรัฐมนตรีทำไม

ครูครอง: ผมอยากถามท่านว่า เมื่อไหร่จะเปิดสภาให้ประชาชน

นักข่าว: คุณครองไม่กลัว ม.17 หรือ (มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองฯ ปี 2502)

ครูครอง: ผมไม่มีความผิดจึงไม่ต้องกลัว บ้านเมืองมีขื่อมีแป

มีนักข่าวคนหนึ่งพูดแทรกขึ้นมาว่า “คุณนะโดน ม.17 แหง” แต่ครูครองไม่ตอบโต้

ในงานวันรำลึกครูครองฯ ยังมีการจำหน่ายหนังสือ “ครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้” ซึ่งเป็นหนังสือในงานฌาปนกิจศพครูครองและครูทองพันธ์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2538 ที่วัดป่าศรีสว่าง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ซึ่งตีพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 มีนายวิทิต จันดาวงศ์ ลูกชายครูครอง เป็นผู้อำนวยการ

บทความเรื่อง “34 ปีแห่งการถูกประหาร” โดย เปลว สัจจาภา ฉายภาพวันที่ครูครองเข้าพบกับจอมพลสฤษดิ์ไว้ดังนี้ เช้าวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 ครูครองและครูทองพันธ์ถูกเบิกตัวไปพบจอมพลสฤษดิ์ ที่ตึกบัญชาการกรมตำรวจ ทั้งสองคนทราบดีว่าจะต้องถูกประหารอย่างแน่นอน จึงได้ลาเพื่อนผู้ต้องขังว่า “ขอลาไปตายก่อนเด้อ พิน้องเอ้ย ผู้ใด๋ยังอยู่ขอให้สู้ต่อไป”

หลังสนทนาไปสักพัก จอมพลสฤษดิ์ถามครูครองว่า “พวกมึงรู้รึเปล่าว่า กูมีม.17 ที่พร้อมประหารพวกมึงได้ทุกเวลา”

ครูครองตอบว่า “อย่าคิดว่าผมกลัว ม.17 ของท่านนะ ท่านอาจสั่งประหารผมและผู้รักชาติจำนวนหนึ่งได้ตามใจชอบ … ในที่สุดประชาชนจะต้องเป็นฝ่ายชนะพวกอธรรม พวกเผด็จการจะต้องพินาศ ผมขอภาวนาว่า เมื่อวันนั้นมาถึงขอให้ท่านยังอยู่และอย่าหนีทัน”

เมื่อจบการสนทนาหัวหน้าเผด็จการทหารไม่สามารถทนฟังต่อได้ จึงสั่งให้ลูกน้องนำตัวบุคคลทั้งสองไปประหารชีวิตที่สนามบินลับของเสรีไทย อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร โดยเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ ไปถึงเวลา 11.30 น. และยิงเป้าเวลา 12.30 น.

ความตายยิ่งขยายเพลิงขัดแย้ง

“[อายุ] 22 ปี วันถูกประหารพอดี วันเขาเอาพ่อมายิงเป้าคือวันเกิดผม ผมเกิด 31 พฤษภา 2482” คือคำบอกเล่าของนายวิทิต จันดาวงศ์ บุตรครูครอง ถึงวันนี้เมื่อ 57 ปีที่แล้ว

นายวิทิต จันดาวงศ์ ในวัย 79 ปี เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูครอง เมื่อ 57 ปีที่แล้วได้อย่างแม่นยำ

นายลุงวิทิต จันดาวงศ์ หรือ “ลุงวิทิต” ถูกจับกุมและควบคุมตัวเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับครูครองและถูกคุมขังรวมเวลา 7 ปีก่อนศาลยกฟ้อง เล่าเพิ่มเติมว่า ตอนยิงเป้า ตนตั้งใจไว้ว่าจะไม่มีน้ำตาให้กับเรื่องพรรค์นี้ ตนรู้สึกว่าพ่อถูกยิงตาย แต่จะไปร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด แกก็ไม่กลับมา ไม่มีประโยชน์

“วันนี้พ่อผมตายอย่างหมา อีก 20 ปีข้างหน้าท่านต้องเป็นวีรบุรุษของประชาชน” บุตรชายครูครองเผย

ผลลัพธ์การประหารชีวิตครูครองออกมาตรงกันข้ามกับที่ทาง การไทยคาดการณ์ไว้ ลุงวิทิตในวัย 79 ปีผู้เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เล่าว่า “ทางการมองว่าถ้ายิง[ครูครอง]ไปแล้วจะทำให้คนสงบ คนจะเงียบ แต่พอยิงแล้ว คนรักครูครองไปหลบในป่า หนีไปฝั่งลาว”

“พอคนหนีไปอยู่ป่า พคท. ประชุมแล้วบอกว่าจะปล่อยให้ประชาชนอยู่ตามลำพังนานไม่ได้ เพราะจะเกิดกองโจรไร้ทิศทางทางการเมือง พคท. จึงส่งผู้ปฏิบัติชั้นสูงมาให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน จนกลายเป็นกองทัพ [กองทัพปลดแอกประชาชนของ พคท.]”

“ถ้าไม่มีกรณีครูครอง คอมมิวนิสต์ก็เข้ามาไม่ได้” นายวิทิตเผย และว่า แต่รัฐบาลต่อมา[เปรม ตินสูลานน์]แก้ไขความผิดพลาด ด้วยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 [คำสั่งดังกล่าวเปิดโอกาสให้แนวร่วม พคท. ออกจากป่ากลับสู่เมืองได้]

ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันที่วนเวียนอยู่ในยุคเผด็จการ ลุงวิทิตเผยว่า สังคมประกอบด้วยโครงสร้างส่วนบนและโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานคือเศรษฐกิจที่ได้พัฒนาไปมากจนเข้าสู่ยุคทุนนิยมเสรีแล้ว แต่โครงสร้างส่วนบนหรือการเมืองการปกครอง ซึ่งตามปกติต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจ ไม่ยอมปรับตัวตามจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่ตนเชื่อว่าไม่ว่าอำนาจเผด็จการจะฝืนอย่างไรก็คงไม่สามารถฝืนได้ เช่นเดียวกับการที่มนุษย์ไม่อาจฝืนสังขารไว้ได้  

“มันจึงสะท้อนภาพมันต้องถึงจุดจบ แต่มันจะจบยังไง” บุตรชายครูครองกล่าวทิ้งท้าย

หลังการสูญเสียครูครองเมื่อปี 2504 ถึงปีนี้นับได้ 57 ปี แต่เผด็จการก็ยังไม่พินาศ ประชาธิปไตยก็ยังไม่เจริญ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างคงหนีการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เวลายังอยู่ข้างผู้รักประชาธิปไตยเสมอ อย่างน้อยเผด็จการชุดนี้ก็ไม่กล้าสั่งประหารประชาชนเช่นเดียวกับเผด็จการเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

image_pdfimage_print