โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งในอดีตวันที่ 24 มิถุนายนเคยเป็นวันชาติไทยมาก่อน เนื่องจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือ เมื่อ 86 ปีที่แล้ว คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือ ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีข้อกังขาในพ.ศ.นี้ว่า ประเทศไทยพร้อมเป็นประชาธิปไตยหรือยัง

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 86 ปีก่อน ทำให้ประเทศไทย (ประเทศสยามในเวลานั้น) มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ต่างจากเดิมที่อำนาจทางการเมืองอยู่ที่กษัตริย์ โดยกษัตริย์ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและยังเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 ซึ่งการเลือกตั้งคือการแสดงออกถึงการเป็นการเจ้าของประเทศของราษฎร ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

แต่ก็มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ว่า เป็นการชิงสุกก่อนห่าม หรือ มีการเปลี่ยนแปลงก่อนที่ประชาชนจะมีความพร้อม ซึ่งน่าสงสัยว่าการชิงสุกก่อนห่ามเป็นเพียงวาทกรรมของผู้คัดค้านการการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เนื่องจากถ้าจะบอกว่าประชาชนไม่มีความพร้อม ก็จะมีคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่ประชาชนจะพร้อม อีกทั้งถ้าไม่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยก่อน แล้วประชาชนจะเรียนรู้และทำความเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีหัวใจหลักคือการเห็นคนเท่าเทียมกันได้อย่างไร  

แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า ข้ออ้างว่าคนไทยยังไม่พร้อมเลือกตั้งยังถูกใช้อยู่ในปัจจุบัน และคำพูดนี้ออกมาจากปากของผู้นำประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหาร กล่าวกับนิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ 2 ก.ค. นี้ ว่า ตนใช้เวลามากกว่า 6 เดือนเพื่อตัดสินใจ ไม่ได้ตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะทำการรัฐประหาร เพียงแต่ตนไม่สามารถปล่อยให้ประเทศชาติเสียหายไปมากกว่านี้ และ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ 4 ปีของการแสวงหาอำนาจ แต่เป็นเวลาของการแก้ปัญหา สร้างเสถียรภาพและอนาคต

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารยังคิดว่า ตนเองมีความชอบธรรมในการยึดอำนาจ เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถมีการเลือกตั้ง และมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้

แต่มุมมองอีกด้านคือ อุปสรรคของการเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่การยึดอำนาจของกองทัพ ถ้ากองทัพไม่ยึดอำนาจตั้งแต่ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 การปกครองในระบอบประชาธิปไตยคงเข้าใกล้ความสมบูรณ์มากกว่านี้ คือเป็นประชาธิปไตยทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และทัศนะทางสังคม

คำว่า ประชาชนไม่พร้อมเลือกตั้ง น่าจะเป็นข้ออ้างของผู้ใฝ่หาอำนาจในระบอบเผด็จการเท่านั้น

หลังยึดอำนาจมาครบ 4 ปี และมีการเลื่อนการเลือกตั้งมาไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ก็ถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 (ถ้า คสช. ไม่เบี้ยวอีก)  

แต่ก่อนจะถึงการเลือกตั้งได้มีการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดเลย 3 คน ถูกดึงตัวไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์

โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นแกนนำเดินสายดูดอดีต ส.ส.

ขณะที่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม จากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเจอศึกหนักที่สุด โดยขณะนี้พรรคพลังประชารัฐกำลังพยายามดูดอดีต ส.ส.อีสานไปแล้วกว่า 40 คน และคงไม่หยุดแค่นี้

ความพยายามดูดอดีต ส.ส. แสดงให้เห็นว่า 4 ปีหลังการรัฐประหาร การเมืองไทยเดินทางย้อนกลับไปในอดีต นั่นคือ ความพยายามให้ความสำคัญกับตัวผู้สมัคร ส.ส.มากกว่าพรรคการเมือง

ถ้าการดูดอดีต ส.ส. ประสบความสำเร็จและสามารถกำหนดทิศทางการเมืองไทยได้ ก็จะทำให้เสียงของประชาชนในการเลือกพรรคการเมืองจากนโยบายที่ชื่นชอบลดความหมายลง และนักการเมืองก็จะย้ายพรรคไปเรื่อยๆ เหมือนช่วงก่อน  

รัฐบาลชุดต่อไปก็ไม่มีความเข้มแข็งและยากต่อการผลักดันนโนบายให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก ส.ส. จะแปรเปลี่ยนบทบาทจากผู้สนับสนุนรัฐบาลเพราะนโยบาย มาเป็นการสนับสนุนรัฐบาลเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์เฉพาะหน้า และการดึงงบประมาณลงพื้นที่

จึงต้องจับตาว่า สถานการณ์การเมืองในภาคอีสานซึ่งเป็นภาคที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในประเทศจะแปรเปลี่ยนเป็นเช่นไร

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จัดงานเลี้ยงวันเกิดให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2561 โดยนายทักษิณมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง ภาพจากเว็บไซต์บีบีซีไทย

แต่ถึงแม้จะมีพลังดูดจากพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีความมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง และได้คะแนนเสียงจำนวนมากจากภาคอีสาน โดยการที่อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยย้ายพรรคจะไม่ส่งผลกระทบต่อความนิยมของพรรคเพื่อไทย แต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้คัดนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาลงเลือกตั้ง

สถานการณ์ทางการเมืองที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์อีกครั้งว่า คนไทยและคนอีสานพร้อมหรือยังที่จะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า (ถ้ามี) จะเป็นคำตอบ ประชาชนต้องการอยู่ระบอบ คสช. โฉมใหม่ที่มีการเลือกตั้ง หรือ ต้องการกำหนดอนาคตทางการเมืองเอง

image_pdfimage_print