โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีโอกาสลงพื้นที่จ.อำนาจเจริญและจ.ยโสธร เพื่อพิสูจน์มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่ไม่ยกเลิกการใช้ (แบน) สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 รายได้ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่า ยังมีเหตุผลไม่มากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้

เหตุผลที่ข้าฯ ติดใจว่า ทำไมคณะกรรมการฯ ถึงไม่แบนสารพาราควอตและสารเคมีอีก 2 รายการ เกิดขึ้นจากการพบข้อมูลว่า ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสารพาราควอต หรือ ยาฆ่าหญ้า ได้แบนการใช้พาราควอตทุกประเภทแล้ว มีผลตั้งแต่ปี 2563 หลังแบนสารพาราควอตในรูปแบบของเหลวมาตั้งแต่ปี 2559

ขนาดประเทศจีนเองยังแบนสารพาราควอตเลย แล้วทำไมประเทศไทยยังกล้าใช้สารพาราควอตต่อ

จุดแรกของการลงพื้นที่ คือ ฟาร์มวัวของนายพรณรงค์ ปั้นทอง ณ บ้านคำกลาง ม.7 ต.โนนหนามแข้ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ บริเวณนี้มีการอบรมโครงการสร้างทักษะส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร (โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตกรรายย่อย) ให้กับเกษตกรตำบลโนนหนามแท่ง 2 รุ่นๆ ละ 50 คน โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นแรก อบรมระหว่าง วันที่ 26 – 28 มิ.ย. 2561

การอบรมในครั้งนี้คือการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ หรือ การทำเกษตรที่ปฏิเสธการใช้สารเคมี (ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช) โดยให้วิทยากรมาบอกเล่าประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์

วิทยากรคนหนึ่งมีความโดดเด่นกว่าวิทยากรทั่วไป คือ นายสถิตย์ ม่วงกรุง หรือ สตีฟ เกษตรกรอินทรีย์ จาก หจก. ส.สตีฟ ออร์แกนิค ฟาร์ม ต.บุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เนื่องจากนายสถิตย์ไม่ได้สอนให้เกษตรกรเพาะปลูกอย่างเดียว แต่สอนให้เกษตรกรคำนึงถึงช่องทางการตลาดและการจัดจำหน่ายด้วย

นายสถิตย์เน้นว่า ถ้าสิ่งไหนปลูกแล้วขายไม่ได้ก็ไม่ควรปลูก และก่อนปลูกควรทราบก่อนว่าจะนำผลผลิตไปจำหน่ายยังช่องทางใด รวมถึงยังแนะนำให้เกษตกรนำโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ค มาสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้า

นายสถิตย์ ม่วงกรุง เกษตรกรอินทรีย์ จาก ส.สตีฟ ออร์แกนิค ฟาร์ม แนะนำช่องทางการตลาดให้กับเกษตกรอินทรีย์

สตีฟเล่าให้ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดฟังว่า เกษตรอินทรีย์ยังมีตลาดรองรับอีกมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้วเกษตกรต้องผลิตผลผลิตให้ได้ตรงตามกับคำสั่งซื้อ ส่วนความยากของการเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาทำเกษตรอินทรีย์คือ เกษตรกรต้องยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการเพาะปลูกทั้งหมดทุกขั้นตอน และต้องหาตลาดให้เกษตรกรก่อนเพาะปลูก

การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์สอดคล้องกับนโยบายสาธารณะของจังหวัดอำนาจเจริญ ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ศาลากลางจังหวัด คือ “วาระเมืองเกษตรอินทรีย์และสมุนไพร สู่เมืองธรรมเกษตร วิถีอำนาจเจริญ” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัด มีผลผลิต พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพรอินทรีย์ เพื่อการบริโภคดูแลสุขภาพอย่างพอเพียง ปลอดภัยทั้งต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

แต่การประกาศวาระเมืองเกษตรอินทรีย์เป็นเพียงการส่งเสริมและเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์เท่านั้น โดยไม่สามารถบังคับให้ทุกพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้ ดังนั้น จึงยังมีการทำเกษตรเคมีอยู่

นางเกสดา วิไลรัตน์ เกษตรกรชาวไร่อ้อย บ้านทับเมย ต.โนนหนามแข้ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ยอมรับว่า ในกลุ่มผู้ที่ปลูกอ้อยด้วยกัน สมาชิกคนอื่นปลูกอ้อยด้วยการใช้สารเคมี สาเหตุที่ต้องใช้สารเคมีเนื่องจากมีการทำไร่อ้อยขนาดใหญ่เนื้อที่กว่าร้อยไร่ และการมีการขยายพื้นเพาะปลูกอ้อยออกไปเรื่อยๆ ในทุกปี ทำให้ขาดแคลนแรงงานในการทำไร่อ้อย และหากต้องจ้างแรงงานจะมีค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องใช้สารเคมีในไร่อ้อย

แต่นางเกสดาก็ทราบว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีอันตรายต่อสุขภาพ ฉะนั้นเวลาเจ้าของไร่อ้อยต้องการใช้สารเคมีจะไม่ลงมือทำเอง แต่จะว่าจ้างบุคคลอื่นให้มาฉีดพ่นยาแทน

จากข้อมูลเบื้องต้นจึง ทำให้ทราบได้ว่า แม้แต่เกษตรกรที่ใช้สารเคมีก็ยังทราบถึงพิษภัยที่เกิดขึ้น จึงมีคำถามต่อไปว่าแล้วเพราะเหตุใดจึงต้องมีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยซึ่งเป็นต้นเหตุของการใช้สารเคมีซึ่งรวมถึงสารพาราควอต

คำตอบของการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 116/ 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า นำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจากเดิมมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 10 ล้านไร่ เพิ่มเป็น 16 ล้านไร่

การเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งประเทศทำให้การปลูกอ้อยในจังหวัดอำนาจเจริญเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และหนีไม่พ้นการเพิ่มขึ้นของการใช้สารพาราควอต ซึ่งการใช้สารเคมีทางการเกษตรขัดแย้งกับการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์โดยตรง  

นโยบายของรัฐบาลจึงทำให้เกษตรกรทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันเอง

วันต่อมาข้าฯ เดินทางต่อไปยังจังหวัดยโสธร เพื่อไปพบกับน.ส.วสุธิดา ไชยสำแดง และน.ส.ปัทมา ราตรี คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจังหวัดยโสธร

น.ส.วสุธิดาและนใส.ปัทมาพาทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดไปเจอกับ นายพิชิต มงคล อายุ 44 ปี ชาวบ้านนาดี หมู่ 3 ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว ผู้พิการต้องถูกตัดขาขวาจากโรคเนื้อเน่า เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา

นายพิชิตเล่าว่า สาเหตุที่เกิดโรคเนื้อเน่ามาจากการไปจับนกและจับสัตว์บริเวณไร่อ้อยที่ฉีดพ่นสารเคมี โดยวันนั้นเขามีแผลที่ขาทำให้ติดเชื้อและมีอาการเจ็บป่วยจนต้องตัดขาทิ้งในที่สุด  

แม้ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่า สารพาราควอตเกี่ยวข้องกับโรคเนื้อเน่าอย่างไร แต่ผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากการใช้สารพาราควอตเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป แล้วเหตุใดคณะกรรมการวัตถุอันตรายถึงไม่รับรู้ผลกระทบดังกล่าว หรือเป็นเพราะว่า รัฐบาล คสช. ต้องการส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานที่ต้องใช้สารเคมีในการทำการเกษตร การพิจารณาของคณะกรรมการฯ จึงออกมาในรูปแบบนี้

จะเกินไปไหมหากจะบอกว่า รัฐบาล คสช. เป็นผู้ทำร้ายเกษตกรผ่านนโยบายของรัฐบาลเอง  

image_pdfimage_print