โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเครื่องมือหนึ่งของการชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย สำหรับประเทศไทยหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เสรีภาพของสื่อมวลชนตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก และสื่อไทยเองก็ยังมีปัญหาการกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ส.ค. 61) ที่โรงแรมเดอะเกรซเรสซิเด้นท์ จ.สุรินทร์ เดอะอีสานเรคคอร์ดจัดอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2561 รุ่นที่ 2 การอบรมมีเพื่อผลิตนักข่าวแต่ละพื้นที่ในภาคอีสานให้กับเดอะอีสานเรคคอร์ด ปีนี้เน้นไปที่โซนอีสานใต้

ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ดและทีมงาน จำนวน 9 คน ลงพื้นที่ฝึกทำข่าวในประเด็นกิจกรรมศิลปะเพื่อเยาวชน ที่สวนนิเวศน์เกษตรศิลป์ บ้านโชกใต้ ต.อู่โลก อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2561

การอบรมมีขึ้นเนื่องจากเดอะอีสานเรคคอร์ดมีบุคลากรทำงานประจำจำนวนจำกัด แต่ต้องการข่าวสารจากทั่วภาคอีสาน จึงต้องสร้างเครือข่ายนักข่าวพลเมืองประจำแต่ละท้องถิ่นเพื่อสื่อสารข่าวสารให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

ทิศทางการทำงานของเดอะอีสานเรคคอร์ดคือการนำเสนอข่าวสารด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต (วัฒนธรรม) ของภาคอีสาน เราเน้นข่าวที่ค้นหาความจริงรอบด้าน ลงลึกไปในแต่ละประเด็น และมองปัญหาเชิงโครงสร้าง

นี่คือตัวตนของเดอะอีสานเรคคอร์ด สื่อที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำให้ภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมากที่สุดแต่มีเสียงเบาที่สุด ได้มีช่องทางในการแสดงออก

ความจำเป็นอีกประการของการดำรงอยู่ของเดอะอีสานเรคคอร์ดคือการที่เราเป็นสื่อประจำภูมิภาค ซึ่งแตกต่างจากสื่อทั่วไปของประเทศไทยที่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้เนื่องจากที่ตั้งของสื่อมีส่วนในการกำหนดความสำคัญและประเด็นปัญหา

สื่อที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงมักมองเห็นปัญหาของคนกรุงเทพฯ และส่วนกลาง ก่อนปัญหาของจังหวัดอื่น ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้วจำนวนประชากรในอีก 76 จังหวัดที่เหลือมีมากกว่าประชากรของเมืองหลวงหลายเท่าตัว  

ปรากฎการณ์ที่สื่อรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ สอดคล้องกับการรวมศูนย์ความเจริญทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพฯ อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ บันเทิง การศึกษา ฯลฯ รวมถึงการกระจุกของอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินก็อยู่ที่ส่วนกลาง แม้จะมีการกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นบ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อย เทียบไม่ได้กับสัดส่วนประชากรของส่วนท้องถิ่นที่มีมากกว่าประชากรในส่วนกลางหลายเท่าตัว

เดอะอีสานเรคคอร์ดเป็นสื่อที่ไม่ได้ยึดถือว่า กรุงเทพฯ และส่วนกลางเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย แต่มุมมองของเราคือ ทุกพื้นที่ล้วนแต่มีความสำคัญ มีเรื่องราว และมีปัญหาของตัวเองที่ควรถูกถ่ายทอด

ปัญหาที่รอแก้ไขในแต่ละจังหวัดสำคัญไม่แพ้กับปัญหาของคนกรุงเทพฯ แต่ข่าวที่กรุงเทพฯ กลับมีพื้นที่มากกว่า อาทิ การให้ความสำคัญต่อการนำเสนอข่าวรถติดบนนถนนลาดพร้าวที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ขณะที่สื่อไม่สนใจว่า จังหวัดอื่นๆ ยังไม่รถไฟฟ้าแม้แต่สายเดียว

เดอะอีสานเรคคอร์ดเป็นสื่อประจำภูมิภาคมีที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นมองเห็นปัญหาของภาคอีสานว่า มีความสำคัญกว่าปัญหาของพื้นที่อื่น เราจึงต้องการผลิตนักข่าวให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดในภาคอีสานผ่านโครงการอบรมนักข่าวอีสาน ซึ่งดำเนินการติดต่อกันมาปีนี้เป็นปีที่ 3

ถ้าประชาธิปไตยคือคนทุกคนมีอำนาจเท่าเทียมกัน ฉะนั้นคนกรุงเทพฯ และส่วนกลาง ที่มีอำนาจมากกว่าคนต่างจังหวัดและส่วนท้องถิ่น จึงควรต้องกระจายออกอำนาจออกไป หรือ คืนอำนาจที่แต่เดิมเป็นของคนทุกคนกลับไปให้พวกเขาดูแลปกครองตนเองและ “กำหนดอนาคตของตัวเอง”

หากมองเห็นว่าการกระจายอำนาจ การกระจายความเจริญ การกระจายทรัพยากร ฯลฯ คือ คำตอบของประเทศไทย การกระจายสื่อสารมวลชนออกจากส่วนกลางและเพิ่มความเข้มแข็งให้สื่อส่วนท้องถิ่นก็ควรเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

เดอะอีสานเรคคอร์ดได้เริ่มการสร้างตัวตนในฐานะสื่อในท้องถิ่นแล้ว ก็หวังว่าในอนาคตสื่อท้องถิ่นในที่ต่างๆ จะเติบโตตามไปด้วยกัน เพราะไม่มีทางที่ประเทศจะมี “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ได้ ถ้าสื่อซึ่งเป็นทั้งผู้สะท้อนข้อเท็จจริงและเป็นผู้นำความคิดจะรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง คิดและทำข่าวโดยยึดถือกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้ง

หากเห็นด้วยกับ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” หรือ ประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผู้อ่านก็ต้องช่วยกันติดตามสื่อท้องถิ่นสำนักต่างๆ รวมถึงเดอะอีสานเรคคอร์ดที่ประกาศตัวว่าเป็น “ปากเสียงของคนอีสาน”

โครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานครั้งต่อไปจะมีขึ้นที่จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคมนี้ หลังจากนั้นที่จ.ยโสธร ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายนนี้ และครั้งสุดท้ายของปีนี้ที่จ.อุบลราชธานี (ยังไม่กำหนดวัน)

นอกจากนี้ เดอะอีสานเรคคอร์ดยังจัดเสวนาเรื่อง “ศิลปะ วรรณกรรมอีสาน สิทธิการแสดงออก” ในมิติการเปลี่ยนแปลง: รื้อ สร้าง กำหนดทิศทาง ในวันที่ 4 กันยายน 2561 ที่คณะครุศาสตร์ มรภ.ศรีสะเกษ

image_pdfimage_print