โดย กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุนนิยมก่อกำเนิดขึ้นโดยรัฐ และส่วนหนึ่งก็ผ่านกลไกของศาสนาด้วยวัฒนธรรมการยึดถือวัตถุมงคล บทความชิ้นนี้จะพาท่านผู้อ่านสำรวจตรวจสอบเบื้องหลังของการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ว่าด้วยการกดทับและการต่อต้านของอำนาจรัฐจากส่วนกลางผ่านพิธีกรรมฆ่านกหัสดีลิงค์ การศึกษาในรั้ววัดกลายเป็นเครื่องมือของอุดมการณ์รัฐชาติ และการจัดงานศพที่เป็นเหมือนการได้หลุดพ้นจากชนชั้นล่างในวาระสุดท้ายของชีวิต

งานพระราชทานเพลิงศพ 83 ล้าน

หลังจากที่ร่างหลวงพ่อคูณได้ถูกศึกษากายวิภาคศาสตร์เป็นเวลากว่าสองปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562 ก็ได้มีการเคลื่อนสรีระสังขารหลวงพ่อคูณไปยังบริเวณด้านหลังพุทธมณฑลอีสาน เพื่อพระราชทานเพลิงสรีระสังขารในเวลา 17.00 น. และมีพิธีเผาจริงในเวลา 22.15 น. ก่อนจะนำอัฐิธาตุไปลอยอังคารที่แม่น้ำโขง จ. หนองคาย ในเช้าวันถัดไป

รศ.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. เป็นประธานออกแบบและฌาปนกิจเมรุลอยนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก บนยอดเขาพระสุเมรุที่ใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่หลวงพ่อคูณที่มีความสูงจากฐานถึงยอด 32 เมตร หรือเท่ากับตึก 10 ชั้น ฐาน 8 เหลี่ยมด้านเท่ากว้าง 8 เมตร ซึ่งประกอบไปด้วยการจำลองสร้างสระอโนดาต นาคที่มีความยาว 5 เมตร 16 ตน และสัตว์หิมพานต์อีก 32 ตน

นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ได้ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างทั้งหมดได้รับงบประมาณจากมูลนิธิหลวงพ่อคูณและบางส่วนจากเงินของมูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่เอาไปสำรองจ่ายก่อน ซึ่งที่ผ่านมาสามปีมียอดบริจาคให้คณะแพทย์ฯ ประมาน 50 ล้านบาท โดยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบควบคุม ประกอบด้วย นพ.ชาญชัยเองเป็นประธาน อธิการบดีฯ เป็นที่ปรึกษา พร้อมกับลูกศิษย์หลวงพ่อคูณอีก 2-3 คน เพื่อเน้นย้ำถึงความโปร่งใส

โครงการนี้เริ่มด้วยการปรับพื้นที่กว่า 15 ไร่ ให้เป็นอนุสรณ์สถาน การทำฐานราก ตอกเสาเข็ม และสร้างศาลา 3 หลัง เฉพาะตัวนกหัสดีลิงค์ก็ใช้งบประมาณกว่า 3.5 ล้านบาท ซึ่งจริงๆ ขั้นตอนนี้เป็นการขออนุญาตใช้พื้นที่ชั่วคราว และต่อไปจะมีการสร้างอนุสรณ์สถานถาวรเพื่อไม่ให้ใครมาเหยียบย่ำพื้นที่จัดงาน ด้วยงบประมาณก่อสร้างอีก 50 ล้านบาท รวมงบประมาณก่อสร้างทั้งหมดกว่า 83 ล้านบาท ราคาดังกล่าวยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการจัดงานบุญอีก 15 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการการใช้พื้นที่บริเวณนั้นอีก 300 ไร่ เพื่อสร้างโรงพยาบาลศรีนครินทร์แห่งที่ 2 แต่ชะลอไว้ก่อนเนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนด้วยเพราะเป็นพื้นที่ทำกินแต่เดิมของพวกเขา

พระพุทธรูปขนาดใหญ่ภายในพุทธมณฑลอีสาน วัดหนองแวงพระอารามหลวง จ.ขอนแก่น

ประเพณีฆ่านกหัสดีลิงค์ภายใต้อาณานิยมสยาม

ความเป็นมาของนกหัสดีลิงค์มาจากความเชื่อเรื่องไตรภูมิสมัยพุทธกาลในอินเดียว่าสัตว์หิมพานจะนำพาผู้ตายไปสู่สวรรค์ เป็นที่มาของคติลัทธิเทวราชาที่เชื่อว่า เมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์จะกลับไปยังเขาพระสุเมรุดังเดิม การผสมเอาหงส์ ครุฑ และช้างรวมกันเกิดเป็นนกหัสดีลิงค์ที่มีความเชื่อในหลายภูมิภาค เฉกเช่นการจัดงานพิธีฌาปนกิจศพเจ้านครเชียงใหม่บางองค์ที่มีการตั้งเมรุรูปนกหัตถ์เชิญพระศพ หรือพิธีการแห่นกเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในภาคใต้ แม้กระทั่งมีการใช้นกชนิดนี้ในการขบวนแห่พระบรมศพรัชกาลที่สาม แต่สำหรับประเพณีการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์จะโดดเด่นอย่างมากในภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุบลฯ ที่มีการประกอบพิธีรำฆ่านกหัสดีลิงค์โดยนางเทียมเจ้านางสีดา

ในจังหวัดอุบลฯ เองมีการแบ่งอำนาจการบริหารออกเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ เจ้าเมืองอุปฮาด (อุปราช) ราชวงศ์และราชบุตร ประเพณีนี้สืบมาจากคณะอาญาสี่จากเจ้านายเมืองเชียงรุ้งอีกที โดยมีธรรมเนียมดั้งเดิมที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เริ่มปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2316 พระวอที่เป็นปฏิปักษ์กับเวียงจันทน์ได้กวาดต้อนคนมาตั้งเมืองในเขตอุบลฯ ผู้ที่มีเชื้อสายอาญาสี่หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ หากเมื่อเสียชีวิตก็จะได้ประกอบพิธีมีเมรุนกหัสดีลิงค์ มีการแห่และนำไปประกอบพิธี ณ ทุ่งศรีเมือง

หลังจากรัชกาลที่ห้าออกพระบรมราโชบายรวมอำนาจเข้าสู่พระมหากษัตริย์ พระองค์ได้ส่งข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ นั่นคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ มาประจำที่อุบลฯ การรวมอำนาจได้ก่อให้เกิดจลาจลหลายเหตุการณ์ในอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกบฏผีบุญ การกบฏดังกล่าวทำให้มีผู้ถูกจับกุมกลายเป็นผู้ต้องหาจำนวนมาก มากเสียจนไม่มีห้องขังเพียงพอ จึงต้องเอามาจองจำไว้ที่ทุ่งศรีเมืองไว้ 2-3 วัน เพื่อรอการตัดสิน บางส่วนถูกปล่อยไป บางส่วนถูกประหารตัดหัวแล้วเอาไปเสียบประจานตามจุดที่จับได้เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อแผ่นดิน

นอกจากนี้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ยังให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองเมื่อ พ.ศ. 2451 เพราะเห็นว่าเป็นการเลียนแบบพระราชประเพณีถวายพระเพลิง ณ ท้องสนามหลวงของพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ แต่จะมีกรณียกเว้นหากเป็นพระเถระที่ทรงคุณธรรม เมื่อมรณภาพก็ให้จัดประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย เช่น พระธรรมบาล (ผุย) เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ซึ่งผิดกับชะตากรรมของพระครูอิน วัดหนองอีตุ้ม กับพระสงฆ์อีก 3 รูป ที่เป็นส่วนหนึ่งในกบฏผีบุญบ้านสะพือ ที่ถูกพิพากษาโดยให้ทางเลือกว่าจะอยู่ในสมณเพศต่อไปแต่ให้อยู่ในเขตจำกัดตลอดชีวิต หรือหากสึกออกมาเมื่อใดให้จำคุกตลอดชีวิต

การศึกษาในรั้ววัดและการแผ่ขยายอุดมการณ์ชาตินิยม

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ได้มีประกาศให้มีการจัดการศึกษาตามหัวเมืองต่างๆ โดยมีกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้อุดหนุน พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการกระจายอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือ ท่านได้สร้างโรงเรียนอุบลวิทยาคมขึ้นมา เพื่อให้คนอีสานได้สำนึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนที่กรุงเทพฯ

สาเหตุของการสร้างอุดมการณ์รัฐชาติขึ้นมาเนื่องจากในยุคนั้นส่วนกลางมองว่ามณฑลอีสานถูกคุกคามจากฝรั่งเศส และอุบลฯ ก็ถือเป็นเมืองกันชน โรงเรียนอุบลวิทยาคมได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก มีการส่งบุตรหลานเข้าเล่าเรียนและบริจาคทรัพย์สิน ที่ดิน และอุปกรณ์ก่อสร้าง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เป็นเพราะว่า การศึกษาในมณฑลอีสานที่ดำเนินโดนพระสงฆ์มักจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เพราะพวกเขารู้สึกว่าตนได้ทำบุญสุนทานนั่นเอง

พุทธมณฑลอีสาน: จุดเชื่อมโยงมณฑลอีสานกับส่วนกลาง

สถานที่จัดงานเผาสรีระสังขารหลวงพ่อก็เป็นกรณีที่น่าสนใจทีเดียว พุทธมณฑลอีสานสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2547 เพื่อจำลองแบบบพุทธมณฑลที่จังหวัดนครปฐม อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการร่วมเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี นี่เองอาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการในการทำให้มณฑลอีสานกลายสภาพไปเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ สถานที่ที่กลายเป็นจุดยึดเหนื่ยวให้ประชาชนเป็นก้อนกลุ่มเดียวกันบนฐานล่างสุดของพีระมิด

ในทางตรงกันข้ามกับประเพณีฆ่านกหัสดีลิงค์ที่ชนชั้นนำมองว่ามีส่วนคล้ายกับประเพณีที่กรุงเทพฯ ไม่อาจยอมรับได้ นี่เองจึงเป็นจุดสังเกตว่า สิ่งหนึ่งถูกสร้างขึ้น อีกสิ่งหนึ่งกลับถูกทำให้สูญหาย (หรืออนุญาตให้มีอยู่ได้ถ้าผู้นั้นสวามิภักดิ์ต่อรัฐ)

หลวงพ่อคูณ: ภาพสะท้อนของพระเถระที่ทรงคุณธรรมในอดีต

“เงินที่หลวงพ่อคูณถวาย 72 ล้านบาท ในหลวงมีรับสั่งอย่างไรบ้าง” นักข่าวถาม

“ก็ไม่ได้ตรัสอะไร กูก็ไม่ได้ว่าอะไร ทูลเกล้าฯ ด้วยใจศรัทธาจริงๆ ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น” หลวงพ่อคูณตอบ

เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จฯ ณ วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยมีหลวงพ่อคูณ เจ้าอาวาส ณ ขณะนั้น รับเสด็จฯ หลวงพ่อคูณได้ถวายเงินจำนวนกว่า 72 ล้านบาท และในวันนั้นเอง ในหลวงก็ได้พระราชทานของที่ระลึก ซึ่งเป็น “พระพุทธรูปยอดธง” เกศแหลม เนื้อทองคำแท้ หนัก 2.4 กรัม ให้กับหลวงพ่อคูณ

นี่เองเป็นที่มาของการเกิดพระรุ่นยอดธงจำนวนจำกัดที่แจกให้กับเฉพาะคนที่เข้าเฝ้าในหลวงและราชินีในวันนั้น นับว่าเป็นพระเครื่องรุ่นที่ใช้เวลาปลุกเสกนานที่สุดในพระเครื่องทุกรุ่นที่มีกว่าสามพันรุ่น หลวงพ่อคูณใช้เวลาหลายชั่วโมงในการแจกวัตุมงคลกับประชาชนที่มารอรับอย่างมืดฟ้ามัวดิน

ในขณะที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์มีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างความชอบธรรมให้รัฐเข้ามาปกครองอีสานและภาคเหนือ แต่สำหรับหลวงพ่อคูณ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ เมื่อปี 2533 ผ่านการสร้างเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่น “หลังพระปิดตา ลาภผล พูนทวี” หรือจะเป็นวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2537 ด้วยงบประมาณ 400 ล้านบาท โดยมีนักศึกษาเรียนฟรีรุ่นละประมาณ 400-500 คน

เป็นที่น่าสังเกตว่า 10 คำสอนที่นำมาจัดทำเป็นป้ายติดไว้ที่วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธกลับเขียนด้วยถ้อยคำที่ง่ายๆ จริงใจและตรงไปตรงมา อย่างเช่น การปฏิบัติตัวของสามัญชนคนรากหญ้าในฐานะลูกจ้าง ให้เคารพเจ้านาย การไม่ยึดติดยศฐาบรรดาศักดิ์ บ่งบอกความปรารถนาของคนชนชั้นล่างว่าอยากเป็นข้าราชการ เกิดมาจนก็ต้องถีบตัวเองให้สูงขึ้น เลือกเกิดไม่ได้ ไปจนถึงการให้เคารพเชื่อฟังบิดามารดา ถ้อยคำเหล่านี้เปรียบเสมือนการให้กำลังใจระหว่างคนรากหญ้าด้วยกันเอง ต่างจากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ที่มักเทศน์ถึงการให้รักเคารพในสถาบันหลักของชาติ

ผู้คนที่มาร่วมงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงพ่อคูณที่บริเวณพุทธมณฑลอีสาน

วัฒนธรรมบริโภคนิยมในรูปของงานศพและการจัดการที่ล้มเหลว

ในเขตขัณฑ์ที่ศาสนาถูกผนวกเข้ากับทุนนิยมอย่างแนบเนียนและถูกหยิบฉวยผลประโยชน์โดยคนบนยอดพีระมิดไปจนถึงฐานราก วัฒนธรรมบริโภคนิยมที่แทรกซึมในกระแสเลือดของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากจะมีตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีของหลวงพ่อก็คงเป็นตั้งแต่การเนรมิตสรรค์สร้างจัดงานพระราชทานเพลิงศพ ทั้งที่ตามพินัยกรรมหลวงพ่อก็ระบุชัดเจนว่าให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ แต่กลับน่าแปลกใจว่า เพียงแค่ท่านเดินเข้าไปในโถงศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ท่านก็จะพบบรรดาพวงหรีดที่มาจากพระบรมวงศาสานุวงศ์แทบทุกพระองค์

นี่ยังไม่รวมการสร้างประติมากรรมหลายสิบล้านเพื่อหวังส่งดวงวิญญาณหลวงพ่อสู่เขาพระสุเมรุตามความเชื่อ แต่ผลที่ตามมาคือ การเกิดกระแสมวลมหาประชาชนผู้ศรัทธาหลวงพ่อ ต่างใส่ชุดงานศพขาวดำที่เพิ่งใช้จากงานยิ่งใหญ่อีกงานก่อนหน้านี้ประกอบกับเพลงบรรเลงของจำรัส เศวตาภรณ์ ที่ใช้ในงานบางช่วงระหว่างคนเข้าแถวเพื่อไปสักการะศพของคนรากหญ้า ภาพงานศพที่เหลื่อมซ้อนทับกันกับงานของใครก่อนหน้านี้เกิดเป็นมิติพิศวงชวนให้นึกตรึกตรองถึงบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ใต้เบื้องความปิติยินดีของผู้จัดและผู้ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้

จำนวนคนหลายหมื่นที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยผิดกับความสามารถในการจัดการระบบคมนาคม อย่างที่ล่าสุดระบบขนส่ง KST ในมหาวิทยาลัยที่วิ่งอยู่ได้เพราะเงินค่าบำรุงการศึกษาของนักศึกษานับตั้งแต่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบไป จู่ๆ เช้าของวันที่ 28 มกราคม ก็มีการยกเลิกให้บริการระบบขนส่งสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไปเสียเฉยๆ ด้วยเพราะว่าต้องใช้รถบัสจำนวนมากไปขนส่งประชาชนที่ต้องการเข้าไปบริเวณพุทธมณฑลอีสาน รวมถึงวันที่ 29 มกราคม ก็จำกัดเวลาให้บริการนักศึกษาถึงแค่ 10.00 น. เท่านั้น ท่านประธานการจัดงานกล่าวไว้ว่ามีงบประมาณไม่บานปลายและเพียงพอในการจัด แต่กลับไม่สามารถหารถขนส่งมาให้บริการผู้ร่วมงานได้ กลับต้องเบียดเบียนนักศึกษาที่จ่ายเงินค่าบำรุงการศึกษาเพื่อระบบขนส่งนี้

พุทธพานิชย์ที่ส่งผ่านจากการบูชาพระเครื่อง

หลวงพ่อเองได้รับการเปรียบเป็นเทพเจ้าแห่งที่ราบสูง ด้วยคำสอนของหลวงพ่อจะเน้นไปที่การละทิ้งและไม่ยึดติด ไม่ให้เลขเด็ดกับคนหวังรวยทางลัด แม้กระทั่งมีคนถามว่าหลวงพ่อถึงกรณีการทำเหรียญวัตถุมงคลเป็นการทำให้คนหลงติดในวัตถุหรือไม่ หลวงพ่อคูณตอบว่า “รู้… กูรู้ก่อนมึงโน่น แต่กูก็ทำ เพราะกูทำแล้วกูได้เงินมาสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน ให้คนยากคนจนมัน ถ้ากูไม่ทำแล้วใครจะทำ… หรือมึงจะทำ ถ้ามึงจะทำแล้วกูจะเลิก”

วิธีการพุทธพาณิชย์ของหลวงพ่อเพื่อหาเงินทำนุบำรุงศาสนาตั้งแต่เริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ. 2496 ที่วัดบ้านไร่ หลังจากธุดงที่ประเทศกัมพูชาและลาวในป่าลึก ด้วยวิชาที่ได้จากการไปธุดงคือการปลุกเสกของขลังสร้างวัตถุมงคลที่ท่านเริ่มตั้งแต่ 7 พรรษา ได้แก่ ตะกรุดโทนและตะกรุดทองคำ ซึ่งเป็นของขลังใช้ในการฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ. 2493

นี่คือวิธีการแก้ปัญหาการกระจายทรัพยากรของหลวงพ่อ บ้านเกิดของท่านที่ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา รกร้างห่างไกลความเจริญที่ส่วนกลางส่งถึง โรงเรียนและวัดที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ประชาชนอยู่ในภาวะสิ้นไร้ไม้ตอก ต้องดูแลตนเอง รัฐไม่อาจช่วยเหลือได้ทุกอย่างดังคำพูดของใครสักคนเมื่อไม่นานมานี้

อย่างไร้ทางเลือก ท่านได้ใช้คาถาอาคมที่ได้ร่ำเรียนพร้อมกับวัตถุมงคลเป็นการหาเงินเข้าวัดเพื่อพัฒนาชุมชน แต่สิ่งที่ตามมาอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ก็คือ วัฒนธรรมเสพพระเครื่อง ส่วนหนึ่งเพราะการใช้พุทธพาณิชย์ในรัฐไทยที่ไม่อยากแยกศาสนาออกจากการเมืองได้นั้น ผลสุดท้ายก็อาจเป็นว่า คนที่เสพวัตถุมงคลก็ยากที่จะเข้าถึงแก่นของศาสนาและมองพระเครื่องเป็นเปลือกไม้ได้ดั่งคำพูดของหลวงพ่อ

การเสพพระเครื่องผนวกกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่รัฐได้สร้างขึ้นจึงยิ่งส่งเสริมกันและกัน ผลที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการเนรมิตงานพระราชทานเพลิงศพที่ยิ่งใหญ่อลังการ ผิดกับประสงค์ของหลวงพ่อตลอดมาที่ไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายหลังท่านมรณภาพ

บทสรุป

ดังนั้นแล้วในประเทศที่ประชาชนถูกทิ้งให้กระเสือกกระสนกันเอง เติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน ต้องดิ้นรนด้วยความยากลำบากเพื่อจะสลัดตัวเองให้พ้นจากชนชั้นที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หวยกลายเป็นของเล่นที่ลึกๆ แล้วก็เป็นเรื่องจริงจัง หวังโชคลาภจากการเสี่ยงโชค การสวดมนต์อ้อนวอนให้ร่ำรวยพ้นจากความยากจนหรือให้อยู่ดีมีแฮงพ้นจากความเจ็บป่วยที่เกิดเพราะการทำงานจนไม่มีเวลาดูแลตนเอง ความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าชีวิตจะดีขึ้นกว่านี้ เสริมสร้างกำลังใจให้สู้วันต่อวันด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์นำโชคที่หลายครั้งก็สร้างจากคนชนชั้นเดียวกัน เหมือนเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก เพราะนั่นเท่ากับว่าเราต้องปลอบใจกันเอง ในระหว่างที่คนบางกลุ่มใช้ปริมณฑลทางศาสนาเพื่อโฆษณาตนเอง พร้อมๆ กันก็เป็นการบดบังว่าพวกเขากำลังเกาะดูดเลือดเนื้อเราไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นโศกนาฏกรรมของการพยายามประดิษฐ์งานศพให้ราวกับเป็นสิ่งจำลองจากสวรรค์ชั้นฟ้าโดยไม่ดูกำลังตนเอง เพื่อหวังว่าในช่วงสุดท้ายของชีวิตจะเป็นเวลาที่งดงามที่สุดเท่าที่คนจากรากหญ้าคนหนึ่งจะพึงมีได้บ้าง

 

อ้างอิง
วิราณี แว่นทอง. การรำในพิธีทำศพแบบนกทัสดีลิงค์ ในอุบลราชธานี. 2551
ประยุทธ สารัง. นกหัสดีลิงค์: การเมืองเรื่องการนิยาม รหัสหมายชั้นชน ในสังคมวัฒนธรรมล้านช้าง. การประชุมวิชาการ “มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 13”
สมปอง คำมุงคุล. การศึกษาในมณฑลอีสาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
วิทยากร โสวัตร. “ธรรมวิจยานุศาสน์” ทรรศนะวิจารณ์การเมืองระดับโลก. 2561. https://theisaanrecord.co
เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก. คนอีสานในอาณานิคมสยาม: เมื่ออักษรไทน้อยถูกสยามทำลาย. 2562. https://theisaanrecord.co
ไทยรัฐออนไลน์. เปิดบันทึกหลวงพ่อคูณ เข้าเฝ้าฯ ร.9 เผยนาทีจับพระหัตถ์ ฟังรับสั่งส่วนพระองค์. มกราคม 2562. https://www.thairath.co.th
ผู้จัดการออนไลน์. เผยใช้งบกว่า 83 ล้านสร้างเมรุลอยนกหัสดีลิงค์ฯ ปูฐานต่อยอดสร้างอนุสรณ์สถาน “หลวงพ่อคูณ”. ม.ค. 2562. https://mgronline.com
ธเนตร.เปิดใจ!! หมอผ่าร่างครูใหญ่ ‘หลวงพ่อคูณ’ กับสิ่งน่าอัศจรรย์. ม.ค. 62. https://news.mthai.com
เปิดใจทีมนักศึกษาแพทย์มข.ได้ศึกษาสรีรสังขาร หลวงพ่อคูณ เผยเรื่องมหัศจรรย์. มกราคม 2562. https://www.khaosod.co.th
จักรมนตรี ชนะพันธ์. พระวอ พระตา ในประวัติศาสตร์ไทย – ลาว. เมษายน พ.ศ.2560. https://www.silpa-mag.com
รพ.แถลง หลวงพ่อคูณ มรณภาพแล้ว สิริรวมอายุ 92 ปี พรรษา 70. ม.ค. 2559. http://news.trueid.net
มข.แจงงบก่อสร้างหัสดีลิงค์-งานศิลป์พิธี ‘หลวงพ่อคูณ’ 3 ล้าน ศิลปินช่วยด้วยใจ ใช้เงินกองทุนโปร่งใส. 2562. https://www.matichon.co.th
คณบดีแพทย์ม.ขอนแก่น แจงละเอียด! งบพิธีหลวงพ่อคูณ 98 ล้าน ไม่บานปลาย!. 2562. https://www.khaosod.co.th

 

image_pdfimage_print