โดย มาโนช  พรหมสิงห์

ภาพหน้าปกจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ ชายคาเรื่องสั้น 

เมื่อข้อความที่เป็นหัวข้อข้างบนผ่านสายตา ผู้อ่านย่อมเกิดความคิดที่เป็นข้อสรุปในใจว่า

ประการแรก วรรณกรรมนั้นย่อมมีพัฒนาการรุดไปข้างหน้า ไม่หยุดนิ่งตายตัว ดังนั้น วรรณกรรมจึงมีชีวิตซึ่งพร้อมจะพัฒนา คลี่คลาย เปลี่ยนผ่าน เติบใหญ่ ไปพร้อมกับยุคสมัยอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

ประการที่สอง นักเขียนมีพันธกิจโดยตรง เป็นบุคคลแรกที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาของวรรณกรรมประเภทต่างๆ เพราะเหตุด้วยว่า-วรรณกรรมถูกสร้าง/สถาปนาขึ้นจากความคิด จินตนาการของนักเขียน และนักเขียนย่อมกำเนิดใหม่ไม่สิ้นสุด จากอดีต สืบเนื่องสู่อนาคต… แม้ว่าโดยแท้ที่จริงแล้ว มีองคาพยพอื่นหลายภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาวรรณกรรมของประเทศชาติ มิใช่มีเพียงแต่นักเขียนเท่านั้น

กล่าวโดยแท้จริงแล้ว วรรณกรรมมีต้นกำเนิดจากมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษยชาติ ดังคำกล่าวของ เหมา เจ๋อ ตง (Mao Ze Dong/1893-1976) ผู้ปลดปล่อย/สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ว่า ‘ชีวิตประชาชนเป็นต้นธารสายเดียวของศิลปวรรณกรรมทั้งมวล ที่จักตักตวงเอาได้อย่างมิรู้เหือดแห้ง’ วิลเลี่ยม โฟคเนอร์ (William Faulkner/1897-1962) นักเขียนรางวัลโนเบลชาวอเมริกัน กล่าวว่า ‘วรรณกรรมที่ดีช่วยยกระดับจิตใจมนุษย์’ และอัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus/1913-1960) นักเขียนแนว Existentialism รางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ‘วรรณกรรมคือวิถีนำทางเพื่อนมนุษย์ไปสู่ความจริง ทั้งด้านดีงามและเลวร้ายของชีวิต ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ทั้งความเบิกบานเป็นสุขและความเจ็บปวดขมขื่นของชีวิต’

จริงอยู่ในยุคโบราณของสังคมบุพกาลนั้น การเริงระบำ การขับร้อง การเล่าเรื่องเล่านิทาน เล่าตำนาน การวาดผนังถ้ำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปวรรณกรรมทั้งปวง ต่างก็เป็นไปเพื่อเอื้อต่อการประกอบกิจการงานในวิถีชีวิต เพื่อการรบพุ่ง การสังกัดกลุ่มชุมชนของเผ่าพันธุ์

ทว่าศิลปวรรณกรรมย่อมพัฒนาการเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกับการสร้างอารยธรรมซึ่งสูงส่งขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาจากจิตใจมนุษย์ซึ่งสูงส่งละเมียดละไมกว่าสัตว์ แหละอารมณ์ความรู้สึกหนึ่งอันมีอานุภาพยิ่ง นั่นคือ-ความรัก ซึ่งจักต้องเป็นจิตใจกับความรักในตัวมนุษย์ ผู้ดำรงตนอยู่ในห้วงเวลาที่มีเสรีภาพ มีอิสรภาพ อย่างเต็มที่เท่านั้น

วรรณกรรมในปัจจุบัน ถูกเผยแพร่ถ่ายทอดในรูปลักษณ์ของหนังสือเล่มเป็นเบื้องต้น และสามารถเสพรับด้วยการอ่าน แม้ในยุคนี้จะมี e-book หรือการปรับเปลี่ยนวรรณกรรมไปสู่สื่ออื่น อาทิ ภาพยนตร์ ละครเวที ละครโทรทัศน์ เป็นนิยายภาพ/การ์ตูน แต่ทว่าหนังสือเล่มและการอ่าน ก็ถือเป็นหลักในการเผยแพร่ถ่ายทอดวรรณกรรม อันประกอบด้วย กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทความ

การพัฒนาเด็ก/เยาวชนของประเทศชาติ มิใช่หน้าที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาหรือครูอาจารย์ เพียงฝ่ายเดียวแค่นั้น การพัฒนาประเทศชาติ/ประชาธิปไตย มิใช่หน้าที่ของรัฐบาล/คณะรัฐมนตรีเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งมิใช่การเรียกหาผู้แทนราษฎรคนดี/นักการเมืองคนดีแค่นั้น จริงหรือไม่

ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาวรรณกรรม จึงมิใช่หน้าที่ของนักเขียนแต่เพียงฝ่ายเดียว แหละทั้งมิใช่การเรียกร้องให้นักเขียนเป็นคนดีแล้ววรรณกรรมที่ดีก้าวหน้าจะปรากฏ ยังมีภาคส่วนอื่นที่จักต้องถือว่าเป็นภาระหน้าที่ร่วมด้วย อาทิ ผู้อ่าน บรรณาธิการ นักวิจารณ์ สำนักพิมพ์ ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดโรงเรียน สถาบันครอบครัว และรัฐบาล หากจะถือว่านักเขียนมีส่วนโดยตรง เป็นจำเลยที่หนึ่ง เป็นด่านแรกของการพัฒนาวรรณกรรม นั่นคงเป็นเพราะ-ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการของนักเขียน นับเป็นต้นธารของการกลั่นกรองความคิดฝันออกมาเป็นถ้อยคำเป็นเรื่องราว ตั้งแต่ต้นร้อยเรียงกันจนกระทั่งถึงอักษรตัวสุดท้ายของบทอวสาน

ดังนั้น นักเขียนควรจะปฏิบัติตนเช่นไร เพื่อให้วรรณกรรมมีการพัฒนาต่อเนื่องไปไม่หยุดยั้ง อย่างมีอานุภาพเต็มเปี่ยม ต่อการจรรโลงจิตใจมนุษย์และสังคมประเทศชาติ ดังคำกล่าวของ ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy/1828-1910) นักเขียนรัสเซีย ที่ว่า ‘ศิลปิน ถ้าเป็นศิลปินที่แท้จริงแล้ว ย่อมจักต้องใช้งานของเขา เป็นสะพานเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของเขาที่ได้รับจากประสบการณ์ ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์’ และ กฤษณา อโศกสิน กล่าวว่า ‘นักเขียนควรรับผิดชอบต่อสังคม เท่าที่ประเภทของงานเขียนจะเอื้ออำนวยได้’

ประการแรก สังคมประเทศชาติจักต้องสร้างเสริมบรรยากาศของเสรีภาพในการอ่าน การคิด การเขียน และนักเขียนจะต้องยืนหยัดเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพนั้น

ประการที่สอง นักเขียนจะต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ให้หลากหลายทุกศาสตร์อย่างลึกซึ้งอยู่เสมอ ศึกษาศิลปะ/วรรณกรรมให้หลากหลายลุ่มลึก ไม่หยุดนิ่ง

นักเขียนจะต้องกล้าประกาศถึงความดี ความงาม ความจริง (ทุกระดับทั้ง Real-Fact-Truth คือ ความเป็นจริง-ข้อเท็จจริง-สัจธรรม) ของชีวิต สังคมและโลก เขียนเพื่อความสูงส่งดีงามของสังคม มิใช่เพื่อความสูงส่ง/ลาภยศของตน กล้ายืนหยัดเคียงข้างประชาชน ความถูกต้องเป็นธรรม ด้วยอุดมคติ อุดมการณ์ มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง

เพียงสามประการนี้ ก็เชื่อได้ว่า นักเขียนจะสามารถพัฒนาวรรณกรรมต่อไปในภายหน้าเป็นนิรันดร์ แหละวรรณกรรมก็จักย้อนกลับมาพัฒนาผู้คนและสังคม เพราะเราไม่อาจแยกวรรณกรรมออกจากชีวิตและสังคมได้ ด้วยมือนักเขียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เติบโตมาแบกรับพันธกิจนี้ ดังนั้น นักเขียนรุ่นใหม่ทุกท่าน-คุณคืออนาคต คือผู้กล้าหาญจะลุกขึ้นมาประกาศว่า ‘I write, therefore I am’ – ฉันเขียน ฉันจึงมีอยู่

image_pdfimage_print