“ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง”

คอลัมน์ประจำเดือนโดย สุนี ไชยรส

วุฒิสภาอยู่คู่กับสภาผู้แทนราษฎรของไทยในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งมายาวนาน  เสมือนว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยจะถูกกำหนดไว้ว่าต้องมีสองสภาคู่กัน ทั้งที่มีการถกเถียงมาหลายละลอก โดยเฉพาะตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ข้าพเจ้าเองในฐานะ ส.ส.ร. หนองบัวลำภู และเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยคนหนึ่ง ได้ร่วมแปรญัตติกับเพื่อน ส.ส.ร. จำนวนหนึ่ง และมีการอภิปรายกันอย่างหนักไม่ให้มีวุฒิสภาอีกต่อไป แต่แพ้มติกลุ่มที่สนับสนุน ที่อ้างว่า ส.ว.ต้องเป็นพี่เลี้ยงบ้าง ต้องกลั่นกรองงานบ้าง

เมื่อมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเพิ่มใหม่ คือการเลือกและถอดถอนองค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง พวกเราจึงเสนอญัตติใหม่ที่มีการอภิปรายกันอย่างมากเช่นกัน คือให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยพิจารณาจากอำนาจหน้าที่และบทบาทของ ส.ว. เป็นหลัก ขณะที่เสียงสนับสนุนให้ส.ว.มาจากการสรรหาก็ไม่ยอมง่าย ๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตามเรามีเหตุผลที่สนับสนุนอย่างชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงองค์กรอิสระต่าง ๆ กับประชาชน เมื่ออำนาจเลือกและถอดถอนองค์กรอิสระอยู่กับ ส.ว. ส.ว. จึงต้องมาจากการเลือกตั้ง นี่จึงเป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นครั้งแรกของไทย  

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกฉีกไป เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังคงมี ส.ว. 150 คนจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และให้มาจากสรรหาอีกส่วนหนึ่งโดยอำนาจหน้าที่ยังคงเดิม ที่สำคัญคือ กลั่นกรองร่างกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการโดยไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ เลือกและถอดถอนองค์กรอิสระ แต่เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญมาจากการแต่งตั้งของ ค.ส.ช. และบรรยากาศไม่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชน  และการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีกลไกรับฟังความเห็นอย่างจริงจัง ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มีประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และมาแสดงผลเป็นที่ประจักษ์ในการใช้รัฐธรรมนูญขณะนี้ว่าก่อให้เกิดปัญหามากมายอย่างไร รวมทั้งปัญหาจากวุฒิสภาที่มาจากการเลือกกันเองแบบสลับซับซ้อน และมีการเพิ่มอำนาจใหม่จากที่มีอยู่เดิมให้ ส.ว. เช่น การต้องมีสัดส่วนออกเสียงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกล่าวได้ว่าถ้า ส.ว.ไม่เห็นด้วย ก็จะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ การร่วมร่างกฎหมายถ้าเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (ถ้าจะตีความให้เกี่ยวข้องก็แทบจะได้หมดละมั้ง)

แต่ที่ร้ายแรงที่สุดในปัจจุบันคือการมีบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้มี ส.ว. 250 คน มาจากการเลือกโดย ค.ส.ช. มีวาระ 5 ปี เชื่อมต่อการเลือกตั้งสองสมัย  และกำหนดให้มีอำนาจมากกว่า ส.ว. ปกติตามรัฐธรรมนูญ คือมาเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่เป็นปมใหญ่ของปัญหาในขณะนี้ ขณะที่ยังมีอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ที่มีปัญหาต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว ประเด็นสำคัญคือการมีบทบาทร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ประชาชนจะเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาผ่านการพิจารณาของ ส.ว. ร่วมด้วยเช่นกัน และมีเงื่อนไขที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากเย็นขึ้น

ปัญหาขณะนี้ พิสูจน์ชัดเจนว่า ไม่มีทางเลือกอื่นใดสำหรับสังคมไทย มีแต่การต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ออกแบบตามใจชอบของผู้มีอำนาจ  และเอื้อประโยชน์มากมายทั้งต่อรัฐบาลปัจจุบันในการสืบทอดอำนาจ และผลประโยชน์ต่อกลุ่มทหาร ตำรวจ อดีตข้าราชการ และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไปอีกยาวนาน

แนวคิดและเล่ห์กลของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในการออกแบบรัฐธรรมนูญ  เพื่อหวังผลเฉพาะหน้าในการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและพวกพ้อง เป็นที่ประจักษ์ โดยการออกบทเฉพาะกาลเรื่อง ส.ว. ให้ ค.ส.ช. เลือกเอง และเพิ่มจำนวนจาก ส.ว. ที่มี 200 คนเป็น 250 คน เพื่อร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเป็นความอัปลักษณ์ที่มาซ้ำเติมปัญหาที่ดำรงอยู่อย่างมากแล้วในหลายประเด็นสำคัญในรัฐธรรมนูญ 2560 และสถานการณ์ที่ดำรงอยู่นี้กำลังจะทำให้ข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ส.ว. ไม่จำเป็นสำหรับสังคมไทยอีกต่อไปแล้วยิ่งโดดเด่นชัดเจนขึ้น  

ถ้าได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะตัดวุฒิสภาออกจากโครงสร้างทางการเมืองของไทยได้เสียที

ถ้าทบทวนความเป็นมาของวุฒิสภา หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว แต่มี ส.ส. 2 ประเภทคือมาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง โดย อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ให้เหตุผลตอนนั้นว่าเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก ต่อมา ปี 2489 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแยกเป็นสภาผู้แทนราษฎร กับพฤฒิสภาที่ใช้ระบบการเลือกตั้งทางอ้อม (และต่อมาใช้คำว่าวุฒิสภาโดยตลอด)

เมื่อมีรัฐประหารปี 2490 นับแต่นั้นมา ช่วงเวลาของระบบเผด็จการทหารจะยาวนาน แม้สลับมีการเลือกตั้งมีรัฐธรรมนูญบ้าง แต่ช่วงสั้นๆ อำนาจยังอยู่กับทหารเป็นหลัก และวุฒิสภาจะมาจากการแต่งตั้งเพื่อค้ำจุนรัฐบาลโดยภาพรวม จนเกิดการต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 ที่ได้มาด้วยความเสียสละอย่างกล้าหาญของวีรชนและผู้คนจำนวนมาก เป็นแรงผลักดันให้รัฐสภาต้องยอมให้มีการปฏิรูปการเมืองด้วยการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยตัวแทนทุกจังหวัดและทีมนักวิชาการ รวม 99 คน การรับฟังความเห็นทุกจังหวัด ทุกกลุ่มอาชีพ อย่างกว้างขวางตั้งแต่ก่อนร่าง ระหว่างร่าง จนร่างเสร็จก็ต้องไปประชาพิจารณ์และสุดท้ายเมื่อท่าทีนักการเมือง และทหารไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแต่แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะมีกติกาว่ารัฐสภาจะแก้ไขใดๆไม่ได้ นอกจากรับหรือไม่รับทั้งฉบับ ซึ่งประชาชนทั่วประเทศได้ลุกขึ้นมารณรงค์ธงเขียวสนับสนุนร่างนี้ จนในที่สุดกดดันให้รัฐสภาต้องยอมรับ รัฐธรรมนูญ 2540

วันนี้อาจดูเหมือนว่ามีทางตัน หรือควรเรียกได้ว่าวิกฤติจากรัฐธรรมนูญ ที่บทเฉพาะกาล และอำนาจ ค.ส.ช. ได้แสดงเดชเลือก ส.ว. 250 คนไปแล้ว    เมื่อเสียงในสภาผู้แทนราษฎรก้ำกึ่งกัน สถานการณ์ตอนนี้มีแรงกดดันเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องมี ส.ว. ร่วมด้วย ทำให้การเลือกตั้งที่ประชาชนคาดหวังมาหลายปีอยู่ในภาวะที่ติดกับดักบทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญ ของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับ ค.ส.ช. และการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยุ่งยาก

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ตอนนี้ช่วยทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงบทบาทที่ถูกวางให้ ส.ว. 250 คน โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงการทำหน้าที่อันไม่ควรจะเป็นต่าง ๆ ของวุฒิสภาถ้าวิเคราะห์กันจริง ๆ น่าจะทำให้เป็นบูมเมอแรงเปิดเผยถึงความขัดแย้งที่ไม่มีเหตุผลและความเหมาะสมใด ๆ ที่สะท้อนว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ จะต้องมีวุฒิสภาอีกต่อไปในรัฐธรรมนูญ และจะทำให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นอีกเรื่องหนึ่งในความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

คนมีอำนาจอย่าเหลิงไป จะคิดว่าใช้อำนาจและกับดักทางกฎหมายรัฐธรรมนูญทำอะไรได้ตามใจชอบหรือ บทเรียนประวัติศาสตร์ทางการเมืองของการต่อสู้ของประชาชนไทยน่าจะช่วยเตือนสติได้บ้าง

image_pdfimage_print