YMD Art Space พื้นที่แสดงงานศิลปะร่วมสมัยกลางเมืองขอนแก่น เปิดตัวนิทรรศการศิลปะประเภทจัดวาง (Installation Art) ภายใต้ชื่อนิทรรศการ “Smart and Small” โดยชื่อนิทรรศการต้องการเชื่อมโยงกับกระแสการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นภายใต้โครงการสร้างต้นแบบเมือง Smart City ในภาคอีสาน

ศรภัทร ภัทราคร (ซ้าย) พรทิพย์ สิงห์โรทัย (กลาง) และ ฐิติรัตน์ สกุลตันติเมธา (ขวา) สามศิลปินผู้นำเสนอผลงานนิทรรศการในครั้งนี้

Smart City ใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

ที่มาของแนวคิดนิทรรศการศิลปะในครั้งนี้ได้รับการอธิบายไว้ในแผ่นพับว่า วาทกรรมคำว่า “Smart” เกิดขึ้นภายใต้บริบทเมื่อจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบันพยายามสถาปนากระบวนการพัฒนาเพื่อความเป็นเมืองในแบบ Smart City วาทกรรมนี้สามารถมองได้ 2 แนวทาง คือ

แนวทางแรก การสร้างความเจริญเมืองขอนแก่นให้เทียบเคียงกับกรุงเทพมหานคร ทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์และเสียผลประโยชน์ อีกทั้งยังมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโครงการนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังมีการพูดคุยถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน

แนวทางที่สอง คือการพยายามช่วงชิงความเป็นผู้สถาปนาความเจริญของเมือง ขอนแก่นออกมาจากรัฐส่วนกลางโดยกลุ่มทุนท้องถิ่น เป็นการต่อรองกับอำนาจของรัฐ โดยมองจากผลกระทบปัญหาการเติบโตของหัวเมืองในภูมิภาคที่เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจที่ต้องมาจากส่วนกลางเท่านั้น

ความหมายของคำว่า “Small” ศิลปินกลุ่มนี้มองว่าเป็นการพัฒนาที่เริ่มขึ้นจากจุดเล็กๆ เพื่อพัฒนาต่อยอดนำไปสู่สิ่งที่มีความยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม และในมุมที่ต่าง กันออกไป คำว่า “Small” อาจจะหมายถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าง “less is more” ที่ให้ความสำคัญกลุ่มคนชายขอบเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบและเสียผลประโยชน์จากกลไกของการสร้างและพัฒนาเมืองในรูปแบบที่ก้าวไปสู่ Smart City ดังนั้นความหมายของคำว่า “Smart and Small” จึงเป็นคำที่ศิลปินได้ถอดและตีความในแต่ละมุมมองของตัวศิลปินในงานนิทรรศการครั้งนี้

เมื่อลองวิเคราะห์ให้เข้ากับแนวคิดของนิทรรศการนี้ อาจกล่าวได้ว่า ผลงานชิ้นนี้คลับคล้ายว่าเหมือนคนบางกลุ่มในพื้นที่ขงอการพัฒนาที่ถูกมองข้ามและได้รับผลกระทบ แต่คนกลุ่มนี้ยังคงซึ่งความสามารถในการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่

“Oddswept Standing”, 2019

ตะปูเรือใบ (caltrop)

ศรภัทร ภัทราคร ศิลปินจากกรุงเทพฯ ผู้ที่เติบโตมาจากงานศิลปะแนวสถาปัตยกรรมและพื้นที่ เลือกที่จะนำวัสดุก่อสร้างอย่างตะปูมาทำเป็นงานศิลปะ

ตะปูเรือใบจำนวนมากที่เรียงรายอย่าง “สามัคคี” เมื่อมองผ่านๆ เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมที่เว้นช่องว่างเป็นรูปสามเหลี่ยมหัวลูกศรเอาไว้ แต่รูปร่างสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมที่เกิดขึ้นไม่ได้มีตัวตนทางกายภาพที่แท้จริง ถือว่าเป็นการสะท้อนเรื่องของ “เส้นสมมติ” ในการรับรู้ของเรา

ตะปูเรือใบเป็นหนึ่งในยุทธภัณฑ์ที่มักใช้โดย “เจ้าถิ่น”ในการดัก-ขัดขวางการเดินทางของผู้มาเยือน

“ความเล็กของตะปูเรือใบ คือความร้ายกาจของอาวุธชิ้นนี้ ความเล็กของมันทำให้ถูกคนมองข้ามและไม่เป็นที่สังเกต จึงทำให้ยุทธภัณฑ์นี้ใช้ประโยชน์จากความเล็ก” เขากล่าว

“Comfort Zone”, 2019

ผลงานอีกชิ้นที่น่าสนใจถูกจัดวางโดย พรทิพย์ สิงห์โรทัย ศิลปินแนวประติมากรรมสื่อผสมจากกรุงเทพฯ เช่นกัน

พรทิพย์นำเสนอผลงานที่ชื่อ “Comfort Zone” โดยเธอจัดวางน้ำตาลทรายขาว เศษซากต้นอ้อยที่ผ่านการรีดน้ำตาล ซากต้นอ้อยที่ถูกเผาเหลือแต่ขี้เถ้าสีดำ พร้อมมีข้อความที่เขียนถึงคำพูดของชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลกระทบจากกรณีราคารับซื้ออ้อยตกต่ำในปัจจุบัน หรือพูดถึงเหตุผลที่ชาวไร่ต้องเผาไร่อ้อยเนื่องจากต้องการลดต้นทุนในการทำไร่อ้อย เป็นต้น

ผลงาน Comfort Zone ของพรทิพย์ สิงห์โรทัย ศิลปินแนวประติมากรรมสื่อผสมที่จัดวางน้ำตาลทราย-ซากต้นอ้อย เพื่อสะท้อนถึงแนวทาง

“น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย ความสะอาด แต่กว่าจะได้น้ำตาลทรายขาวออกมานั้นมีผลกระทบเกิดขึ้นกับชาวไร่อ้อยตัวเล็กๆ เช่นกัน” พรทิพย์กล่าว

สำหรับพรทิพย์การทำไร่อ้อยส่งโรงงานน้ำตาลเพื่อผลิตน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่น แต่มลพิษทางอากาศจากการเผาไร่อ้อยก็ส่งกระทบต่อคนในสังคมเช่นกัน

พรทิพย์ตั้งคำถามว่า โครงการไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จริง แต่ชาวไร่กับนายทุนโรงงานน้ำตาลใครได้ได้ประโยชน์มากกว่ากัน

เธอกล่าวว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวไร่อ้อยในจังหวัดขอนแก่นทำให้เธอได้รับรู้ถึงเหตุผลที่คนปลูกอ้อยต้องเผาอ้อยแล้วเอาไปขาย เพราะต้องการลดต้นทุนในการจ้างคนงานตัดอ้อย การเผาต้นอ้อยสดจะทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ง่ายและรวดเร็ว รวมถึงรับรู้ความรู้สึกของชาวไร่อ้อยที่ขาดทุนจากการปลูกอ้อยขายโรงงานน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำ

โครงการไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จริง แต่ใครได้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากกว่ากันระหว่างชาวไร่กับนายทุนโรงงานน้ำตาลนี่คือคำถาม

“ชาวไร่กลับได้ประโยชน์จากโครงการเพียงเล็กน้อย อีกทั้ง ชาวไร่ คนในชุมชนที่รอบๆ ไร่อ้อยก็ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากการทำไร่อ้อย ช่วงการเผา ดังนั้นคิดว่า คนที่ได้ประโยชน์จากอ้อยและน้ำตาลจริงๆ คือนายทุนโรงงาน” พรทิพย์กล่าวทิ้งท้าย

“Eye to Eye (yyy.mm.dd.hh.mm.ss)”, 2019

ฐิติรัตน์ สกุลตันติเมธา ศิลปินแนวประติมากรรมสื่อผสมจากกรุงเทพฯ นำเสนอผลงาน “หยดน้ำกับเวลา” ซึ่งหากสังเกตปลายโซ่ที่ห้อยแขวนลงมา จะพบว่ามีน้ำไหลเป็นหยดอยู่ ซึ่งดูเหมือนจะไหลหยดลงรูขนาดเล็กที่อยู่ในวัตถุครึ่งวงกลมคว่ำอยู่ด้านล่าง และหากตั้งใจฟังจะได้ยินเสียงหยดน้ำดังกังวาน

ฐิติรัตน์กล่าวว่า ถึงแม้โครงการหรือแนวคิดเล็กๆ ที่คนขอนแก่นคิดจะพัฒนาจังหวัดตัวเองยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็คล้ายกับหยดน้ำในผลงานของเธอที่จะส่งเสียงสะเทือนและแรงกระเพื่อมให้คนในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศมุ่งพัฒนาจังหวัดตนเอง

ฐิติรัตน์ กล่าวว่า หยดน้ำเป็นของเล็กมากและผลสะเทือนของมันซึ่งก็คือเสียงดังกังวาน เป็นคลื่นเสียงขนาดใหญ่ คล้ายกับการพัฒนาเมืองที่ขอนแก่น ถึงแม้ตอนนี้การพัฒนายังเป็นแค่โครงการหรือแนวคิดเล็กๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ถือเป็นจุดที่สามารถทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเกี่ยวกับการผลักดันแนวคิดการพัฒนาจังหวัดตัวเองออกไปในระดับประเทศ

“ความคิดและแนวคิดการพัฒนาเมืองขอนแก่นเล็กๆ นี่แหละ มันคล้ายกับหยดน้ำที่สร้างแรงกระเพื่อมเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นออกไปในวงกว้าง” ฐิติรัตน์กล่าว

image_pdfimage_print