โดย เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก

“…ท่านผู้ฟังทั้งหลาย วันนี้ข้าพเจ้าได้รับเกียรติยศจากสำนักงานโฆษณาการให้มาแสดงปาฐกถาให้ท่านฟังเป็นครั้งแรก จึงขอยกเอาตำนานและสภาพของจังหวัดซึ่งข้าพเจ้าได้รับเกียรติยศเป็นผู้แทนราษฎรมาบรรยายให้ท่านทั้งหลายฟัง ทั้งในเวลาอดีต และปัจจุบัน ดังต่อไปนี้…” พันตรี พระไพศาลเวชกรรม (สวาสดิ์ โสมเกษตริน) ส.ส. ร้อยเอ็ดกล่าว

ในวาระที่ประเทศไทยครบรอบ 87 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันเป็นจุดกำเนิดของการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งทำให้ประชาชนคนไทยเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “รุ่นแรก”

ข้อเขียนชิ้นนี้จะพาย้อนดูถึงความสำคัญของการปาฐกถาและการทำหน้าที่ในการเป็นปากเป็นเสียงสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของบรรดา ส.ส.อีสานรุ่นแรก ผ่านหนังสือ “ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่องสภาพของจังหวัดต่างๆ” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2478 หรือ 84 ปีที่แล้ว เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นเต้นกับการปกครองระบอบแบบใหม่ รวมถึงความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนของ ส.ส.อีสานแต่ละคน ผู้ทำหน้าที่ “ผู้แทนราษฎร” เป็นครั้งแรกผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง  

หนังสือปาฐกถาของผู้แทนราษฎรฯ ได้รับการจัดพิมพ์ซ้ำตามต้นฉบับเดิมโดยสมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย

การนำเสนอสภาพปัญหาอีสาน

การนำเสนอสภาพปัญหาของอีสานถือเป็นประเด็นหลักที่ ส.ส.ทุกคนของอีสาน ได้นำเสนอผ่านการกล่าวปาฐกถาของตน ดังเช่นปาฐกถาของหลวงนาถนิติธาดา ส.ส.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2477 ที่มีการสะท้อนภาพของความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชาวจังหวัดชัยภูมิตอนหนึ่งมีความว่า

“…ชัยภูมิไม่เคยมีถนนแม้แต่ลาดด้วยดินธรรมดา มีแต่ทางเกวียนคดเคี้ยวไปตามป่าดงพงเขา ต้องข้ามห้วยหนองคลองบึงบางที่สุดแม่น้ำ (ลำน้ำชี) บางคราวอาจมีรถยนตร์สาธารณะให้ท่านโดยสารไปได้บ้าง แต่ก็ไม่แน่นัก เพราะรถยนตร์แถวนี้วิ่งไปวันหนึ่งจะต้องพักซ่อมตั้งหลายวัน รถยนตร์สาธารณะที่ว่านี้ขะโมยทางเกวียนวิ่งไปเหมือนงูเลื้อย… คนโดยสารจะต้องสะบักสะบอมไปตามๆ กัน เข้าตำราที่ว่าไม่ตายก็คางเหลืองนี้แหละท่านทั้งหลาย ได้โปรดช่วยเห็นอกชาวจังหวัดที่อยู่ห่างไกลพระนครว่าลำบากยากแค้นเพียงใด…”

ปัญหาที่สำคัญของอีสานที่จับประเด็นได้จากการกล่าวปาฐกถาของ ส.ส.อีสานทั้งหมด เห็นจะมี 2 เรื่อง คือ 1) ปัญหาด้านการคมนาคมดังที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างจังหวัดชัยภูมิ 2) ปัญหาด้านสาธารณสุข เช่น นายเลียง ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานีกล่าวว่า มีแพทย์ประกาศนียบัตรในจังหวัดอุบลราชธานี 2-3 คน คิดเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อพลเมือง 2 แสนคน

การสะท้อนปัญหาการปกครองของรัฐระบอบเก่า

การสะท้อนปัญหาหรือข้อจำกัดในการปกครองบ้านเมืองในอดีตก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เห็นได้จากการกล่าวปาฐกถาของนายเลียง ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 ที่ได้กล่าวถึงปัญหาการพัฒนาเมืองอุบลฯ ในสมัยเริ่มมีการปกครองระบอบเทศาภิบาลช่วงรัชกาลที่ 5 ความตอนหนึ่งว่า

“…ใคร่ขอกล่าวให้ทราบเสียสักเล็กน้อยว่า ฉะเพาะเมืองอุบลฯ ขณะนั้นรัฐประศาสโนบายมีคติสำคัญอยู่เพียงแต่เก็บเงินภาษีและรายได้อื่นๆ จากราษฎรเข้าท้องพระคลังมากที่สุดที่จะทำได้ …ด้วยเหตุนี้ อุบลในครั้งนั้นจึงถูกปิดความเจริญอย่างแน่นหนา ไร้เสียสิ้นซึ่งผลอันควรที่จะปลูกสร้างสิ่งอันถาวรขึ้น ข้าพเจ้าได้สังเกตว่า แม้แต่วังข้าหลวงต่างพระองค์ ก็ทำด้วยวัตถุประกอบอย่างเลวๆ ซึ่งยังมีอยู่จนทุกวันนี้ เช่น เพดานก็ดาดด้วยวัตถุผะสมมูลสัตว์แทนสีอันสวยสด เรือกำปั่นใหญ่ 2 ลำ ซึ่งเดินระหว่างอุบลกับนครราชสีมาถูกปิด ไม่มีการคมนาคมระหว่างอุบลกับนครราชสีมา…”

เมื่อเปรียบเทียบการกล่าวปาฐกถาของนายเลียง ไชยกาล กับการกล่าวปาฐกฐาของ ส.ส.จังหวัดอื่นแล้ว จะพบว่าการสะท้อนปัญหาด้านการปกครองดังกล่าวนี้ ถือเป็นเสียงส่วนน้อย เนื่องจาก ส.ส.อีสานคนอื่นๆ ไม่พบว่ามีการกล่าวให้ข้อมูลถึงปัญหาด้านการเมืองการปกครองในอดีตเลย เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่อาจเป็นช่วงเวลาแรกๆ ที่นโยบายการปกครองของชนชั้นนำได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากตัวแทนประชาชนคนชั้นใต้ปกครอง

การนำเสนอภาพ “ชาวชนบทรักสงบ”

“…ชาวพื้นเมืองนี้เป็นคนรักสงบ เชื่อฟังคำบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ปกครองเป็นอย่างดี ไม่ก่อเรื่องอันเป็นเหตุรำคาญเลย ถ้าท่านได้คบหาสมาคมกับชาวเมืองนี้ ท่านจะรู้สึกพอใจในอัธยาศัยไมตรีของเขา แม้ท่านจะเป็นแขกแปลกถิ่นไปไม่เคยรู้จักกันเลย…”

คำปาฐกถาของนายทองม้วน อัตถากร ส.ส.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 แสดงถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในจังหวัดมหาสารคามที่มีความรักสงบ มีนำใจและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่ละเว้นแม้กระทั่งกับผู้คนต่างถิ่น

นี่ถือเป็นการนำเสนอภาพแทน (Representation) ของชาวชนบทอีสานที่ผู้เขียนพบได้จากการกล่าวปาฐกถาของ ส.ส.อีสานเกือบทุกจังหวัด ที่มักเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดของตนในลักษณะของการเป็นผู้กินง่ายอยู่ง่าย ว่านอนสอนง่าย นอกจากปาฐกถาของนายทองม้วนแล้วยังมี ส.ส.จังหวัดอื่นๆที่ได้นำเสนอภาพแทนในลักษณะดังกล่าวนี้ เช่น ปาฐกถาของนายเลียง ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานี และหลวงนาถนิติธาดา ส.ส.ชัยภูมิ เป็นต้น

ขอบคุณภาพบุคคลจาก บทความ เปิดโฉมหน้า!!!สส.ยุค2476 ในการเลือกตั้งผู้แทนครั้งแรกของไทย..

การแนะนำจังหวัดของตนเอง: การสร้างชุมชนจินตกรรมของรัฐไทย (สยาม)

“…เลย เป็นชื่อของจังหวัดๆ หนึ่ง ซึ่งดูตามแผนที่สยามแล้วจะเห็นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมากเพื่อนต่างจังหวัดไม่ค่อยรู้จักชื่อของจังหวัดเลย…”

ปาฐกถาของนายบุญมา เสริฐศรี ส.ส.เลย

27 กุมภาพันธ์ 2477

การแนะนำข้อมูลพื้นฐานจังหวัดตนเองของ ส.ส.แต่ละจังหวัดอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้นซ้ำยังเป็นเรื่องน่าเบื่อด้วยซ้ำในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว การที่ ส.ส.แต่ละจังหวัดทำการแนะนำเรื่องราว ตำนาน ความเป็นมาของจังหวัดตนเองผ่านวิทยุกระจายเสียงนั้น ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อการก่อร่างสร้างตัวของรัฐไทยอย่างยิ่ง

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเมื่อพิจารณาจากแนวคิดชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) อันหมายถึงการที่คนคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ห่างไกลกัน แม้ไม่รู้จักกัน ไม่ได้เป็นเครือญาติ ไม่เคยพบเห็นหน้ากัน ไม่มีความเกี่ยวข้องกันไม่ว่าจะทางใดก็ตาม แต่กลับมีสำนึกว่าเป็นพวกเดียวกัน

ดังนั้นจะเห็นว่าการทำหน้าที่แนะนำจังหวัดผ่านวิทยุกระจายเสียงให้กับคนทั้งประเทศได้ฟัง ได้รู้ว่าประเทศไทย (สยามในขณะนั้น) มีดินแดนถึงตรงไหน มีจังหวัดอะไรบ้าง มีภูมิประเทศอย่างไร นั่นคือครั้งแรกที่ทำให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคอื่นๆ ของไทยไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่หรือนครศรีธรรมราช ได้รู้จักจังหวัดอุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ ทำให้เกิดสำนึกที่ว่า คนที่เชียงใหม่ก็เป็นพวกเดียวกับคนที่นครศรีธรรมราช และคนที่อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ นั่นคือการเป็นคนไทย (สยาม) เหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากปาฐกถาของนายเนย สุจิมา ส.ส.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2477 ความว่า

“…ข้าพเจ้าได้ฟังภาวะความเป็นอยู่ของบางจังหวัดโดยทางวิทยุกระจายเสียงบ้าง ทางหนังสือพิมพ์บ้าง แต่ละ (จังหวัด) ล้วนประกอบไปด้วยทิวเขา ทะเล และปูชนียสถานอันควรชม แต่จังหวัดของข้าพเจ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้…”

โดยสรุปแล้ว การกล่าวปาฐกถาของบรรดา ส.ส.อีสานรุ่นแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชน/ราษฎร ได้มีการป่าวประกาศให้ผู้อื่นได้ทราบถึงปัญหาความอัตคัตแร้นแค้นผ่านบทบาทของ “ผู้แทนราษฎร” ถือเป็นก้าวแรกของการที่ประชาชนคนรากหญ้าได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

image_pdfimage_print