โดยเมธา มาสขาว

ภาพหน้าปกจาก pitv fan page

“จึงเกิดมาเพื่อเป็นคอมมิวนิสต์  ปฏิวัติชีวิตด้วยสัจจะ
ถือหน้าที่ประวัติศาสตร์เป็นภาระ  ประกาศใช้ฐานะประติกาล
จาก ‘ทรง นพคุณ’ ถึง ‘ธง แจ่มศรี’  คารวะสดุดีความกล้าหาญ
เกิดแก่เจ็บตายเป็นตำนาน  อุดมการณ์หนักแน่นดั่งแผ่นดิน”
(พณ ลานวรัญ, กรกฎาคม 2562)

ในวันที่ “ธง แจมศรี” เสียชีวิตในวัย 98 ปี ด้วยโรคชรา มีการจัดงานศพเขาอย่างสมเกียรติโดยสหายอาวุโสร่วมอุดมการณ์ มิตรร่วมรบและอนุชนรุ่นหลัง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร อ.เมือง จ.นครปฐม 

ภายในงาน มีการรำลึกถึงผลงานการเคลื่อนไหวของเขาจากอดีตสหายที่มาจากหลายเขตงานทั่วประเทศ รวมถึงผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ประเทศมาเลเซีย รวมถึงมีพิธีคารวะสดุดี บทกวีและเพลงปฏิวัติได้ดังกึกก้องเมรุดังว่าจะดังกังวาลย้อนไปถึงกาลเวลาในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางความทรงจำร่วมสมัยของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่มาร่วมส่งสังขารสหายเป็นครั้งสุดท้าย

“ธง แจ่มศรี” เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนที่ 4 (ภาพจาก: ธง แจ่มศรี นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ) 

ธง แจมศรี เป็นใคร? สำคัญแค่ไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นเรื่องที่น่าศึกษาสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจประวัติศาสตร์ของขบวนการประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะพัฒนาการสังคมและการเมืองไทยที่รุดหน้าไปดั่งฟันเฟืองพลวัต ไม่อาจตัดขบวนการประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมในแต่ละยุคสมัยได้ เพราะพวกเขาเหมือนเป็น “คนทำทาง” ร่วมสร้างบ้านแปงเมืองให้มีเรามี “สิทธิ” “เสรีภาพ” และ “ความเป็นธรรมทางสังคม” มาจนถึงวันนี้ 

ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ลอยมาจากสุญญากาศ มันล้วนแลกมาด้วยหยดเลือดและหยาดเหงื่อแรงงานจากการต่อสู้ของประชาชนในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทั้งสิ้น เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของครอบครัวเราที่ต่อสู้เพื่อมาเป็นเราในทุกวันนี้

เมื่อมีแรงกฎย่อมมีแรงต้าน มีบ้างท่ามกลางยุคมืดแห่งสิทธิเสรีภาพ การเมืองการปกครองแบบเผด็จการเต็มใบ พวกเขาพยายามจุดไฟสว่างในนาคร มีบ้างบางยุคสมัยเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ พวกเขาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมผ่านกลไกสังคมต่างๆ อย่างสันติ การปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเป็นพลวัต ล้วนเป็นเส้นทางปฏิวัติในยุคหลังสงครามเย็นที่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไปในประเทศสังคมอารยะ แต่ก็มีการใช้กำลังรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของกองทัพขึ้นมาอีกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่เหมือนเป็นข้อยกเว้นพิเศษประเทศไทย

ธง แจ่มศรี หรือชื่อจัดตั้งในขบวนปฏิวัติคือ “ประชา ธัญญไพบูลย์” มีชีวิตเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่โลดโผนตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ล้วนเป็นชีวิตที่เดินทางและต่อสู้เพื่อชาติ เพื่อเอกราชและสากลนิยมมาโดยตลอด เขาเติบโตมาในยุคเผด็จการเต็มใบและใช้ชีวิตในช่วงเปลี่ยนผ่าน ท่ามกลางประวัติศาสตร์การเมืองโลกของจักรวรรดินิยมที่มีอิทธิพลล้อมรอบ เขาเกิดวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2464 ที่บ้านดง หมู่ที่ 8 ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร 

เขาเป็นลูกชายคนโตของนายเสาหรือ “หว่อตุง” แม่ชื่อนางยอ หรือ “ดั่งกวิ่งแอ็งห์” ชาวเวียดเกียว เขาเป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนามจากครอบครัวปัญญาชนปฏิวัติสังกัดขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของเวียดนามซึ่งลี้ภัยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยในยุคสมัยเดียวกับ “โฮจิมินห์” และทำงานเคลื่อนไหวไปด้วย ทั้งในนครพนม สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ และพิจิตร 

ต่อมาเขาถูกย้ายมาเรียนที่แผ่นดินอีสานที่มีผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ ทั้งในโรงเรียนหนองบัว โรงเรียนประชาบาลวัดพระธาตุเชิงชุม โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล และโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล เป็นลำดับ ก่อนจะย้ายกลับภาคกลางและถูก “ทรง นพคุณ” สหายจัดตั้งของเขาเรียกตัวจากเมืองพิจิตรเข้ามาเคลื่อนไหวในเมืองตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนปฏิวัติ 

(ผู้สนใจอ่านประวัติศาสตร์นักปฏิวัติเวียดนามในไทยเพิ่มเติมได้ใน “จากยุโรปถึงภูพาน: ว่าด้วยการแพร่กระจายลัทธิมาร์กซเข้าสู่อีสาน” โดย ธิกานต์ ศรีนารา)

การประกอบสร้างเป็นขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ในสยามช่วงแรกนั้น นอกจากคนไทยที่มีสายธารความคิดสังคมนิยมมาจากฝรั่งเศส สายพุทธสังคมนิยม และคนจีนที่อพยพเข้ามาพร้อมกระแสสาธารณะรัฐนิยมแบบลัทธิไตรราษฎรของ “ซุนยัดเซ็น” ในการปฏิวัติจีน 2454 และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ก่อตั้งเมื่อปี 2464 และขยายสาขาพรรคในแผ่นดินสยามแล้ว ขบวนการการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวเวียดนามก็ล้วนมีบทบาทสำคัญยิ่ง เนื่องจากในขณะนั้น “โฮจิมินห์” มีฐานะเป็นผู้แทนของสากลที่สามของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลที่มีสำนักงานสาขาอยู่ที่ฮ่องกง ในปี 2472 สากลที่สามมีมติให้ผู้ปฏิบัติงานคอมมิวนิสต์ไม่ว่าอยู่ในประเทศใดให้ดำเนินการหนุนช่วยการปฏิวัติในประเทศนั้นด้วย ตามนโยบายสากลนิยม จึงเกิดการจัดตั้ง “คณะคอมมิวนิสต์สยาม” ขึ้น ครอบครัวของ ธง แจ่มศรี ทั้งพ่อและแม่ถูกจับกุมและเนรเทศตั้งแต่ปี 2473 ก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และต่อมาถูกรัฐบาลทหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ปราบปรามกวาดล้างอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นสำนักงานฮ่องกงจึงได้ส่ง ‘หลี่ฉีซิน’ หรือสหายสุรินทร์ เข้ามาตั้ง ‘คณะกรรมการพิเศษ’  ขึ้นมาบริหารพรรคต่อไปจนกระทั่งหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาได้มีมติจัดตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์ไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 โดยมี ‘หลี่ฮวา’ เป็นเลขาธิการคนแรก ต่อมามีการสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 ขึ้นเมื่อปี 2495 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) โดยมีเลขาธิการพรรคคนที่ 2 คือ ทรง นพคุณ หรือ ‘ประสงค์ วงศ์วิวัฒน์’ นามแฝงที่เสนอโดย ธง แจ่มศรี สหายในสังกัดของเขาเอง (2495-2504) คนที่ 3 คือ เจริญ วรรณงาม หรือ ‘มิตร สมานันท์’ (2504-2525) คนที่ 4 คือ ธง แจ่มศรี หรือ ‘ประชา ธัญญไพบูลย์’ (2525-2553) และคนที่ 5 คือ สหายเล่าเซ้ง หรือ ‘วิชัย ชูธรรม’ (2553-ปัจจุบัน) ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคอย่างรุนแรงในเรื่องแนวทางการเมืองและสถานะขององค์การนำ (อ่านเอกสารประกอบได้ใน ‘ธง แจ่มศรี : เอกสารประกอบคำแถลงเนื่องในวาระการก่อตั้ง พคท. ครบรอบ 67 ปี’,  ‘คำชี้แจงภายใน’ และ ‘แถลงการณ์เรื่องสถานการณ์และภาระหน้าที่’ 1 มกราคม 2553)

ภายหลัง ธง แจ่มศรี เข้าเคลื่อนไหวในเมือง เขาเข้าศึกษาภาษาจีนขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนหัวเฉียวในปี 2478 ซึ่งเป็นโรงเรียนในจัดตั้งของคณะกรรมการคอมมิวนิสต์จีน ก่อนจะถูกจับกุมในคดีคอมมิวนิสต์ในปี 2479 ขณะที่อายุเพียง 14 ปี พร้อมกับบุคคลสำคัญในขบวนการไม่ว่าจะเป็น “โงจิ๋งก๊วก” หรือเลหมั่นติญ เลขาธิการคณะคอมมิวนิสต์สยาม “หลี่ฮกหมิน” ตัวแทนสากลที่สาม และ “สวัสดิ์ ผิวขาว” สมาชิกคนไทยคนแรก 

ต่อมาคณะคอมมิวนิสต์สยามจึงได้ประกาศรับเขาเข้าเป็นสมาชิกพรรคขณะอยู่ในคุกในวัยย่าง 17 ปี เมื่อปี 2581 ก่อนจะออกจากคุกไปทำงานแฝงตัวเป็นกรรมกรโรงสีที่จังหวัดสระบุรี 2 ปี ต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใต้ดินภาษาไทยฉบับแรกของพรรคชื่อ “มหาชน” ในเดือนมีนาคม 2485 ก่อนจะมีการประชุมจัดตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์ไทย” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ซึ่งเขาได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางชุดที่ 1 

อาจกล่าวได้ว่า “ธง แจ่มศรี” มีชีวิตปฏิวัติใกล้ชิดกับ “ทรง นพคุณ” มากที่สุดคนหนึ่งในขบวนการปฏิวัติไทยในฐานะจัดตั้งของเขา ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่อายุห่างกันเพียง 3 ปี และทำงานใกล้ชิดร่วมกันมาโดยตลอด นอกจากสหายนำของขบวนการปฏิวัติในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็น วิรัช อังคถาวร, พ.ท.พโยม จุลานนท์, ประเสริฐ เอี้ยวฉาย และสหายนำคนอื่นๆ ในวัยใกล้เคียงกัน ซึ่งต่างมีภารกิจเพื่อชาติ เอกราชและประชาธิปไตยมาตั้งแต่ยุคสงคราม และเนื่องจาก หลี่ฮวา เลขาธิการพรรคคนที่ 1 ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยขอลาออกเพื่อกลับประเทศจีนเมื่อปี 2487 เนื่องจากสากลที่สามได้ประกาศยกเลิกตนเองเมื่อปี 2486 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นเงื่อนไขให้สหายชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศใดก็ตามไม่จำเป็นต้องทำการปฏิวัติหรือขึ้นต่อพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศนั้นอีก จึงทำให้ ทรง นพคุณ ได้รับเลือกเป็นรักษาการณ์เลขาธิการพรรคจนสิ้นสมัยสมัชชา (2487-2495) ก่อนจะมาเป็นเลขาธิการพรรคในสมัยสมัชชาที่ 2 อย่างเป็นทางการ (2495-2504)

(สำหรับผู้ที่สนใจประวัติ “ทรง นพคุณ” อ่านได้ที่ : https://prachatai.com/journal/2012/12/44332)

ในปีเดียวกันนั้น ธง แจ่มศรี เข้ามาดูแลงานกรรมกรในโรงงานยาสูบสะพานเหลือง ก่อนจะไปบุกเบิกงานชาวนาภาคอีสานในหลายจังหวัด รวมถึงพื้นที่คูซอด จังหวัดศรีสะเกษ และเขตจรยุทธประเทศลาว ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกกรมการเมืองในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 เมื่อปี 2495 ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันลัทธิมาร์กซ–เลนิน ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และเป็นผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ไทยไปร่วมงานศพ “สตาลิน” ที่กรุงมอสโค สหภาพโซเวียต เมื่อปี 2496 ภายหลังได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางและกรมการเมืองของพรรคในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 เมื่อปี 2504 เขาเดินทางไปบุกเบิกงานที่ราบสูงแผ่นดินอีสานในเขตงานดงพระเจ้า จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งต่อมาถูกจับกุมขณะเข้ามาเคลื่อนไหวในเมืองที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ เมื่อปี 2510 และถูกจับกุมคุมขังอยู่ถึง 6 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวและกลับเข้าสู่เขตงานป่าเขาอีกครั้งหนึ่งในปลายปี 2516

(ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมได้ใน “บทบาทและความคิด ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์)

อดีตสมาชิกและมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจากทั่วประเทศเข้าร่วมงานอ่านบทกวีคารวะสดุดีการเสียชีวิตของ ธง แจ่มศรี 

ผลกระทบสำคัญจากการเมืองระหว่างประเทศต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย คือ การแข่งความเป็นใหญ่ในค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์สากลระหว่างสหภาพโซเวียตและจีน โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวละครสำคัญเมื่อเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศมาเปิดความสัมพันธ์กับจีนโดยตรงหลังประกาศยุติสงครามตัวแทนในเวียดนาม ทำให้รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนที่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองได้เมื่อปี 2518 ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยซึ่งสู้รบทำสงครามอุดมการณ์ทางการเมืองภายในได้รับผลกระทบทางยุทธศาสตร์ และมีความชัดเจนขึ้นเมื่อรัฐบาลจีนประกาศยุติความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์ไทยและปิดสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ที่ออกอากาศผ่านสถานีวิทยุคลื่นสั้นที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน ตามการร้องขอของรัฐบาลไทยในสมัยต่อมา 

เกียรติคุณสำคัญของ ธง แจ่มศรี และคณะ ที่มิอาจไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ กรณีจุดยืนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยกรณีการปกป้องมาตุภูมิจากการรุกรานของเวียดนาม ในขณะนั้นเขาเป็นรักษาการเลขาธิการพรรคเมื่อปี 2522 ภายหลัง “เจริญ วรรณงาม” เลขาธิการพรรคในสมัยสมัชชาที่ 3 ป่วยเป็นมะเร็งตับต้องไปพักรักษาที่จีนและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ธง แจ่มศรี จึงถือว่าเป็นผู้นำสูงสุดในขณะนั้นร่วมกับกรมการเมืองและคณะกรรมการกลาง ดูแลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ถือว่าเข้มแข็งและมีกำลังมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด พคท. เคยมีกองจรยุทธที่มีกำลังพลราว 2 หมื่นคน จัดตั้งฐานที่มั่นหรือเขตจรยุทธ์มากว่า 50 จังหวัดทั่งประเทศ

ภายหลังเวียดนามชนะสงครามภายในและสถาปนาเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2519 และมีนโยบายต่างประเทศอยู่ฝ่ายเดียวกับสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกับลาว ทำให้จีนต้องแสวงหาการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในขณะนั้น จึงเรียกร้องจีนยุติการสนับสนุน พคท. เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงภายใน แรงกดดันนี้ทำให้ พคท. ถูกโดดเดี่ยวทั้งจากจีนที่เอาใจออกห่าง และถูกโดดเดี่ยวจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาวด้วยเช่นกัน เพราะกรมการเมืองและกรรมการกลางของ พคท. ถูกกล่าวหาว่าเอียงจีน เมื่อเวียดนามทำสงครามกับกัมพูชาประชาธิปไตยหลังจากขัดแย้งกันมากว่า 3 ปี เพราะมองว่า “รัฐบาลเขมรแดง” นิยมจีนและเป็นปรปักษ์ต่อเวียดนามเมื่อเดือนธันวาคม 2521 จน “พนมเปญแตก” และได้จัดตั้งสาธารณะรัฐประชาชนกัมพูชาที่นิยมเวียดนามเมื่อเดือนมกราคม 2522 ทำให้อิทธิพลของเวียดนามในภูมิภาคมีมากขึ้นตามลำดับ

ขณะที่รัฐบาลและชนชั้นนำไทยเริ่มหวาดกลัวคอมมิวนิสต์เวียดนามมากขึ้นจากการขยายอิทธิพลในอินโดจีน ทำให้พวกเขาเข้าหาจีนมากขึ้นผ่านบทบาทของ พ.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศในขณะนั้น) และคณะ ซึ่งรับภารกิจลับเดินทางไปเจรจาและขอความช่วยเหลือจาก “เติ้งเสี่ยวผิง” รองนายกรัฐมนตรีจีน จนกระทั่งเติ้งเสี่ยวผิง ตัดสินใจเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2521 จนกระทั่งจีนประกาศสงครามกับเวียดนามและยุติการช่วยเหลือ พคท. ในเวลาต่อมา

ก่อนหน้านั้นเวียดนามได้ติดต่อ พคท. ผ่านทาง “เจริญ วรรณงาม” ที่เดินทางไปเจรจาถึงเวียดนามเสนอความช่วยเหลือกำลังอาวุธในการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธเพื่อยึดประเทศไทยปลดปล่อยภาคอีสานทั้งภาคและภาคเหนือตอนบน แต่คณะกรรมการกลาง พคท. ในขณะนั้นซึ่งมี ประสิทธิ์ ตะเพียนทอง (สหายห่ง) ทรง นพคุณ (สหายบา) เปลื้อง วรรณศรี (สหายจำรัส) วิรัช อังคถาวร (สหายธาร) เจริญ วรรณงาม (สหายชัด) และพ.ท.พโยม จุลานนท์ (สหายคำตัน) และดำริห์ เรืองสุวรรณ (สหายด่าง) มีมติปฏิเสธข้อเสนอและความช่วยเหลือดังกล่าว เพราะ พคท. ไม่ปรารถนาให้กองทัพภายนอกรุกรานประเทศตนเอง เนื่องจาก พคท.ต่อต้านการรุกรานของสหรัฐฯ ในกรณีสงครามอินโดจีนมาโดยตลอด หากรับการช่วยเหลือจากเวียดนามก็เท่ากับส่งเสริมลัทธิจักรวรรดินิยมซึ่งเป็นการทำลายจุดยืนตัวเอง และอาจถูกประณามว่าขายชาติ เพราะ พคท. มองว่าคนไทยจะลุกขึ้นจับอาวุธสู้กับเวียดนามอย่างแน่นอน การปฏิเสธข้อเสนอนี้ ทำให้ พคท. ต้องอพยพออกจากลาวที่เป็นเหมือนที่พักพิงหรือ “หลังพิง” สำคัญของขบวนการปฏิวัติไทย และต่อมาเวียดนามได้ประกาศตัดสัมพันธ์กับ พคท. 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อกองกำลังเวียดนามบุกมาประชิดชายแดนไทย-กัมพูชา ศูนย์การนำของกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) เขตอีสานใต้ ได้มีคำสั่งให้ ทปท.ทำการตอบโต้ปกป้องพิทักษ์เขตแดนไทย กองกำลังของ พคท. มีบทบาทสำคัญในการรบกับกองทัพเวียดนามในขณะนั้นเพื่อผลักดันไม่ให้กองทัพเวียดนามรุกรานไทย มีการปะทะกันในพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเขมราฐ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีการประสานแจ้งเตือนร่วมกับทหารพรานและอาสาสมัครอย่างต่อเนื่องจนกองทัพเวียดนามสูญเสียกองกำลังไปจำนวนมาก จนในที่สุดเวียดนามเลิกล้มยุทธศาสตร์สหพันธ์อินโดจีน นี่คือจิตใจที่รักชาติกำเนิดและการพิทักษ์มาตุภูมิของขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ไทย

ในช่วงวัยอาวุโส ธง แจ่มศรี ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคเมื่อปี 2525 ในที่ประชุมสมัชชา 4 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นเลขาธิการคนที่ 4 ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ท่ามกลางความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ และในการเมืองภายในที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งส่งผลให้ขบวนการของพรรคอ่อนแรงลงดั่งบทเพลง “คิดถึงบ้าน” ของนายผี “อัศนี พลจันทร” ที่ตัดสินใจไม่กลับบ้านหลังนโยบาย 66/2523 ให้มีการนิรโทษกรรมทางการเมือง

ขบวนการต่อสู้ของ พคท. ยังดำเนินเคลื่อนไหวต่อไป แม้สมาชิกมากมายจะทยอยออกจากป่าสู่เมือง แต่อุดมการณ์ของ ธง แจ่มศรี และพวก ยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไม่เสื่อมคลาย ภายหลังการประชุมกรมการเมืองและคณะกรรมการกลางอย่างลับๆ ที่บางแสน จังหวัดชลบุรีเมื่อปี 2530 แต่ข่าวหลุด สมาชิกพรรค สหายนำและกรมการเมือง ถูกทางการบุกเข้าจับกุมครั้งใหญ่ ธง แจ่มศรี จึงมอบหมายให้ “สหายขาบ” หรือ ไวฑูรย์ สินธุวานิชย์ สมาชิกกรมการเมืองคนสำคัญจากสมัชชา 4 ติดตามสหายนำที่เหลือไปประชุมทางการเมืองในเขตป่าเขาแทน เนื่องจากการการเคลื่อนไหวในเมืองยังไม่มีความปลอดภัยพอ 

หลังเสียงปืนแตกครั้งสุดท้ายของ พคท. กับทางการไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2535 ในยุทธการ 35 วันนรกป่าบางกลอย เหนือป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อกองกำลังของธง แจ่มศรี ปะทะกับกองกำลัง ตชด. ถือเป็นการปิดฉากการสู้รบด้วยกำลังอาวุธครั้งสุดท้ายระหว่าง พคท. กับรัฐบาลไทย ธง แจ่มศรี ออกจากป่าเมื่อปี 2536 ก่อนจะหลบลี้ใช้ชีวิตอยู่อย่างเงียบๆ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา และปรากฎตัวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในงานคอนเสิร์ตเพลงปฏิวัติครั้งที่ 1 เมื่อปี 2546 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ก่อนจะให้สัมภาษณ์หนังสือ “สารคดี” และเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผย “บนดิน” ในเวลาต่อมา โดยยืนหยัดเจตนารมณ์ต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพเมื่อปี 2549 และ 2557 อย่างเปิดเผยชัดเจน

หลังรัฐประหาร 2549 เกิดความแตกแยกทางความคิดมากมายในขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ไทยและสหายนำของ พคท. ในการต่อสู้กับศัตรูเฉพาะหน้าทางการเมืองระหว่างการชุมนุมของประชาชนต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนเกิดการรัฐประหาร ช่วงปี 2550 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งเป็นบุตรชาย พ.ท.พโยม จุลานนท์ สหายนำของขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย ได้ติดต่อผ่าน ธง แจ่มศรี เลขาธิการ พคท. เพื่อให้สมาชิกพรรครับรองรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในการประชามติ แต่เขาปฏิเสธ การวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ที่แตกต่างกัน นำไปสู่บทบาทและวาทกรรมแบ่งแยกในช่วง “เหลือง-แดง” ในเวลาต่อมา เกิดการแตกแยกของขบวนการและสถานะขององค์การนำอย่างชัดเจน 

ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคอย่างรุนแรงในเรื่องแนวทางการเมืองและสถานะขององค์การนำ ธง แจ่มศรี ได้ออกคำแถลงเนื่องในวาระการก่อตั้ง พคท. ครบรอบ 67 ปี ประกาศเจตนารมณ์ยุบองค์การนำ และต่อมาได้ประกาศลาออกจากเลขาธิการพรรคเมื่อปี 2553 ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งของกรมการเมืองอย่างรุนแรง ปี 2553 คณะกรรมการกลาง พคท. ฝ่ายเสียงข้างมาก นำโดย ไวฑูรย์ สินธุวานิชย์ หรือสหายขาบ และวินัย เพิ่มพูนทรัพย์ หรือสหายชิต ได้ประกาศตั้งคณะกรรมการกลางชุดใหม่ และตั้ง “วิชัย ชูธรรม” หรือสหายเล่าเซ้งเป็นเลขาธิการพรรคฯ คนใหม่แทน

เมื่อวันที่ “ธง แจมศรี” ละสังขารโดยโรคชรา งานศพที่จัดขึ้นเพื่อสดุดีจิตใจปฏิวัติอย่างกล้าหาญและยกย่องคำขวัญการ “อยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ” ของเขาได้มีสหายอาวุโสมาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งที่เปิดเผยตัวและไม่เปิดเผยตน จากความพยายามจัดงานอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติของ “ประสงค์ อรุณสันติโรจน์” อดีตกรรมการกลางพรรคฯ ที่ใกล้ชิดเขา ผู้ลุกขึ้นอ่านประวัติ ธง แจ่มศรี ด้วยตนเองหน้าเมรุฯ โดยมี “สัมผัส พึ่งประดิษฐ์” เป็นประธานทอดผ้ามหาบังสุกุล

ในพิธีส่งสหายครั้งสุดท้ายในครั้งนี้ ปรากฎตัวผู้แทนปีกสมัชชา 5 สหายขาบ หรือไวฑูรย์ สินธุวานิชย์ มาเป็นผู้แทนองค์การนำทอดผ้าบังสุกุลและแสดงความเคารพต่อสหายนำเป็นครั้งสุดท้าย ท่ามกลางสหายมากมายหลายเขตงานทั่วประเทศ และอนุชนรุ่นหลังที่มาร่วมงานจำนวนมากเพื่อรำลึกถึงชีวิตนักปฎิวัติตลอดกาลของเขา และด้วยจิตใจแน่วแน่ว่าสักวันหนึ่งสังคมไทยจะดีขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ที่พวกเขาปลูกฝังไว้ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อมาตุภูมิ ด้วยอุดมการณ์ที่เปรียบเหมือนดาวเหนือชี้นำทาง ตลอดมาและตลอดไป..

 แด่ “ธง แจ่มศรี” วีรชนนักปฏิวัติตลอดกาล.

image_pdfimage_print