เรื่องและภาพโดย ภานุมาศ สงวนวงษ์ 

นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มเริ่มปฏิบัติการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าเมื่อปี 2558 หลายครอบครัวในหมู่บ้านตามุยและหมู่บ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ ต้องถูกดำเนินคดีและถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง 

แม้บางส่วนจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ก็ต้องลงชื่อในเอกสารแสดงความยินยอมคืนพื้นที่ทำกินส่วนหนึ่งให้แก่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นว่ามีการบุกรุกที่ดินทำกินเพิ่มเติมหลังปี 2557 

แม้คนในหมู่บ้านตามุยจะยังทำเกษตรในพื้นที่เช่นเดิม แต่พวกเขาก็กังวลและไม่แน่ใจว่า จะถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกินเมื่อใด 

เช่นเดียวกับการออกไปเก็บอาหารตามธรรมชาติ อย่างเห็ด หน่อไม้ และผักบางชนิดในป่าใกล้ๆ หมู่บ้าน เพื่อนำมาปรุงอาหารและขายเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งชาวบ้านเองก็หวาดกลัวว่า อาจจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีได้ 

เสียงเรียกร้องส่วนหนึ่งของพวกเขาคือ อยากให้รัฐกำหนดแนวเขตที่ดินทำกินให้มีความชัดเจนและมีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริง รวมถึงมีความเข้าใจในวิถีชิวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่ซึ่งต้องอาศัยหากินอยู่กับป่า พวกเขายินดีปฏิบัติตามนโยบายของรัฐในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ โดยการมีส่วนร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน 

สด จันทร์สุข วัย 66 ปี ชาว ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เมื่อย้อนไปหลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม หัวหน้าอุทยานฯ ในสมัยนั้นได้มาสำรวจเพื่อปักป้ายอุทยานฯ และหารือเรื่องแนวเขตกับชาวบ้าน และสัญญาว่าจะกันที่ดินบริเวณนี้ออกจากเขตอุทยานฯ เพื่อให้ใช้ทำมาหากินได้ 

“เมื่อไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ผมต้องหยุดทำกินบนที่ดินแปลงนี้ไประยะหนึ่ง เพราะไม่อยากเสี่ยงกับการถูกจับ ก่อนจะกลับมาทำกินอีกครั้ง” สดเล่า 

เมื่อเจ้าหน้าที่มาสำรวจครั้งใหม่ช่วงต้นปี 2562 เขาตัดสินใจลงชื่อในเอกสารฉบับหนึ่ง เพื่อยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้สำรวจที่ดินแปลงนี้แล้ว ทั้งที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เอกสารฉบับนั้นเขียนข้อความว่าอย่างไร และจะส่งผลอย่างไรกับการทำกินบนที่ดินของตัวเอง 

“ตั้งแต่เขาสร้างเขื่อนในจีน วิถีชีวิตของชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงก็เปลี่ยนไป การหาปลาที่เคยเป็นรายได้หลักลดลงจนต้องหันหลังให้แม่น้ำ มุ่งหน้าสู่ภูเขา ทำเกษตรบนเพื่อหารายได้ ก่อนจะพบว่า ที่ดินแปลงเดียวที่ทำกินมาตั้งแต่พ่อแม่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม” ชาวประมงคนนี้เล่า 

image_pdfimage_print