เรื่องและภาพโดย ภานุมาศ สงวนวงษ์
“ผมคิดนะว่า ถ้าผมเสียที่ดินไป ผมอยากตายไปเลย ผมไม่อยากอยู่หรอก” เป็นเสียงของ ฤทธิ์ จันทร์สุข ชายวัย 50 ปี ที่พูดอย่างสั่นเครือ ขณะยืนมองแปลงมันสำปะหลัง 2 ไร่ 3 งาน ที่กำลังจะหลุดมือ
แม้ไอแดดที่แผดเผาจะทำให้หยดเหงื่อซึมไหลลงทั่วบนใบหน้าของชายผู้นี้ แต่ก็มิอาจปกปิดรอยหยาดน้ำตาที่เปื้อนบนใบหน้าของชายผู้เงียบขรึม
“ที่ดินผืนนี้ เราทำกินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม” ฤทธิ์ เล่าพร้อมกับเดินสำรวจไร่มันปะหลังที่กำลังเขียวขจี
เขาเป็นชาวบ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานีโดยกำเนิด และได้ที่ดินแปลงนี้เป็นมรดกจากพ่อแม่เท่าๆ กับพี่ชายอีก 2 คน
จากลำห้วยกลายเป็นผืนดิน
หากมองไปรอบๆ แปลงเกษตรผืนนี้ ยังคงมีต้นยูคาลิปตัสขนาดใหญ่อายุหลายสิบปีที่หนีรอดจากไฟไหม้ยืนต้นอยู่ประปราย ถัดไปเป็นที่นาของพี่ชายและไร่นาเพื่อนบ้าน ส่วนที่ดินตลอดแนวถนนลาดยางติดกับภูเขาบางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม
“สมัยก่อนพื้นที่บริเวณนี้เป็นห้วยเล็กๆ เต็มไปด้วยหิน ไม่ค่อยมีดินพวกเราจึงทำกินด้วยการปลูกข้าวแบบนาหยอด หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขนหินมากั้นเป็นคันเพื่อดักดิน นานเข้าก็เปลี่ยนเป็นที่นาเหมือนที่เห็นตอนนี้” เขาเล่าความเป็นมาในผืนดินมรดก
เมื่อปี 2558 รัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มสำรวจการครอบครองที่ดินของราษฎรและพบว่าที่ดินของเขาอยู่ในเขตอุทยานฯ จึงขอให้ลงนามในเอกสารคืนพื้นที่ แต่เขาไม่ยอม
“ผมไม่ได้บุกรุกที่อุทยานฯ เพราะเมื่อก่อนมีแนวเขตกันระหว่างที่ทำกินของชาวบ้านกับที่อุทยานฯ แต่ตอนหลังได้ขยายแนวเขตมาถึงริมถนน แล้วจะให้ผมเซ็นต์ยินยอมได้ยังไง ผมจะไปทำกินที่ไหน ที่ดินของผมอยู่ที่นี่” ฤทธิ์ตั้งคำถาม
รอลุ้น 10 ก.ย. คดีส่งขึ้นศาลหรือไม่
ปลายปี 2561 ฤทธิ์ถูกแจ้งความในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มและไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแล้ว 3 ครั้ง อัยการนัดว่าจะฟ้องหรือไม่วันที่ 10 กันยายนนี้
สถานการณ์ของฤทธิ์แตกต่างจากชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ยอมเซ็นต์เอกสารด้วยความจำใจ เพราะไม่อยากถูกดำเนินคดี ระหว่างนี้เขายังคงทำกินอยู่ในที่ดินเดิม โดยไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จะมายึดคืนเมื่อใด
“ถ้ารัฐบาลเห็นใจคนจนมีที่ทำมาหากินด้วยความสุจริต ก็ควรแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านทำกินในที่ดินของตัวเอง ด้วยการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจนและอยู่กับป่าได้” เขาเสนอ
แผนที่หมู่บ้านตามุยและบ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เส้นสีแดง คือ เส้นแบ่งตามแผนที่แสดงทางเดินสำรวจแนวเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม
ย้อนประวัติก่อตั้งหมู่บ้าน
เมื่อย้อนประวัติตั้งหมู่บ้านตามุยพบว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2401 ก่อนจะขยายกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และตั้งเป็นหมู่บ้านตามกฎหมายเมื่อปี 2470 ในเขตพื้นที่ ต.ห้วยยาง ก่อนจะแยกเป็น ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยกว่า 120 หลังคาเรือน
ส่วนป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูหล่นประกาศเมื่อปี 2516 ต่อมาปี 2534 ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้ม
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ สด จันทร์สุข ชายวัย 66 ปี ที่เล่าย้อนเรื่องราวเมื่อ 40 ปีที่แล้วว่า เมื่อครั้งเกิดสงครามฝั่งลาวทำให้เขาและครอบครัวย้ายจากหมู่บ้านตามุยที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงมาอยู่บนภูเขา เพราะกลัวอันตรายจากภัยสงคราม
“สมัยก่อนเจ้าหน้าที่มีไม่มาก ชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลรักษาป่า ใครเห็นอะไรก็ไปแจ้งเจ้าหน้าที่” สด บอก
เขายังเล่าอีกว่า หลังประกาศเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม หัวหน้าอุทยานฯ ในช่วงนั้นได้สำรวจเพื่อกำหนดแนวเขต โดยแจ้งชาวบ้านว่าจะกันที่ดินทำกินออกจากเขตอุทยานฯ แต่ไม่ได้ลงเป็นลายลักษณ์อักษร
“ผมหยุดทำกินบนที่ดินบนภูเขาไประยะหนึ่ง เพราะไม่อยากถูกจับ ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ขึ้นมายิงพิกัด ส่วนผมล้อมรั้วกันแนวเขตของตัวเองออก แต่เขาก็ไม่สนใจ” ชายวัย 66 ปีกล่าว
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มเริ่มสำรวจแนวเขตอีกครั้งเมื่อปี 2559 โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศกำหนดแนวเขต และขอให้ชาวบ้านที่ครอบครองในเขตป่าออกจากพื้นที่
ด้วยความไม่รู้กฎหมาย เมื่อเห็นคนอื่นยินยอม เขาจึงลงนามในเอกสารฉบับหนึ่ง ทั้งที่ไม่รู้ว่า เอกสารฉบับนั้นมีใจความสำคัญอย่างไร
ตอนนี้ที่ดินของสดยังคงล้อมรั้วลวดหนามเพื่อกันวัวควายของเพื่อนบ้านไม่ให้เข้าไปทำลายพืชผล ทั้งมะม่วง มะขาม และมะม่วงหิมพานต์ ที่ปลูกไว้ตั้งแต่รุ่นพ่อ เพราะถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครอบครัว
แม้จะมีผลผลิตจากไร่นา แต่ก็ไม่ได้สร้างรายได้ให้ครอบครัวมากนัก พอเสร็จหน้านา สดจึงต้องหาปลาด้วยวางลอบริมตลิ่งแม่น้ำโขง แต่เขาบอกว่า “แม่น้ำโขงเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม”
จุฬา จันทร์สุข หรือ โก้ ตรวจมองดักปลาในแม่น้ำโขง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี แต่ในน้ำกลับไม่มีปลา
กระแสน้ำไหลผ่านเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเสียงดังครืนๆ จุฬา จันทร์สุข หรือ โก้ น้องชายของสด ชาวประมงแห่งบ้านตามุย ติดเครื่องยนต์เรือลำเล็กออกไปตรวจมองที่ดักไว้กลางแม่น้ำโขง เช้าวันนั้นโชคไม่เข้าข้าง ในมองดักมามีแต่เศษไม้และขยะเล็กน้อย ไม่มีปลาติดตาข่ายเหมือนเช่นเคย
โก้เล่าให้ฟังว่า 10 กว่าปีก่อน น้ำในแม่น้ำโขงยังเป็นไปตามฤดูกาล กระทั่งมีการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงในจีน ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มขึ้น จากเดิมที่เคยจับปลาขายได้วันละหลายพันบาทถึงหมื่นบาทในช่วงน้ำหลาก แต่ตอนนี้ในหมู่บ้านแทบไม่มีใครทำประมง
“เมื่อก่อนหาปลาเพื่อขาย แต่เดี๋ยวนี้จะหากินก็ยังลำบาก” จุฬา เล่าพลางเก็บอุปกรณ์หาปลาขึ้นเรือ
ผลการศึกษาจากองค์การ UNESCO พบว่า แม่น้ำโขงตอนล่างมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะระหว่างการก่อสร้างเขื่อน 11 แห่งในแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อท้ายน้ำและความมั่นคงทางอาหารและต่ออาชีพการทำประมงของคนในลุ่มน้ำ
“แนวทางที่ดีที่สุดในการจัดการตะกอนและบรรเทาผลกระทบในระดับชาติและภูมิภาคควรวางแผนการพัฒนาและจัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน” งานวิจัย UNESCO เสนอ
เมื่อในน้ำไม่มีปลา จุฬาจึงหันไปทำนา แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ที่ดินอยู่เขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ไม่ต่างจาก ฤทธิ์ จันทร์สุข น้องชาย แต่เขายืนยันว่า ครอบครองที่ดินมาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยาน
“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมที่ดินของน้องชายอยู่ในเขตอุทยานฯ และเป็นผู้บุกรุกใหม่ ทั้งที่ทำกินต่อจากพ่อแม่เหมือนกัน” จุฬาตั้งคำถาม
ห่างจากหมู่บ้านตามุยไม่ถึง 1 กิโลเมตร คือ หมู่บ้านท่าล้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า มีชาวบ้าน 6 คนถูกแจ้งข้อหาบุกรุกเขตป่า หนึ่งในนั้น คือ ใหล ศิริมาตร์
เจ้าของบ้านที่ถูกกล่าวหาว่า บุกรุกป่าในหมู่บ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ถ้าถูกตัดสินว่า บุกรุก จะต้องรื้อบ้านออกครึ่งหนึ่ง
กงพัด วงละคร หญิงวัย 54 ปี ภรรยาของใหล ศิริมาตร์ เล่าว่า ตอนแรกเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจแนวเขตแล้วบอกว่า ไม่เป็นไร แต่ต่อมาเขากลับให้รื้อออก
“เขาบอกให้เรารื้อเอง ถ้าไม่รื้อ จะมารื้อให้และอาจจะถูกจับ อาจต้องเสียทั้งเงินและเข้าคุก” กงพัด เล่าพร้อมพาสำรวจบ้านที่จะถูกรื้อ
เจ้าหน้าที่ได้นำภาพถ่ายทางอากาศมาให้ชาวบ้านดู แล้วบอกว่าบ้านของเธอครึ่งหลังหรือที่ดินประมาณ 1 งาน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม
“เขาบอกว่า ตามแผนที่มันโค้งๆ แล้วมาตกที่นี่ ข่อยบ่เข้าใจ แต่เคียดอีหลี จะรื้อออกจั๋งได๋ มันกะบ่มีหม่องอยู่นี่แล้ว เฮาบ่แม่นนายทุน แต่เป็นราษฎรทุกข์ๆ ยากๆ ” เธอกล่าวอย่างน้อยเนื้อต่ำใจ
บันทึกการใบแจ้งความจากสถานีตำรวจ สภ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระบุว่า ใหล ศิริมาตร์ มีความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดิน ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 เนื่องจากมีที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติดงภูโหล่นทางด้านทิศเหนือ
ขณะที่ นครินทร์ สุทัตโต นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี ชี้แจงว่า เริ่มยึดคืนพื้นที่จากชาวบ้านที่บุกรุกป่าตามนโยบายทวงคืนผืนป่าเมื่อปี 2558 มีผู้บุกรุกทั้งหมด 41 แปลง โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าเจรจาและแสดงภาพถ่ายทางอากาศว่า มีการรุกล้ำหลังปี 2557 ทำให้ชาวบ้านบางส่วนยอมคืนพื้นที่
“มีชาวบ้านตามุยและชาวบ้านท่าล้งประมาณ 7 คน ไม่ยอมคืนพื้นที่ โดยเขายืนยันว่า อยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตป่า ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไง เพราะมีหลักฐานว่าเขาบุกรุก” นครินทร์กล่าว
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอความเป็นธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในช่วงนั้นจึงตั้งคณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริง และที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจเส้นแนวเขตระหว่าง 3 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยพบว่า มีบางแปลงที่รุกล้ำแนวเขต
“เราก็ไม่อยากดำเนินคดี ไม่อยากเอาผิดชาวบ้าน แต่การบุกรุกแล้วไม่ยอมคืนก็ต้องจับ ตอนนี้แจ้งความไปแล้ว ยังอยู่ในขั้นตอนของอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่” เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม กล่าว
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2561 (ล่าสุดวันที่ 22 กันยายน) ดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าแล้ว 28,821 คดี ยึดคืนพื้นที่ป่าจากทั่วประเทศได้ 818,856 ไร่
เมื่อปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีเป้าหมายทวงคืนผืนป่าให้ได้ 27.2 ล้านไร่หรือประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ป่า
โสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลเน้นการตรวจยึดที่ดินจากนายทุนเป็นหลัก หลังจากการยึดคืนจะเร่งฟื้นฟูและปลูกทดแทนให้พื้นที่กลับมาเป็นป่าโดยเร็วที่สุด
“ผู้เดือดร้อนที่อยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตป่าเราต้องหาวิธีการจัดการที่ดี ตอนนี้กำลังรอคำสั่งเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน แต่ประชาชนรายย่อยไม่ใช่เป้าหมายหลักในนโยบายนี้” โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
เขายังกล่าวอีกว่า ล่าสุดรัฐมนตรีได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีให้ปรับทิศทางและนโยบายเพื่อให้มีความใกล้ชิดกับประชาชน อีกทั้งไม่อยากให้สื่อมวลชนเรียกนี้ว่า นโยบายทวงคืนผืนป่า เพราะในแง่จิตวิทยาไม่มีความใกล้ชิดกับประชาชน
“นโยบายนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะสามารถยึดคืนพื้นที่ป่าได้เป็นถึง 8 แสนไร่ ต่อจากนี้ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการรุกพื้นที่ใหม่” โสภณ กล่าวทิ้งท้าย