โดย พิรุณ อนุสุริยา 

แนวคิดมองโลกในแง่บวกให้กับชีวิต เป็นสิ่งที่หนังไทยขาดหายมาระยะหนึ่ง เพราะมักวนเวียนอยู่กับหนังตลกเบาสมองหรือเรื่องรักโรแมนติค รวมถึงหนังสยองขวัญ 

การทำหนังแลดูเก่าหรือเชยสำหรับ “ตลาด” อย่าง “ฮักบี้ บ้านบาก” ที่เป็นการต่อสู้เพื่อความฝันของกลุ่มคนตัวเล็กๆ ในสังคม จึงนับเป็นความกล้าหาญและสุ่มเสี่ยงที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในเชิงรายได้

นักกีฬาเด็กจากโรงเรียนบ้านบาก ลงแข่งขันรักบี้ที่ต้องเผชิญอุปสรรคใจากสรีระของคู่ต่อสู้ที่  ภาพจากหนัง “ฮักบี้ บ้านบาก”

“ฮักบี้ บ้านบาก” เล่าเรื่องของครูชนบทธรรมดาๆ และเด็กอีสานกลุ่มหนึ่งที่จับพลัดจับผลูมาแข่งกีฬาที่ “คนอีสาน” แทบไม่รู้จักอย่างรักบี้ 

หนังเปิดเรื่องด้วยสถานการณ์ที่ครูธงชัยต้องพยายามสอนเด็กเล่นรักบี้ เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าใจผิดคิดว่า กีฬาที่ครูเชี่ยวชาญ คือ รักบี้ ทั้งที่จริง ครูเชี่ยวชาญกีฬาฮอกกี้ 

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นที่โรงเรียนบ้านบาก ต. สระสมิง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และครูธงชัยก็ไปรวบรวมพวกเด็กๆ ในหมู่บ้านมาเล่นรักบี้ ทั้งที่เด็กเหล่านั้นแทบไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้มาก่อน

สิ่งที่โดดเด่นมากในหนังเรื่องนี้ คือ การฉายภาพความเป็น “อีสาน” ได้ออกมาอย่างซื่อตรง แทบจะไร้จริตปรุงแต่ง ด้วยเรื่องราวของเด็กในหมู่บ้านที่ล้วนแต่มีอุปสรรคจากปัญหาครอบครัว 

พูดได้ว่า เด็กทุกคนเป็นเด็กชนบทที่ฐานะยากจน มีภาระงานที่นอกเหนือจากการเรียน การเอาเวลาไปซ้อมรักบี้นั้นในมุมของคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้วถือว่า เป็นเรื่องที่ไม่ก่อประโยชน์

ในเชิงภาพหนังนำเสนอ “วิถีชีวิตของคนอีสาน” ควบคู่ไปตลอดการฝึกซ้อม ช่วงต้นของหนังคนดูได้เป็นส่วนหนึ่งในวิถีการจับกบ จับแมลงและเล่นกลางแจ้ง 

แต่หนังก็เผยให้เห็นด้านมืดของสังคม ทั้งเรื่องยาเสพติด การขาดสวัสดิการ การรักษาพยาบาลที่ไม่ทั่วถึงและการดิ้นรนเพื่อปากท้องที่ลูกจำเป็นต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ทั้งกรีดยาง ค้าขาย ซึ่งต่างก็หวังให้ลูกมาช่วยไม่ต่างจากงานนางานไร่แบบสังคมดั้งเดิม

การฝึกซ้อมของกลุ่มเด็กบ้านบาก โดยใช้ลูกมะพร้าวแห้งไม่ต้องเสียเงินซื้อลูกรักบี้จริง ภาพจากหนัง “ฮักบี้ บ้านบาก”

ผิดจากหนัง “ไทบ้านเดอะซีรีส์” ภาคแรกที่เป็นเรื่อง แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ปะทะกับแนวคิดดั้งเดิม อย่างเรื่อง “สโตร์ผัก” แต่ “ฮักบี้ บ้านบาก” ยังคงเล่าถึงวิถีชีวิตแบบเดิม ผ่านมุมมองของเด็กที่แต่เดิมไม่คิดอะไรมากกว่าเล่นสนุก หรือแม้แต่การใช้ชีวิตบวชเณรในร่มเงาศาสนา นั่นทำให้คนในหมู่บ้านต่างมองกีฬาดังกล่าว ไม่ต่างอะไรจากภาระ แต่เมื่อเริ่มการฝึกฝน เด็กเหล่านี้กลับเริ่มเรียนรู้และสนุกสนานไปกับมัน 

และแน่นอนพวกเขาย่อมหวังชัยชนะ แม้ว่าสายตาจากคนนอกจะมองเป็นสิ่งที่ไกลเกินฝัน

ครึ่งหลังของหนังได้เปลี่ยนการนำเสนอจากเรื่องราวการฝึกซ้อมไปสู่การพัฒนาตัวเองไปสู่การแข่งขัน หนังเรื่องนี้จึงไปไกลกว่าหนังแนวสู้เพื่อฝันของคนตัวเล็กๆ เมื่อหนังเลือกนำเสนอ “การดิ้นรนของผู้ใหญ่” ผ่านครูและ ผอ. โรงเรียน ที่ไม่มีเส้นสายหรือเงินทองมากพอที่จะพา “ฝันของเด็กบ้านบาก” ไปสู่การแข่งขันระดับประเทศได้

การได้เห็นภาพครูธงชัยไปหยิบยืมเงินพี่น้อง เรี่ยไรจากชาวบ้านร้านตลาด ขณะที่ ผอ. ก็ต้องอาศัยความมั่งมี (ที่น้อยนิด) ของตัวเอง สละทรัพย์สินบางอย่างเพื่อความฝันของเด็ก 

นั่นจึงเป็นการนำเสนออุดมคติแห่งการมองโลกในแง่ดีที่งดงาม แม้อาจจะมองว่า “โลกสวย” เกินไป แต่ในความเป็นหนังอีสานชนบท การได้เห็นความมุ่งมั่นเช่นนี้ ทำให้เราเชื่อได้ว่า มันไม่เกินความเป็นจริง ซึ่งหนังยังได้เสนอภาพ “น้ำใจไมตรี” ในกลุ่มเด็กผู้หญิงของหมู่บ้านที่อาสามาช่วยให้กำลังใจทีมฮักบี้บ้านบากมาแล้ว

กลุ่มเด็กผู้หญิงในหมู่บ้านที่เป็นแรงใจให้เอาชนะการแข่งขัน ภาพจากหนัง “ฮักบี้ บ้านบาก”

ในแง่ของบทภาพยนตร์แนวกีฬา จะมีสูตรสำเร็จหรือกรอบแนวคิดที่เชื่อกันว่า เป็นความสมจริง คือ การสอดแทรกเทคนิคทางการกีฬาชนิดนั้นว่า กลุ่มตัวละครหลักใช้กลยุทธ หรือความรู้ ศัพท์แสงต่างๆ เพื่อการชนะคู่แข่งในแต่ละครั้ง 

แต่สำหรับ ฮักบี้ บ้านบาก กลับฉีกออกมาอีกแบบ โดยมีเพียงคำสอนและความเชื่อของครูธงชัย (ที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องรักบี้มากมาย) แต่สิ่งที่ครูพร่ำสอนกลับเป็นหัวใจหลักของทุกกีฬา นั่นคือ ความสามัคคี มีน้ำใจนักกีฬาและความมุ่งมั่นที่จะมองอดีตที่ล้มเหลวให้ผ่านไปแล้วมองไปข้างหน้า

ช่วงก่อนไคล์แมกซ์ของการแข่งครั้งสุดท้าย เป็นคืนเก็บตัวก่อนลงสนาม หนังได้นำเสนอความเชื่อแบบตะวันออกที่เชื่อว่า หนังฮอลลีวูดไม่เคยทำ นั่นคือ การที่ครูธงชัยให้เด็กนั่งสมาธิเพื่อเตรียมใจให้พร้อมสำหรับการแข่งขันและหนังก็ทำใหเห็นว่า ความพยายามของเด็กๆ นำมาสู่ความสำเร็จในที่สุด หนังเรื่องนี้อาจไม่ใช่หนังที่เลอเลิศหรือคมคายในแง่ประเด็น แต่สิ่งที่มาทดแทน คือ ความจริงใจและอุดมคติที่ซื่อตรงในแบบหนังเด็กที่วงการหนังไทยขาดหายมานาน ซึ่งเด็กหนังที่คนลืมไม่ลง คือ “แฟนฉัน” (ปี 2536) 

ขณะที่ความเป็นอีสานในหนังเรื่องนี้ก็มีความจัดจ้านและสามารถเข้าถึงได้ ชนิดที่ทำให้คนดูหัวเราะลั่นกับมุกท้องถิ่นและก็ทำให้ลุ้นตัวโก่งเมื่อดูเด็กๆ เหล่านี้ฝ่าฟันคว้าแห่งชัยชนะจากกีฬาตะวันตกอย่าง รักบี้ 

ท้ายที่สุดหนังก็อธิบายว่า ความพยายามในการแข่งขัน มันไม่ได้เกี่ยวว่า จะเป็นกีฬาประเภทไหน แต่สิ่งที่ทำให้เด็กและครูได้ค้นพบระหว่างทางต่างคือ “คุณค่า” ที่ซ่อนอยู่ระหว่างเส้นชัยต่างหาก

image_pdfimage_print