โดย ภาณุพงศ์ ธงศรี

ในวรรณกรรมมักจะมีแง่มุมให้พิจารณาเสมอ วันหนึ่งผู้เขียนได้หยิบหนังสือเล่มเก่าที่อยู่ในตู้มาเปิดอ่าน 

แม้กระดาษจะเป็นสีเหลืองกรอบคล้ายจะขาดเสียให้ได้ แต่เมื่อเปิดเข้าไปอ่านก็ต้องเห็นความพิเศษที่ซ่อนอยู่ 

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “นิราศทัพเวียงจันท์” เป็นบันทึกประวัติศาสตร์จากความรู้สึกนึกคิด

 ภาพที่ 1 หนังสือประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันท์ จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์แสง รัชกาลที่ 4 ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร์ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2473

นิราศทัพเวียงจันท์ เป็นหนังสือที่นิพนธ์โดย หม่อมเจ้าทับ ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์  ได้เสด็จทัพหลวงเพื่อทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ บรรยายเหตุการณ์การเดินทัพและการสู้รบ 

เมื่อสืบค้นตามคำกล่าวของ บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่บอกว่า พระโอรสของกรมหลวงเสนีบริรักษ์ เสด็จไปตีเมืองเวียงจันทน์ ความพิเศษของ “นิราศทัพเวียงจันท์” เป็นการบรรยายเหตุการณ์และความงามของพระบรมมหาราชวังของเวียงจันทน์ ความยากลำบากในการยกทัพผ่านเส้นทางทุรกันดาร โดยบอกวันออกเดินทาง ดังนี้

สิบเอ็ดค่ำคุรุวาร์ยิ่งอาวรณ์ พร้อมนิกรเทียบท่าในวารี

จอมณรงค์ทรงพักตำหนักน้ำ ได้ฤกษ์ย่ำฆ้องโห่ประทับที่

เสด็จลินลาศยาตราลงวารี โดยวิถีแถวท่าชลาลัย

(นิราศทัพเวียงจันท์, 2544 : 36)

บุญเตือน ศรีวรพจน์ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 11 ค่ำ ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2369 

เมื่อนำวันเดือนปีดังกล่าวมาเทียบกับพื้นเวียง ซึ่งเป็นเอกสารที่เขียนเล่าเรื่องเหตุการณ์เดียวกัน โดยเอกสารพื้นเวียงที่เก่าที่สุด (จากการระบุปีที่เขียน) คือ ต้นฉบับใบลานหอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ

ข้อความลงท้ายตอนจบกล่าวถึง วัน เดือน ปี ที่ถอดใจความได้ว่า “รจนาแล้วยามแถใกล้เที่ยงแลท่านเฮย เณรสิงเป็นผู้จาน ซาเสน เป็นเจ้าลานแลท่านเฮย ศุภมัสดุ จุลศักราชได้ 1262 (พ.ศ. 2443) ตัวปีชวด นักสัตรโทศก” (จักรมนตรี ชนะพันธ์, 2561 : ออนไลน์) แสดงว่า เอกสารทั้งสองนี้มีอายุห่างกัน 74 ปี

ภาพที่  2 ภาพวาดนครหลวงเวียงจันทน์ในยุคหลัง โดยใช้มุมมองวาดจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง ภาพจากเว็บไซต์ Pantip.com 

อย่างไรก็ตามพื้นเวียงอาจเขียนขึ้นก่อนนั้น เพราะการจารใบลานของชาวอีสานมีการจารต่อๆ กันมา จึงสรุปไม่ได้ว่า เอกสารใดมาก่อนมาหลัง 

แต่การเปรียบเทียบเอกสารทั้งสองบ่งชี้ว่า เอกสารพื้นเวียงไม่ได้บรรยายความยิ่งใหญ่ของพระบรมมหาราชวัง แต่จะเน้นในเรื่องของการทำศึกสงครามมากกว่า 

ความยิ่งใหญ่ของเวียงจันทน์ หม่อมเจ้าทับได้บรรยายถึงแนวป้องกันชั้นนอกสุดที่ช่องข้าวสาร ซึ่งนับว่ากินพื้นที่กว้างมาก มีแนวภูเขาเป็นปราการธรรมชาติ ทางเข้ามีเพียงช่องเขาขาด โดยได้สร้างด่านป้องกันเมืองไว้บนเขาขาด เป็นแนวป้องกันเมืองเวียงจันทน์เดิมตั้งแต่สมัยอดีต

อันเวียงจันทน์ล้วนแต่คันภูเขาล้อม จำเพาะจรขึ้นจอมคิรีศรี

อันทางราบที่จะไปนั้นไม่มี ช่องวิถีแสนสุดกันดารเดิน

ที่ทางไปหนองหารด่านสนม นั้นเชียงสามาระดมบนเขาเขิน

ทำค่าขั้นกั้นทางไว้กลางเนิน พลประมาณหมื่นเกินสักสามพัน

(นิราศทัพเวียงจันท์, 2544 : 59)

ภาพที่ 3 วัดพระแก้วเวียงจันทน์ วาดโดย หลุยส์ เดอลาป็อก พ.ศ. 2410

เมื่อตกเย็นก็หยุดทัพพักที่ท่าบ่อ เวลาเช้าจึงยกทัพไปถึงพานพร้าว เมื่อมองจากพานพร้าวจะเห็นพระราชวังอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงอย่างชัดเจน มีแนวกำแพงสองชั้นกว้างยาวประมาณสองกิโลเมตร ทำด้วยไม้แดง
สลับกับป้อมปราการ มีหอรบติดปืนใหญ่ตลอดลำน้ำ แต่ตัวเมืองขยายออกมานอกแนวกำแพงเมืองไกล 

เมื่อหม่อมเจ้าทับทรงวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์แล้วก็ค่อนข้างหนักใจ ถ้าเจ้าอนุวงศ์ใช้ตัวเมืองรับกองทัพสยาม เพราะกว่าทัพสยามจะข้ามแม่น้ำโขงมาได้คงเสียหายหนักแน่นอน

พระสุริยงเที่ยงถึงกึ่งทวีป ก็เร่งรีบไปยังท่าชลาไหล

ตำแหน่งบ้านพรานพร้าวพวกลาวใน เป็นย่านใหญ่เยิ่นยาวสักคราววัน

พอตรงเวียงเห็นวังที่ฝั่งข้าม วิเศษเพราเพริศดูเฉิดฉัน

ทองระยับจับแสงพระสุริยัน ที่หน้าบันช่อฟ้าบราลี

(นิราศทัพเวียงจันท์, 2544 : 69)

ภาพที่ 4 คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสกับวัดพระพุทธรูปที่พบในวัดศรีสะเกษ นครหลวงเวียงจันทน์

นอกจากนี้ยังได้พรรณนาถึงบริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นนอกให้เห็นถึงการจัดระเบียบของเวียงจันทน์ว่ามีความสวยงามและอลังการมากแค่ไหน 

ทั้งยังบรรยายถึงพระมหามณเฑียร ซึ่งเป็นหมู่พระที่นั่งที่ใช้เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนท้องพระโรงมีเศวตฉัตร เครื่องสูงแสดงพระเกียรติยศ มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เปรียบเสมือนสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจักรวาล

ลุถนนดลโรงอัศวเรศ มีหอลอยคอยเหตุสูงระหง

เป็นสามชั้นมีกลองชัยอยู่ในกรง ล้วนบรรจงเงื้อมง่ามอร่ามตา

มีตึกดินทิมดาบกระหนาบข้าง ศาลาใหญ่ให้ขุนนางนั่งปรึกษา

ทั้งโรงรถโรงคชไอยรา เป็นสง่าตามแถวอยู่แนวทาง

มีโรงศักดิ์โรงแสงตำแหน่งที่ ทั้งโรงสารบัญชีอันกว้างขวาง

อีกโรงพิจารณาศาลากลาง ทั้งสองข้างแถวทิมอยู่ริมวัง

มีโรงปืนหน้าป้อมล้อมนิเวศน์ จนรอบเขตซ้ายขวาและหน้าหลัง

ที่วงในล้วนแล้วแต่แถวคลัง เป็นตึกตั้งรายเรียงอยู่เคียงกัน

มีโรงโขนใหญ่เยี่ยมเอี่ยมสะอาด งามประหลากน่าชมดูคมสัน

มีรอกร้อยห้อยเหาะเห็นเหมาะครัน เป็นจักรผันเลี้ยวไล่กันไปมา

………………………………………………. ……………………………………………….

ท้องพระโรงที่แท่นสุวรรณรัตน์ เศวตฉัตรห้าชั้นอันเฉิดฉาย

กำพูพื้นแดงฉันท์สุวรรณพราย งามระบายขาวดำดูอำไพ

ตำแหน่งนอกมีที่นั่งสำราญร้อน ที่นั่งสนามศศิธรอันสุกใส

พี่เที่ยวชมชื่นบานสำราญใจ แล้วตรงไปเข้าสู่ที่ไสยา

(นิราศทัพเวียงจันท์, 2544 : 70 – 71)

ภาพที่ 5 ภาพพระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ ราชวงศ์ล้านช้างหลวงพระบาง ประทับใต้สัปตปฎลเศวตฉัตรครองราชย์ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2438 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2448

เศวตฉัตรมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะแสดงถึงพระเกียรติยศของกษัตริย์ คำว่า เศวต แปลว่า สีขาว และฉัตรสีขาวนี้จึงเป็นสร้อยนามของกษัตริย์ล้านช้างร่มขาวนั่นเอง เพราะร่มขาวก็คือ ฉัตร 

ในตอนท้ายความงามของเวียงจันทน์ หม่อมเจ้าทับเปรียบไว้ว่า ประหนึ่งกรุงศรีอยุธยา ความว่า

ล่วงทวารด่านโดยทักษิณทิศ พี่เปลี่ยวจิตเปล่าใจอาลัยหา

งามสถานปานศรีอยุธยา ช่างเทียบทำทีท่าไม่ผิดทรง

(นิราศทัพเวียงจันท์, 2544 : 70)

จุดประสงค์ของการไปทัพครั้งนี้ หม่อมเจ้าทับระบุไว้ชัดเจนว่า “ไปลุยล้างเวียงจันทน์เสียบรรลัย ระยำไปย่อยยับอัปรา” การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นเหตุของการเข้ารบกับเวียงจันทน์ 

เมื่อไปถึงแล้วพบว่า เจ้าอนุวงศ์ได้หลบหนีจากพระราชวังไปแล้ว การรบกันครั้งนั้นทำให้เวียงจันทน์กลายเป็นเมืองร้าง เพราะมีการกวาดต้อนพลเมืองครั้งใหญ่ โดยจุดน่าสนใจในนิราศฉบับนี้คือ ไม่ได้ระบุว่ามีการเผาเวียงจันทน์ 

ภาพที่ 6 ภาพวาดพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ วาดโดย หลุยส์ เดอลาป็อก ที่เข้ามาสำรวจเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2410 ก่อนพระธาตุหลวงจะถูกพวกจีนฮ่อขุดทำลายเมื่อ พ.ศ. 2416

พระบรมมหาราชวัง อาณาเวียงจันทน์จะงดงามเพียงใดนั้น ไม่เคยมีการวาดภาพเอาไว้ แต่บทประพันธ์นี้ได้ชี้ให้เราเห็นแล้วว่า ความยิ่งใหญ่ของพระบรมมหาราชวังมีความงดงามไม่แพ้อาณาจักรใดในเขตพื้นที่อินโดจีนแห่งนี้ ดังกลอนนิราศบทสุดท้ายที่หม่อมเจ้าทับกล่าวไว้ว่า

ผู้เกิดหลังเวียงจันทน์นั้นเลื่อนลับ ได้สดับแล้วก็ยังจะกังขา

ดำเนินนามเวียงจันทน์จำนรรจา ไม่แจ้งว่าเมือบ้านสักปานใด

เอกสารอ้างอิง

  • จักรมนตรี ชนะพันธ์. (17 พฤศจิกายน 2561) พื้นเวียง : หลักฐานเบื้องลึกอีกด้าน สาเหตุสงครามเจ้าอนุวงศ์ เข้าถึงได้จาก www.silpa-mag.com: https://www.silpa-mag.com/history/article_6867
  • นิราศทัพเวียงจันท์ (2544) สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ) กรุงเทพฯ: มติชน
image_pdfimage_print