ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยไม่มีการเลือกต้ังมานานกว่า 5 ปี เพราะมีรัฐบาลมาจากการทำรัฐประหารปกครองประเทศ 

ช่วงที่มีประกาศให้มีการจัดเลือกตั้งเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยในเขตพื้นที่จังหวัดอีสานและทางภาคเหนือ 

การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ที่หลายคนคาดหวังว่า จะสามารถลงหลักปักฐานได้รับการเลือกตั้งในพื้นที่อีสานและทางภาคเหนือ เพราะเป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดง 

ข่าวลือเรื่องการใช้จ่ายเงินซื้อเสียงจำนวนมากที่จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารยังมีอำนาจ

วันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “20 ปี การกระจายอำนาจกับการเลือกตั้งในอีสาน” ขึ้นเพื่อถอดบทเรียนการเลือกตั้งใหญ่

การเสวนาครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งเวทีเสวนาวิชาการ 2 ทศวรรษการกระจายอำนาจไทย: ทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาเพื่อออกแบบและพัฒนา โดยมีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นภาคีร่วมจัด

การเสวนามีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งระดับชาติที่เกิดขึ้นภายหลังจากการยึดอำนาจของเผด็จการทหารที่น่าสนใจและอยากนำมาแลกเปลี่ยน 

ผู้คนกว่า 5,000 คน ร่วมฟังพรรคเพื่อไทยปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น เขต 2 ที่บริเวณลานกว้างในชุมชนบ้านสงเปือย ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น (ภาพโดย วิศรุต แสนคำ)

ดร.ประเทือง ม่วงอ่อน หนึ่งในผู้เข้าร่วมอภิปรายได้กล่าวถึง งานวิจัยของเขาที่ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า เรื่องการศึกษารูปแบบ วิธีการและผลกระทบการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ จ.อุบลราชธานี งานวิจัยดังกล่าว อาจารย์ประเทืองได้ลงไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งของจังหวัดอุบลราชธานีครั้งที่ผ่าน 

การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นพบว่า ในจังหวัดอุบลราชธานี มี ส.ส. ทั้งหมด 10 เขต พรรคเพื่อไทยสามารถชนะได้ 7 เขต พรรคประชาธิปัตย์ชนะได้ 2 เขต ส่วนพรรคพลังประชารัฐชนะได้ 1 เขต 

ผลการเลือกตั้งดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทยยังคงครองความนิยมในจังหวัดอุบลราชธานีค่อนข้างมาก โดยงานวิจัยของ ดร.ประเทือง ได้ข้อค้นพบที่สำคัญว่า เมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้งควบคู่กับบริบททางการเมืองไทยในขณะนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

ประการแรก ตัวพรรคการเมืองมีผลอย่างมากกับการได้รับชัยชนะของผู้สมัคร หลักฐานชิ้นสำคัญ คือ การเลือกตั้งในเขต3 (อำเภอวารินชำราบที่เป็นที่ตั้งของค่ายทหารและอำเภอนาเยีย) ของจังหวัดอุบลราชธานี 

เขตนี้เดิมทีเคยเป็นพื้นที่ของสุพล ฟองงาม อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและอดีต ส.ส.ประจำพื้นที่ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสุพล ฟองงาม ได้ย้ายพรรคไปสังกัดพรรคประชารัฐและส่งลูกสาวโยธาการ ฟองงาม ลงสมัครแทน 

ส่วนทางพรรคเพื่อไทยได้ส่ง กิติธัญญา วาจาดี ลงสมัครชิงตำแหน่ง ส.ส. ทั้งคู่ถือว่า เป็นผู้สมัครหน้าใหม่การเมืองระดับชาติ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ กิติธัญญา จากพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง 44,251 คะแนน ส่วนโยธาการ จากพรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียง 24,378 คะแนน 

มากไปกว่านั้นในเขตที่ 7 ที่ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ จากพรรคเพื่อไทยได้คะแนน 34,439 คะแนน เอาชนะ เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ได้คะแนน 30,748 คะแนน 

เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ เป็นบุตรของอดิศักดิ์ โภคกุลกานนท์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งปี 2554 ได้ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับสุพล ฟองงาม 

อีกกรณีหนึ่ง เขต 4 อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ชนะเขตนี้คือ เอกชัย ทรงอำนาจเจริญ จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 32,074 คะแนน เอาชนะตวงทิพย์ จินตะเวช ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐที่ได้คะแนน 20,433 คะแนน 

โดยเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ในอดีตเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2554 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ภายหลังย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทยและได้รับเลือกจากประชาชนให้เข้ามาเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ประการที่สอง การใช้จ่ายของเงินของพรรคการเมืองจำนวนมากไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่า ผู้สมัครพรรคนั้นจะได้รับการเลือกตั้ง 

ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นค่าใช้จ่ายที่พรรคการเมืองที่รายงานกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนที่สองเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เปิดเผย 

ส่วนค่าใช้จ่ายที่เปิดเผยกับกตต.ผลการวิจัยพบว่า เมื่อพิจารณาการใช้เงินของ 5 พรรคการเมืองใน 10 เขต ของจังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยพบว่า บางพรรคการเมืองจะทุ่มกำลังเงินลงไปในเขตที่ผู้สมัครของพรรคนั้นมีโอกาสชนะอย่างมาก เช่น พรรคอนาคตใหม่ทุ่มสรรพกำลังและเงินในการหาเสียงลงไปอย่างมากในเขตเลือกตั้งที่ 3 อำเภอวารินชำราบ อำเภอนาเยีย โดยใช้เงินหาเสียง 1,386,840.60 บาท แต่ได้รับการรับเลือกตั้งมาเป็น อันดับที่สาม อันดับที่หนึ่ง คือ พรรคเพื่อไทยใช้เงินในการหาเสียงเลือกตั้งเขต 3 จำนวน 1,048,223.40 บาท ส่วนอันดับสอง คือ พรรคพลังประชารัฐใช้เงินหาเสียง 976,279.92 บาท

ประการที่สาม การซื้อเสียงขายเสียงมีผลน้อยมากกับการเลือกตั้งครั้งนี้ มีบางพรรคใช้ทุ่มเงินในการซื้อเสียงเป็นจำนวนมาก มีการแจกทั้งหมด 3 รอบ คือ ช่วงที่ประกาศการเลือกตั้ง ช่วงหาเสียงและช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง 

การจ่ายเงินซื้อเสียงตกอยู่ที่ครั้งละ 200-500 บาท แต่ผลที่พบคือ พรรคที่ถูกกล่าวหาว่า ใช้เงินซื้อเสียงมากกลับได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนน้อยมาก ประชาชนในพื้นที่นั้นให้ความสำคัญกับเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายของพรรคที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่มากกว่า โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ ปัญหาสำคัญของพื้นที่ทั้ง 2 คือ เรื่องสินค้าการเกษตรและปัญหายาเสพติด 

ในยุครัฐบาลทหาร ประชาชนเกิดปัญหาอย่างมากกับสินค้าเกษตรตกต่ำและปัญหายาเสพติด การเลือกตั้งครั้งนี้เขาจึงเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่า เพราะเคยมีผลงานในเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรและการปราบยาเสพติด

สำหรับหัวคะแนนหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่ทำหน้าที่แจกเงินซื้อเสียงนั้นไม่ได้สังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เงินจากหลายพรรคการเมืองและแจกให้กับชาวบ้าน ที่สำคัญ หัวคะแนนหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ไม่สามารถสั่งหรือควบคุมชาวบ้านให้เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งได้อีกต่อไป

ประการที่สุดท้าย ความรุนแรงที่เกิดต่อผู้สมัคร การเลือกตั้งระดับชาติครั้งที่ผ่านมาอยู่ในช่วงที่มีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร สิ่งที่พบ คือ มีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามผู้สมัครของพรรคในการลงพื้นที่ มีการขู่ว่า จะตรวจค้น บางเขตส่งกำลังไปบล็อคการจัดงานหรือกล่าวอ้างเรื่องการจ่ายเงินซื้อเสียง 

ส่วนเรื่องของความรุนแรงในระดับการฆ่ากันไม่เกิดขึ้น แต่ความรุนแรงดังกล่าวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสงสารและความเห็นใจผู้สมัครบางคนจึงเทคะแนนให้ผู้สมัครพรรคที่ถูกคุกคามแทน

จากที่กล่าวมาเป็นผลการวิจัยที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีในช่วงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยประชาชนให้ความสำคัญอย่างมากกับพรรคการเมือง อุดมการณ์ของพรรคและนโยบายของพรรค 

ส่วนปัจจัยเรื่องตัวบุคคลนั้นประชาชนให้ความสำคัญในระดับรองลงมาและสุดท้าย คือ เรื่องเงินในการเลือกตั้งและการซื้อเสียง ถือเป็นปัจจัยรั้งท้ายที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้สมัคร สิ่งสำคัญผู้ที่เคยเป็นหัวคะแนนหรือผู้มีอิทธิพลในการคุมคะแนนเสียงให้กับนักการเมืองมีอิทธิพลน้อยมากต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน

การเลือกตั้งที่ผ่านมายังมีพรรคการเมืองบางพรรคใช้อำนาจและกลไกของรัฐสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง แต่ผลที่พบ คือ ประชาชนในพื้นที่กลับให้ความเห็นใจและเทคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ถูกรังแกมากกว่า เพราะเขามองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง 

นี่เป็นเพียงแค่ภาพสะท้อนในการเลือกตั้งเลือกตั้งระดับชาติของ จังหวัดอุบลราชธานีในช่วงเวลาหลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารยึดอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 5 ปีเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม 

  • ประเทือง ม่วงอ่อน. 2562. เรื่อง การศึกษารูปแบบ วิธีการและผลกระทบการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ จ.อุบลราชธานี เสนอต่อ สถาบันพระปกเกล้า.
image_pdfimage_print