วิทยากร โสวัตร เรื่อง  

ลองนึกดูซิว่า ตั้งแต่คณะราษฎรอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีประชาธิปไตยช่วงยาวอยู่แค่ไหน มันแทบจะเป็น 0 นะครับ 

จะมีช่วงยาวหน่อยก็จากทักษิณมายิ่งลักษณ์ ถึงกระนั้นก็ยังมีการขัดขวางให้สะดุดจังๆ สองครั้ง คือ รัฐประหารปี 2549 และ 2557  

นี่ยังไม่นับพวกชอบเตะตัดขาอย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและ กปปส.

จะว่าไปก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 การพัฒนาประชาธิปไตยในองค์กรสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยก็เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะระบบการเมืองมันไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่หรือมีช่วงยาวมากพอ

ถึงกระนั้นคณะสงฆ์ยังสามารถทำให้รัฐธรรมนูญของสถาบันตัวเองเป็นประชาธิปไตยได้ในช่วง 2484 (พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484) แต่เมื่อถูกทำลายลงจากฝ่ายอำนาจนิยมเผด็จการในปี 2505 ก็กลับไปใช้ระบอบเดิมที่ตกทอดมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทุกอย่างก็จบสิ้น (จริงๆ ก็ถูกแทรกแซงทำลายมาตั้งแต่คณะราษฎรเริ่มเสียอำนาจ)  

แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีช่วงประชาธิปไตยบ้าง แต่ก็ไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดไหนที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองสงฆ์ให้สอดรับกับรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยเหมือนสมัยคณะราษฎร

พูดได้ว่า คณะสงฆ์อยู่ใต้รูปแบบการปกครองสงฆ์ที่เป็นเผด็จการหรือพูดให้เบาที่สุด คือ ไม่เป็นประชาธิปไตยมายาวนานกว่าทางโลกหรือพวกโยมอย่างเราๆ (อย่างน้อยเราก็มีรัฐธรรมนูญช่วงปี 2517 และ 2540)

แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นตามหัวข้อบทความ คือ มีหมู่พระภิกษุหัวก้าวหน้ามากมายเลยที่ไม่ยอมจำนนต่อโครงสร้างนั้น แต่เขาทำงานเคลื่อนไหวกันอีกรูปแบบหนึ่งผ่าน concept  ‘คนเราพัฒนาได้ด้วยการศึกษา’ (คำๆ นี้เท่าที่ทราบก็เป็นคำของ ป.อ. ปยุตฺโตหรือ ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

สิ่งที่สังคมข้างนอกไม่ค่อยให้ความสนใจและฝ่ายก้าวหน้าแทบไม่รับรู้เกี่ยวกับสังคมสงฆ์เลยนั่น คือ ‘หน้าที่รอง’ หรืองานรองของคณะสงฆ์ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหานิกาย)  นั่นก็คือให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กชายหรือผู้ชายที่ยากจนด้อยโอกาสทางการศึกษา (หน้าที่หลัก คือ การปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมตามแนวทางของพระพุทธเจ้า) และที่พระเณรในประเทศไทยมีจำนวนมากก็เพราะส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อโอกาสที่ว่านี้

นึกภาพออกไหมครับว่า โลกการศึกษาปริยัติของพระเณรนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของธรรมะและภาษาบาลีเท่านั้น แต่มันคือวิชาการทางโลกด้วย ซึ่งมีการเรียนการสอนตั้งแต่ ม.1 – ปริญญาเอก ที่สำคัญมันใช้ทุนต่ำมาก 

มารดาของวิทยากร  โสวัตร (เสื้อสีน้ำเงิน) ถ่ายรูปร่วมกับเพื่อนของวิทยากร โสวัตร (ขวาสุด) ในขณะบวชเรียน 

ยกตัวอย่างช่วงที่ผมบวชเรียนชั้นมัธยมฯ ปี 2535-40  ค่าเทอม ม.ต้น 150 บาท ม.ปลาย 250 บาท ส่วนคนที่เรียนระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ค่าเทอม 350 บาท 

โอกาสตรงนี้แหละที่ทำให้เราได้ศึกษาหาความรู้ พอจะมีเงินซื้อหนังสืออ่าน เปิดโอกาสให้เราเข้าใจการเมืองเรื่องประชาธิปไตยด้วย

การที่พระที่มีความรู้ความสามารถได้ยศถาบรรดาศักดิ์ในมุมที่ก้าวหน้า ท่านเหล่านั้นใช้มันเป็นเสมือนเสาค้ำหลังคาศาลาให้สูงขึ้นและขยายให้กว้างออกไป เพื่อรองรับลูกหลานคนยากจนเหล่านี้ให้ได้ ‘โอกาส’ พัฒนาตัวเองด้วยการศึกษา

เอาเฉพาะในอีสาน เท่าที่ผมมีข้อมูลจากประสบการณ์ตรงที่บวชเรียนอยู่ 8 ปี จนจบม.6 ตั้งแต่ปี 2533 – 2541 และทุกวันนี้ยังมีปฏิสัมพันธ์ทางการศึกษาของพระเณรอยู่ตลอด โดยพบว่า พระเณรที่เรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ส่วนใหญ่จะเรียนเอกครุศาสตร์เพื่อจะสึกออกมาสอบเป็นครู ซึ่งก็ได้เป็นครูเยอะมาก (น่าจะมีทุกโรงเรียนด้วยซ้ำ?) 

ต่อมาเมื่อการเมืองขยายตัว มี อบต. เอกรัฐศาสตร์ ก็มีจำนวนพระเณรเรียนมากขึ้นและเท่าที่ผมสอบถามพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่จบจากพระเณรเหล่านั้น ผมตกใจมากครับว่า แทบจะทั้งหมดเวลาเลือกตั้งเลือกพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย และล่าสุดก็ขยายไปสู่พรรคอนาคตใหม่และพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

ครั้งหนึ่งผมไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ และพักบ้านอาจารย์ที่รับหน้าที่ดูแล  ซึ่งเป็นช่วงที่ กปปส. ประท้วงชัตดาวน์กรุงเทพฯ 

แม่บ้านอาจารย์เปิดทีวีแต่เช้า ระหว่างชงกาแฟและทำอาหารให้เรา พี่แกก็วิพากษ์วิจารณ์กปปส.ว่า เป็นพวกทำลายความเจริญของประเทศ  ไม่เข้าใจคนรากหญ้ายากไร้ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  

เช้าวันนั้นเราเลยต้องเปิดเวทีอภิปรายการเมืองไทยก่อนที่ผมจะไปบรรยายเรื่องวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยฯ พี่แม่บ้านจบ ป.6 หรือ ม.3 แต่มีความคิดแหลมคมมาก

ช่วง 2-3 ปีนี้ มีนักศึกษาเข้ามาคุยกับผมเรื่องศาสนา สังคม และการเมืองบ่อยและมากคนขึ้นเรื่อยๆ เท่าที่ผมสอบถามเขาหรือเธอที่มีพ่อเคยบวชเรียนแล้วมาเป็นครู เป็นอะไรต่างๆ ทั้งหมดเขาและเธอก็เลือกฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกับพ่อแม่

ผมว่า ความที่มีพื้นฐานยากจนเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ถูกโครงสร้างอันอยุติธรรมของไทยกดขี่ เอาเปรียบ และลิดรอนโอกาสต่างๆ ของชีวิตไป แล้วได้มาเรียนมาศึกษาพัฒนาชีวิตเปิดโลกทัศน์ นี่แหละมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมคนเหล่านี้ให้เข้าใจการเมืองและเลือกข้างประชาธิปไตย

มันก็เหมือนพวกทหาร ตำรวจ และข้าราชการนั่นแหละ บางทีก็ต้องรอดูพวกเขาตอนเกษียณ เพราะช่วงรับราชการอยู่แสดงท่าทีว่าโน้มเอียงมาทางนี้และเคลื่อนไหวเรื่องนี้ลำบาก

มองมุมนี้เราจะเห็นชัดว่า ในโครงสร้างของสงฆ์ไทยที่เรามีท่าทีรังเกียจว่าอยู่ใต้อำนาจนิยมของราชอาณาจักรนั้น เขาก็ได้สร้างแนวร่วมหรือขยายมวลชนประชาธิปไตยไม่น้อยกว่าเราและอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ (ลองมองถึงเพาเวอร์และความนับหน้าถือตาของคนห่มผ้าเหลืองหรือคนที่ออกมาจากพระแล้วช่วยเหลือครอบครัวญาติพี่น้อง) 

ลองมองขบวนการนี้ให้ยาวๆ เพราะประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในโลกนี้ไม่เคยรวบรัดตัดสั้น ที่สำคัญมันเป็นการลงทุนที่ถูกมากและไม่ทิ้งคนยากไร้ให้ได้แต่เฝ้ารอคอยอยู่ข้างหลัง

ในคำถามแบบตั้งแง่แบบเดียวกันกับที่เรามีต่อพระเณรนี้ ถ้าเขาเหล่านั้นย้อนถามเราว่า มีมหาวิทยาลัยข้างนอกรั้ววัดไหนไม่อยู่ในระบอบอำนาจนิยมของราชอาณาจักรและสามารถผลิตคนให้เป็นนักประชาธิปไตยได้หมดหรือมากพอบ้าง แล้วพวกอาจารย์นักวิชาการที่ว่า พระเณรเรื่องนี้ทำไมยังอยู่ในโครงสร้างมหาวิทยาลัยและไต่เต้ายศฐานะในนั้นล่ะ

และมีอาจารย์คนไหน คณบดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยคนไหนหรือที่รับผิดชอบส่งเสียลูกหลานชาวบ้านได้เป็นร้อยๆ เพื่อให้คนเหล่านั้นได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ อ่านหนังสือ โดยไม่ต้องเดือดร้อนทางบ้านเลยตั้งแต่ ม.1 ถึงจบปริญญา เหมือนอย่างหลวงพ่อ (พระธรรมโมลี ทองอยู่  ญาณวิสุทฺโธ) วัดศาลาลอยที่ผมเคยอยู่เรียน 

ตลอด 40 ปี ท่านดูแลให้โอกาสพระเณรปีละ 40-70 รูป (สมัยผมบวชเรียนมีพระเณรที่อาศัยวัดนี้เรียนหนังสือ 70 กว่ารูป) คิดคำนวณง่ายๆ ว่า  เอาแค่รอบ 6 ปี (ม.1-6) พระเณรจะถ่ายเทหนึ่งครั้งก็เอา 6 ปี ไปหาร 40 ปี เท่ากับ 6.6 ตีไปเป็น 7 แล้วเอา 7 นี้ไปคูณจำนวนพระเณรเฉลี่ยที่ 50 รูป ก็จะได้ 350 รูป 

หมายความว่าตลอดเวลา 40 ปี  หลวงพ่อได้เลี้ยงดูพระเณรลูกหลานคนยากจนให้ได้โอกาสทางการศึกษา ม.1-6 จำนวน 350 คน โดยที่พระเณรเหล่านั้นไม่ต้องรบกวนค่าใช้จ่ายใดๆ จากทางบ้านเลย (ที่ว่าเลี้ยงดูนี่คือเลี้ยงจริงๆ นะครับ คือ มีการประกอบอาหารเลี้ยง เพราะบิณฑบาตไม่พอกินและไม่มีใครมาเหมาเลี้ยงเช้าเพลตลอดปี)  

นอกจากจะได้เรียนแล้วยังเปิดโอกาสให้พี่น้องทางบ้านได้กินอิ่มมากขึ้นและอาจจะได้เรียนด้วย เพราะภาระทางการศึกษาของครอบครัวหมดไปหนึ่ง

ไม่ได้มีแค่หลวงพ่อวัดศาลาลอยผู้เดียวที่ทำแบบนี้ เอาแค่วัดสำนักเรียนในอีสานนี้ก็นับไม่ถ้วนแล้วครับ

ที่ชัดเจนที่สุด ตอนผมเป็นสามเณรเรียนมัธยมฯ ผมยังสามารถพาเด็กรุ่นน้องในหมู่บ้านมาบวชเรียนอาศัยวัดที่ผมอยู่ได้ตั้งหลายคน 

ยิ่งถ้าเป็นพระเณรนิสิตมหาวิทยาลัยสงฆ์ เวลาไปทำกิจกรรมพัฒนาเยาวชนภาคฤดูร้อน (บวชเณร) พวกเขาสามารถพาเด็กที่อยากเรียนไปฝากเรียนได้หลายสิบในแต่ละปีและปีหนึ่งๆ ไม่ได้มีโครงการเดียว มีเป็นเกือบร้อยโครงการทั่วประเทศ (ก็เหมือนที่เราออกค่ายนักศึกษานั่นแหละ แต่พระอยู่เดือนหนึ่งเป็นอย่างน้อย)

ถ้าเทียบกรณีนี้กับนักศึกษาที่ออกค่ายทำกิจกรรมกับเด็กกับชาวบ้าน  เราสามารถพาเด็กมีแววหรือใจใฝ่รู้แต่ยากไร้ไม่มีทุนมาให้ได้เรียนมีอนาคตทางการศึกษาได้สักกี่คนไหม ?

เว้นเสียแต่เราจะเข้าใจว่า คนที่จะเป็นฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตยได้นั้นต้องเกิดมาแล้วบรรลุโสดาบันประชาธิปไตยเลย โดยไม่ผ่านการเรียนรู้ การศึกษา ประเด็นคือองค์กรสงฆ์ได้ทำ “หน้าที่รอง” ที่ว่านั้นเพื่อคนยากไร้เหล่านั้นอย่างแข็งขันตลอดมา

แน่นอนว่า ไม่ได้ผลทางการเมืองประชาธิปไตยทั้งหมด แต่มันก็เป็นการเพิ่มโอกาสของความน่าจะเป็นไม่ใช่หรือ และเท่าที่เป็นมามันก็เพิ่มได้ไม่ใช่น้อยๆ

ทีนี้ มาถึงพื้นที่ในความหมายของ space ผมจะยกตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ ในช่วงเหตุการณ์ก่อนและหลังเหตุการณ์ปี 2553 ผมพบว่า วัดและงานพิธีกรรมทางศาสนากลายเป็นแหล่งรวมทางปัญญาของชาวบ้านอย่างน่าตื่นตา  

ช่วงปีนั้นผมได้กลับบ้านเกิดที่จังหวัดกาฬสินธุ์บ่อย ทุกงานที่ไป ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานบวช ผ้าป่า ผมมักจะถูกขอให้อธิบายเรื่องการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ชาวบ้านถกเถียงกันไม่ลง  

บรรยากาศอย่างนี้แตกต่างอย่างยิ่งกับในมหาวิทยาลัยของพวกเรา ถ้าเราจะว่า สถาบันสงฆ์ตายจากความเป็นผู้นำแสงสว่างทางปัญญาต่อสังคม ผมว่า มหาวิทยาลัยนี่แหละมืดสนิทมิดจี่หลี่ ซ้ำยังสิ้นเปลืองมากกว่าหลายร้อยเท่าในการลงทุนให้การศึกษา  หรือแม้แต่วันพระหรือเทศกาลสำคัญที่มีการทำบุญตักบาตรที่วัดก็เซ็งแซ่ไปด้วยการพูดคุยการเมือง 

การถามข่าวคนไปร่วมประท้วง การรายงานสถานการณ์ การส่งคนส่งของไปร่วมการชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งบางทีข้าวปลาอาหารนั้นก็คือที่ญาติโยมเอามาทำบุญล้นบาตรเต็มศาลานั่นแหละ ที่สำคัญพระก็ร่วมผสมโรงพูดด้วยอย่างออกรส  

มันถึงมีคำพูดของฝ่ายนั้นแพร่กันออกมาในช่วงนั้นไงว่า วัดและ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในอีสานทักษิณซื้อหมดแล้ว

สิ่งเหล่านี้ผมเห็นมากับตาและได้ยินมากับหู

คำถามคือ ในช่วงปีเหล่านั้น มีโรงเรียนไหน มหาวิทยาลัยไหน  สถานที่ราชการไหนหรือที่เปิดพื้นที่ให้กับความเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบนั้น นอกเสียจากส่งคนไปร่วมกับ กปปส. และเอาน้ำเอาข้าวมาถวายทหารตอนยึดอำนาจและเข้ามาควบคุมมหาวิทยาลัยตัวเอง

อย่าทำเป็นเล่นไป

ปรากฏการณ์ที่ว่ามานั้นไม่ได้รอดพ้นสายตาของฝ่ายอำนาจนิยมหรือกลุ่มเผด็จการที่เราต่อสู้ด้วยเลย เขาเฝ้าดูและเรียนรู้และถอดบทเรียนอยู่เสมอ และเขากำลังยิ้มหัวเมื่อเห็นเราให้ร้ายกันด้วยความถือดีในความรู้ ความคิด และทฤษฎีของเรา

ข้อยืนยันที่ชัดเจนที่สุดก็คือ คำประกาศข้อบังคับที่ห้ามวัดให้พื้นที่ในการทำกิจกรรมทางการเมือง และแน่นอน วัดเองไม่ได้ออกคำสั่งนั้น นั่นหมายความว่า ในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี เรากำลังถูกตัดกำลัง ถูกกระชับและถูกยึดพื้นที่

ถึงตรงนี้ถ้าเรายังไม่เห็นศัตรูร่วมของเราเป็นใครหรืออะไร และไม่มองหาแนวร่วมแล้ว ที่สำคัญการแสวงหาแนวร่วมนั้นก็ควรจะทำอย่างสร้างสรรค์ ใช้ปัญญาตริตรองและหัวใจให้มากกว่าที่ผ่านมา

ไม่อย่างนั้นแล้ว รับรองว่า ในการต่อสู้ จะมีแต่แพ้กับแพ้ เพราะธรรมชาติของการเมืองนั้น  

หลักการสำคัญที่สุด แต่วิธีการเอาชนะก็สำคัญไม่แพ้กัน

image_pdfimage_print