สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินอีสาน เรื่องและภาพ 

ชัยภูมิ – ตัวแทนชาวบ้านที่มีปัญหาที่ดินทำกินจากอำเภอคอนสาร หนองบัวระเหว เกษตรสมบูรณ์ แก้งคร้อ และบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ กว่า 40 คน ร่วมแลกเปลี่ยนกันที่บ้านเมืองเก่า ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ถึงสถานการณ์ที่ดินทำกินที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่

ไพโรจน์ วงงาน ตัวแทนชาวบ้านกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ถูกดำเนินคดี 14 คน รวม 19 คดี ถูกจำคุกเกือบ 2 เดือน และถูกกรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟ้องเรียกค่าเสียหายด้วย โดยหลังจากตัวแทนได้แลกเปลี่ยนปัญหากับกรมอุทยานฯ เมื่อวันที่ 13-15 มกราคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า จะมีการผลักดันแผนการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน

“เพื่อรับรองแผนการจัดการนั้น ชาวบ้านจำนวน 167 คน จึงจะปลูกป่าในพื้นที่ริมห้วยในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการปลูกไม้ผลแบบผสมผสานกับไร่มันสำปะหลัง เพราะมองว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าไม่จำเป็นต้องไปยึดที่ดินทำกินชาวบ้าน” ไพโรจน์กล่าว

อุทิศ โม้งน้อย ตัวแทนชาวบ้านจากกรณีปัญหาพื้นที่ป่าเตรียมประกาศเป็นป่าสงวนหมายเลข 10 จ.ชัยภูมิ

ส่วน อุทิศ โม้งน้อย ตัวแทนชาวบ้านจากกรณีปัญหาพื้นที่ป่าเตรียมประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติแปลงที่ 10 จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า พื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์กว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหากรณีที่ทำกินเป็น ภบท.5 และซ้อนทับด้วยกฎหมายหลายฉบับ โดยเมื่อปี 2561 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มาสำรวจป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ แล้วพบว่าพื้นที่บางแห่งทับที่ทำกินของชาวบ้าน บางแห่งทับพื้นที่ป่าชุมชน

“การที่ อบต.ยกเลิกการจัดเก็บภาษีดอกหญ้า ก็ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะไม่สามารถเข้าทำกินในที่ดินได้อีก” ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.เกษตรสมบูรณ์ กล่าว   

ขณะที่ ปราโมทย์ ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า จ.ชัยภูมิมีพื้นที่ป่าเตรียมการสงวนหมายเลข 10 แปลงที่ 1 ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ เกษตรสมบูรณ์ หนองบัวแดง และภักดีชุมพล ถือเป็นพื้นที่ที่มีการทับซ้อนระหว่างที่ดินทำกินกับพื้นที่ป่าสงวน บางส่วนมีหลักฐานการถือครองที่ดิน เช่น สค.1 บางรายมีใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ และที่สำคัญคือ ชาวบ้านได้ทำประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถทำธุรกรรมหรือมีสิทธิ์เข้าถึงการพัฒนาจากรัฐ ทำให้ชาวบ้านไม่มีหลักประกันในการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว 

“ถือเป็นเรื่องท้าทายในการแก้ไขปัญหาที่ดิน นอกจากจะมีการประกาศเป็นพื้นที่เตรียมการสงวนแล้ว ยังมีเขตปฏิรูปที่ดินซ้อนทับไปอีก ปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลายได้อย่างไร เครือข่ายฯ จะรวบรวมปัญหาเพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอไปยังผู้ที่มีอำนาจทางนโยบายต่อไป” ปราโมทย์กล่าว

image_pdfimage_print