เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ที่ โรงแรม Xotel ขอนแก่นงาน ตุ้มโฮม โสเหล่ สว.ประชาชน ขอนแก่น จัดให้ความรู้เรื่องการเลือกตั้ง สว. พร้อมกับจำลองการเลือกตั้ง ให้ผู้สนใจสมัคร สว. ชาวขอนแก่น โดยงานนี้มีผู้สนใจหลายกลุ่มอาชีพ ตั้งแต่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสตรี รวมถึงกลุ่มอื่นๆ 

อย่างที่หลายคนทราบกันการเลือกตั้ง สว. มีความสลับ ซับซ้อน ทั้งการเลือกตั้งไขว้กันไปมา การเลือกตัวแทนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เมื่อเลือกแล้ว ต้องเดินเข้าสู่ขั้นตอนตั้งแต่ระดับ อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่ง สว. 200 คน ไปทำหน้าที่ในสภา

พิณทอง เล่ห์กันต์ ผู้สมัคร สว. กลุ่มสตรี

ความซับซ้อนของการเลือกตั้ง สว.

พิณทอง เล่ห์กันต์ 1 ผู้สมัคร สว. กลุ่มสตรีกล่าวความรู้สึกหลังจากเข้าร่วมการจำลองเลือกตั้ง สว. ว่า

“เป็นครั้งแรกที่เราได้มาเข้าร่วมและพอเห็นกระบวนการแล้วเราก็งงเอง งงว่าบางทีมันตามไม่ทัน อันแรก เรื่องหมายเลขของผู้สมัคร ซึ่งมันจะเยอะมาก แล้วถ้าเรามีโอกาสได้เข้าไปถึงระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ มันจะกลายเป็นว่าปัญหามันจะเกิด เราเลือกได้ แต่ว่าเราจะไม่ได้รู้จักคน พอเมื่อพยายามจะจำตัวเลข แต่ไปกรอกผิด เพราะใบที่จะให้กรอกก็ซับซ้อน

“อันที่สอง มันต้องแบ่งสาย ในระดับอำเภออาจจะทำได้ แต่ในระดับจังหวัดจะเริ่มงงแล้ว เพราะมันจะต้องมาแบ่งจับสลาก แบ่งสาย ก. ข. ค. ง. ยังจะมีเรื่องของกลุ่ม คุณอยู่ในกลุ่มไหน ซึ่งตัวเองตอนที่คุยในวง เราจะสมัครกลุ่มสตรี 1-17 แต่พอเรามาเช็คในเอกสารคนสมัครมันอยู่กลุ่มที่ 18 พอเป็นแบบนี้ มันจะกลายเป็นแค่เรื่องตัวเลขว่าอยู่กลุ่มไหนก็ยังงงแล้ว ไหนจะต้องไปสู่เรื่องของการจำหมายเลขผู้หญิงอีก เอาจริงๆ พี่ว่าต้องใช้ดวงมากกว่าถึงจะชนะได้”

เมื่อถามถึงเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเลือกลงกลุ่มสตรี พิณทองกล่าวว่า “เราเป็นผู้หญิงอีสาน อยากเรียกร้องให้ผู้หญิงทุกคนต้องได้รับสิทธิ์ ได้รับการเข้าถึงทรัพยากร การปฏิบัติในส่วนเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ เท่าเทียมกับคนอื่น เราพูดถึงเรื่องผ้าอนามัยฟรีมาตลอด ในขณะที่สวัสดิการอื่นๆ บัตร 30 บาท ทุกคนใช้ได้ แต่ผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ผ้าอนามัยฟรี ถ้าจัดสรรให้ผ้าอนามัยฟรีกับผู้หญิงก็จะกลายเป็นว่าผู้หญิงได้สิทธิ์พิเศษ ก็ผู้ชายไม่มีประจำเดือนไง มันเป็นเรื่องที่ง่ายมาเลย 

“ผู้หญิงเข้าไม่ถึงสวัสดิการบางอย่าง โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นคนยากจน คุณรู้ไหมผ้าอนามัยราคาไม่ถูกนะ ต้องซื้อ 50-60 บาทกว่าจะได้แพ็คหนึ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ เขาเป็นคนที่ต้องการเรื่องพวกนี้มากกว่าคนอื่น ยิ่งถ้าเป็นคนที่รายได้น้อย อนามัยการเจริญพันธุ์ของเขาก็จะไม่ดี”

ฉัตรชัย พุ่มพวง สหภาพคนทำงานฯ

การแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องพึ่งการเลือกตั้งของ สว.

ขณะที่ ฉัตรชัย พุ่มพวง สหภาพคนทำงานฯ 1 ในวิทยากรภายในงาน กล่าวถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง สว. ต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. คือคนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนที่จะมี สสร. ได้ เราก็จะต้องรู้ก่อนว่าวิธีการได้มาซึ่ง สสร. คืออะไร ความสำคัญมากๆ ของการกำหนดอนาคตของสังคมเรา คือ ประชามติแก้ มาตรา 256 และการแก้มาตรา 256 มันต้องใช้ทั้ง 2 คือ สภา สว. และ สส.รวมกัน เพราะว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เขียนล็อคไว้

“ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องแก้มาตรานี้ สิ่งนี้เป็นตัวกำหนดว่า สสร. จะมายังไง สสร. จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไหม หรือจะมีใครแต่งตั้งมากำหนดด้วยสิ่งนี้ และอีกประเด็นที่สำคัญมากๆ คือ เราจะร่างได้ใหม่ทั้งฉบับไหม ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้เหมือนกัน ทีนี้ 256 ใครมีอำนาจในการแก้ หนึ่งในนั้นก็คือ สว. เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือส่วนหนึ่งของของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

ฉัตรชัย พุ่มพวง กำลังอธิบายความสำคัญของมาตรา 256

ฉัตรชัยกล่าวต่ออีกว่า “ผมทำงานสหภาพแรงงานมันจะมีวิธีการมองสังคม มันจะมีคน 1% กับคน 99% และก็แรงงาน ซึ่ง สว. คือนักการเมืองและเป็นคน 1% ซึ่งแปลว่าเขามีสิทธิ์ที่จะกำหนดอะไรหลายอย่าง ให้คุณ ให้โทษ กับคนเป็น 10 ล้าน เพราะคนเหล่านี้รวมถึง สส. ด้วย เขาเป็นคนมีหน้าที่ออกกฎหมาย แต่พวกเราที่เป็นคนธรรมดาอาจจะมีโอกาสเปลี่ยนสถานะเป็นคนมีอำนาจก็ได้ 

“ผมเชื่อว่าทุกคนในห้องนี้อยากเห็นสังคมนี้ดีขึ้น แต่พอเปลี่ยนสถานะแล้ว ผมยังอยากให้ทุกคนคิดดูว่าเรายังอยากที่จะมีเจตนาแบบนั้นอยู่รึเปล่า 

ถ้าสมมติวันหนึ่งคุณได้เป็น สว. ก็อยากให้จำวันนี้ไว้ที่คุณเคยอยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ให้สังคมนี้มันดีขึ้น และปัญหาก็คือ ถ้าเราไม่ได้ สว. 67 คน เราจะไม่สามารถกำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% ได้”

บรรยากาศงาน ตุ้มโฮม โสเหล่ สว.ประชาชน ขอนแก่น

ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า “10 ปีที่ผ่านมา เรามีอะไรที่ไม่เคยจะตะโกนบนท้องถนนได้
3 ข้อเรียกร้อง การเรียกร้อง การปฏิรูปอะไรต่างๆ 10 ปีมันเปลี่ยนไปเยอะมาก สังคมเรามาไกลมากและหลายท่านก็อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้มันนำโดยคนรุ่นใหม่ นำโดยเยาวชน ในสนามเลือกตั้ง สว. นี้ มันเป็นบทบาทสำคัญมาก

ผมไม่แน่ใจว่าผมฝากความหวังไว้กับพี่ช่วยผมหน่อยได้ไหมครับ 

“ผมไม่รู้ว่าทุกคนมีความเชื่อมีอุดมการณ์แบบไหน แต่ผมเชื่อว่าทุกคนก็อยากให้สังคมมันดีขึ้น อยากเห็นการกระจายอำนาจมาที่อีสาน อยากเห็นต่างจังหวัดมีรถไฟฟ้า อยากเห็นความเจริญออกมาจากส่วนกลางบ้าง รวมถึงอยากเห็นการกินดีอยู่ดีของเพื่อนๆ เราทุกคนที่เป็นประชาชน”

อรรถพล บัวพัฒน์ วิทยากร

สิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่หน้าที่ประชาชน แต่เป็นของ กกต.

ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ หนึ่งในวิทยากรกล่าวว่า “ที่จัดงานนี้ขึ้นมา เพราะอยากเห็นคนสมัคร สว. ให้มากที่สุด โดยไม่ได้สนใจว่าคุณจะมีแนวความคิดฝั่งไหน จะฝั่งเหลือง ฝั่งแดง ฝั่งส้ม ได้หมด ต้องการให้มีปริมาณเข้าไปแทรกแซงระบบที่รัฐธรรมนูญสร้างเอาไว้อย่างไม่เป็นธรรม และเพื่อกันคนมาล็อคคิว ให้จำนวนมันเกินฝั่งมีอำนาจควบคุมได้”

สำหรับการจำลองการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ อรรถพลอธิบายว่า “เพื่อให้ผู้สมัครมีประสบการณ์ก่อนที่จะไปเลือกตั้ง และถึงแม้จะจำลองออกมาแล้ว หลายคนก็ยังง มันทำให้เห็นว่ากระบวนการทำมาเหมือนไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง และพอไปดูรายชื่อคนที่ร่างกฎหมายขึ้นมาแล้ว ก็พบแต่คนที่ไม่ชอบการเลือกตั้ง สร้างอุปสรรคต่างๆ ขึ้นมา กันคนไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่ค่าสมัคร 2,500 บาท แถม กกต. ก็ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง พอคนอื่นเขาจะไปช่วยรณรงค์ ก็ออกมาข่มขู่

อรรถพลยังย้ำทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่หน้าที่เรานะ แต่มันเป็นหน้าที่ของ กกต.”

image_pdfimage_print