พิรุณ อนุสุริยา เรื่อง

บทความนี้ว่าด้วยภาพยนตร์ที่พูดถึงการแต่งงานกับคนต่างชาติ หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง Heartbound ถูกนำมาฉายในวงกว้าง (กว่าเดิมเล็กน้อย) จนเป็นที่รู้จักของนักชมภาพยนตร์ผู้นิยมภาพยนตร์สารคดีและนอกกระแส ผนวกกับการเกิดดราม่าทางสื่อสังคมเกี่ยวกับบทความถึงผู้หญิงอีสานจากบทความผ่านสื่อแห่งหนึ่ง จนต่อเนื่องทำให้มีการเสวนาเพื่อแสดงจุดยืนของผู้หญิงอีสานตามมา

แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เรื่องราวของผู้คนกับวิถีชีวิตในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ไทยหยิบยกมาเล่าขานอยู่เสมอ เช่น ไทบ้านเดอะซีรีส์ ผู้บ่าวไทบ้านอีสานอินดี้ ฮักมั่น ยองบ่าง คุกจียอง เหล่านี้ล้วนเป็นหนังอีสานเน้นตลกผสมกับดราม่าปะปนมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แต่มีหนังเรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนจะจับประเด็นเรื่อง “สามีฝรั่ง” กับความรักเป็นแกนหลักของเรื่องมากที่สุด นั่นคือ ภาพยนตร์เรื่อง อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง (2554) ซึ่งมีเรื่องราวความรักกับการมีสามีเป็นชาวต่างชาติเป็นแกนหลักนำเรื่อง

มองย้อนกลับไปถึงประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง เมื่อฉายครั้งแรกเมื่อปี 2554 อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในเชิงรายได้ และสาเหตุก็อาจวิเคราะห์กันได้หลายประการ 

หากมองในแง่ผู้ลงทุนธุรกิจหนัง ก็มองได้เช่นกันว่า หน้าหนังมันขายยาก ในคำจำกัดความเช่นนี้ นั่นหมายถึง องค์ประกอบที่รวมกันมาเป็นหนังต่อสาธารณชนยังไม่น่าสนใจมากพอ เช่น เรื่องราวของความรักในชนบทอีสาน (ซึ่งยังไม่นิยมในยุคสมัยนั้น – 2554) หรือขาดดาราแม่เหล็กที่จะดึงดูดให้ผู้ชมตีตั๋วเข้ามาดูและเหตุผลอื่นๆ นานัปการที่ผู้คนจะวิเคราะห์กันออกมาได้ โดยเฉพาะยามที่หนังแสดงผลลัพธ์ของการฉายออกมาเรียบร้อยแล้ว

สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้จับมาวิพากษ์และตั้งคำถาม (อาจถูกมองว่าเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงที่จะตีตราผู้หญิงอีสาน) คือ การให้ผู้หญิงอีสานมีค่านิยมในตัวผู้ชายฝรั่งตาน้ำข้าวกันยกหมู่บ้านและพร้อมจะมองข้ามผู้ชายในท้องถิ่น โดยตัวละครหลักคือหนุ่มอีสานผู้เดินทางกลับบ้านเกิดแล้วพบว่าคนรักของตนกำลังหันไปชอบฝรั่งเช่นกันกับผู้หญิงอีสานคนอื่นๆ

แม้ว่าหนังจะเล่าออกมาด้วยท่าทีเบาสมอง เพราะอัดแน่นด้วยนักแสดงตลกมาคอยรับส่งมุก ทำให้ประเด็นเรื่องการชนะใจสาวคนรักเก่าดูผ่อนคลาย แต่ท่าทีการสะท้อนความต่ำต้อยของผู้ชายอีสานยังถูกคงกดให้ดูเป็นรองจากผู้ชายฝรั่งอยู่เสมอ จนแม้แต่เพื่อนพระเอก (รับบทโดย เหลือเฟือ ม๊กจ๊ก) ก็ยังต้องเสียคนรักไป เพราะแฟนสาวอย่าง บัวผัน (เปิ้ล ชไมพร) ก็เห็นด้วยว่า การได้สามีฝรั่งดูจะมีอนาคตมากกว่า 

ในที่สุด บัวผันก็ได้รับบทเรียนราคาแพงคือ สามีฝรั่งทุกคนใช่ว่าจะดีเสมอไป ซึ่งสิ่งที่ตัวละครบัวผันได้พบเจอเป็นสิ่งที่อาจคุ้นชินในปัญหาชีวิตคู่ทั่วไป แต่เมื่อบทสรุปของตัวบทหนังที่เขียนออกมาให้จบเช่นนี้ จึงชวนให้น่ากังขาถึงทัศนคติของคนทำหนัง (ในไทย) ที่มีต่อ “การเลือกคู่สมรสของผู้หญิงอีสาน” อยู่เนืองๆ

หากเปรียบกับหนังที่ว่าด้วย “ประเด็นการแต่งงานกับคนต่างชาติ” ที่ประเทศอื่นทำกัน อาจจะทำให้เห็นมุมมองที่กว้างกว่า

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Clean เป็นเรื่องราวของนักร้องเพลงร็อคสาวเชื้อสายจีน ผู้แต่งงานกับชายชาวต่างชาติ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่เนื่องจากติดยาเสพติด

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ขอยกมาพูดถึงคือ Clean เป็นหนังอาร์ตเฮาส์เรื่องหนึ่ง กำกับโดย โอลิวิเยร์ อัสซายาส ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตหลังเลิกยาเสพติดของนักร้องเพลงร็อคสาวเชื้อสายจีนชื่อ เอมีลี่ และความพยายามที่จะหวนกลับมามีสิทธิได้ใช้เวลาอยู่กับลูกชายคนเดียวของเธอ คนที่เธอเคยทิ้งให้ปู่กับย่าเลี้ยงดู

เดิมที เอมีลี่อยู่กินกับสามีที่ประเทศแคนาดา แต่ด้วยชีวิตสำมะเลเทเมาของทั้งคู่ ทำให้สามีเธอต้องเสียชีวิตลงเนื่องจากเสพยาเกินขนาด ดังนั้น ปู่และย่า (พ่อแม่ฝ่ายชาย) จึงมองผู้หญิงเอเชียอย่างเอมีลี่ด้วยภาพของคนต่างชาติพันธุ์ที่หาดีไม่ได้ เพราะมีลูกก็ไม่ยอมเลี้ยง อีกทั้งหญิงต่างชาติคนนี้ยังเป็นสาเหตุทำให้ลูกชายของพวกเขาต้องตาย ส่วนเอมีลี่ก็ติดคุกในคดียา แถมก่อนนั้นงานการก็ไม่ได้ทำเป็นหลักแหล่ง

เอมีลี่ นักร้องเพลงร็อคเชื้อสายจีน ตัวเอกของภาพยนตร์เรื่อง Clean 

หนังได้แสดงให้เห็นการปะทะกันของวัฒนธรรมและทัศนคติของแม่ผัวลูกสะใภ้ที่ไม่มีทางจะลงรอยกัน เอมีลี่เองก็ต้องพยายามผลักดันตัวเองให้พ้นจากวังวนการติดยาและหางานทำเพื่อพิสูจน์ตนเองว่าดีพอที่จะเป็นแม่ จากที่เคยทิ้งลูก 

แม้ว่า Clean จะไม่ใช่หนังที่บันเทิงเอาเสียเลย แต่ ณ จุดหนึ่ง หนังทำให้คนดูเห็นว่า การที่คนเฒ่าคนแก่ยึดกับความบาดหมางทางใจก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และในที่สุดก็จำยอมปล่อยให้ลูกกลับคืนสู่การเลี้ยงดูของแม่ที่แท้จริง เพราะรู้ดีว่าชีวิตของพวกเขานั้นคงไม่อาจยืนยาวไปมากกว่านี้

เมื่อพิจารณาตัวหนัง จะพบว่า ท้ายที่สุดเรื่องของชาติพันธุ์ไม่ใช่ปมปัญหาหลัก พ่อและแม่สามีไม่ได้ตั้งแง่ที่เอมีลี่เป็นหญิงชาวเอเชีย หนำซ้ำการเป็นคนจีนของเอมีลี่ก็ไม่ได้ช่วยให้เธอยกระดับชีวิตตัวเองได้ เธอมีปัญหากับการพึ่งพาครอบครัวชาวจีนที่คนรู้จักฝากงานให้ จนต้องเลือกทิ้งงานไปเอาดีด้านการร้องเพลงและได้ออกอัลบั้มเพลงในที่สุด 

หนังก้าวพ้นกรอบคิดเดิมๆ เรื่องอคติชาติพันธุ์ไปสู่การมองปัญหาที่ตัวละครเจอในฐานะปุถุชน คนทุกคนมีดีมีเลว มีบกพร่อง มีล้มและลุกขึ้นมาสู้ใหม่ถ้ากำลังใจมีพอ

ส่วนหนังอีก 2 เรื่อง ซึ่งมีกลิ่นอายของการดิ้นรนเพื่อจะได้เป็นพลเมืองของประเทศโดยอาศัยการแต่งงานที่อยากจะแนะนำ ได้แก่ Combination Platter และ Chinaman

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Combination Platter ซึ่งเล่าเรื่องราวของคนเอเชียในย่านควีนส์ ประเทศอเมริกาที่ต้องการยกระดับการเป็นพลเมืองโดยยอมจ่ายเงินให้หญิงเจ้าของสัญชาติเพื่อแต่งงานปลอมๆ

Combination Platter เป็นหนังรางวัลเทศกาลซันแดนซ์ เล่าเรื่องอาชีพพิมพ์นิยมของคนไทยและคนเอเชียจำนวนไม่น้อย ยามเมื่อต้องเป็นโรบินฮูดหรือการใช้ชีวิตในต่างแดนอย่างกฎหมาย โดยเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่มีรายละเอียดและต้องใช้ไหวพริบ รวมถึงต้องอดทนเพื่อความอยู่รอดให้ได้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องซ่อนตัวให้รอดพ้นจากการบุกตรวจของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด

ขณะที่ชีวิตตัวเอกในเรื่องต้องดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงชีพ อีกด้านเขาก็พยายามหาช่องทาง “ยกระดับตัวเองให้ได้เป็นพลเมืองของประเทศ” ด้วยการหาแหม่มสาวมาแต่งงานหลอกๆ โดยต้องเสียเงินก้อนใหญ่ในการจ้างวาน แต่มันไม่ง่ายนัก เพราะว่ามีเงื่อนไขหลายอย่างที่ต้องทำให้คนภายนอกเชื่อว่า นี่คือคู่สมรสจริงๆ จนแหม่มหลายรายต่างพากันบอกปฏิเสธหมด

Combination Platter ถือเป็นบทบันทึกหน้าหนึ่งของคนเอเชียย่านควีนส์ ประเทศอเมริกา และคงเหมือนกับคนอื่นๆ แทบทุกคนที่ลักลอบเข้ามาทำงานแบบไม่ถูกกฎหมาย การได้รับสิทธิ์ต่างๆ จากการเป็นคู่สมรสของพลเมืองท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่ “ชนกลุ่มน้อย” ลักลอบอาศัยอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างถวิลหา เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องอยู่แบบหลบซ่อน 

แม้ว่าเรื่องความรักความสัมพันธ์จะเป็นอุดมคติที่จำเป็น แต่ถึงที่สุด ถ้าต้องชั่งน้ำหนักกับปากท้องและอนาคต…อย่างไหนสำคัญกว่ากัน

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Chinaman

เมื่อมาถึงหนังอย่าง Chinaman ซึ่งเป็นหนังที่เล่าต่างจากมุมอื่นๆ เพราะมุมมองของหนังเรื่องนี้ พูดง่ายๆ ว่า ถูกเล่าผ่านฝ่ายชายผู้เป็นสามีฝรั่งอย่างเต็มขั้น หนังเล่าเรื่องของ เคลด์ ชายวัยกลางคนค่อนไปทางวัยดึก เมื่อวันดีคืนดี เมียที่อยู่ด้วยกันอย่างตายซากมานานแสนนานได้เดินออกจากห้องครัวไปโดยไม่บอกกล่าว แล้วไม่เคยกลับมาหาเขาอีกเลย พอไปตามหาก็พบว่าเธอไปอยู่บ้านผู้ชายคนใหม่ แล้วต่อมา เคลด์เองกลับถูกฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดู จนเขาต้องขายสมบัติแทบหมดบ้าน ทำให้ต้องอยู่เป็นตาแก่เหงาๆ ในบ้านที่เคยแสนสุขอย่างอ้างว้างเพียงลำพัง

Chinaman จงใจทำทุกสถานการณ์ให้เคลด์เป็นภาพแทนของวิกฤติวัยกลางคนของผู้ชายยุโรปที่ถูกเมียทิ้ง ลูกไม่เหลียวแล ไร้ญาติขาดมิตร และขาดทักษะในการแสดงความรู้สึก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตซ้ำซากในทุกๆ วัน แบบเดิมๆ ซ้ำๆ 

ความซ้ำซากนำพาเขาไปร้านอาหารจีนใกล้บ้านแห่งหนึ่งและสั่งเมนูแบบไม่คิดอยู่เสมอ ซึ่งเขามักจะสั่งอาหารตามลำดับในรายการวันละหนึ่งเมนู จนเจ้าของร้านรู้สึกแปลกใจและเริ่มชักชวนพูดคุยจนสนิทสนมกัน แล้ววันหนึ่ง เจ้าของร้านก็แนะนำน้องสาวตัวเองให้เคลด์รู้จัก

ฉากหนึ่งของหนังเรื่อง Chinaman  หลังจากที่ เคลด์ ชายชาวตะวันตก แต่งงานใหม่กับหญิงสาวจากประเทศจีน แม้ว่าแรกเริ่มจะเป็นการแต่งงานด้วยความจำยอม แต่ต่อมาความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ได้กลายเป็นความรัก

นี่คือการเดินตามสูตรหนังรักที่มักจะเริ่มต้นด้วยความกระอักกระอ่วน การแต่งงานแบบจำยอมและการลบภาพจำว่า ผู้ชายเป็นฝ่ายเปย์ (จ่าย) เพราะเคลด์ ผู้ซึ่งสิ้นไร้ไม้ตอก กลับเป็นฝ่ายรับเงินจากครอบครัวชาวจีนที่ว่าจ้างให้เขาแต่งงานกับลูกสาวเข้าบ้าน จนในที่สุดความรักของทั้งคู่ก็ได้ก่อรูปขึ้นมาจริงๆ 

หนังเรื่องนี้ก็เปิดกว้างพอที่จะทำให้เห็นว่า ผู้เคยมีบาดแผลทางใจไม่ใช่มีแค่ตัวสามีฝรั่งสูงวัยอย่างเคลด์เท่านั้น แต่ตัวผู้หญิง ซึ่งเป็นภรรยาชาวจีนของเขาเอง ก่อนที่เธอจะได้เจอะเจอเขา ก็ใช่ว่าจะมีชีวิตที่ราบรื่นนัก หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของคนต่างชาติพันธุ์ต่างวัฒนธรรม แต่ว่าด้วยเรื่องของการเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความเจ็บปวดในอดีตและกล้าเริ่มต้นใหม่กับใครสักคนให้ได้ มากกว่าจะจมจ่อมอยู่กับความสิ้นหวังและเพ่งโทษตัวเอง

image_pdfimage_print