โดย พิรุณ อนุสุริยา 

โลกของผู้หญิงชนบทที่เลือกทางเดินชีวิตด้วยการหาสามีฝรั่ง คงไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะมีความรู้สึกร่วมด้วยนัก จนกระทั่งหนังสารคดีเรื่องนี้เริ่มเปิดฉากเล่าชีวิตของผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง มันจึงเสมือนการจูงมือคนดูเข้าสู่โลกที่อนาคต ความหวัง ปลายทางชีวิตที่ดีกว่าเดิม แขวนอยู่บนการใช้ชีวิตคู่กับใครสักคนอีกซีกโลก คนซึ่งเป็นชาติพันธุ์อื่น (ในที่นี้ คือ ชนชาติยูโรเปียน หรือเรียกง่ายๆ ว่า ผัวฝรั่ง)

หากพิจารณาจากละครทีวี เนื้อเรื่องชิงรักหักสวาทของคนต่างชนชั้น จนไปถึงเรื่องรัก ลวง หลอก ใต้ความเบาสมองของหนุ่มสาวออฟฟิศหรือความรักในละครย้อนยุคข้ามภพข้ามชาติ

เหล่านี้แทบไม่ค่อยจะมีละครเรื่องไหนแตะเรื่องผู้หญิงที่ดิ้นรนเลี้ยงชีพด้วยการทำงานบาร์หรือผู้หญิงที่ผ่านชีวิตคู่กับชายไทยแล้วผิดหวังจนต้องแสวงหาสามีต่างชาติ

กลับกัน Heartbound เลือกเปิดเปลือยชีวิตจริงเหล่านี้ที่คนไทยต่างรู้ดี แต่อาจเลือกปิดตาข้างเดียวมองไม่เห็นมัน เรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงนักในสื่อบันเทิงอย่างละครหรือหนังไทย

การเข้าไปสำรวจพรมแดนเรื่องนี้จึงสุ่มเสี่ยงที่จะตัดสิน ตีตราคนในเรื่องอยู่พอสมควร แต่พอเรื่องราวค่อยๆ เผยออกมา เราจึงได้รู้ได้เห็นว่า การที่ผู้หญิงจะกำหนดชะตาชีวิตตัวเองใต้กรอบเศรษฐกิจสังคมที่เป็นอยู่ในประเทศนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

บ้างก็ต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่วัยรุ่น บ้างก็ไปแสวงโชค ต้องหนีจากบ้านเกิดไปทำงานบาร์หรือจำยอมทอดทิ้งคนในครอบครัวเพื่อไปสร้างอนาคตกับสามีฝรั่ง (และส่งเงินกลับบ้านนอก) จนพอยืนได้แล้วจึงพาลูกมาอยู่ตาม

เมื่อคนเรานึกถึงอุดมคติเรื่องความรัก มันมักจะสวยหรูในความคิดและอาจมีหลายครั้งที่เราเลือกมองข้ามปัจจัยเรื่อง “เงินๆ ทองๆ” เพราะมันจะดูกร่อนคุณค่าความรักลงไป หากคิดเช่นนั้นจะเหมือนว่า เราจะเห็น “เงิน” สำคัญกว่า “ความรัก”

Heartbound ทำให้เราเชื่ออย่างนั้น โดยไม่กระมิดกระเมี้ยนที่จะให้หญิงสาวและไม่สาวในเรื่องพูดออกมาตรงๆว่า การมีผัวฝรั่ง คือ ทางเลือกชีวิตที่ดี(กว่าที่เป็นอยู่)เพื่อจะมีเงินมาจุนเจือครอบครัว

การฉายสภาพชีวิตในท้องถิ่นไปพร้อมๆกันว่า มันแทบจะไม่สามารถทำให้พวกเธอลืมตาอ้าปากได้เลย (ผ่านทั้งคำพูดเรื่องหนี้สินหรือภาพบ้านหลังใหญ่ที่สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงจากการใช้แรงงานจากเมืองนอก)

แต่ท้ายที่สุดหนังก็ไม่เลือกแก้ต่างให้คนเหล่านั้น 

หนังทำหน้าที่ดีที่สุดอย่างที่สารคดีควรจะเป็น คือ การตามติดอย่างใกล้ชิด กระทั่งคนดูได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งในทางที่ดีขึ้นและเลวลง

คนบางคนไปมีครอบครัวใหม่และอาชีพที่พอยังชีพได้ในต่างแดน ดูมีความสุข แต่บางคนกลับผิดหวัง พร้อมกับการแบกภาระที่หนักอึ้งจากความเจ็บไข้และสังขารที่โรยรา

สิ่งที่ทรงพลังในหนังมาก คือ การเก็บช่วงจังหวะชีวิตคนเล่าด้วยภาษาภาพยนตร์ เช่น ภาพในโปสเตอร์ที่ หญิงสาวคนหนึ่งในเรื่องขี่มอเตอร์ไซค์รับกับเสรีภาพที่ได้จากต่างแดนหรือหญิงสาววัยรุ่นแบบ แสง ที่กำลังครุ่นคิดในเงามืดก่อนตัดสินใจทิ้งบ้านไปตายเอาดาบหน้าที่พัทยา

สิ่งที่ติดตราตรึงใจยิ่งกว่า คือ การหยิบฉวยโมงยามสำคัญที่เป็นห้วงสั้นๆ โดยไม่ใช่ภาษาหนัง แต่เป็นอารมณ์ที่แท้จริง การที่บางคนน้ำตาคลอเบ้า เพียงแค่พูดถึงคนที่บ้านเกิด โดยแสร้งกดความคิดถึงเอาไว้

หรืออีกเหตุการณ์ที่เพื่อนผู้ชักนำให้ผจญชีวิตในบาร์อะโกโก้ด้วยกัน แต่พอเวลาผันผ่านชีวิตกลับพลิกขั้วเจอกับความล้มเหลว ชีวิตคนหนึ่งกลับดิ่งเหว พร้อมกับการเฝ้ามองความรุ่งโรจน์ของเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน 

แม้แต่โมเมนต์สั้นๆ ของการคุยเฟสไทม์ของแม่ลูกที่แม่ต้องเปลี่ยนอารมณ์ห่วงหา แล้วตีสีหน้าตลกเพื่อคุยกับลูกเกลื่อนกลบความทุกข์เศร้าก็กลายเป็นสิ่งที่สะท้านสะเทือนคนดูในความสมจริงที่หนังจับเอาไว้ได้

แต่ Heartbound เองก็มีจุดบกพร่องอยู่บ้าง ในการจับเอาเรื่องราวหลากหลายที่หาจุดร่วมด้วยกันยาก จนช่วงท้ายของหนังเหมือนปล่อยคนดูออกทะเลไปหน่อยและทิ้งการติดตามบางตัวละครไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม…นี่เป็นสารคดีเรื่องของ “เมียฝรั่ง” ที่น่าสนใจ นับตั้งแต่หนังสารคดีที่เคยแตะประเด็นคนทำงานบริการไทยอย่าง Whores’ Glory แต่ Heartbound คือ งานที่พูดได้ว่า มีหัวใจและเข้าไปถึงส่วนลึกในจิตใจผู้หญิงไทยได้อย่างลึกซึ้ง ควรค่าแก่การสรรหามาดู

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของเดอะอีสานเรคคอร์ดได้ที่ 

มองเรื่องการย้ายถิ่นของคนอีสานผ่านมุมมองของความรัก

แม่ของฉัน ผู้อพยพผ่านการแต่งงาน

image_pdfimage_print