
อติเทพ จันทร์เทศ เรื่องและภาพ
ในวัยเด็ก ผมหัดจำภาษาเขมรผ่านคำพูดของคุณยายทวดและคุณยายของผม ผมทราบมาบ้างว่า ต้นตระกูลของเรามาจากสกุล “อสิพงษ์” ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่อาศัยอยู่เขตอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มาอย่างยาวนาน
ถ้าไล่เรียงลำดับจากจุดเริ่มต้น ตระกูลนี้น่าจะมาจากตำบลพิมาย ตำบลดองกำเม็ด บ้านหนองยาว บ้านขาม และบ้านระหาร และกระจายออกไปตั้งหลักแหล่งในหลายอำเภอของจังหวัดศรีสะเกษ
ส่วนคุณตาเป็นคนลาว มีพื้นเพมาจากอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เล่ากันว่าย้ายหลักแหล่งไปมาในอำเภอปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ โดยหมู่บ้านใกล้เคียงกันของคุณยายเป็นหมู่บ้านคนลาว
ต่อมาคุณยายแต่งงานกับคุณตา ทั้งสองจึงย้ายมาปักหลักทำมาหากินที่กิ่งอำเภอภูสิงห์ ก่อนจะเป็นอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในเวลาต่อมา
บ้านผมห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชาราวยี่สิบกิโลเมตร มีเทือกเขาพนมดงรักเป็นเส้นสันปันน้ำแบ่งเขตประเทศ เส้นขนานระหว่างจังหวัดอุดรมีชัยและจังหวัดพระวิหารของกัมพูชา กับอำเภอภูสิงห์ขุนหาร กันทรลักษ์ของจังหวัดศรีสะเกษ
การข้ามฝั่งไปมาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ดูเหมือนเป็นเรื่องต้องระมัดระวังมาโดยตลอด
ผมมักได้ยินกรอกหูว่า พื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งถือเป็นมายาคติที่รัฐส่วนกลางสร้างขึ้น คุณลองนึกภาพชายแดนจากสื่อต่างๆ ที่บอกว่า เป็นพื้นที่ขนยาเสพติด เป็นบ่อนการพนัน เป็นจุดบริการทางเพศ เป็นปัญหาความขัดแย้งทางเขตแดนไม่จบสิ้น ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งเลวร้ายเกือบทั้งสิ้น
แต่จริงๆ แล้วคนในพื้นที่ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรเลย ชาวบ้านใช้ชีวิตไปมาหาสู่ตามแนวชายแดนโดยตลอด เช่น ฤดูฝนก็เข้าป่าหาของป่าบนเทือกเขาพนมดงรัก อย่างมากก็เดินหลงเข้าไปยังในประเทศเพื่อนบ้าน พอทหารกัมพูชาเจอหรือชาวบ้านเขมรเจอก็พาเรากลับออกมาอย่างปลอดภัย
แต่คนส่วนใหญ่ถูกทำให้เห็นภาพเหล่านั้นเลวร้ายไปหมด แทนที่พื้นที่ชายแดนจะถูกมองเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ เช่นเดียวกันกับเรื่องภาษา

ช่วงต้นปี 2561 ผมมีโอกาสได้ไปอยู่กัมพูชาราว 4 เดือนเต็ม การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การเมืองกับคนพนมเปญ ดูเหมือนจะเป็นสารตั้งต้นให้กลับมาทบทวนรากเหง้าทางชาติพันธุ์ของตัวเองมากพอสมควร
เราพูดคุยถึงภาษาเขมร รวมถึงระดับภาษาของคนแถบจังหวัดอุดรมีชัย – พระวิหาร – เสียมเรียบ ซึ่งเป็นภาษาโบราณของคนนครวัด -นครธม ถือเป็นภาษาเก่าคล้ายกับคนแถบชายแดนเทือกเขาพนมดงรักบ้านผม สำเนียงภาษาพูดส่วนใหญ่เหมือนกันมาก การทำงานที่เมืองเสียมเรียบทำให้ผมได้สื่อสารกับคนที่นั่นเข้าใจมากกว่าที่พนมเปญ
คําศัพท์บางคำใช้เหมือนกันกับคนสุรินทร์มาก เช่น คำว่า “ออกุลเจริญ” แปลว่า “ขอบคุณมาก” คนเขมรพูดเวลาขอบคุณว่า “ออกุล-เฉญ” ไม่ได้พูดเต็ม “ออ-กุล-จะ-เริน” เหมือนทางสุรินทร์ จึงไม่แปลกที่คนพนมเปญจะฟังไม่ออก ส่วนชาวบ้านในเสียมเรียบบางส่วนยังสื่อสารภาษาแบบเก่าที่สำเนียงใกล้เคียงกับคนเขมรฝั่งไทย

คนพนมเปญเรียกกลุ่มคนแถบที่ราบสูงอีสานว่า “เขมรสุรินทร์” ผมถูกเรียกในฐานะเขมรสุริทร์ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขมรป่าดงเหนือเทือกเขาพนมดงรัก ผมคือคนเขมรฝั่งไทย ความแตกต่างของภาษาเขมรในที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่สามารถใช้สื่อสารกับคนที่พนมเปญ
ถามว่าเขาฟังออกไหม สำหรับคนเขมรที่อายุมากก็อาจพอเข้าใจแต่สำหรับคนในวัยเดียวกันกับผมเขาฟังแทบไม่เข้าใจ เพราะใช้คนละคำกันแล้ว เด็กรุ่นใหม่ในพนมเปญ เช่น คุณกิม เพื่อนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพนมเปญ เขาไม่สามารถฟังสำเนียงเขมรสุริทร์ออกเลย โดยเขาบอกว่าภาษาเขมรสมัยใหม่ถูกทางการกัมพูชาตัดออกไปเพื่อให้ภาษามีเอกลักษณ์และใช้สื่อสารที่เป็นทางการมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น คนสุรินทร์พูด คำว่า “มัน-เมียน-สตางค์” หมายถึง “ไม่มีเงิน” คนอีสานใต้หลายจังหวัดจะเข้าใจ แต่คนพนมเปญจะพูดต่างออกไป คือ “อ๋อต-เมียน-โลย” ถือว่า ต่างกันมาก แต่ความหมายเดียวกัน ถามว่าเขาเข้าใจไหมก็เข้าใจ
การเปลี่ยนแปลงของภาษาเขมรสุรินทร์ คนอีสานใต้หลายจังหวัดผมไม่ทราบว่า เขาปรับใช้ภาษาเขมรกับภาษาไทยตอนไหน ศัพท์เก่าแก่หายไปไหน เด็กรุ่นใหม่พูดกันมากน้อยแบบไหน
สำหรับผม เลือกใช้ภาษาลาวเป็นพื้น (ภาษาหลัก) เช่นเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ของเขมรเลือกใช้ภาษาไทยเป็นพื้นฐาน เพราะต้องใช้ในโรงเรียนและป้องกันการเหยียดชาติพันธุ์ว่าเป็นเขมร เป็นลาว เป็นกุย เป็นส่วย เป็นต้น
ผมตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงวัยเด็ก ตอนที่ไปบ้านเกิดของยาย เธอจะสื่อสารแต่ภาษาเขมรอย่างเดียว อาจเป็นเพราะเติบโตในครอบครัวคนเขมร ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ท่านจึงพูดกรอกหูผมเป็นภาษาเขมรอยู่ตลอดเวลา เพราะท่านต้องการให้ผมซึมซับภาษาเขมร
ด้วยความที่ผมเป็นลูกผสม เติบโตในหมู่บ้านที่พูดภาษาลาว การพูดลาวจึงมาจากสภาพแวดล้อม ผมจึงมีทั้งต้องฟังเขมร ฟังลาว และฟังไทยออก
การขยายพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ในอีสานใต้เป็นสิ่งที่ธรรมดาเอามากๆ วัฒนธรรมกับชาติพันธุ์อยู่ใกล้กันมาก แต่ไม่เหมือนกัน คนเขมรเรียนรู้ฮีตสิบสองคองสิบสี่ของคนลาว คนลาวเรียนรู้งานบุญ งานเซนโฏนตาของเขมร
การขยายพื้นที่ทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ดีงามทำให้เห็นว่าชาติพันธุ์มีความหลากหลายและสามารถอยู่ด้วยกันได้ การข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้เราต้องเลือกภาษาในการสื่อสารได้ คนรุ่นแม่สามารถฟังออกทั้งสองภาษา เช่น คนเขมรแต่งงานกับเขยส่วย ลูกของเขาก็พูดได้ทั้งภาษาพ่อ ภาษาแม่ พอมาถึงรุ่นผมกลับแทบฟังไม่ออกกันแล้ว
ปัญหาต่อมาของคนรุ่นผม คือ การห้ามสื่อสารภาษาถิ่นในโรงเรียน ซึ่งการห้ามพูดภาษาถิ่น ดูเหมือนจะเป็นเฉพาะในห้องเรียนวิชาภาษาไทยเท่านั้น
เมื่อการห้ามพูดภาษาถิ่นในห้องเรียนถูกห้าม นักเรียนส่วนใหญ่จึงต้องหัดเรียนภาษาไทยและหัดสื่อสารภาษาไทย ลูกคนลาวลิ้นแข็งอย่างผม มักจะถูกครูล้ออยู่บ่อยครั้งว่า “ลูกลาวลิ้นแข็ง” ต้องผันลิ้นให้ถูกระหว่าง “ร” กับ “ล” แต่สำหรับเพื่อนผมที่เป็นลูกคนเขมรเวลาพูด “ร” กับ “ล” มักจะผันลิ้นได้ยาวและลื่นปากมาก
ตอนเด็กๆ ผมรู้สึกว่าการพูดภาษาไทยเป็นเรื่องแปลกมากและยากต่อการเรียน ยิ่งพอกลับบ้านแล้วต้องพูดไทยกับครอบครัวยิ่งแปลกไปใหญ่ เพราะผมสื่อสารภาษาไทยกับคนในครอบครัวไม่ได้ อาจเป็นความอายและแปลกถ้าจะให้พูด
หากแต่เพื่อนสมัยมัธยมฯ บางคนยังใช้ภาษาเขมรสื่อสาร ครูบางคนสื่อสารภาษาเขมรในโรงเรียน ตอนนี้ผมแทบไม่ได้ยินภาษาเขมร ภาษาลาวในโรงเรียนแล้ว นอกเสียจากการพูดคุยเล่นกัน
การใช้ภาษาถิ่นจึงเป็นข้อได้เปรียบทางการเรียนรู้อย่างหนึ่งของระบบการศึกษา สามารถใช้เป็นต้นทุนต่อยอดการสื่อสารกับคนในประเทศเพื่อนบ้านได้
ไม่ว่าจะเป็นภาษาในภูมิภาคใดก็ตาม หากได้รับการสนับสนุนจากสถานศึกษาหรือนโยบายของรัฐ แล้วส่งเสริมสนับสนุนให้ภาษาถิ่นเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับคนในชุมชน เพราะภาษาถิ่นเป็นความงดงาม แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดน
ภาษายังบอกรากเหง้าและที่มาที่ไปของชาติพันธุ์ตัวเอง ถือว่ามีคุณค่าและควรจัดเก็บเป็นสมบัติของเหล่าชาติพันธุ์
การที่ผมได้กลับมาทบทวนที่มาที่ไปของตัวเอง ทำให้การออกไปค้นหาเรื่องราวต่างๆ ของเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาดูง่ายขึ้น เพราะภาษาเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ไม่จบสิ้น โดยเฉพาะบนโลกสมัยใหม่ที่พรมแดนยังเป็นเรื่องต้องห้าม
ภาษาจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงรากเหง้าที่มาที่ไปของชาติพันธุ์ได้อย่างลึกซึ้งไม่น้อยกว่าการบอกว่า “เป็นคนไทย”
ตอนที่ 2 ผมจะพาผู้อ่านไปติดตามเรื่องราวตลอด 4 เดือนในการใช้ชีวิตกับคนในสลัมที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชาผ่านภาพถ่าย