กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ เรื่องและภาพ 

กระแสการแชร์ภาพที่หายไปของอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ณ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี ช่วงค่ำของวันที่ 22 มกราคม 2563 และต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2563 อนุสาวรีย์จอมพล ป. ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศก็ได้หายไปอย่างปริศนา เช่นกัน 

ถือเป็นสองเหตุการณ์ที่ถูกมองว่า มีความพยายามลบความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรที่ทำปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุการณ์ปริศนาที่ทำให้วัตถุอันเป็นเครื่องย้ำเตือนประวัติศาสตร์คณะราษฎรอันตรธานหายไปหลายแห่ง 

สถานที่แรกๆ เกิดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ นั่นคือ อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่ในวงเวียนกลางสามแยกหน้าทางเข้าศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ถูกรื้อถอนไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 โดยเทศบาลอ้างว่าต้องการปรับปรุงการจราจรที่แออัดและยืนยันจะนำไปติดตั้งบนฐานใหม่ที่หน้าศาลากลางหลังเก่า

ต่อมาพานรัฐธรรมนูญถูกนำไปติดตั้งที่ใหม่จริง แต่ก็ถูกทุบเมื่อต้องสร้างพระเมรุมาศจำลองในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ต่อมามีผู้พบเห็นล่าสุดว่า พานรัฐธรรมนูญถูกวางไว้บริเวณที่เก็บของกองช่างของเทศบาลอย่างไร้คนเหลียวแล

พานรัฐธรรมนูญที่ถูกย้ายจากอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ หน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์หลังเก่า ถูกนำไปเก็บบริเวณที่เก็บของกองช่างเทศบาลบุรีรัมย์ ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก พาเลาะบุรีรัมย์  

จากการศึกษาของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์พบว่า เหลือพานรัฐธรรมนูญเพียง 6 แห่งในอีสาน ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดบุรีรัมย์ 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 จนเกิดการจัดตั้งเทศบาลจังหวัดบุรีรัมย์เมื่อ พ.ศ. 2479 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ที่ชัดเจน โดยคาดว่าเกิดแนวคิดริเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2480 และแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2487 

ระหว่างที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ถูกลดทอนคุณค่า แล้วเก็บเข้ากรุไปกองรวมกับอุปกรณ์ช่าง แต่ความทรงจำคณะราษฎรในจังหวัดบุรีรัมย์อีกชิ้นกลับได้รับการทำนุบำรุงดูแลไปพร้อมกับการปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญวัดชัยมงคล ที่ตำบลประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

วัดชัยมงคล เดิมชื่อ วัดระเบิก ซึ่งเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรถิ่นไทยที่แปลว่า ระเบิดหรือแตกออก ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2420 โดยเศรษฐนีชาวตะลุง (ชื่อเดิมของอำเภอประโคนชัยหลังถูกเปลี่ยนเมื่อถูกรวบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลนครราชสีมาเมื่อ ร.ศ. 116)

เดิมวัดระเบิกมีเรื่องราวของหนองน้ำอาถรรพ์ขนาดใหญ่และหินศักดิ์สิทธิ์ที่คอยคุ้มครองแหล่งน้ำเคยทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมากและช่วงหนึ่งวัดระเบิกกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาพระครูสุคนธสีลาภรณ์หรือ หลวงพ่อเอ้ แสงสุข เกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมจากจังหวัดสุรินทร์ ได้บูรณะวัดและสร้างศาลาการเปรียญต่อจากหลวงพ่อทุม อดีตเจ้าอาวาสวัดเมื่อ พ.ศ. 2478

หุ่นขี้ผึ้งพระครูสุคนธสีลาภรณ์ หรือ หลวงพ่อเอ้ แสงสุข ที่ประดิษฐานบนศาลาการเปรียญวัดชัยมงคล จังหวัดบุรีรัมย์

ตัวอุโบสถสร้างด้วยจิตศรัทธาของชาวบ้านในชุมชน ด้วยการใช้ไม้ตะเคียนทองและไม้เต็งมาสร้าง และต้องใช้เกวียนลากมาด้วยกำลังคน เพราะสภาพป่าทึบจนไม่สามารถใช้วัวหรือควายได้ ซึ่งจุดสำคัญของศาลาการเปรียญแห่งนี้คือ ลายฉลุรูปพานรัฐธรรมนูญที่แกะโดย คง สุขรัมย์

ความน่าสนใจคือ พานรัฐธรรมนูญได้เข้ามาในพื้นที่ชุมชนก่อนการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นานถึง 9 ปี 

ถือเป็นหลักฐานของการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางสู่พื้นที่รอบนอก ซึ่งคนในพื้นที่เห็นดีเห็นงามและร่วมมือกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า อำนาจรัฐแบบเดิมได้หมดสิ้นพลังไปดังมาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎรว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ฉลุพานรัฐธรรมนูญที่อุโบสถแห่งนี้ เป็นการรวมเอาแนวคิดพุทธเถรวาท ซึ่งฝังรากลึกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มาหลายร้อยปีก่อนศตวรรษที่ 20 และเข้ากันได้อย่างดีกับการบูชาผีที่มีมาแต่เดิม เข้าไว้ด้วยกัน

พุทธเถรวาทนี่เองที่ ธงชัย วินิจกุล บอกว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organic Society) ซึ่งเน้นลำดับชั้นสูงต่ำ หน่วยต่างๆ ของสังคมจะต้องรู้จักหน้าที่ของตนและทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน (harmony) ชาวสยามจึงมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องสามัคคี ห้ามขัดแย้งและห้ามเห็นต่าง

พุทธเถรวาทยังถูกผนวกรวมเข้ากับวาทกรรม “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 สมัยรัชกาลที่ 6 สามองค์ประกอบเข้ากันได้เป็นอย่างดี เพราะพุทธเถรวาทได้ถูกปฏิรูปโดยขบวนการธรรมยุตินิกายทำให้ศาสนาเป็นเหตุเป็นผลและปัจเจกบุคคล 

ลายฉลุบนศาลาการเปรียญในวัดชัยมงคลหรือวัดระเบิก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แกะสลักโดย คง สุขรัมย์

ลายฉลุพานรัฐธรรมนูญที่ประดับอุโบสถกับวัดจึงเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้ เพราะสิ่งหนึ่งเรียกร้องความเท่าเทียมเสมอภาค แต่อีกสิ่งถูกเอาไปโยงกับความสัมพันธ์ที่มีลำดับชั้น สองสิ่งที่ถูกเอามาแปะไว้ร่วมกันจึงง่อนแง่นและพร้อมจะหลุดออกจากกันตลอดเวลา 

นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อผู้เขียนเข้าไปถามโยมอุปัฏฐากวัดชัยมงคลถึงสาเหตุของการมีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญที่ศาลาการเปรียญ พวกเขาก็ไม่ทราบถึงสาเหตุหรือความหมาย

พวกเขาเล่าเพียงตำนานอภินิหารของหลวงปู่เอ้ แบบที่ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เรียกว่า “จิตนิยม-ประวัติศาสตร์” ซึ่งถูกพัฒนาจากพุทธแบบจารีตและเป็นอุดมการณ์โต้กลับแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของฝ่ายซ้าย

อีกมุมของลายฉลุรูปพานรัฐธรรมนูญบนศาลาการเปรียญของวัดชัยมงคลหรือวัดระเบิก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แกะสลักโดย คง สุขรัมย์

เมื่อผู้เขียนถามคำถามเดียวกันกับเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล ท่านก็ตอบเพียงว่า พานรัฐธรรมนูญมีความหมายถึงความมั่นคงเท่านั้น มิได้มีบริบทที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเหตุการณ์เมื่อริเริ่มสร้าง 

เหมือนที่ ประทีป สุธาทองไทย เสนอว่า ภาพพานรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาในตัวเอง เนื่องจากภาพมักไม่นำไปสู่หลักการของระบอบประชาธิปไตย แต่กลับมีภาพลักษณ์ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

หรือดังที่ ถนอม ชาภักดี เสนอว่า ศิลปะไทยยึดติดอยู่กับเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน พานรัฐธรรมนูญถูกทำให้เป็นศิลปะที่รับใช้ศาสนสถานพุทธเถรวาท มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากพระไตรปิฎก และถูกตีความโดยคนในชุมชนว่าเป็น “ศิลปะเพื่อศิลปะ” (art for art’s sake) นั่นคือ สัญลักษณ์ที่ตัดขาดจากการเมืองและขาดการเรียนรู้ต่อยอด

มรดกคณะราษฎรบนผืนแผ่นดินไทยจะยังคงดำรงอยู่ได้ จะต้องเป็นสิ่งที่ถูกผนวกรวมอย่างแนบแน่นเข้ากับเรื่องเล่าหลัก(meta-narrative) ของชาติไทยอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งต้องเป็นวัตถุที่ปลอดภัยไร้พิษสง ซึ่งจะช่วยขับเน้นหรือส่งเสริมวาทกรรมรัฐไทยได้ 

ลายฉลุพานรัฐธรรมนูญจึงไม่มีวันถูกอุ้มหายทุบทำลาย แต่จะยังคงอยู่เป็นหลักฐานยืนยันถึงความลักลั่นของเส้นทางการพัฒนาการประชาธิปไตยไทยสืบไป

 

image_pdfimage_print