
อรนุช ผลภิญโญ เรื่อง
ชีวิตที่ต้องเผชิญกลิ่นเหม็นจากโรงงานยางพาราของชาวบ้านตำบลหนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นความทุกข์ระทมที่สะสมมานานถึง 7 ปี
ตำบลหนองนาคำเพียงตำบลเดียวมีโรงงานรับซื้อยางพาราและแปรรูปยางพาราแผ่นถึง 2 โรงงาน ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใกล้เขตชุมชน
“ก่อนตั้งโรงงานชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจว่า เขาจะสร้างโรงงานผลิตถุงมือและโรงงานผลิตนมถั่วเหลือง จึงไม่มีใครคัดค้าน” สุภาพร เบ้าหล่อเพชร หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นจากโรงงานรับซื้อยางพารา เล่าที่มาที่ไป
เมื่อปี 2555 ผู้ใหญ่บ้านได้ประกาศให้ลูกบ้านไปร่วมประชุมเพื่อรับทราบถึงการก่อสร้างโรงงานใกล้หมู่บ้าน แต่สุภาพรไม่ได้เข้าร่วม
หลังการประชุมแล้วเสร็จ เพื่อนบ้านได้เล่าให้เธอฟังว่า ผู้ประกอบการจะมาสร้างโรงงานถุงมือยางและโรงงานผลิตนมแล็คตาซอย
“เพื่อนบ้านเล่าให้ฟังว่า โรงงานจะทำให้เศรษฐกิจในหมู่บ้านของเราดีขึ้น ชาวบ้านจะได้มีงานทำ ตอนแรกๆ ทุกคนก็ดีใจว่าจะมีโรงงานมาตั้งใกล้บ้านแล้ว” สุภาพรเล่าถึงการขายฝันของผู้ประกอบการ ก่อนที่โรงงานยางพาราจะถูกสร้างใกล้หมู่บ้าน

สุภาพร เบ้าหล่อเพชร ชาวตำบลหนองนาคำ จ.อุดรธานี หนึ่งในผู้ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากโรงงานแปรรูปยางพารา จ.อุดรธานี
โรงงานแปรรูปยางพาราใกล้ชุมชน
และแล้วโรงงานรับซื้อยางพาราจำนวน 2 แห่ง ก็ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2556 ได้แก่ โรงงานยางแท่ง บริษัทศรีตรังแองโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) สาขาอุดรธานี และ บริษัทวงษ์บัณฑิตอุดรธานี จำกัด
“เขาเริ่มเปิดรับซื้อยางพาราและเดินเครื่องการผลิต ซึ่งเป็นที่มาของกลิ่นเหม็น เมื่อปี 2557 พวกเราก็เริ่มประท้วง เพราะทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว แม้ผู้จัดการโรงงานจะมาเจรจากับชาวบ้าน ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น พวกเรายังต้องสูดดมกลิ่นเหม็นๆ อยู่ทุกวัน” ผู้ได้รับผลกระทบกล่าวอย่างมีอารมณ์
ผลกระทบจากกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน 11 หมู่บ้านในตำบลหนองนาคำ และ 1 หมู่บ้านในตำบลหนองขอนกว้าง อ.เมือง จ.อุดรธานีอย่างต่อเนื่อง ทำให้พวกเขารวมตัวกันร้องเรียนกับหลายหน่วยงาน รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
ต่อมาชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทร์ขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนและเสนอให้ผู้ประกอบการตรวจร่างกายชาวบ้านอย่างที่เคยปฏิบัติก่อนหน้านี้
ส่วนกรมควบคุมมลพิษควรตรวจคุณภาพอากาศทุกเดือนธันวาคม และให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 9 ตรวจคุณภาพน้ำ รวมทั้งเพิ่มสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำในลำห้วยเชียงรวงที่เป็นลำน้ำใกล้ชุมชน
แม้ว่าจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมต่อทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ แต่ทว่ากลิ่นเหม็นยังคงคละคลุ้งในชุมชนและกระทบต่อปอดของชาวบ้านทั้ง 12 หมู่บ้าน

โรงงานแปรรูปยางพารา อ.หนองนาคำ จ.อุดรธานี ที่ชาวบ้านร้องเรียนถึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาพโดย ทีมวิจัยชุมชน
ผู้เดือดร้อนร่วมใจตั้งทีมวิจัยชุมชน
หลังจากอยู่กับผลกระทบมานาน ชาวบ้านใน 2 ตำบล จึงตั้งทีมวิจัยชุมชนร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ โดยเก็บข้อมูลทั้งกลิ่น น้ำ เสียง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ค่าความเข้มด้วยการดมบริเวณโรงงานยางพาราจังหวัดอุดรธานีที่กรมควบคุมมลพิษรายงานถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ตามหนังสือเลขที่ ทส. 0306/2361 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2560
พร้อมกับผลการตรวจวัดความเข้มของกลิ่นด้วยการดม (Sensory Test) พบว่า กลิ่นที่ระบายออกจากปล่องเตาอบยางและกลิ่นบริเวณรอบรั้วโรงงานมีค่าเกินมาตรฐาน
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้านสุขภาพย้อนหลัง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ถึงเดือนมกราคม 2560 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ชี้ว่ากลิ่นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
“ผลจากการออกตรวจสุขภาพและให้บริการประชาชนพบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่มีอาการแสบจมูก แสบคอ คอแห้ง ปวดศรีษะ แสบตา ผื่นคันตามผิวหนัง และมีอาการหนักเวลามีกลิ่นเหม็นจากโรงงานยางพารา” รายงานระบุ
นอกจากนี้รายงานยังระบุอีกว่ากลิ่นจะเหม็นมากในช่วงกลางดึก ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนของประชาชนและส่งผลมากต่อกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบ
รายงานฉบับดังกล่าวทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 แห่ง ปิดกิจการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงกิจการเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 15 เมษายนถึง 15 พฤษภาคม 2560 แต่หลังการปิดปรับปรุงสถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น
“แม้หลายหน่วยงานจะยอมรับว่าโรงงานแปรรูปยางพาราส่งผลกระทบต่อชุมชน แต่การมีช่องว่างทางกฎหมาย ตั้งแต่ขั้นตอนขอใบอนุญาตประกอบกิจการ การตรวจสอบระหว่างประกอบกิจการ และมาตรการเอาผิดผู้ประกอบการล้วนแล้วแต่ไม่มีความชัดเจน ดังนั้น รัฐควรต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้” กิติชา ธานีเนียม ตัวแทนผู้ทำวิจัยชุมชนกล่าว

กองเอกปราโมทย์ ธัญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นตัวแทนรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้านกรณีโรงงานแปรรูปยางพาราสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาพโดย อรนุช ผลภิญโญ
เวทีพัฒนานโยบายสาธารณะโดยชุมชน
ความเดือดร้อนที่มีมาอย่างยาวนานทำให้ชาวบ้านทั้ง 11 หมู่บ้าน จาก 2 ตำบล ต้องหาทางออกด้วยตัวเอง โดยพวกเขาได้ตั้งกลุ่มชื่อเครือข่าย Chia ภาคอีสานเมื่อปี 2561 และจัดเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมกรณีความเดือดร้อนจากโรงงานยางพาราเมื่อปลายมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาได้สะท้อนปัญหาเพื่อหาทางแก้ไข โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีร่วมรับฟัง
สมศรี โพธิ์ศรีพรม ชายวัย 65 ปี ชาวบ้านจำปา ตำบลหนองนาคำ สะท้อนปัญหาว่า หลังมีโรงงานรับซื้อยางพารา ก็ทำให้ระบบนิเวศในลำห้วยและธรรมชาติใกล้โรงงานเปลี่ยนไป
“อากาศที่เคยดีๆในชุมชนก็หายไปและถูกแทนที่ด้วยกลิ่นเหม็น ซึ่งน้ำเสียจากโรงงานก็ส่งผลกระทบกับนาข้าวของพวกเรา” สมศรีกล่าว
เมื่อปี 2562-2563 เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมภาค 9 (อุดรธานี) ได้นำน้ำเสียที่ไหลจากโรงงานในแปลงข้าวของพ่อของเขาไปตรวจ แล้วพบว่าค่าดินเค็มเกินกว่ามาตรฐาน ทำให้โรงงานต้องจ่ายค่าชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
“นาข้าวเสียหายประมาณ 3 ไร่ โรงงานจ่ายค่าชดเชยประมาณ 7,000 บาท แต่มันไม่คุ้มหรอก” สมศรีกล่าว
ขณะที่ คมศักดิ์ จันทร์จำปา และชาวบ้านหนองนาคำอีกหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้ห้วยโศกโปร่งที่เป็นแหล่งน้ำเพื่อนำมาผลิตน้ำประปาหมู่บ้านมีสภาพไม่เหมือนเดิม โดยน้ำเป็นสีเขียว
“พวกเราไม่มีทางเลือกจึงจำเป็นต้องใช้จากห้วยโศกโปร่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน” คมศักดิ์กล่าวและว่า “พวกเราต้องส่งสัญญาณไปยังบริษัททั้ง 2 แห่ง ว่าให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะ 7-8 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ถ้าขายที่ได้ชาวบ้านคงไม่อยู่แล้ว”
รองผู้ว่าฯ อุดรขู่ปิดโรงงานแปรรูปยางพารา
เมื่อ กองเอกปราโมทย์ ธัญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีรับฟังปัญหาจากชาวบ้านแล้วแสดงความเห็นว่า ไม่น่าเชื่อว่าโรงงานที่สร้างกลิ่นเหม็นจะอยู่ใกล้กันถึง 2 แห่ง หากผู้ประกอบการยังคิดจะขยายกำลังการผลิตก็จะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น
“ผมรู้สึกเป็นห่วงชาวบ้าน เพราะปัญหานี้ใหญ่พอสมควร ยิ่งตอนนี้ก็เป็นที่รับรู้ในระดับชาติแล้ว”รองผู้ว่าราชการกล่าว
“ความจริงคนอุดรฯ ไม่ได้ต้องการโรงงาน เพราะมีทางเลือกมากมายเราไม่มีโรงงานก็อยู่ได้ เรามีแหล่งอารยธรรม มีแหล่งธรรมะ มีแหล่งท่องเที่ยวที่จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีและยั่งยืน ถ้าแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ ก็น่าจะไม่ให้มีโรงงานยางพารา” รองผู้ว่าราชการจังหวัดอดรธานีกล่าวทิ้งท้าย