วิทยากร โสวัตร เรื่อง 

แปลกอยู่เหมือนกันที่เมื่อย้อนนึกถึงสมัยที่ตัวเองเป็นเด็กเรียนชั้นประถมอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ (พ.ศ. 2527 – 2532) ผมไม่มีความรับรู้ใดใดเกี่ยว “ธาตุพนม” เลย (คนบ้านผมและน่าจะคนลาวในภาคอีสานทั้งหมดเรียกว่า ธาตุ) มันไม่มีในตำราเรียน ไม่มีในเรื่องราวที่ครูสอน สิ่งที่รับรู้มีแค่เมื่อช่วงปลายหนาวมาถึงแล้วเห็นคนในหมู่บ้านได้มันเพา (มันแกวในภาษาไทย) มาเป็นพวงๆ และเด็กบางคนมีแคนน้อยๆ มาเล่นก็จะรู้ว่ามีการไปไหว้ธาตุ แต่กลับรับรู้เรื่องราวของ “พระปฐมเจดีย์” อย่างดี  ขนาดความสูง ความกว้าง ประวัติความเป็นมา 

พอๆ กับที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับ “แม่น้ำโขง” แต่ท่องจำ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ที่มาจาก ปิง วัง ยม น่าน ได้ขึ้นใจ  และรู้จุดว่าบรรจบกันที่ไหนกลายเป็นเจ้าพระยา และแม่น้ำเจ้าพระยาสำคัญอย่างไรต่อประเทศ

น้ำท่วมพระธาตุพนมเมื่อ พ.ศ. 2435 ภาพจาก watpamahachai.net

แม้แต่เรื่องเล่าของคนรุ่นแม่หรือแก่ขึ้นไปเกี่ยวกับการเดินเท้าไป “ไหว้ธาตุ” หรือตำนาน นิทานต่างๆ เกี่ยวกับธาตุพนมที่พวกท่านเล่า  เราก็เห็นเป็นแต่เพียงเรื่องปรัมปราไม่มีคุณค่าไม่มีความสำคัญทางความรู้ทางวิชาการอะไร  

คล้ายๆ กับที่ครั้งหนึ่งมีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์   โบราณคดี หัวเราะเยาะและแสดงท่าทีดูแคลน “นิทานอุรังคะทาด”  หรือ “ตำนานพระธาตุพนม” ที่ระบุว่าองค์พระธาตุเจดีย์นั้นตั้งอยู่เกาะกลางแม่น้ำโขง  ซึ่งไม่ตรงตามที่เห็นในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำโขงทางฝั่งไทย แต่พอเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นสามารถถ่ายภาพทางอากาศให้เห็นร่องน้ำโบราณได้ว่า  มันมีสายน้ำที่แห้งไปซึ่งล้อมพระธาตุพนมไว้บนเกาะกลางแม่น้ำโขงตรงตามตำนาน นักวิชาการเหล่านั้นก็ไม่เห็นออกมายอมรับหรือแก้ไขข้อมูลหรือความเห็นอะไร

ทั้งๆ ที่พระธาตุพนมและแม่น้ำโขงนั้นสำคัญมาก  สำคัญมากจริงๆ ถึงขั้นสูงสุดต่อชีวิต วัฒนธรรมและจิตวิญญาณของคน(ลาว)อีสานและคนลาวฝั่งประเทศลาว 

ถึงขนาดว่าประวัติ  ตำนาน เรื่องเล่าของคน (ลาว) อีสานไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน  สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญต่างๆ ที่ผูกโยงกับตำนานการสร้างพระธาตุพนมนั้นมีมากมายเหลือเกิน  หรือแม้แต่ชะตาชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายก็ผูกโยงอยู่กับพระธาตุพนมหรือแม้แต่การแสวงหาการหลุดพ้นอย่างวิถีพระป่าหรือวิปัสสนาธุระของพระเณรอีสาน  ก็ล้วนมุ่งหน้าไปพระธาตุพนม  

ตลอดเวลาที่ผมบวชเรียน 8 ปี (พ.ศ.2533 – 2541) ได้เดินทางไปจังหวัดต่างๆ ในอีสานหลายจังหวัด  บวกรวมกับช่วงเป็นนักศึกษาออกค่ายหรือเที่ยวในอีสาน (พ.ศ. 2541 – 2545) กระทั่งตอนนี้และที่ได้ข้ามไปฝั่งประเทศลาวเหนือสุดที่หลวงพะบาง  ใต้สุดที่จำปาสัก ปากซอง ก็มีเรื่องราวของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญผูกโยงอยู่กับการสร้างพระธาตุพนม และเรื่องเล่าจากปากผู้คนทั้งที่เคยไปไหว้ธาตุและไม่เคยไป  ก็ล้วนแล้วแต่มีสำนึกร่วมกันว่าครั้งหนึ่งต้องได้ไปไหว้ธาตุ

การเดินทางและการค้นคว้าอ่านหนังสือและเอกสารเหล่านี้เองที่ทำให้ผมย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องเล่าของแม่ถึงการเดินทางด้วยเท้าไปไหว้ธาตุเมื่อสมัยที่แม่ยังสาว (แม่เกิดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบกษัตริย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยหนึ่งปีคือ พ.ศ. 2476) แต่เสียดายที่เวลาแห่งการจดบันทึกคำบอกเล่าของแม่มีไม่มาก  ยังไม่ทันได้รายละเอียดสมบูรณ์แม่ก็ตายก่อนและตายในปีที่เขาทำรัฐประหาร 2549 ผมตามพูดคุยสัมภาษณ์ผู้คนในหมู่บ้านที่ผมเกิดที่เคยเดินทางไปไหว้ธาตุได้หลายคน แต่ตอนนี้คนเหล่านั้นได้ตายไปหมดแล้ว

สรุปว่าความรับรู้เรื่องธาตุพนมซึ่งเป็นหัวใจหรือหลักชัยแห่งจิตวิญญาณของคน (ลาว) อีสานของผมเกิดจากการรับรู้ภายนอกผ่านการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองเป็นเวลาอันยาวนาน  

ดังนั้นผมจึงมั่นใจว่านี่ไม่ใช่ภาวะปกติ  แต่หากเป็นการจงใจของราชสำนักกรุงเทพฯ และชนชั้นนำไทยและรัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยที่ต้องการทำลายรากเหง้า เผ่าพงศ์และจิตวิญญาณของคน(ลาว)อีสานอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ก็ทำให้ผมสามารถขึ้นรูปหรือร่างโครงนิยายได้  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจ (เพื่อล้างบาปความรับรู้ของตัวเอง) ที่จะเขียนนิยายขึ้นสักเรื่องเพื่อเป็นการบูชาจิตวิญญาณของคนลาว (อีสาน) ทำให้แม่และผู้คนเหล่านั้นที่ได้มีส่วนร่วมและรักษาจิตวิญญาณนี้ให้เป็นอมตะ  เหมือนที่ครั้งหนึ่ง “นิทานอุรังคะทาด” หรือ “ตำนานพระธาตุพนม” ได้ทำหน้าที่นี้

แต่ระหว่างที่ผมเขียนนิยายเรื่องนี้อยู่ในช่วงปี 2550 – 2560 ผมได้ข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจมาก  คือผมได้รับคำบอกเล่าจากNGOs ท่านหนึ่งที่เคยทำงานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ยุคแรกว่า ผู้เฒ่าผู้แก่แถบนั้นเคยพูดในลักษณะหยันแกมสั่งสอนนักพัฒนารุ่นนั้นทำนองว่า  “ฮู้จักแต่มาร์ก  ฮู้จักแต่คานธี แต่บ่ฮู้จักพระธาตุพนม…”

และมีน้องนักศึกษานักกิจกรรมคนหนึ่งได้อ่านร่างแรกนิยายที่ผมเขียนและฟังเรื่องราวการเดินทางไปไหว้พระธาตุพนมของคน (ลาว) อีสานจากผมแล้ว  เขาก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะเดินทางไปไหว้ทั้งที่มีเงินไม่พอที่จะเป็นค่าโดยสาร แต่เขาก็ไปด้วยการโบกรถ แล้วก็กลับมายืนยันในสิ่งที่ผมเคยพูดและเขียนไว้

“มีรถกระบะมีหลังคาคันหนึ่งจอดรับ  เมื่อรู้ว่าผมจะไปไหว้พระธาตุพนมคนที่อยู่กระบะที่เป็นผู้หญิงซึ่งน่าจะอาวุโสกว่าทุกคนก็ยกมือใส่หัวและพูดเหมือนอย่างที่พี่เคยเขียนไว้ว่า – ‘แม่คือสิบ่มีบุญเลยไปบ่ฮอด’ เขาก็ให้พรยกใหญ่และฝากบุญด้วยข้าวเหนียวห่อหนึ่ง… พอผมไปถึงพระธาตุต้องบอกว่าในบริเวณวัดน่ะแทบไม่ได้เดินเลย  เพราะเราจะไหลไปเหมือนน้ำด้วยคลื่นขบวนผู้คน…”

มาถึงตรงนี้ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า  ทำไมรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงให้กรมศิลป์นำโดยหลวงวิจิตรวาทการมาต่อเติมเสริมพระธาตุพนมจากองค์เดิมที่พระครูวิโรจนรัตนโนบลได้ซ่อมแซมไว้เมื่อปีพ.ศ. 2444  ให้สูงและใหญ่ขึ้นจนเป็นธาตุพนม องค์ที่ติดตาของผู้คนและกระจายไปเป็นรูปถ่ายติดตามวัดและบ้านคน(ลาว)อีสานมากที่สุด ว่าท่านผู้นำท่านนี้กำลังต่อสู้กับอะไรในทางสัญลักษณ์และมวลชน  แม้ว่าต่อมาจุดนี้เองที่นักวิชาการหรือผู้ที่มีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมจะก้นด่าหรือวิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุให้พระธาตุพนมล้มพังลงแบบซ่อมแซมคืนจากฐานเดิมไม่ได้ในเดือนสิงหาคม 2518 (โดยไม่กล่าวถึงรายละเอียดก่อนหน้าที่พระธาตุจะพังเลย  ซึ่งเอาไว้ในตอนต่อๆ ไป)

แต่สำหรับประชาชน(ลาว)อีสานแล้ว  พระธาตุพนมองค์ที่ว่านั้นเป็นที่ตรึงตราตรึงใจถึงขั้นมีคำพูดติดปากว่า  เมื่อเดินลงจากภูพานและอีกสามคืนจะเดินถึงธาตุก็เห็นยอดธาตุแล้ว หรือคนจากทางเหนือที่ล่องเรือมาไหว้ธาตุ เช่น เชียงคาน  ก็จะบอกเล่าว่า พอล่องเรือกลับ ผ่านไปสามคดโขง(ของ) เหลียวกลับมาก็ยังเห็นยอดธาตุ

เช่นเดียวกับที่ทำไม  คนอีสานในยุคหลังจอมพล ป. ส่วนใหญ่ถึงยอมรับนับถือจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชดิ์ และที่ขอนแก่นถึงได้มีอนุสาวรีย์จอมพลผ้าข้าวม้าแดงคนนี้  เพราะนอกจากเรื่องอำนาจเด็ดขาดที่แก่แผ่ปกครองไปแล้ว (พระเดช) ก็ยังมีเรื่อง(พระคุณ)ที่ว่าแกปรารภจะสร้างเมืองหลวงที่ขอนแก่น (ผมไม่แน่ใจว่ามีเอกสารยืนยันเรื่องนี้ไหม  แต่เรื่องนี้กระจายไปแบบปากต่อปากของคนอีสานรุ่นนั้นและความรับรู้นี้ก็กินเวลามายาวนานมาก) แกยังสร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของอีสานให้เทียบเท่ากับที่กรุงเทพฯ ซึ่งคณะราษฎรไม่ได้ทำทั้งที่ในหลัก 6 ประการมีหลักของการกระจายการศึกษาให้ทั่วถึงด้วย  แต่ที่เด็ดที่สุดคือมหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้รูปพระธาตุพนมเป็นตราสัญลักษณ์  

และก็เป็นที่น่าสังเกตว่าจากช่วงเริ่มต้นนี้ไปตลอดช่วงสงครามคอมมิวนิสต์  ประวัติศาสตร์นิพนธ์เรื่องพระวิปัสสนาจารย์(สายธรรมยุต) ได้รับการเขียน ขยาย  เผยแพร่อย่างจริงจังมโหฬาร ดูได้จากพระวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ซึ่งครั้งหนึ่งท่านและสายของท่านถูกต่อต้านจากพระธรรมยุตฝ่ายปกครองอย่างมาก) ที่ตอนรวบรวมเขียนประวัติขึ้นเพื่อพิมพ์ในงานฌาปนกิจท่านในช่วงต้นปี พ.ศ.2493 นั้น  บางมากแต่ก็ได้ใจความสำคัญ และได้ขยายออกเป็นเล่มเขื่องๆ ก็ในช่วงนี้เอง

ตอนหน้าเรามาว่ากันถึงการเมืองเรื่องการสร้างพระธาตุพนมกัน

image_pdfimage_print