ภาพ โดย Mike Eckel 

หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง

ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หากใครมีประสบการณ์ได้หอบสาด (เสื่อ) ไปนั่งฟังลำจากคณะหมอลำดังๆ ตามงานวัดงานวา จะถือว่าได้กำไรชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะค่าตัวหมอลำคณะใหญ่หรือวงที่มีชื่อเสียง ค่าตัวอาจสูงเป็นแสนหรือหลายแสน (ราคาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว) 

อย่าง วงเพชรพิณทอง ที่มี นพดล ดวงพร หรือ ลุงแนบ เป็นหัวหน้าคณะ ก็เคยเป็นวงที่ได้รับความนิยมในภาคอีสานเป็นอย่างมาก เพราะมีดาวตลกอย่าง หนิงหน่อง เพชรพิณทอง หรือแม้กระทั่งนักร้องเสียงดีอย่าง นกน้อย อุไรพร ที่สร้างความบันเทิงจนทำให้ผู้คนในยุคนั้นอยากเห็นเป็นบุญตา 

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ตอนเด็กๆ ที่ต้องหอบสาดขึ้นรถกระบะไปกับครอบครัวและเพื่อนบ้าน เพื่อไปรอดูหมอลำคณะเพชรพิณทองที่ต่างอำเภอ โดยพวกเราออกจากบ้านตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อไปให้ถึงสถานที่จัดงานให้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้ที่นั่งที่ดีที่สุดหรืออาจเป็นหน้าฮ้านหมอลำ (ด้านหน้าเวที) เพื่อได้เห็นหน้าพระเอกหมอลำหรือดาวตลกในดวงใจ 

แต่ด้วยค่าตัวที่สูงลิ่วและชื่อเสียงของหมอลำคณะนั้นๆ ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมประเภทนี้หาดูได้ยาก

แม้ตอนนี้ ในภาคอีสานจะมีหมอลำที่มีชื่อเสียงอยู่มากกว่า 30 คณะ อย่างในจังหวัดขอนแก่น มีคณะระเบียบวาทะศิลป์ คณะประถมบันเทิงศิลป์ คณะเพชรสยาม เป็นต้น 

ส่วนจังหวัดอุดรธานี มีคณะเสียงอิสาน ของ นกน้อย อุไรพร และคณะพิณแคนแดนอิสาน มี ศิริพร อำไพงพงศ์ เป็นหัวหน้าคณะ 

นอกจากนี้ ยังมีหมอลำคณะดังๆ กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ อีกหลายจังหวัด 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า วันข้างหน้ามรดกความบันเทิงเหล่านี้จะอยู่ยั้งยืนยง  

ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดเห็นความสำคัญของศิลปะแขนงนี้ จึงพยายามรวมรวมข้อมูลและสัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแวดวงหมอลำ ซึ่งอาจไม่สมบูรณ์แบบดังที่ใจหวัง 

ทว่าการทำซีรีส์ “ลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำ” ทำให้เราเห็นแก่นแท้อย่างหนึ่งอันเป็นมรดกที่เราได้รับตกทอดจากบรรพบุรุษ 

อย่างการสัมภาษณ์ อาทิตย์ มูลสาร ผู้จัดการนิทรรศการรถบัสหมอลำเคลื่อนที่ (Molam Mobile Bus Project) ของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) โดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ด ก็ทำให้เรารู้ถึงประวัติศาสตร์และที่มาของหมอลำถึงแก่นแท้ 

“อาทิตย์” เป็นผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหมอลำ โดยหัวข้อที่ศึกษา คือ “หมอลำกับการเมือง การสร้างความเป็นชาติของไทย” ซึ่งค้นพบว่า หมอลำและกลอนลำลาวอีสาน เป็นเครื่องมือทางการเมืองประเภทหนึ่ง ซึ่งคนในภาคอีสานใช้สื่อสารทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐที่กดขี่ นำเสนอความยากลำบาก รวมถึงเป็นสื่อรณรงค์ทางการเมืองในยุคสงครามเย็น

มีช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ เขาบอกว่า “หมอลำเคยเป็นสื่อที่กระด้างกระเดื่องกับการเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 วันหนึ่ง ถ้ารัฐไทยเอาหมอลำอยู่ คุณก็เอาคนอีสานอยู่” 

นอกจากหมอลำจะเป็นศิลปะเพื่อความบันเทิงแล้ว หมอลำยังเป็นแนวรบทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญไม่แพ้อาวุธเลยทีเดียว 

หรือแม้กระทั่งการสัมภาษณ์ ดร.จอห์น การ์โซลี (John Garzoli ) นักวิชาการชาวออสเตรเลียผู้สนใจศึกษาดนตรีอีสาน โดยเฉพาะพิณและแคน ก็ทำให้เราทราบว่า เครื่องดนตรีอีสาน อย่างพิณกับแคน มีเสียงกลมกล่อมและเข้ากันได้ดีกับดนตรีแจ๊ส 

เขาคาดหวังว่า คนอีสานจะยังคงรักษาเครื่องดนตรีเหล่านี้ไปพร้อมกับกลอนลำที่เปรียบเสมือนกวีนิพนธ์ที่มีเอกลักษณ์และเป็นศิลปะขั้นสูง ซึ่งผู้มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะเท่านั้นจะสามารถทำได้ 

โดยทีมงานฯ จะทยอยนำเสนอเรื่องราวในซีรีส์ “ลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำ” ทั้งในรูปแบบวิดีโอ สารคดีเชิงข่าว บทความคิดเห็น และภาพนิ่งพร้อมคำบรรยาย (photo essay) เพื่อให้ผู้ติดตามเดอะอีสานเรคคอร์ดได้เรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมแขนงนี้ไปพร้อมๆ กัน และที่สำคัญ เพื่อต่อลมหายใจของ “หมอลำ” ที่มีต่อผู้คนในคราวเดียวกัน 

image_pdfimage_print