แอนโทนี คัสเธอร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น – นักเขียนรับเชิญ 

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 หรือชื่อที่เรียกทางการ คือ SARS-CoV-2 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนไปทั่วโลก และกลายเป็นปัญหาท้าทายที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคมพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ได้รับการยืนยันมีมากกว่า 200,000 รายจาก 167 ประเทศ

ทว่าประสบการณ์การรับมือกับการระบาดของเชื้อโรคนี้กลับแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยพบว่า ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ติดเชื้อมีค่อนข้างสูง ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตเองก็เป็นที่น่าตกใจเช่นกัน แม้จะมีการออกมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดแล้ว

ส่วน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดอยู่อย่างมาก แต่ประเทศเหล่านี้กลับไม่ได้เผชิญชะตากรรมเดียวกันหรือเหมือนกัน มีเพียงเกาหลีใต้เท่านั้นที่มียอดผู้ติดเชื้อมากกว่า 300 ราย ทว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่งกลับเป็นผู้ติดเชื้อมาจากคลัสเตอร์เดียวกันหรือเป็นการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนเดียวกัน และยังไม่พบการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและการติดเชื้อแบบเท่าตัว อย่างที่นักระบาดวิทยาเรียกกันว่า การแพร่ระบาดในชุมชนอย่างกว้างขวาง แม้จะมีเชื้อปรากฏตัวอยู่ในประเทศเกือบ 2 เดือนแล้วก็ตาม

สำหรับประเทศที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศอย่างกว้างขวาง รวมถึงประเทศไทยด้วย ควรจะตั้งคำถามดังๆ ว่า ทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และเราเรียนรู้อะไรบ้างจากประเทศเหล่านี้

จากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการรายงานข่าวต่างกล่าวถึงยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่สำคัญ 5 ประการที่ประเทศดังกล่าวปฏิบัติใช้ ได้แก่ จัดให้กระบวนการตรวจเชื้อเข้าถึงได้และรวดเร็ว มีการติดตามผู้สัมผัสหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย (เช่น การระบุบุคคลที่อาจเข้ามาติดต่อกับบุคคลที่ติดเชื้อ) อย่างพิถีพิถัน มีการเผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับบ้านพัก ที่ทำงาน และการเดินทางล่าสุดของผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว มีการคัดกรองและจำกัดการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงในเชิงรุก ก่อนที่จะมีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาในประเทศ และมีการรายงานข้อมูลอย่างโปร่งใส ด้วยการสื่อสารต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ เราจะเรียกแผนยุทธศาสตร์นี้ว่า “แผน ก.” กันนะครับ

จากดังกล่าวข้างต้นเราต่างรู้ว่า แผน ก. นั้นนำมาใช้ได้ผลชัดเจน ซึ่งผลการศึกษาจากหลายแห่งต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การระบุตัวตนและการคัดแยกตัวผู้ป่วยระยะแรกเริ่มนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการจำกัดด้านการเดินทาง และการลงมือปฏิบัติแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้เป็นอย่างดี จากประสบการณ์ในประเทศเหล่านี้ยืนยันผลการศึกษาที่ว่าอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามความล่าช้าหรือความลังเลในการดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้ อาจสร้างผลกระทบที่มิอาจย้อนกลับแก้ไขได้ กล่าวคือ ผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายสามารถทำให้เกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศได้อย่างรุนแรงและทันที เมื่อผ่านจุดพลิกผันไปแล้ว แผน ก. ก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป แต่ทว่า แผน ข. ซึ่งจะเป็นการจำกัดการเดินทาง และการปิดพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มงวด อาจกลายเป็นหนทางเดียวในการยับยั้งการแพร่ระบาด

น่าเศร้านะครับ ที่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่างพลาดโอกาสที่จะนำ แผน ก. มาใช้ปฏิบัติ แต่จะว่าไปแล้ว ประเทศไทยล่ะครับ นโยบายการรับมือกับโควิด-19 ของประเทศไทยสะท้อนถึงบทเรียนที่เรียนรู้จากประสบการณ์ประเทศอื่นหรือไม่ หรือเรากำลังมุ่งสู่ชะตากรรมเดียวกันกับที่ประเทศอิตาลีกำลังเผชิญ

1) การตรวจหาเชื้อ เงื่อนไขการตรวจหาเชื้ออาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย สำหรับบางคน แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่เลือกที่จะตรวจหาเชื้อ พวกเขาอาจจะต้องควักเงินออกมาจ่ายเองและราคาค่าตรวจก็อาจจะมีราคาค่อนข้างสูง นอกจากนั้นแล้วผู้ขอรับการตรวจจะต้องมี “ปัจจัยเสี่ยงทางระบาดวิทยา” เช่น เพิ่งเดินทางไปบางประเทศเมื่อไม่นานมานี้และจะต้องมีอาการที่จำเป็นต้องรับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วย นั่นหมายความว่า มีคนน้อยมากที่จะมีคุณสมบัติที่สามารถรับการตรวจหาเชื้อได้

นอกจากนี้ศักยภาพในการตรวจหาเชื้อก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศไทยสามารถประมวลผลการตรวจหาเชื้อจากการส่งตรวจได้วันละ 200 ชุด และจะต้องมีการเก็บสิ่งส่งตรวจจากแต่ละคน 2-3 ชุดด้วยกัน เท่ากับว่า ศักยภาพในการตรวจจะเหลือน้อยกว่า 100 คนต่อวัน

การตรวจหาเชื้อจึงเป็นไปค่อนข้างช้า และการที่จะ “ยืนยัน” ว่า ติดเชื้อหรือไม่นั้น จะต้องมีห้องปฏิบัติการถึง 2 แห่งมาตรวจผล โดยจะต้องดำเนินการอย่างอิสระด้วย ซึ่งเสียเวลา เมื่อรวมเอาอุปสรรคเหล่านี้เข้าด้วยกัน ก็ยิ่งทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้น้อย ขณะที่เกาหลีใต้นั้นสามารถตรวจหาเชื้อได้แล้วเกือบ 300,000 ครั้ง แต่ตัวเลขที่เป็นไปได้ที่ไทยได้ตรวจไปแล้วมีเพียง 5,000 ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ตามการที่จะรู้ตัวเลขที่แท้จริงก็เป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน เนื่องจากไทยยังไม่มีการรายงานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

2) การติดตามผู้สัมผัสหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เมื่อสงสัยว่า ผลการตรวจเชื้อของใครคนใดคนหนึ่งอาจเป็นบวกหรือติดเชื้อ (แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ) ก็จะต้องเริ่มติดตามผู้สัมผัสหรือผู้ใกล้ชิดทันที ซึ่งกระบวนการติดตามผู้สัมผัสหรือผู้ใกล้ชิดจะต้องรวบรวมข้อมูลจากบุคคลที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรือร้านอาหารที่พวกเขาไปรับประทาน ไปซื้อของ หรือไปออกกำลังกายช่วงวันที่ผ่านมา ข้อมูลที่ได้จะต้องมีการติดต่อไปยังผู้ที่สัมผัสหรือผู้ใกล้ชิด รวมทั้งผู้จัดการสายการบิน ร้านอาหาร หรือศูนย์การค้า ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ป่วยอาจสัมผัสกับผู้อื่น

ส่วนประเทศไทยมีกระบวนการติดตามผู้สัมผัสหรือผู้ใกล้ชิดแล้ว แต่ความล่าช้าในการรายงานรายละเอียดของผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุขชี้ให้เห็นว่า การติดตามล่าช้ากว่าสิงคโปร์อยู่มาก

3) การเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วย เมื่อมีการรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยแล้ว จะต้องเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวทันที เพื่อแจ้งเตือนให้สาธารณะรับทราบ

แต่จากที่เห็นในรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีการปกปิดดเป็นความลับ และจากที่เห็น เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกรายงานสถานการณ์มา แต่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยน้อยกว่าเดิมอีก เป็นแค่การประกาศจัดกลุ่มคนให้อยู่ในกลุ่มหรือหมวดหมู่ที่คลุมเครือไม่ชัดเจน เช่น กลุ่ม “คนที่ทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยว” เป็นต้น โดยรายละเอียดที่ประกาศในวันต่อมา แม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับอายุ สัญชาติ สถานที่ และแหล่งติดเชื้อของผู้ป่วย แต่ ณ จุดๆ นี้ ก็ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดต่อไปได้เพียงเล็กน้อย

ตัวอย่างการเผยแพร่ข้อมูลที่มีความเหมาะสมคือ กรณีการแจ้งผลการตรวจเชื้อโรคของพิธีกรและนักแสดงชื่อดังคนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งหลังตรวจพบว่าติดโรคโควิด-19 พิธีกรชื่อดังคนดังกล่าวก็ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบได้อย่างเหมาะสม โดยเขารีบเผยแพร่รายละเอียดข้อมูลการเดินทางล่าสุดของตัวเองด้วยตัวเองเลย เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้อื่นรับทราบถึงสถานที่ที่เขาไปมาอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งกลับบอกว่า หากตรวจสอบแล้วไม่ป่วยจริง พิธีกรคนดังกล่าวอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เสียอย่างนั้น

4) การคัดกรองเชิงรุก ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังคงลังเลและไม่มีการกำหนดข้อจำกัดด้านการเดินทาง เนื่องจากการท่องเที่ยวมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ช่วงแรกๆ ที่มีการระบาด นโยบายที่รัฐบาลออกมาจึงเป็นการ “ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน” อยู่ แม้ว่าประเทศอื่นๆ จะประกาศห้ามเดินทางเข้าแล้ว และข้อมูลเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิก็เพิ่งเริ่มคัดกรองอุณหภูมิของผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศ แต่กระบวนการคัดกรองแบบนี้ไม่ใช่กระบวนการแบบเชิงรุก

5) ความโปร่งใสและความสม่ำเสมอ น่าเศร้านะครับ เพราะก่อนที่จะเกิดการระบาดอย่างรุนแรง ประชาชนในประเทศไม่ได้เห็นชอบต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้มากนัก ขณะเดียวกันความพยายามของรัฐบาลในการจัดการกับการระบาดครั้งใหญ่นี้ก็ไม่มีความโปร่งใสและประชาชนก็ไม่มีความเชื่อมั่น

ก่อนหน้านี้มีกลุ่มนักศึกษาและนักเรียนออกมาชุมนุมรวมตัวประท้วงรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงที่เชื้อนี้จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่การทำงานของรัฐที่ไม่มีความโปร่งใสก็ทำให้ประชาชนอย่างเราๆ จะต้องคอยไล่ตามข่าวลือต่างๆ ตลอดจนคอยฟังข่าวซุบซิบที่ส่งต่อกันกันทางแอพพลิเคชั่นของมือถือและโซเชียลมีเดียอยู่ต่อไป

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต

น่าเศร้านะครับ เพราะเมื่อดูจากวิธีการทำงานที่คล้ายคลึงกันที่ใช้ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดการเริ่มระบาดภายในประเทศอย่างรุนแรงนั้น ดูเหมือนว่า เรากำลังพลาดโอกาสที่จะนำเอา แผน ก. มาปฏิบัติใช้

จะว่าไปแล้ว ตอนนี้ก็อาจจะสายเกินไปแล้ว เพราะว่า ในประเทศไทย ตอนนี้ยอดจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUIs) เนื่องจากมีผู้มีอาการเจ็บป่วยที่คล้ายหรือใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่นั้นมีค่อนข้างมาก ซึ่งดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นว่า เชื้อโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ได้แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศแล้ว โดยในประเทศฝรั่งเศสเองก็พบข้อมูลว่า อาการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างมากกับโควิด-19 และน่าจะมาจากการที่ไม่มีการวินิจฉัยการติดเชื้ออย่างแน่ชัดด้วย

อีกสาเหตุที่จะมาหนุนเสริมความเป็นไปได้ดังกล่าวก็คือ สัญญาณการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อภายในประเทศและกลุ่มผู้ติดเชื้อจากเหตุการณ์ที่มีการแพร่ระบาดได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเดิมมีเพียง 82 ราย ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 212 ราย ภายในเวลา 4 วันเท่านั้น ดังนั้นเชื้อโรคตัวนี้ยังสามารถแพร่ระบาดในระยะที่ยังไม่เกิดโรคและในกลุ่มผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการด้วย จำนวนผู้ป่วยข้างต้นจึงเป็นจำนวนเพียงเศษเสี้ยวของผู้ติดเชื้อที่กำลังแพร่เชื้อโรคอยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่า อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เราจะเผชิญเหตุการณ์คล้ายๆ กับที่กำลังเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือ การปิดประเทศ ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งได้ปิด ไม่ให้นักเรียนมาเรียนแล้ว และมีจังหวัดแห่งหนึ่งได้ออกมาประกาศใช้มาตรการ “ปิดเมือง” แล้วด้วย หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แน่นอนว่าทางเลือกที่เหลืออยู่จะมีแต่ แผน ข. เท่านั้น

ผมก็แค่หวังว่า รัฐบาลไทยจะให้โอกาสนี้นำเอา แผน ก. มาปฏิบัติใช้ นั่นคือ ยกเลิกเงื่อนไขข้อจำกัดการตรวจหาเชื้อและทำให้การตรวจหาเชื้อฟรีไม่มีค่าจ่าย มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยที่คาดว่าจะติดเชื้อ (รวมถึงจำนวนคนที่รับการตรวจหาเชื้อทั้งหมด) เผยแพร่ข้อมูลการเดินทางล่าสุดของผู้ป่วยติดเชื้อ เพิ่มความพยายามในการคัดกรองที่สนามบิน เปิดกว้างและดำเนินการอย่างโปร่งใสเพื่อสร้างความเชื่อถือต่อสาธารณะ เท่านี้เองครับ

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print