ภาณุพงศ์  ธงศรี เรื่อง 

บทสัมภาษณ์นี้เคยเผยแพร่บนเว็บไซด์เดอะอีสานเรคคอร์ดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 แต่ทีมงานเห็นว่าบทสัมภาษณ์นี้ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านจึงนำมาเผยแพร่อีกครั้งในซีรีส์ลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำ  

ความร้อนของแสงแดดในช่วงกลางวันแผ่ซ่านไปทั่วบริเวณริมคลองสมถวิล นอกจากจะเป็นสายน้ำแห่งชีวิตที่อยู่กับชาวตัวเมืองจังหวัดมหาสารคามมาตั้งแต่อดีตแล้ว ริมคลองแห่งนี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้านศิลปะการแสดงของภาคอีสานอีกด้วย

ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของของสำนักงานหมอลำหลายแห่งที่เรียงรายตามริมคลองคอยให้บริการผู้คนที่ต้องการว่าจ้างให้หมอลำไปแสดงตามงานต่างๆ 

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน ทำให้มหาสารคามเป็นจังหวัดที่มีรถโดยสารวิ่งผ่านหลายสาย ผู้คนในภูมิภาคแถบนี้ต่างพากันเดินทางเข้า-ออกและผ่านเมืองแห่งนี้อย่างเนืองแน่น จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีผู้คนนิยมตามหาและว่าจ้างหมอลำในจังหวัดมหาสารคามไปแสดง

ปัจจุบันจำนวนสำนักงานหมอลำที่เคยตั้งบริเวณนี้เหลือเพียง 2 แห่ง คือสำนักงานหมอลำดีเซียงคำภาและสำนักงานสันติภาพบันเทิง ซึ่งเป็นของหมอลำจันทร์เพ็ญ เด่นนภา

เหตุใดสำนักหมอลำต่างๆ ที่ในอดีตเคยทำหน้าที่ติดต่อว่าจ้างหมอลำไปแสดงได้ทยอยปิดตัวลง นี่คือคำถามที่มาของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

สำนักงานศูนย์รวมหมอลำดีเซียงคำภา ตั้งอยู่ริมคลองสมถวิล อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ภายในอาคารสำนักงานขนาดเล็กหลังนี้มีหลากหลายเรื่องราวว่าด้วยพัฒนาการของการจ้างหมอลำไปแสดงตามที่ต่างๆ ในอดีต

ป้ายสีขาวมีตัวหนังสือสีแดงเขียนว่า ศูนย์รวมหมอลำดีเซียงคำภา เมื่อเข้ามาด้านในของสำนักงานมี “เซียงคำภา ผญาญ่อย” หรือ “คำภา สีโสดา” เจ้าของสำนักงานวัย 77 ปี นั่งบนโต๊ะ ภายในห้องภาพหมอลำกลอน ลำซิ่ง ลำหมู่จากทั่วภาคอีสานติดไว้รอบห้อง ด้านข้างมีหนังสือตำราเกี่ยวกับผญาฮีตคองของชาวอีสาน วีซีดี และดีวีดีของหมอลำคณะต่างๆ ในภาคอีสาน

ภูมิลำเนาเดิมของเซียงคำภาอยู่ที่บ้านสีดา ตำบลหนองซอน ทุกวันนี้เป็นตำบลโพนทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อเรียนจบโรงเรียนวัดบ้านสีดา ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เซียงคำภาก็ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมหาสารคาม

ต่อมาเมื่อเขาอายุ 30 ปี จึงหันมาเอาดีกับอาชีพนักจัดรายการวิทยุ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผญาอีสานชื่อรายการ “เซียงคำภา ลูกเขยหล่า” ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2518 โดยสถานีวิทยุทหารอากาศ ต่อมาปี 2520 เขาก็ได้ย้ายมาจัดรายการที่สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย โดย “จัดรายการให้ฟรี เกี่ยวกับผญาอีสาน คนกะเลยเอิ้นว่า เซียงคำภา ผญาย่อย”  

“เซียงคำภา ผญาญ่อย” หรือ “คำภา สีโสดา” เจ้าของสำนักงานศูนย์รวมหมอลำดีเซียงคำภา วัย 77 ปี นั่งให้สัมภาษณ์หลังโต๊ะที่เคยรับงานให้หมอลำในครั้งอดีต

นอกจากการจัดรายการวิทยุ เซียงคำภามีชื่อเสียงในการการแต่งกลอนลำ เกือบทุกกลอนที่เซียงคำภาแต่งได้รับความนิยมในภาคอีสานเป็นอย่างมาก เซียงคำภาเล่าถึงกลอนลำกลอนแรกที่ตัวเองแต่ง พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้หมอลำมีพื้นที่ทางสถานีวิทยุให้คนรู้จัก

เขาไม่ได้แต่งคำร้องหมอลำได้ตั้งแต่แรก แต่ทำได้เพราะอาศัยการจำคำกลอนและคำร้องจากการฟังหมอลำร้องกัน จนทำให้เขามีชื่อเสียงในการแต่งกลอนลำ 

“พ่อก็ได้คติว่า ความรู้มันเกิดขึ้นเพราะการฟัง การเว้า การเบิ่ง จนทำให้แต่กลอนลำเรื่องแรกชื่อว่า ตาดำเว้าหลาย หน้าลายเว้าใหญ่ ให้กับคณะเพชรผั่งผ่าย เป็นคณะหมอลำหมู่ อยู่บ้านหัวหนอง ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม”

กลอนลำที่เขาแต่ง ซึ่งติดหูชาวอีสานมากระทั่งถึงปัจจุบันคือ กลอนลำเรื่องผาแดง นางไอ่ เตมีย์ใบ้ อชาตศัตรูของคณะฟ้าสีคราม ส่วนกลอนสั้นก็มีแต่งให้หมอลำวีระพงษ์ วงศ์ศิลป์ ชุดข้าวนาหว่าน สารเคมี ของบริษัทแสงระวี เป็นต้น

ตู้ด้านหลังโต๊ะเขียนกลอนลำของเซียงคำภา เต็มโล่รางวัลและผลงานกลอนลำที่ได้เคยประพันธ์ไว้ ซึ่งเป็นมรดกทางปัญญาที่สำคัญของภาคอีสาน

สำนักงานหมอลำที่กำลังจะหายไป

สำนักงานหมอลำสำหรับเซียงคำภาคือ ตัวกลางให้หมอลำมีงาน เป็นสถานที่ให้เจ้าภาพและหมอลำได้มาพบกัน โดยที่เจ้าภาพไม่ต้องเดินทางไปถึงบ้านของหมอลำที่อยู่ในต่างอำเภอหรือในหมู่บ้านห่างไกล เพียงแค่มาถึงสำนักงานหมอลำก็สามารถติดต่อว่าจ้างหมอลำได้ทั่วภาคอีสาน

ในอดีตสำนักงานหมอลำจะเป็นส่วนส่งเสริมให้หมอลำมีงานและออกแผ่นซีดีจำหน่าย รวมถึงสนับสนุนในด้านของกลอนลำ เพื่อผลิตผลงานใหม่ๆ มอบให้กับผู้ติดตามรับฟัง

“ปัจจุบันการจ้างหมอลำเปลี่ยนแปลงไปหลาย ในสมัยแต่กี้ หมอลำบ่ต้องติดต่อกันผ่านสำนักงาน แต่สิติดต่อผ่านการเดินทางไปเว้ากันอยู่บ้านหมอลำ ต้องเดินด้วยเท้าถ่อนั้น ส่วนหลายก็จะมีการจ้างและการขอไปพร้อมกัน บ่ได้มีกิจลักษณะหลาย” เซียงคำภาบอกเป็นภาษาท้องถิ่น 

เขาเล่าต่อว่า อุปกรณ์ที่หมอลำจะนำไปแสดงมีเพียงแค่เครื่องดนตรีประกอบเพียงชิ้นเดียว คือ แคน ซึ่งจะนำไปใช้ ทั้งการลำเรื่อง ลำกลอน มีทั้งลำเรื่องนิทาน สอดแทรกธรรมะ คติสอนใจ ความรู้ในเรื่องฮีตคองประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ฮีตสิบสองคองสิบสี่ นิทานสอนใจ อานิสงค์ของบุญกฐิน ตามแต่เจ้างานบุญที่เจ้าภาพจัดขึ้น 

ภาพหมอลำที่ประกาศอยู่ภายในสำนักงานของเซียงคำผา มีบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น หมอลำชัยวุฒิ เวียงวิเศษ หมอลำศรีพร แสงสุวรรณ หมอลำบุญแต่ง เคนทองดี

สถานีโทรทัศน์ขาวดำ พื้นที่ให้หมอลำปล่อยของ

เซียงคำภายังมองว่า การเป็นนักจัดรายการวิทยุเปิดหมอลำ นำผญามาบอกเล่า เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ฟังรายการในวิทยุเกิดความสนใจและอยากติดตาม ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันทำให้เขาจัดตั้งสำนักงานหมอลำขึ้น 

“การนำผญา นำหมอลำมาเปิดในสถานีวิทยุ ทำให้คนรู้จักหมอลำมากขึ้น มีคนติดตามฟังหมอลำแล้วก็ส่งจดหมายสอบถาม รวมทั้งมีหมอลำมาให้เราช่วยประชาสัมพันธ์หางานให้”เขากล่าว

แต่พลวัตของศิลปะการแสดงหมอลำมีความเคลื่อนไหวไปพร้อมกับสังคมเสมอ นับตั้งแต่รู้จักผ่านการบอกเล่าในชุมชน การกระจายเสียงผ่านสถานีวิทยุ การจ้างงานผ่านสำนักงานหมอลำและการนำเสนอหมอลำผ่านทีวี 

เมื่อปี 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดในการพัฒนาประเทศ ซึ่งกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 มีเป้าหมายที่จะให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และคมนาคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

พร้อมๆ กับมีแนวคิดในการใช้วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร มี “สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 5 ขอนแก่น” เป็นสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่ภาพออกอากาศในระบบ 525 เส้น (ขาวดำ) ทำให้เกิดการประกวดหมอลำ ทั้งหมอลำกลอน หมอลำเรื่องต่อกลอน อีกทั้งในจังหวัดต่างๆ ก็เริ่มมีสถานีวิทยุเพิ่มมากขึ้น ช่วงนี้เองที่ทำให้มีการรวมหมอลำกลอนเป็นสำนักงานเพื่อติดต่อว่าจ้างกันระหว่างเจ้าภาพและหมอลำ 

หากมองในภาพกว้าง จะเห็นว่ามีสำนักงานหมอลำเกิดขึ้นมากมายทั่วภาคอีสาน เช่น สำนักงานหมอลำประพา ตาชู ในจังหวัดศีรษะเกษ สมาคมหมอลำถูทาบริการ ในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

วิกฤตสำนักหมอลำ 

ถึงแม้ว่าสมาคมหมอลำและสำนักงานหมอลำ จะมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวแทนระหว่างเจ้าภาพและหมอลำ พร้อมทั้งยังเป็นต้นทางที่จะช่วยให้หมอลำมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมผ่านการโฆษณาในสถานีวิทยุ แต่ปัจจุบันความนิยมติดต่อจ้างหมอลำผ่านสำนักหมอลำก็ลดลงอย่างน่าใจหาย 

เซียงคำภากล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน การจ้างหมอลำผ่านสำนักงานลดลง เพราะเจ้าภาพหันไปติดต่อหมอลำผ่านสื่อออนไลน์ อย่างแฟนเพจเฟซบุ๊กหรือเลือกที่จะโทรศัพท์ติดต่อไปที่คณะหมอลำเอง 

“จากที่หมอลำและเจ้าภาพจะมาเฮ็ดสัญญาจ้างกันที่สำนักงานหมอลำ ซุมื้อนิเจ้าภาพสิโทรหาหมอลำเองหรือหมอลำเดินทางไปหาที่บ้านเจ้าภาพเลย แผ่นซีดี วีซีดีหมอลำก็บ่มีซื้อขายกันแล้ว ซุมื้อนี่เขาพากันเบิ่งหมอลำ ฟังหมอลำผ่านยูทูปและเฟซบุ๊กกันแล้ว”เซียงคำภากล่าว

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเสพสื่อจากการเสพสื่อผ่านวิทยุ โทรทัศน์ มาเป็นสื่อออนไลน์ เช่น ยูทูป เฟซบุ๊ก เป็นต้น เจ้าภาพสามารถติดต่อว่าจ้างศิลปินโดยตรง ไม่ต้องใช้สำนักงานหมอลำในการประสานงาน

เมื่ออิทธิพลของการสื่อสารโดยตรงในโลกออนไลน์เข้ามา บทบาทของสำนักงานหมอลำจึงลดลงและไม่ได้รับความนิยมในที่สุด จึงนำไปสู่การปิดตัวลงของสำนักงานหมอลำ ริมคลองสมถวิลตอนนี้จึงเหลือสำนักงานหมอลำเพียง 2 แห่งเท่านั้น

แม้สำนักงานหมอลำจะลดลง แต่สิ่งที่หมอลำเซียงคำภาอยากชวนให้หนุ่มสาวผู้นิยมฟังลำ นอกจากฟังหมอลำเพื่อความสนุกสนานแล้ว เขาอยากให้หันมาฟังหมอลำกลอนลำที่มีเนื้อหาคติเตือนใจและสาระวรรณคดีธรรมและวรรณคดีโลก เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน

image_pdfimage_print