ภาณุพงศ์ ธงศรี เรื่อง 

ภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีการถูกปกครองมาอย่างยาวนาน ผ่านวิถีการเมืองหลายรูปแบบ เป็นภูมิภาคที่มีการผสมผสานระบบสังคม และความเชื่อจากหลายชาติพันธุ์ ทั้งลาว เขมร ส่วย โซ่ กูย ญ้อ ฯลฯ การศึกษาสังคมอีสาน และศิลปวัฒนธรรมในเชิงวิชาการจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศไทยเปิดรับอิทธิพลตะวันตก แล้วมีการศึกษาวัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ในรูปแบบวิชาการ

5 นักปราชญ์ผู้เป็นนักคิดของชาวอีสาน ได้แก่ 1. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) (กลาง) 2. มหาสิลา วีระวงส์ (ล่างซ้าย) 3. ปรีชา พิณทอง (ขวาล่าง) 4. เติม วิภาคย์พจนกิจ (บนซ้าย) และ 5. สวิง บุญเจิม (บนขวา)

ถ้ามองภาคอีสานอย่างลึกซึ้ง ก็จะเห็นว่าภูมิภาคนี้ไม่เคยล้าสมัย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาจากวัดมาสู่โรงเรียน แต่งหนังสือ เอกสาร และตำราลงกระดาษ ที่มิใช่ใบลานอีกต่อไป 

การศึกษาทำให้เกิดการสร้างผลงานที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลัง โดยผู้เขียนเห็นว่า นักปราชญ์ทั้ง 5 ท่านนี้เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดและทางวิชาการ มีผลงาน และเรื่องราวที่น่าสนใจ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาพจาก Tnews

1.พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ถิ่นฐานเดิมเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ส่งเสริมการศึกษาสมัยใหม่ที่รับจากประเทศสยาม ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฆราวาส ถือเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคมที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ยังส่งเสริมการสอนการเรียนภาษาไทยในภาคอีสานและเป็นผู้ส่งเสริมนักปราชญ์ทั้งทางโลกและทางธรรม 

อีกทั้งพยายามรื้อฟื้นกาพย์กลอนฉันทลักษณ์ของชาวอีสาน โดยมีผลงานสำคัญในการส่งเสริมภาษาและวรรณคดีอีสาน ได้แก่ กาพย์รถไฟหลวง กาพย์พระใหญ่เขาพระงาม โลกนิติคำกาพย์ภาษาลาว และสิริจันโทวาทยอดคำสอน 

ส่วนผลงานด้านการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและการปกครอง เช่น ธรรมวิจยานุศาสน์ โดยมีศิษย์ในฝ่ายคันถธุระที่สำคัญ คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ศิษย์ในฝ่ายวิปัสสนาธุระที่สำคัญ คือ พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)

มหาสิลา วีระวงส์ บุคคลสำคัญของสองฝั่งโขง ผู้ชำระวรรณคดี เรื่อง ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง ภาพจาก มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

2. มหาสิลา วีระวงส์ เป็นบุคคลสำคัญของสองฝั่งโขงก็ว่าได้ ถือเป็นผู้ที่ริเริ่มการค้นคว้าประวัติศาสตร์ลาวโดยคนลาว มีความรู้รอบด้าน ทั้งด้านวรรณคดีโลกและคดีธรรม ภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ที่บ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด มีผลงานสำคัญและโดดเด่นมาก เพราะเป็นผู้ค้นพบและชำระมหากาพย์เรื่อง ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง มีความพยายามเป็นอย่างมากในการปริวัตรมหากาพย์เล่มนี้ โดยได้พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระสงฆ์สำคัญของภาคอีสานทั้ง 4 รูปที่จังหวัดอุบลราชธานี คือ พระสาสนดิลก พระครูวิโรจน์รัตโนบล พระมหารัตน์ รัฏฐปาโล และหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ทำให้มี ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง ที่เป็นฉบับตัวอักษรไทยมาถึงปัจจุบัน 


พร้อมกันนั้นยังเป็นผู้ชำระวรรณคดี เรื่อง อินทิญานสอนลูก แล้วค้นพงศาวดารแต่งหนังสือ ประวัติศาสตร์ลาว คุณูปการที่สำคัญคือ ปรับปรุงอักษรลาวเมื่อ พ.ศ. 2476 ที่ใช้ประเทศลาวมาจนถึงปัจจุบัน

ปรีชา พิณทอง อดีตเจ้าคุณพระศรีธรรมโสภณ ภาพจาก โครงการอนุรักษ์ใบลานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2563

3.ปรีชา พิณทอง เป็นชื่อที่วิทยานิพนธ์หรืองานนิพนธ์ทางวิชาการอื่นๆ เกือบทุกชิ้นต้องอ้างถึง หากเป็นการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภาคอีสาน ครอบคลุมทั้งด้านภาษา วรรณกรรม วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ภูมิลำเนาเดิมเป็นชาวบ้านโพนทอง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี 

ผลงานสำคัญ 2 เล่มที่ถือว่าเป็นตำราวิชาการสำคัญมี สารานุกรมภาษาไทย- อีสาน-อังกฤษ และประเพณีโบราณ ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญที่ให้ภาพของสังคมอีสาน บอกเล่าเป็นภาษาไทยภาคกลาง ด้วยสำนวนโวหารที่แยบคาย ทำให้เข้าใจเรื่องนั้นๆ อย่างแจ่มชัด

นอกจากนี้ยังมีหนังสืออื่นๆ อีกมากมาย เช่น รวมวรรณคดีอีสาน ภาษิตโบราณ สังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น ท้าวฮุ่งหรือเจือง เป็นบุคคลแรกๆ ที่เขียนถอดผญา ปรัชญาโบราณ ผ่านตัวหนังสือทำให้คนเข้าใจง่ายและเห็นคุณค่าของผญามากยิ่งขึ้น

เติม สิงหัษฐิต วิภาคย์พจนกิจ ผู้เขียนผลงานประวัติศาสตร์อีสานชิ้นสำคัญ รูปภาพจาก Textbooks Foundation – มูลนิธิโครงการตำราฯ 

4. เติม วิภาคย์พจนกิจ เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์อีสาน หนังสือเล่มสำคัญที่คนรุ่นหลังรู้จักดี คือ ประวัติศาสตร์อีสาน หนากว่า 600 หน้า โดยเติม วิภาคย์พจนกิจ เกิดในตระกูลกลุ่มเชื้อสายอาญาสี่ดั้งเดิมของเมืองอุบลฯ ได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้จากบันทึกตำนานการปกครองหัวเมืองภาคอีสาน พ.ศ. 2441 ของพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) ซึ่งมีศักดิ์เป็นบิดา ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์บอกเล่าที่สำคัญ พร้อมทั้งมีเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ตรง ทำให้มองเห็นภาพของกลุ่มอำนาจในอาณาจักรล้านช้างในแผ่นดินอีสาน

 

สวิง บุญเจิม ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทกลอนทั้งการลำ การขับร้องสรภัญญะ การสู่ขวัญ การแต่งผญา ภาพจาก ESAN INFORMATION @UBON RATCHATHANI 

5.สวิง บุญเจิม เป็นนักปราชญ์คนสำคัญที่มีผลงานโดดเด่นทางด้านปรัชญา ศาสนา ประเพณีอีสานการขับร้องสรภัญญะ การสู่ขวัญ การแต่งผญา และระเบียบปฏิบัติในประเพณีต่าง ๆ ภูมิลำเนาเป็นคนบ้านแก้งโพธิ์ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ผลงานชิ้นสำคัญที่ปัจจุบันยังคงพิมพ์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ คือหนังสือ มรดกอีสานมรดกโลก เป็นผลงานเล่มหนากว่า 1,197 หน้า รวมตำรามรดกอีสานไว้เกือบทั้งหมด ทั้งผญา อักษรโบราณอีสาน ความกล่อมลูก ตำรายา สรภัญญ์อีสาน ความผูกแขน ความสอยความทวย การบายศรีสู่ขวัญ โดย สวิง บุญเจิม ได้รวบรวมจากใบลานทั่วจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง 

นอกจากนี้ยังมีหนังสืออื่นๆ อีกมากมายในสำนักพิมพ์มรดกอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี

งานเขียนของ 5 นักปราชญ์อีสาน ที่ผู้เขียนได้กล่าวมานั้น ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด และทางวิชาการของชาวอีสานเป็นอย่างมาก 

แม้เวลาจะผ่านมานานเท่าใด นักปราชญ์หลายคนอาจไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว แต่ผลงานของนักปราชญ์เหล่านี้ก็ยังมีคนอ่าน อ้างอิง และศึกษาอยู่เสมอ 

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 คนที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ เป็นเพียงทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ในมุมมองของผู้อ่านอาจแตกต่างกันออกไป มิใช่เรื่องสำคัญ แต่เรื่องสำคัญเราในฐานะชาวอีสานจะขับเคลื่อนและพัฒนาภูมิภาคของเราอย่างไรให้เจริญรุ่งเรือง รวมถึงมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนดังเช่นบรรพบุรุษได้ดำเนินมา

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print