Credit istock.com/4X-image

แอนโทนี คัสเธอร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น – นักเขียนรับเชิญ 

ประเทศไทยมักได้รับยกย่องจากนานาชาติว่า เป็นประเทศที่มีการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จุดแข็งของระบบการดูแลสุขภาพของไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพและการดูแลสุขภาพเป็นอันดับแรก ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพได้อย่างรวดเร็วผ่านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ในชุมชน ไทยจึงเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางเพียงประเทศเดียวที่ได้คะแนนในระดับสูงสุดของดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก หรือการจัดอันดับความสามารถของแต่ละประเทศในการตอบสนองต่อสิ่งคุกคามสุขภาพที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากระบบสุขภาพที่ไทยมีอยู่ ก็ทำให้น่าสงสัยว่า ทำไมไทยจึงลังเลที่จะตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่เป็นการเข้าถึงผู้คนได้มากกว่านี้ แต่ไทยกลับเลือกที่จะตรวจหาเชื้อเฉพาะผู้ที่มี “ปัจจัยเสี่ยงทางระบาดวิทยา” เท่านั้น เช่น คนที่เพิ่งกลับจากบางประเทศ และคนที่มีอาการที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล ถือเป็นคนไม่กี่กลุ่มที่จะได้รับการตรวจหาเชื้อ

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สื่อมวลชนต่างรายงานว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่าตัวเองอาจติดเชื้อ แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจ หากผู้ป่วยยืนยันที่จะขอรับการตรวจหาเชื้อ ผู้ป่วยก็จะต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายเอง ซึ่งราคาค่าตรวจก็สูงมาก หากตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน ราคาค่าตรวจก็ยิ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยหมดกำลังใจที่เข้ารับการรักษา ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 มีนาคมพบว่า มีผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อและได้รับผลการตรวจแล้วประมาณ 6,000 คน (ข้อมูลถูกลบออกจากเว็บไซต์ในภายหลัง) ตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่า คนไทยหนึ่งล้านคน มีเพียงประมาณ 100 คนเท่านั้นที่ได้รับการตรวจหาเชื้อ และนั่นก็ทำให้ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการตรวจหาเชื้อต่ำที่สุดในโลก

การตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง ห้องปฏิบัติการ บุคลากร สารเคมี และอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง (PPE) เป็นต้น ซึ่งปัจจัยหนึ่งในนี้อาจจะเป็นข้อจำกัดในการตรวจหาเชื้อก็เป็นได้ 

มีหลายเหตุผลที่ทำให้การตรวจหาเชื้อในไทยถูกจำกัก หมอบางคนบางคนก็ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่รุนแรงเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพราะกลัวว่า หากผลออกมาเป็นลบก็จะทำให้ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่รุนแรงเกิดอาการ “มั่นใจว่าปลอดภัยจากเชื้อ” แล้วจะทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจและไปพบปะผู้คนมากขึ้น แม้ว่าผลการตรวจจะออกมาเป็นลบ แต่ก็ยังคงถือเป็นต้นตอการแพร่เชื้อนี้ได้ ทว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วง น่าจะเป็นเรื่องการไม่ถูกวินิจฉัยโรคมากกว่า 

การที่ผู้ติดเชื้อไวรัสสามารถแพร่เชื้อก่อนที่ตัวเองจะมีอาการรุนแรงนั้น ทำให้ผู้คนไม่กักตัวอยู่ที่บ้าน เนื่องจากพวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อแล้ว เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมารัฐบาลและสาธารณชนก็ออกมาตำหนิคนหนุ่มสาวถึงพฤติกรรมขาดความรับผิดชอบ ไม่กักตัวอยู่บ้าน จนทำให้เกิดการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว แต่ถ้าคนทั่วไปสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้ง่ายกว่านี้ หลายคนอาจจะรู้สถานะการติดเชื้อของตัวเองไปแล้วและคงกักตัวอยู่บ้านแล้ว 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การตรวจหาเชื้อมีข้อจำกัดคือ ศักยภาพของการตรวจ นี่อาจจะเป็นจริงบางส่วน แม้ว่าประเทศไทยจะเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อด้วยการส่งตัวอย่างตรวจได้หลายพันชิ้นต่อวัน (เฉลี่ยสองหรือสามตัวอย่างต่อคน) แต่การขาดแคลนน้ำยาที่ใช้ในการตรวจก็กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ห้องปฏิบัติการหลายแห่งไม่สามารถสนองตอบความต้องการ แม้ว่าจะมีการเตือนเรื่องการแพร่ระบาดล่วงหน้ามาแล้วถึง 2 เดือนและควรพยายามเพิ่มกำลังในการผลิตน้ำยาที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อให้ได้มากกว่านี้ 

อย่างไรก็ตามรายได้อันมหาศาลที่ได้จากการท่องเที่ยวและต่อเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นสิ่งที่ทำให้อดใจไว้ไม่ได้ ช่วงเริ่มต้นของการระบาด รัฐบาลกลับมีนโยบายอย่างเป็นทางการ “ยินดีต้อนรับชาวจีน” แม้ว่าประเทศอื่น ๆ จะเริ่มออกมาตรการจำกัดการเดินเข้าประเทศของผู้ที่มีต้นทางมาจากจีนแล้วก็ตาม ซึ่งตอนนี้ ประเทศจีนก็รายงานว่า สามารถควบคุมเชื้อภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวของไทยรีบออกมาขานรับว่า กำลังเตรียมพร้อมกับการกลับมาเยือนของนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้ ส่วนเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขและทำเนียบรัฐบาลก็ออกแถลงการณ์ว่า ไทยยังไม่ได้ถึงขั้นมีการแพร่เชื้อภายในประเทศ (หรือ “ระยะที่ 3” ตามที่พวกเขาเรียกกัน) การชี้แจงเช่นนี้อาจจะขัดกับข้อเท็จจริง แต่เป็นเพราะไทยต้องการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 

เป้าหมายนี้ดูเหมือนว่า มีความพยายามในการจำแนกผู้ป่วยน้อยลงจากเดิมและเพิ่มข้อกังวลต่อสาธารณะ ซึ่งขอยกตัวอย่างกรณีที่พิธีกรชื่อดังคนหนึ่งออกมาประกาศถึงผลการตรวจหาเชื้อของตัวเองที่เป็นบวกด้วยการแสดงความรับผิดชอบได้อย่างเหมาะสม และให้รายละเอียดการเดินทางล่าสุดของตัวเองเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้คนได้รับรู้ว่า เขาเดินทางไปที่ไหนมาบ้าง สิ่งที่เขาทำถือเป็นสิ่งสำคัญในการติดตามผู้ที่สัมผัสกับเขา ในทางกลับกันรัฐบาลกลับขู่ว่าจะฟ้องพิธีกรคนดังกล่าว ตามความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 

ความสำคัญของการตรวจหาเชื้อ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะนำมาโอ้อวดกัน การเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเป็นคำที่เราต่างรู้จักกันดีในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลกเช่นนี้ ดูจะยังไม่เพียงพอ องค์การอนามัยโลกจึงออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศ “ตรวจหาเชื้อผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อทุกราย” ซึ่งหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งนี้กล่าวว่า ความพยายามไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะทางสังคมและการตรวจหาเชื้อจะต้องมีการติดตามผู้สัมผัสและทำการแยกกักตัวทันที และวิธีการนี้ถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของการรับมือการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ครับ ผลการวิจัยชี้หลายแห่งยังให้เห็นด้วยว่า ยิ่งมีการตรวจพบผู้ป่วยและทำการแยกกักตัวออกมาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการจำกัดการเดินทาง การลงมือปฏิบัติเสียแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อร้ายนี้ได้อย่างมาก จากประสบการณ์การรับมือกับการแพร่ระบาดในฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ต่างยืนยันได้ว่าผลการวิจัยเป็นจริงแค่ไหน

หากไม่มีการตรวจหาเชื้อ เท่ากับว่า ประเทศกำลังล่องลอยไปสู่ความมืดมิด แม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วก็อาจพลาดในการตรวจหาเชื้อที่อาจพบประมาณ 1 ครั้งจากการตรวจทั้งหมด 10 ครั้ง แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจพลาดเพียงครั้งเดียวจากการตรวจทั้งหมด 800 หรือ 2,000 ครั้ง ผลจากการตรวจหาเชื้อผิดพลาดจะส่งผลต่อการจัดการภายในประเทศทุกด้าน หากไม่มีข้อมูลแล้วนโยบายก็จะเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยน หากไม่มีการตรวจจนรู้ว่าติดเชื้อ การติดตามผู้สัมผัสเชื้อก็จะไม่เกิดขึ้น หากคนไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ พวกเขาก็จะไม่กักตัวเอง ดังนั้นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงต้องเอาจริงเอาจังกับภารกิจนี้ 

อย่าลืมว่า ความล่าช้าหรือลังเลที่จะดำเนินการตรวจหาเชื้ออาจส่งผลกระทบที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ ผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่รายสามารถแพร่เชื้อภายในประเทศได้และจะยิ่งทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างมากขึ้น แล้วก็จะทำให้การจำกัดการระบาดเป็นเรื่องยากอีกหลายเท่าตัว 

หลายประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาเรื่องการตรวจหาเชื้อเช่นกัน อย่างสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมโรคก็พลาดไปก้าวหนึ่งจนทำให้กระบวนการตรวจหาเชื้อล่าช้าไปเกือบ 1 เดือน ส่วนออสเตรเลียก็ประสบขาดแคลนอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อ ที่ประเทศอิตาลีนักการเมืองก็มัวทะเลาะกันจนทำให้การตรวจหาเชื้อล่าช้าไปด้วย ขณะที่สหราชอาณาจักรก็ตัดสินใจไม่ตรวจหาเชื้อ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงมียอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในประเทศเหล่านี้พุ่งเพิ่มขึ้นไม่หยุด

ในทางกลับกัน ประเทศต่างๆ อย่างเกาหลีใต้และไอซ์แลนด์ กลับให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนและห้องปฏิบัติการสาธารณะในการตรวจหาเชื้ออย่างรวดเร็ว ทำให้ผลกระทบที่เกิดจาดเชื้อไวรัสในประเทศค่อนข้างชะงักหรือน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

แม้ไทยจะได้รับการยกย่องด้านการจัดการระบบสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและห้องปฏิบัติการระดับชาติที่ดี แต่ความล่าช้าที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อและความล้มเหลวในการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสภายในประเทศก็เป็นสาเหตุที่ทำให้นักระบาดวิทยาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจัดการกับเจ้าไวรัสชนิดนี้ ดังจะเห็นว่า เรามักก้าวไม่ทันคนอื่น โดยการตรวจหาเชื้อนี้อาจเป็นวิธีการที่ช่วยหยุดยั้งไม่ให้มีการแพร่ระบาดได้ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า จะสายเกินไป

เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ไทยได้ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือ การพบผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 100 รายภายในวันเดียว ในแง่ของยอดจำนวนผู้ป่วยจุดเปลี่ยนครั้งนี้ถือเป็นการก้าวนำหน้าประเทศอื่นๆ อย่างก้าวกระโดด  นอกจากนี้จำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) ที่ไทยมีค่อนข้างมาก ซึ่งตอนนี้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลในประเทศ เพราะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แสดงให้เห็นว่า เชื้อโควิด -19 กำลังระบาดในวงกว้างและฝรั่งเศสก็ออกมาให้ข้อมูลว่า จำนวนผู้เจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่มีเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ดูจะมีความสัมพันธ์อย่างมากกับเชื้อโควิด-19 และน่าจะเกิดจากการติดเชื้อที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยนั่นเอง

ในไม่ช้าทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คงปิดประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็มีการปิดโรงเรียนแล้ว และจังหวัดหนึ่งก็นำร่องประกาศ “ปิดเมือง”  ภายในเดือนเมษายนน่าจะมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายอย่างหนักหน่วง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในจีนและอิตาลี หลังสถานการณ์ลุกลามจนเกินจะควบคุม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นึกถึงสำนวนไทยที่ว่า “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” เพราะการปิดประเทศดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ แต่วิธีการดังกล่าวก็จะทำให้เกิดการสูญเสียจำนวนมาก ทว่าการที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีและแม่นยำกว่านี้คือ เราจำเป็นต้องมีข้อมูลอยู่ในมือ การมีข้อมูลจะช่วยให้เรารู้เรื่องและจำเป็นต้องมีการตรวจหาเชื้อมากขึ้นกว่านี้ และต้องทำเลย 

บทความนี้ได้ถูกเผยแพร่ในเวลาเดียวกันบนเว็บไซต์นิวแมนเดลา

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print