วิทยากร โสวัตร เรื่อง

สังเกตไหมครับว่า มีบางอย่างผิดปกติตอนที่เราเขียนภาษาลาวอีสาน  คือคำมันไม่ตรงกับเสียงที่เราพูดจริงๆ 

เหตุการณ์ล่าสุดยืนยันในสิ่งที่ผมกำลังจะชวนผู้อ่านอภิปรายได้เป็นอย่างดี  คือไม่กี่วันก่อน ผมเห็นสเตตัสคิดถึงบ้านของน้องสาวที่คุ้นเคยกัน (สาวอุบลฯ) ที่ไปเป็นครูอยู่จังหวัดตรังและมีครอบครัวที่นั่น ผมเลยแชทไปถามข่าวคราว ประโยคแรกที่เธอตอบกลับมาคือ

“ไห้ มื้อละ สองรอบ กะบ่ค่ำ”

แค่นั้นแหละ ผมก็ถามเธอกลับไปว่า นี่มันเป็นสำเนียงภาษาของเราจริงๆ ไหม? เธอจึงถามกลับมาว่า

น้อง – มันแยกยังไง? (ว่าใช่สำเนียงหรือไม่ใช่)

ผม – ลองเขียนประโยคนี้ให้เป็นสำเนียงภาษาของเราจริงๆ ให้ตรงจริงๆ มันจะเขียนได้ว่าอย่างไร

แต่แทนที่จะเขียน เธอก็ตอบกลับมาเป็นคลิปเสียงประโยคนั้น  ผมเลยบอกกับเธอไปว่า ฟังที่พูดมาแล้ว เสียงเธอไม่ตรงกับคำที่เขียน คือเธอพูดประโยคนั้นออกมาแบบคนลาวอีสานพูดเลย เมื่อโดนทักท้วงเธอก็เลยอ่านใหม่ และก็เขียนตอบกลับมาว่าคำมันไม่ตรงกับเสียงจริงๆ อย่างที่ผมบอก 

เพราะคำที่เธอเขียนคือ ไห้ แต่เสียงอ่านเป็น ไห่ 

คำเขียนเป็น มื้อ เสียงที่อ่านเป็น มื่อ

คำเขียนเป็น บ่  เสียงที่อ่านเป็น บอ (คำว่า บ่ ที่แปลไทยว่า ไม่ นี้ผมเห็นคนที่ จ.ชัยภูมิใช้ แต่ที่อื่นใช้ บอ)

คำเขียนเป็น ค่ำ เสียงที่อ่านเป็น คำ

คำถามจึงมีว่า ใครเป็นคนบัญญัติมาตรฐานการเขียนคำเหล่านี้?

เพื่อจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ ผมจึงแนะให้เธอลองให้แฟน (ที่เป็นคนใต้) อ่านออกเสียงที่เธอเขียน ดูซิว่าเขาจะอ่านออกเสียงแบบที่เธออ่านส่งให้ผมครั้งแรกไหม (ที่ออกเป็นลาวเลย แต่ไม่ตรงคำที่เขียน) ปรากฏว่าเขาอ่านแบบตรงคำ แต่ไม่ตรงเสียงแบบที่เธออ่าน

ผม – นั่นไง ฟังจากเสียงที่ส่งมาล่าสุด นี่ไม่ตรงภาษาของเราใช่ไหม สรุปว่าครั้งก่อน น. อ่านผิด (จากคำที่ใช้เขียน)

น้อง – ใช่ค่ะ ถ้าอ่านสะกดตามหลัก ไม่ตรงเลย

คำถามต่อมาคือ ทำไมคนลาวอีสานถึงอ่านผิด (จากที่เขียน) มันโง่ สะกดคำไม่เป็นหรืออย่างไร? หรือว่าก้มหัวค้อมยอมตามไปแล้วแต่เขาจะว่า 

คำถามนี้ผมไม่ได้กวนตีนนะครับ เพราะเอาเข้าจริง แม้แต่คนลาวอีสานสมัยใหม่นี่แหละ ถ้าคำประโยคนี้  “ไห้ มื้อละ สองรอบ กะบ่ค่ำ” ปรากฏอยู่ในหนังสือสักเล่ม ส่วนใหญ่เราก็จะอ่านตามคำที่เขียนนี้เลย ไม่ได้อ่านแบบสำเนียงลาวเป๊ะ (ที่น้องเขาอ่านเป็นสำเนียงลาวเป๊ะๆ ในคลิปเสียง เพราะอยู่ในสถานการณ์ว่าเรา ‘คุย’ กัน) 

เพราะเวลาเราอ่าน เมื่อเห็นตัวหนังสือ สมองเราจะสั่งการให้อ่านสะกดตามตัวหนังสือทันที เพราะว่าเราถูกฝึกให้อ่านหนังสือแบบภาษาไทยภาคกลาง (มีเหมือนกันที่เห็นหนังสือไทยแล้วอ่านออกสำเนียงลาวอีสานเลย แต่นั่นคือแม่ของผม และคนรุ่นแก คือคนรุ่นที่เกิดปี 2476 ผมเคยเห็นแม่อ่านหนังสือเรียนภาษาไทยของผม อ่านออกเสียงลาวไปเลย แต่ทุกวันนี้ คนรุ่นนั้นตายหมดแล้ว พี่ผมยังไม่อ่านเหมือนแม่เลย)

หรือลองเขียนคำว่า เสี่ยว ให้เพื่อนลาวอีสานอ่าน เขาก็จะอ่านออกเสียงว่า เสี่ยว  ไม่อ่านว่า เซียว (ซึ่งตรงสำเนียง) หรือแม้แต่คำว่า แซ่บ  เราก็จะอ่านว่า แซ่บ  ไม่อ่าน แซบ  (คำนี้แหละที่พ่อใหญ่นพดล  ดวงพร ผู้ก่อตั้งวงดนตรี เพชรพิณทอง แกพูดที่งานหนังสืออุบลฯ ครั้งหนึ่งว่า พอได้ยินใครอ่านหรือพูดว่า แซ่บๆ นี่ “ข่อยอยากเอาตีนยันหน่าเด้ มันต้องออกเสียงวาแซบ” เรียกเสียงเฮและเสียงปรบมือกันกึกก้อง) 

เพื่อให้เห็นความผิดปกตินี้อย่างชัดเจน เราลองนึกดูว่า มีคำพูดและคำเขียนในภาษาไหนบ้างไม่ตรงกัน 

เกือบ 100 % คือมันตรงกัน ถ้าจะไม่ตรงก็แค่หางเสียงนิดหน่อย เช่น ไหม เป็น มั้ย ซึ่งความหมายมันไปกัน ต่างจาก เสี่ยว กับ เซียว ซึ่งในภาษาลาวเรานั้น เสี่ยว คือ สุย ที่แปลว่า เฉียด หรือเลี้ยวเข้าหา (มันสิเสี่ยวใสมือ – คำผยา) ตามความหมายในภาษาไทย ไม่ได้แปลว่า เพื่อนรัก เพื่อนตาย ที่ออกเสียงว่า เซียว คือความหมายมันไปกันคนละขั้วโลก  

ทีนี้ถ้าลองเขียนประโยค “ไห้ มื้อละ สองรอบ กะบ่ค่ำ”  นี้ใหม่ให้ตรงฐานเสียงว่า “ไห่มื่อละสองรอบกะบอคำ”  มองปราดแรกเห็นกลุ่มคำแบบนี้เราจะไม่เข้าใจเลย ยิ่งถ้าอ่านในใจหรือแม้แต่อ่านออกเสียง เราก็อาจหาความหมายอย่างที่เคยชินไม่ได้ เพราะสำนึกเราถูกทำให้เทียบกับคำมาตรฐานแบบไทยกลางนั้นแล้ว แต่ถ้าลองอ่านให้ตรงคำที่เขียนออกมาเป็นเสียง (ไม่ว่าจะเป็นเสียงในใจหรือเสียงดัง) คนลาวอีสานจะ “อ๋อ” ทันที

คำถามคือ ทำไมเราไม่เขียนแบบนี้ แบบที่ตรงเสียงมาตั้งแต่ต้น 

คำตอบต่อคำถามนี้ เท่าที่ผมพอจะหาได้ก็คือ เพราะลาวอีสานไม่มีตัวหนังสือเพื่อพิงหรืออิงคำพูดของเราในการถอดเสียง ถ้าเทียบกับคนประเทศลาวจะชัดเจนคือคำที่เขาเขียนกับคำที่อ่านหรือพูดมันตรงกัน ถามว่าเราเคยมีตัวหนังสือไหม มีครับ คือตัวไทยน้อย ตัวธรรม แต่เมื่อมีการปราบกบฏผีบุญ (ตามสำนวนของทางราชสำนักสยาม) ก็มีการจัดการศึกษาในอีสาน จึงยกเลิกตัวหนังสือเหล่านั้น และให้เรียนหนังสือไทย  ใช้ตัวหนังสือไทย หลักสูตรแบบไทยกลาง 

ต่อมาก็สร้างคำมาตรฐานขึ้นมาเพื่อปริวรรตคัมภีร์ที่จารด้วยตัวธรรมหรือไทยน้อยที่เรามีและถอดเสียงพูดของเราต่อมา (แต่ทำไมต้องถอดของเราเพี้ยน)

ผมไม่แน่ใจว่าปัญหานี้เกิดกับคนเขมรอีสานหรือไม่ แต่เท่าที่ผมเคยบวชเรียนอยู่ จ.สุรินทร์ 7 ปี เพื่อนที่เรียนภาษาเขมรผ่านตัวขอมหรือตัวเขมรนั้น เขาเรียนและสอนกันผ่านตัวขอมหรือเขมรเลย เวลาถอดเสียงพูด สำหรับคนที่พูดเขมรไม่ได้ ก็ใช้ตัวหนังสือไทยถอดเสียงให้ตรงตามที่ออกเสียง

บางทีเวลาผมเขียนหนังสือแล้วใช้ภาษาลาวอีสาน แต่ต้องใช้คำมาตรฐานเหล่านี้ ก็รู้สึกเหมือนหลอกตัวเอง หลอกคนอ่านไปวันๆ เพราะเอาเข้าจริง การที่ใช้ภาษานี้ก็เพื่อต้องการยืนยันอัตลักษณ์สู้กับอำนาจกำกับจากส่วนกลางว่า ภาษานี้มีอยู่ ตัวตนเรามีอยู่ แต่อัตลักษณ์หรือความเป็นตัวเองที่ว่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ศูนย์อำนาจส่วนกลางขีดให้มึงเป็นแหละว้า – ไอ้ห่_ !

ทีนี้สังเกตไหมว่า ภาษาลาวอีสานเรา ไม่สะดุดเลยเวลาเป็นเพลง  “บอเปนหยัง เขาเข่าใจ”  เขาจะร้องแบบนี้เลย แต่เวลาที่ต้องเขียน เราจะถูกบังคับโดยอัตโนมัติให้เขียนว่า “บ่เป็นหยัง เขาเข้าใจ”  ซึ่งถ้าคนที่พูดลาวไม่ได้หรือพูดได้แต่ร้องตามเนื้อ แบบไม่มีตัวอย่างเสียงร้องจริง มันจะไม่เป็นเพลง

คำถามคือ ทำไมเพลงถึงคงภาษาไว้ได้ ก็เพราะเพลงมันเริ่มจาก ‘เสียง’ ไม่ใช่ ‘คำ’ (ตัวหนังสือ)

เรื่องนี้น้องสาวที่คุยด้วยก็ยืนยันว่า คนใต้ก็ร้องเพลงลาวอีสานได้แบบสำเนียงลาวอีสาน เพราะเขาเลียนเสียงร้องเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเพลงลาวอีสานถึงทะลุทะลวงใจ เข้าถึงคนลาวอีสานและขยายไปถึงคนภาษาอื่นภาคอื่นได้โดยไม่ขัดเหมือนคำอ่าน

เอาจริงๆ ผมยังคิดและรู้สึก กระทั่งเชื่อว่าภาษาลาวอีสานนั้นเป็นภาษาที่ทรงพลัง  เพียงแต่ถึงตรงนี้ ผมเริ่มยอมรับแล้วว่า ภาษาของคนลาวอีสานจริงๆ นั้น มันมีแค่หรือเหลือแค่ภาษาที่เป็นสำเนียงเสียงพูด ไม่มีตัวหนังสือที่เราจะใช้อิงเพื่อถอดสำเนียงเสียงให้ตรง เพราะคำมาตรฐานที่เราใช้อยู่ มันถูกสร้างและบังคับให้เราใช้เพื่อยอมรับต่อศูนย์กลางอำนาจรัฐส่วนกลาง (ขนาดเสียงมันยังทำให้เพี้ยน ไม่ตรงคำ ไม่ตรงความ เรายังใช้) แบบสู้ใช้ภาษาเขียนแบบไทยกลางไปเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องหลงกลสองชั้น สู้กันทางความคิดอย่างเดียวไปเลย

หรือไม่งั้น ก็ขบถต่อคำมาตรฐานที่รัฐส่วนกลางกำกับไว้ แล้วกลับไปสู่ฐานเสียงที่เป็นเราจริงๆ อย่างน้อยก็ตรงกับภาษาของเพลงที่แพร่หลายและกระจายในวงกว้าง

image_pdfimage_print