พสิษฐ์ วงษ์งามดี เรื่อง

ในตอนที่ 1 ผมต้องการจะโต้แย้งว่าจากประสบการณ์ในการทำงานที่ภาคอีสานมา 4 ปี ทำให้ผมเชื่อว่าคนอีสานไม่ได้ “โง่ จน เจ็บ” อีกต่อไปแล้ว การที่พวกเขาออกมาประท้วงหรือแสดงออกทางการเมือง ไม่ได้เกิดจากการที่พวกเขาถูกหลอก จ้างยุยง แต่เป็นเพราะพวกเขามีความจำเป็นอื่นๆ

ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะพยายามแสดงให้เห็นว่าความจำเป็นอื่นๆ ที่ผมพูดถึงคืออะไรกันแน่

ตัวแทนกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่คัคค้านการทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เพราะกังวลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

ประเด็นแรก ที่เราควรจะทำความเข้าใจก่อนก็คือ การแสดงออกทางการเมืองที่เรามักจะเห็นอยู่เสมอ อาทิ การชุมนุมหรือการเดินขบวนประท้วงโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐและนายทุน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า โรงงาน เหมือง เป็นต้น

การแสดงออกเช่นนี้มีต้นทุนที่ผู้ชุมนุมจะต้องจ่าย เช่น มีโอกาสถูกทำร้ายจากฝ่ายตรงข้าม ต้นทุนในการเดินทาง ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการหารายได้ทางอื่น

หากมีการจ้างชาวบ้านออกมาประท้วงจริงๆ ก็ต้องใช้เงินจำนวนสูงในระดับหนึ่ง มิเช่นนั้นชาวบ้านก็คงเลือกที่จะทำงานตามปกติดีกว่า เพราะค่าจ้างไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป 

ด้วยเหตุนี้ การจ้างชาวบ้านจำนวนมากให้ออกมาชุมนุมเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่ยากกว่าที่เราเข้าใจกันพอสมควร (ผมไม่ปฏิเสธว่าอาจจะมีการจ้างชาวบ้านเกิดขึ้นบ้าง แต่เมื่อเทียบอัตราส่วนแล้วชาวบ้านมาเพราะเหตุผลของตัวเองจริงๆ มากกว่า) 

ถ้าไม่ถูกจ้าง หลอก ยุยง แล้วเหตุผลที่ทำให้คนอีสานออกมาประท้วงคืออะไรกันแน่?

คำตอบของผมอาจจะกำปั้นทุบดินเกินไปหน่อย แต่เหตุผลของพวกเขาไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นก็คือ พวกเขาเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาของรัฐและนายทุนจริงๆ !

มีความเดือดร้อนหลายแบบที่คนอีสานได้รับ แต่คนเมืองอาจจะไม่ได้ทันนึกถึง เช่น โครงการพัฒนาทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ คนอีสานต้องย้ายที่อยู่อาศัย หากบางคนต้องการจะอยู่บริเวณเดิมต่อไปก็ต้องเปลี่ยนอาชีพ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะคิดว่าปัญหาข้างต้นมันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ 

แน่นอน ถ้าเราเอาจินตนาการและมุมมองแบบคนกรุงฯ มาใช้ การรักษาสุขภาพ การย้ายที่อยู่ และการเปลี่ยนอาชีพไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากเราอยู่ในชนบท เราจะเผชิญข้อจำกัดต่างๆ มากมาย 

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเลือกที่จะต่อต้านโครงการพัฒนา แทนที่จะก้มหน้าก้มตายอมรับ

ต่อไปนี้ผมจะพยายามอธิบายให้ผู้อ่านเห็นภาพที่สุดว่าข้อจำกัดที่ชาวอีสานเผชิญคืออะไร

อนึ่ง บทความนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังการแสดงออกทางการเมืองของคนอีสานมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะตัดสินว่าการออกมาแสดงออกทางการเมืองนั้นถูกหรือผิด เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ ผมไม่ขออภิปรายประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเรื่องคนอีสานควรจะเสียสละเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนส่วนมากหรือไม่ 

ปัญหาสุขภาพและผลกระทบอื่นๆ

โครงการพัฒนาของรัฐและนายทุนหลายโครงการ อาทิ เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของชาวอีสาน ยกตัวอย่างกรณีที่หลายคนรู้จัก เช่น การต่อต้านเหมืองทองคำในจังหวัดเลย มีชาวบ้านได้รับผลกระทบทางสุขภาพจำนวน 165 คน เพราะเหมืองทำให้

“น้ำในขุมเหมืองปนเปื้อนสารพิษและมีสภาพเป็นกรด… บ่อน้ำเสียปนเปื้อนไซยาไนด์เก็บไว้บริเวณบ่อเก็บกักกากแร่ และสารพิษจำนวนมากที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษและทำให้เกิดมลพิษรั่วไหล และแพร่กระจายออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าว”

หลายคนอาจจะมองว่ามลพิษเหล่านี้สามารถป้องกันได้ แต่ในความเป็นจริงมีข้อจำกัดหลายประการในการป้องกันมลพิษไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ เช่น มลพิษทางน้ำจากโรงงานหรือเหมืองอาจไหลมาปนกับแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 

ดังนั้น ต่อให้เลิกใช้บ่อน้ำตามธรรมชาติก็อาจจะได้รับผลกระทบอยู่ดี ไม่ต้องพูดถึงมลพิษที่มาในรูปของอากาศหรือเสียง ซึ่งป้องกันได้ยากกว่ามาก หรือบางครั้งมลพิษอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยโดยตรง แต่ไปส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมแทน และอาจจะทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ เช่น ไม่มีนักท่องเที่ยว 

อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้หมายความว่า โครงการพัฒนากับชาวบ้านจะอยู่ร่วมกันเสมอไปไม่ได้ มีหลายกรณีที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าบริหารจัดการทรัพยากรและความขัดแย้งได้ คนในชุมชนก็จะอยู่ร่วมกับโครงการเหล่านี้ได้ เพียงแต่ว่า ในประเทศไทย การวางผังเมืองไม่แข็งแรง อาจจะทำให้กรณีการอยู่ร่วมกันเช่นนี้หาได้ยากสักหน่อย

นอกจากนี้ อาจจะยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เป็นผลพวงจากโครงการพัฒนา ซึ่งคนที่อยู่อาศัยในเมืองอาจจะนึกไม่ถึง เช่น การสร้างเขื่อนทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้านหรือทำให้จับปลาไม่ได้ การปล่อยให้เอกชนเข้ามาลงทุนอาจจะทำให้เกิดการซื้อที่ดินบางจุด ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นการเข้าสู่พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยที่เอกชนเองก็ไม่รู้ตัว เป็นต้น

เมื่อได้รับผลกระทบจากมลพิษและไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ ทางเลือกต่อไปที่เหลืออยู่คือ การย้ายไปอยู่อาศัยที่อื่น แต่ในความเป็นจริง การย้ายที่อยู่ก็ต้องเผชิญข้อจำกัดเช่นเดียวกัน

ข้อจำกัดในการย้ายที่อยู่

บางคนอาจจะคิดว่า หากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาแล้ว ภาครัฐก็จะช่วยเหลือในการหาที่อยู่ใหม่ แต่ในความเป็นจริง มีปัญหามากมายในการจัดหาที่อยู่ใหม่ เช่น ชาวบ้านไม่ได้ค่าชดเชยตามที่ตกลงกันไว้ หรืออาจจะได้รับค่าชดเชย แต่ได้มูลค่าต่ำและไม่เพียงพอสำหรับการย้ายที่อยู่ สาเหตุของปัญหานี้มีหลากหลาย ตั้งแต่การคอร์รัปชันไปจนถึงการจงใจประเมินมูลค่าผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับไว้ต่ำเกินไป และการขาดแคลนงบประมาณ เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

บางกรณี รัฐอาจจะช่วยเหลือในการหาที่อยู่ใหม่ให้ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ตัวรัฐเองก็ทำให้ที่อยู่ใหม่อาจจะไม่เหมาะแก่การประกอบอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้าน (เช่น เพาะปลูกไม่ได้ อยู่ห่างไกล ไม่ติดแหล่งน้ำ ฯลฯ) หรือในบางครั้งที่อยู่ใหม่อาจจะอยู่อาศัยไม่ได้เลยด้วยซ้ำ (เช่น ดินนุ่มเกินไป สร้างบ้านไม่ได้ โดนน้ำท่วมทุกปี เป็นต้น)

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะคิดว่า ถ้าที่อยู่ใหม่ไม่เหมาะกับการประกอบอาชีพเดิม ก็ควรจะแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนอาชีพไปเลย ซึ่งเหมือนกับที่ผมกล่าวไว้ด้านบนว่า การเปลี่ยนอาชีพก็มีข้อจำกัดหลายประการเช่นกัน

ข้อจำกัดในการเปลี่ยนอาชีพ

แม้การเปลี่ยนอาชีพในเขตเมืองของกรุงเทพฯ จะดูเป็นเรื่องง่าย แต่การเปลี่ยนอาชีพในชนบทของภาคอีสานกลับไม่ได้ง่ายอย่างนั้น 

ผมเชื่อว่า ข้อจำกัดหลักในการเปลี่ยนอาชีพของคนอีสาน ไม่ใช่การขาดความรู้ความสามารถ แต่คือเรื่องความหลากหลายทางเศรษฐกิจนอกเขตเมืองที่ค่อนข้างต่ำ (ซึ่งก็เป็นผลพวงจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ความเจริญกระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล)

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอาชีพเดิมของเราคือการเป็นเกษตรกรทำนาและมีรายได้พอเลี้ยงดูคนในครอบครัว แต่วันหนึ่งรัฐมาสร้างเขื่อน ทำให้ที่อยู่เดิมของเราถูกน้ำท่วม รัฐจึงจัดหาที่อยู่ใหม่ให้ ซึ่งอยู่นอกเขตเมืองเช่นเดิม แต่ที่ดินบริเวณนั้นกลับไม่สามารถเพาะปลูกได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราสามารถเปลี่ยนอาชีพเป็นอะไรได้บ้าง? 

ประเด็นแรกที่เราควรตระหนักคือ พื้นที่บริเวณนั้นไม่ใช่เขตเมือง ดังนั้น ความหนาแน่นของประชากรก็ย่อมต่ำ นั่นหมายความว่า ขนาดตลาดก็จะเล็กลงตามไปด้วย 

ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ต่อให้เราจบปริญญาขั้นสูงด้านการประกอบธุรกิจมา อาชีพที่ทำได้ก็คงไม่พ้นอาชีพพื้นฐาน เช่น เปิดร้านอาหาร ร้านขายของ รับจ้างซ่อมสิ่งต่างๆ ทอผ้า หรือรับจ้างทั่วไป ซึ่งเป็นอาชีพที่คนอีสานทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว และหากทุกคนที่ได้รับผลกระทบย้ายมาพร้อมกัน และประกอบอาชีพเหล่านี้เหมือนๆ กัน ก็จะยิ่งมีแต่ขาดทุน เพราะแย่งลูกค้ากันเอง

ความเป็นจริง มีหลายครั้งที่รัฐพยายามสนับสนุนให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาประกอบอาชีพใหม่ๆ แต่ความช่วยเหลือของรัฐก็มักจะมีข้อจำกัดอาทิ รัฐอาจส่งเสริมให้ประชาชนปลูกอ้อยแทนข้าว แต่สุดท้ายที่ดินใหม่ก็อาจจะไม่เหมาะกับการปลูกอ้อย หรือเมื่อรัฐส่งเสริมให้คนปลูกอ้อยมากๆ ก็อาจส่งผลให้อ้อยล้นตลาดและราคาอ้อยถูกจนขายไม่ได้ 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ว่า รัฐอาจทำได้แค่ให้คำแนะนำกับประชาชน แต่ชาวบ้านจะต้องแบกรับต้นทุนในการลงทุนเองทั้งหมด

อีกตัวเลือกที่เราอาจจะทำได้คือ การออกไปทำงานในเขตเมืองของตัวจังหวัด การทำเช่นนี้ก็คงลำบากสำหรับชาวกรุงฯ เช่นกัน แต่มันจะยิ่งลำบากขึ้นไปอีกสำหรับชาวอีสานในชนบท 

ถ้าไม่เชื่อ ให้ลองจินตนาการถึงพื้นที่ในอีสานที่ไม่มีการคมนาคมสาธารณะใดๆ ให้ใช้ ตัวเลือกเดียวที่มีคือ รถมอเตอร์ไซค์ ถ้าหากที่พักอยู่ในต่างอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี และต้องการเดินทางเข้าอำเภอเมือง คุณจะต้องขี่มอเตอร์ไซค์กว่า 100 กิโลเมตร (อย่าลืมว่า บางช่วงของถนนไม่มีไฟถนนด้วย) การเดินทางอาจจะสะดวกขึ้นเล็กน้อยหากชาวบ้านมีรถยนต์ส่วนตัวขับ แต่ถ้าขับรถยนต์ ค่าน้ำมันที่จะต้องจ่ายต่อวันก็อาจจะไม่คุ้มกับค่าแรงที่ได้อยู่ดี

นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ว่า ทำไมนโยบายรถคันแรกถึงได้รับความนิยมจากผู้อยู่อาศัยในชนบท 

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า ถ้าอย่างนั้น ก็เลือกทำงานในโครงการพัฒนานั้นไปเสียเลยสิ!  

จริงๆ ก็ต้องยอมรับว่า ตัวเลือกนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ปัญหาหลักคือ ตำแหน่งงานในโครงการพัฒนานั้นมีอยู่อย่างจำกัด และตำแหน่งงานหลายตำแหน่งถูกสงวนไว้ให้กับคนเมืองที่มีการศึกษาสูง 

สุดท้าย ตำแหน่งที่เหลือไว้ให้ชาวบ้านทั่วไปทำ จึงมักจะเป็นงานที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำ แต่มีความเสี่ยงสูง

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผมแค่ต้องการให้ผู้อ่านหลายๆ ท่านเข้าใจว่า เพราะเหตุใดคนอีสานจำนวนมากจึงมักออกมาประท้วงและแสดงออกทางการเมืองอยู่เสมอ พวกเขาไม่ได้ “โง่ จน เจ็บ” ไม่ได้ถูกจ้าง ถูกหลอก หรือถูกยุยงโดยมือที่สาม แต่พวกเขามีความจำเป็นจริงๆ 

เป้าหมายของบทความชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่า การแสดงออกทางการเมืองของคนอีสานเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ เพียงแค่ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจวิธีคิดของคนอีสานมากขึ้น 

ผมถือว่าเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของบทความชิ้นนี้ เพราะหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างคนเมืองและคนต่างจังหวัด ดังนั้น ในอนาคต หากเรายังมีมายาคติว่าด้วยความ “โง่ จน เจ็บ” ของคนอีสานอยู่ ความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ก็คงจะกลับมาหลอกหลอนเราอีกแน่นอน

หวังว่าใครที่อ่านบทความนี้แล้วจะเข้าใจคนอีสานมากขึ้นครับ

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print