ภาพปก ย่าน Eynsford ในเมือง Kent ประเทศอังกฤษที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฤดูร้อน หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 แทบไม่มีผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อของ ภาพเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2563 เครดิตภาพ: วันเพ็ญ มอลเลอร์

วันเพ็ญ มอลเลอร์ เรื่อง 

ผู้เขียนอาศัยอยู่ที่เมือง Kent ประเทศอังกฤษ ในชุมชนเล็กๆ ที่ชื่อว่า South Darenth อยู่ไม่ห่างจากกรุงลอนดอนมากนัก ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนที่นี่ไปค่อนข้างมาก และยังได้สร้างระยะห่างระหว่างผู้คน อีกทั้งความวิตกกังวลและความหวาดระแวงเพิ่มมากขึ้น 

แม้รัฐบาลอังกฤษจะผ่อนคลายข้อจำกัดบางส่วนของมาตรการล็อกดาวน์ ระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา อาทิ อนุญาตให้โรงเรียนประถมและเนิร์สเซอรี่กลับมาเปิดการเรียนการสอน อนุญาตให้รวมกลุ่มในสถานที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนตัวได้ไม่เกิน 6 คน แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้มาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 2 เมตร ซูเปอร์มาร์เก็ตยังจำกัดจำนวนคนเข้า-ออกเพื่อลดความแออัด และตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนเป็นต้นไป ผู้ที่จะเดินทางเข้าอังกฤษต้องกักตัวเอง 14 วัน โดยต้องลงทะเบียนแจ้งทางการเพื่อรับการสุ่มตรวจติดตาม หากฝ่าฝืนโทษปรับสูงถึง 1,000 ปอนด์ (39,600 บาท) 

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2562 ขณะที่เชื้อไวรัสโคโรนาฯ เริ่มระบาดในเมืองอูฮั่น ประเทศจีน กระทั่งลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ตอนนั้นคนในอังกฤษยังมองว่า เป็นเรื่องไกลตัว ผู้คนยังใช้ชีวิตประจำวันกันปกติ กระทั่งการแพร่ระบาดข้ามมาสู่ยุโรป รายงานข่าวตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในประเทศข้างเคียง อย่างอิตาลีและฝรั่งเศสที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้คนในอังกฤษเริ่มตระหนักว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คิด

ผู้เขียนสูญเสียญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวจากเชื้อไวรัสโคโรนาฯ ไปหนึ่งคน เป็นคุณลุงของสามีวัย 62 ปี ที่สก็อตแลนด์ ตอนนั้นก็ไม่สามารถเดินทางเพื่อไปร่วมพิธีที่สก็อตแลนด์ ทำได้เพียงพูดคุยทางโทรศัพท์เท่านั้น ส่วนพิธีศพ ทางการก็อนุญาตให้เฉพาะคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดเข้าร่วมได้ไม่เกิน 10 คนเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทุกคน ถึงตอนนี้ผู้เขียนก็ยังรอวันที่จะได้พบกับครอบครัว

หากเป็นช่วงเวลาปกติ ในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงสิ้นสุดฤดูในเดือนสิงหาคม ที่อังกฤษจะเต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา ทั้งเทศกาลดนตรี การแข่งขันกีฬาระดับโลก ฯลฯ จะมารวมที่อังกฤษ ผู้คนที่นี่รักการพบปะสังสรรค์ การทำกิจกรรมนอกบ้าน เด็กๆ มักจะเป็นสมาชิกชมรมหรือสมาคมอย่างน้อยหนึ่งแห่งขึ้นไปเพื่อทำกิจกรรมในวันหยุด ผู้สูงอายุจะไปโบสถ์ในเช้าวันอาทิตย์ ก่อนร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัวในช่วงกลางวัน หรือที่เรียกกันว่า ซันเดย์ โรสต์ (Sunday Roast) กิจกรรมเหล่านี้ถูกยกเลิกไปหมด นับตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัส

ส่วนระบบการรักษาพยาบาล ที่อังกฤษจะมีคลินิกใกล้บ้านหรือที่เรียกว่าจีพี ซึ่งคนที่ต้องการใช้บริการต้องลงทะเบียนเพื่อขอมีแพทย์ประจำตัว แต่จีพีหยุดเปิดรับผู้ป่วยตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มรุนแรง และต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีวินิจฉัยอาการทางโทรศัพท์แทน สำหรับกรณีเจ็บป่วยหนัก สามารถโทรแจ้งหมายเลขฉุกเฉินเพื่อนัดหมายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งจะอนุญาตเฉพาะผู้ป่วยเข้าไปภายในอาคารเท่านั้น เว้นแต่กรณีจำเป็นจริงๆ ระบบแทบทุกอย่างทั้งของเอกชนและรัฐเปลี่ยนไปใช้อินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีมาช่วย ร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งปฏิเสธรับเงินสด แล้วรับเฉพาะบัตรเครดิต เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสและการอยู่ใกล้ชิด

แม้อังกฤษจะผ่านจุดวิกฤตมาแล้วตั้งแต่หลังเทศกาลอีสเตอร์ แต่ข้อมูลจากกรมอนามัยและบริการสังคม (Department of Health and Social Care) ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2563 ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันก็ยังสูงถึง 279,856 คน เสียชีวิตเกือบ 39,728 ราย

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบเป็นจำนวนมากนี้ เกิดจากมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดเชิงรุก โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งสุ่มตรวจด้วยการส่งจดหมายสอบถามความสมัครใจ พร้อมให้รหัสผ่านเพื่อล็อกอินเข้าระบบ กรณีตอบรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะส่งชุดตรวจมาที่บ้าน แล้วก็จะมีคนมารับเพื่อนำส่งห้องแล็บภายใน 72 ชั่วโมง โดยจะทราบผลภายใน 2-3 วัน แต่อย่างไรก็ตามผู้คนส่วนหนึ่งยังคงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลบอริส จอห์นสัน ว่าล่าช้ากว่าสถานการณ์

หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะแรก ผู้คนในเมือง Kent ออกมาใช้พื้นที่สาธารณะมากขึ้น แต่ยังเว้นระยะห่างทางสังคม

อคติทางเชื้อชาติ ความน่ากลัวที่มาพร้อมโรคระบาด?

หลังการระบาดก็เกิดคำถามว่า จริงหรือไม่ที่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสทำให้คนเอเชียตกเป็นเป้าของอคติทางเชื้อชาติ ทั้งการคุกคามด้วยวาจาไปจนถึงถูกทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะชาวจีนที่ถูกชี้ว่า “เป็นต้นเหตุ”

ส่วนตัวผู้เขียน แม้จะไม่เคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าว เวลาเจอผู้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่ พวกเขาก็เป็นมิตรและให้เกียรติ แต่จากข่าวที่ปรากฏบนสื่อ ก็ทำให้ลึกๆ ในใจอดรู้สึกกังวลไม่ได้ ผู้เขียนจึงระมัดระวังตัวเองทุกครั้งที่ต้องออกไปข้างนอกคนเดียว โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ด้วยความเป็นคนเอเชียแม้แต่จะไอหรือจามบางครั้งยังไม่กล้า  เพราะกลัวจะถูกมองว่าเราคือตัวแพร่เชื้อ 

เช่นเดียวกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่บอกเล่าความรู้สึกเดียวกันนี้กับว่า เธอเองก็รู้สึกกังวลเมื่อต้องออกไปข้างนอก กลัวคนจะคิดว่าเธอมาจากประเทศจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด

ข้ามไปที่ฝั่งสหรัฐอเมริกา “นิ่ม” เพื่อนผู้เขียน อดีตเภสัชกรจากเมืองไทย ปัจจุบันอยู่ที่เมืองอานาคอร์เตส (Anacortes) เมืองเล็กๆ ในรัฐวอชิงตัน เล่าว่า วันหนึ่งระหว่างไปร้านขายของชำใกล้บ้าน เธอสวมหน้ากากอนามัยเช่นปกติเมื่อต้องออกนอกบ้าน ขณะที่เธอกำลังรอสัญญาณไฟเพื่อข้ามถนนอยู่นั้นมีชายอเมริกันผิวขาวคนหนึ่งเดินตรงมาและจ้องมองมาที่เธอ นาทีนั้นเธอไม่ได้ให้ความสนใจ 

กระทั่งชายคนนั้นเข้ามาใกล้เธอในระยะประชิด แล้วร้องตะโกนขึ้นว่า “You are the last Asian. This is the last Asian.” (แกเป็นคนเอเชียคนสุดท้าย แกนี่แหละคนเอเชียคนสุดท้าย” พร้อมกับผิวปาก ปรบมือ ตะโกนซ้ำอยู่อย่างนั้นหลายครั้ง แต่เธอก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร เพียงกล่าวขอบคุณและขอให้เขามีวันที่ดี แต่ภายในใจก็ภาวนาให้ไฟสัญญาณเขียวเพื่อจะได้ข้ามถนนไวๆ 

“แม้จะข้ามถนนมาแล้ว แต่ชายคนนั้นก็ยังเดินตามอยู่สักพัก กระทั่งเริ่มมีคนสัญจรไป-มา ฉันจึงรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น” นิ่มเล่า 

เธอรู้สึกว่าอย่างน้อยก็ยังโชคดีอยู่บ้าง เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์เดินตามเธอมาด้วยและเข้ามาถามไถ่แสดงความห่วงใย

เย็นวันนั้นเธอเล่าให้สามีฟัง แล้วเขาโกรธมาก จากนั้นพวกเขาจึงไปแจ้งความดำเนินคดีและแสดงหลักฐานเป็นภาพถ่ายชายคนนั้นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นเพียงภาพถ่ายที่บันทึกได้แค่ด้านหลังและระยะค่อนข้างไกล โดยตำรวจได้บอกกับเธอว่า เช้าวันเดียวกันนั้นเพิ่งตักเตือนกับชายคนดังกล่าวไปหลังเขาตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเจ้าตัวน่าจะมีปัญหาสุขภาพจิต หากเจออีกให้หลีกเลี่ยงและอยู่ห่างๆ ไว้

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางเกมการเมืองที่พยายามปั่นกระแสชาตินิยมระหว่างผู้นำมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อสร้างอคติทางเชื้อชาติ ซึ่งมันน่ากลัวไม่น้อยไปกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เลย 

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print