กิติมา ขุนทอง เรื่อง

ผู้เขียนได้พูดคุยกับ พสุธา โกมลมาลย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร วัย 38 ปี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม “โครงการอาสาสอน” ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คิดว่าน่าสนใจจึงอยากนำมาบอกต่อ 

พสุธา เป็นอาจารย์ทางศึกษาศาสตร์ แต่สอนทางสังคมศาสตร์ในสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนและทำงานกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ทำให้เข้าใจปัญหาที่ชุมชนเผชิญและมองเห็นต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งสามารถรับมือวิกฤตทางสังคม

โครงการอาสาสอน เริ่มต้นจากคำถามที่เขาวนเวียนถามตัวเองตอนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาเริ่มระบาดเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2563 จนมหาวิทยาลัยต้องปิดห้องเรียนลี้ภัย

พสุธา โกมลมาลย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสกลนคร 

อาจารย์-นักศึกษาต้องเรียนและสอนออนไลน์ ระยะยาวมันตอบโจทย์การเรียนรู้ได้ไม่มากนัก ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเติบโตทางความคิดของผู้เรียน ยิ่งในระดับประถมศึกษา การที่กระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนทางไกลและการสอนออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” นั้น อาจารย์พสุธายืนยันว่า การสอนออนไลน์ไม่เหมาะกับสังคมชนบท ยิ่งสังคมที่ผู้ปกครองเป็นเกษตรกรเต็มเวลาหรือครอบครัวที่เด็กอยู่กับผู้สูงอายุ บางครอบครัวออกจากบ้านไปกรีดยางยามหลังเที่ยงคืนหรือใกล้รุ่งสาง ต่อจากนั้นลงแปลงนา ลงสวนมันสำปะหลังหรือไร่อ้อย ใช้เวลาหมดไปทั้งวันในไร่นา 

ผู้ปกครองกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอุดมคติ “การเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” แต่อุดมคติดังกล่าวเป็นของคนชนชั้นกลาง ซึ่งใช้ในสังคมชนบทไม่ได้เลย ไม่เพียงแค่ภารกิจในแต่ละวันที่หมดไปในเรือกสวนไร่นา แต่ระดับการศึกษาหรือความเข้าใจเนื้อหาการเรียนของลูกยังเป็นสิ่งที่จำกัดเอามากๆ ยังไม่ต้องไปพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเรื่องการซื้อวัสดุอุปกรณ์ สัญญาณดาวเทียม สัญญาณอินเทอร์เนต

“การศึกษาออนไลน์ไม่ได้แก้ปัญหาสังคมไทย สถาบันการศึกษาไม่ได้ทำหน้าที่เพียงให้ความรู้ แต่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัย รองรับสิ่งอื่นๆ ที่มองไม่เห็นอีกมาก แต่สังคมไทยต้องการแก้แค่เรื่องความรู้ ไม่มีใครสนใจมุมอื่นเท่าใดนัก” เขากล่าวและว่า “ช่วงปิดเทอมเรามักได้ยินข่าวเด็กจมน้ำตายบ่อยๆ เพราะผู้ปกครองต้องทำงาน ทำมาหากิน หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ไม่ได้มีเวลาเฝ้าลูกทั้งวัน นี่คือความจริงของสังคม หากโรงเรียนปิดยาวจะทำอย่างไร”

เขาจึงเสนอทางเลือกหรือช่องทางอื่นควบคู่กับการเรียนการสอนทางไกลและระบบออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการ

“ผมรู้สึกว่า การแก้ไขปัญหาโรงเรียนกับโรคโควิดมองแค่การสอนออนไลน์ไม่ได้ มันไม่ได้มีคำตอบเดียว ควรหาคำตอบทางสังคมอื่นๆ ด้วย เมื่อเห็นว่านโยบายของรัฐมีปัญหา เพราะไม่รอบคอบ ประชาชนก็ต้องลุกขึ้นมาปฏิบัติการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”

เด็กๆ ในโครงการกำลังตั้งใจฟังวิดีโอการสอนที่โรงเรียนทำขึ้น โดยมีนักศึกษาอาสาสมัครสอนคอยดูแล 

มหาวิทยาลัยในวิกฤตโควิด 19

จากประสบการณ์การใช้ชีวิตและทำงานในภาคอีสานมากกว่า 10 ปี สังคมชนบทอีสานในสายตาอาจารย์หนุ่ม เป็นสังคมที่มีความยืดหยุ่นในการรับมือและแก้ไขปัญหา เช่น กรณีวัยแรงงานออกไปทำงานในเมืองใหญ่หรือทำงานในไร่นา ลูกหลานที่เป็นเด็กเล็กจะถูกฝากไว้กับผู้สูงอายุ พี่สาว พี่ชาย หรือญาติที่มีอายุมากกว่า ซึ่งมักจะได้รับหน้าที่เลี้ยงน้อง หอบหิ้วน้องไปเล่นตามที่ต่างๆ ด้วย ตรงนี้เองที่เขามองว่าเป็นต้นทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมของคนอีสาน เขานิยามสิ่งนั้นว่า “วัฒนธรรมพี่เลี้ยงน้อง”

“ในฐานะนักวิชาการด้านการพัฒนา เราจะพอมองเห็นว่า สังคมนั้นๆ มีต้นทุนอะไร รู้แล้วก็หยิบมาใช้ เพราะต้นทุนของชุมชนส่วนใหญ่จะมีความยืดหยุ่นสูง ปรับไปตอบโจทย์ทางสังคมที่เปลี่ยนไปได้ไม่ยาก อยู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มาหลายปี ก็คิดฝันว่า ที่นี่ควรเป็นสถาบันที่ชูธงพาคนไปข้างหน้าเมื่อเกิดวิกฤต เราต้องไม่หลบอยู่ข้างหลัง” เขากล่าว 

นอกจากนี้ อาจารย์พสุธายังเห็นว่าท่ามกลางวิกฤต สถาบันการศึกษา ในฐานะที่เป็นแหล่งบ่มเพาะคนที่มีศักยภาพ มีความรู้ ต้องขยับออกมาปฏิบัติการบางอย่างเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายต่อนักศึกษาและคนชุมชน 

“นักศึกษาก็ได้รับกระทบจากโควิด พวกเขามาเรียนตามปกติไม่ได้ เขาต้องจ่ายเงินค่าอินเตอร์เนตเพิ่มขึ้น ไปทำงานพิเศษในช่วงปิดเทอมเพื่อเอามาจ่ายค่าเทอมหรือจ่ายค่ามัดจำหอพักก็ไม่ได้” อาจารย์พสุธายกตัวอย่าง 

นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนท้องถิ่นที่มีความกดดันทางเศรษฐกิจ มีจำนวนไม่น้อยต้องทำงานพิเศษระหว่างเรียนและหางานทำในช่วงปิดเทอม ด้วยการไปทำงานตามเมืองใหญ่เป็นแรงงานรับจ้าง ฯลฯ เพื่อหาเงินแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง แต่ปีนี้นักศึกษาไปทำงานไม่ได้ ทำให้อาจารย์หนุ่มคนนี้กำลังคิดถึงการช่วยนักศึกษา

เขาจึงมีโจทย์ซ้อนกันถึง 2 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง การทำหน้าที่มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นในการชูธงให้แก่สังคม เพื่อเสนอทางออกสำหรับสถานการณ์ด้านการศึกษาที่เกิดขึ้น สอง การช่วยเหลือนักศึกษาด้านการจ้างงาน 

“มหาวิทยาลัยมีความรู้ ชุมชนมีทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ทำอย่างไรจะผนวกสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แล้วสร้างทางออกที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ได้รวดเร็ว ดังนั้น นักศึกษาที่อยู่ในแต่ละชุมชนจะต้องเป็นกลไกสำคัญ นั่นคือ มหาวิทยาลัยต้องคืนพวกเขาให้ชุมชน คืนไปพร้อมกับอาวุธความรู้ที่บ่มเพาะจากรั้วมหาวิทยาลัย”

เวลาพักเที่ยง นักศึกษาอาสาและเด็กนักเรียนในชุมชนก็รับประทานอาหารเที่ยงด้วยกัน 

พี่เลี้ยงน้อง: ห้องเรียนทางสังคมในชุมชน 

หลังคิดหลายรอบ อาจารย์ก็ประกาศรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมโครงการอาสาสอนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพียงไม่กี่ชั่วโมงมีคนสนใจเป็นจำนวนมาก แต่งบประมาณที่มีอยู่รับจำกัดเพียง 10 คนเท่านั้น 

มีนักศึกษาอาสาสอน 10 คน 3 คน เป็นนักศึกษาจากคณะครุศาสตร์ อีก 7 คนเป็นนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การคัดเลือกเน้นคุณลักษณะเพียงสองข้อ ได้แก่ หนึ่ง คนที่สนใจจริงและกล้าอาสา เพราะมีค่าตอบแทนเพียง 3,000 บาทต่อเดือน และมีระยะสั้นเพียง 1 เดือนเท่านั้น และ สอง เป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้านที่มีเด็กๆ ระดับประถมศึกษาที่พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 5-6 คน

“ในชุมชนต้องมีเด็กๆ ที่พร้อมให้สอน อาจเป็นญาติ เป็นลูกหลานของคนในชุมชนที่ผู้ปกครองไว้ใจและปล่อยให้ลูกหลานมาร่วมกิจกรรมอาสาสอนถึงครึ่งวัน นี่คือฐานวัฒนธรรมแบบพี่เลี้ยงน้องในอีสาน”

พอเริ่มโครงการฯ ชุมชนตอบรับดีมาก ผู้ปกครองทยอยนำลูกมาฝากเรียนมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับประถมต้น บางหมู่บ้าน เด็กๆ จากหลายหมู่บ้านมาร่วมเรียนมากกว่า 10 คน มีแห่งหนึ่งมีสามเณรมาร่วมเรียนด้วย ห้องเรียนอาสาสอนจึงมีความหลากหลายคละระดับชั้น 

อาจารย์พสุธาเห็นว่า กิจกรรมแบบนี้อาจไม่เหมาะกับเมืองใหญ่ที่คนในชุมชนแทบไม่รู้จักกัน ไม่มีความเชื่อมั่นหรือไว้วางใจ ซึ่งเป็นหัวใจหลัก

“หากอยู่ในเมือง ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะแตกต่างออกไป นักศึกษาอาจกลายเป็นครูสอนพิเศษ รับฝากเด็ก แต่ว่าในสังคมชนบทจะให้อารมณ์พี่เลี้ยงน้อง ผู้ปกครองในหมู่บ้านเขารู้สึกว่า นำเด็กน้อยมาฝากไว้กับพี่ เรียกนักศึกษาว่าพี่ เพราะเขาใกล้ชิดรู้จักกันดีในชุมชน ยันโคตรตระกูล”

หน้าที่หลักของอาสาสอนเริ่มตั้งแต่การสอนเสริมความรู้ ควบคู่ไปกับสื่อทีวีดิจิทัลและใบงานที่คุณครูมอบหมายให้แต่ละสัปดาห์ ในแต่ละวัน ทางอาจารย์ก็จะเฝ้าติดตามกิจกรรมของนักศึกษาอาสาสอน ผ่านช่องสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เพื่อให้คำปรึกษา ชื่นชม และนำข้อมูลไปใช้แลกเปลี่ยนกับนักศึกษาคนอื่นๆ ในโครงการฯ หรือสื่อสารกับคนในชุมชนหรือต่อสาธารณะ

กิจกรรมในห้องเรียนที่นักศึกษาอาสาสมัครจัดขึ้น

อาสาสอน ไม่ใช่การสอนพิเศษ

“อาสาสอน ไม่ใช่การสอนพิเศษ”  อาจารย์พสุธายืนยันอย่างหนักแน่นว่าคนเป็นละเรื่อง

กิจกรรมหลักแล้วแต่นักศึกษาจะพัฒนารูปแบบกิจกรรมเรียนรู้กับเด็กๆ ที่แตกต่างกันตามแต่ละชุมชน เช่น หลังเลิกสอนก็ชวนน้องทำกิจกรรมสวดมนต์ เล่นเกมส์ เล่นบทบาทสมมุติ เรียนรู้เรื่องราวของหมู่บ้าน เก็บขยะ เป็นต้น  

“นักศึกษาทำหน้าที่มากกว่าการสอน โครงการฯ นี้ไม่มีข้อกำหนด แต่พวกเขาคิดกันเอง ทุกคนเป็นพี่เลี้ยงน้องในชุมชนของตัวเอง สาเหตุที่ใช้คำว่าอาสาสอน เพราะว่าคนเข้าใจง่ายกว่า แต่ความจริงแล้ว คือการเข้าไปดูแลชุมชน ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อลดปัญหาของครอบครัวและโรงเรียน ซึ่งไปไกลกว่าการสอนหนังสือเด็กๆ” 

อาจารย์พสุธาวิเคราะห์ว่า นักศึกษาอาสาสอนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในกลุ่มนักศึกษาคณะมนุษย์ฯ โดยเฉพาะสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ได้เรียนรู้เรื่องปัญหาสังคมมาตั้งแต่ปีหนึ่ง จึงมีบุคลิกแตกต่างไปจากนักศึกษาครุศาสตร์ที่จะเน้นหลักการสอนและความรู้ทางวิชาการ แต่นักศึกษาทางสังคมจะเน้นการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ การเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา ฯลฯ 

“ไม่ได้ตัดสินพี่เลี้ยงหรือนักศึกษาแบบไหนดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับบุคลิกของนักศึกษาอาสาสอน ตัวชี้วัดคือชุมชน คือ น้องๆ ที่มาเรียนว่ามีความสุขไหม พอใจไหม ซึ่งน่าสนใจและสำคัญมาก” 

โครงการอาสาสอนช่วงทดลองมีเพียง 1 เดือน เมื่อผ่านครึ่งแรกก็เห็นว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทุกคนล้วน “อาสา” ที่จะทำเพราะได้ค่าตอบแทนเพียง 3,000 บาท เมื่อทำกิจกรรมจริงหลายคนก็นำค่าจ้างไปซื้ออุปกรณ์หรือบริจาคเงินเพื่อสมทบด้วยซ้ำ เพราะทุกวันที่มีน้องๆ มาเรียน พี่จะจัดเตรียม น้ำ ขนม หรือบางบ้านมีเลี้ยงข้าวที่เป็นอาหารแบบง่ายๆ ด้วยซ้ำ  

อาจารย์พสุธาได้เล่าเรื่องนักศึกษาอาสาสอน เช่น นุชจรินทร์ นามูลทา หรือ ฝน อาสาสอนจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังเข้าโครงการ เธอเริ่มต้นด้วยการไปชักชวนเพื่อน 5 คน ในชุมชนมาช่วยกันเป็นอาสาสอน เงินค่าจ้างที่ได้ ก็นำไปซื้ออุปกรณ์การเรียนรู้ อุปกรณ์เล่นเกมส์ ค่าขนมสำหรับน้องๆ ที่มาเรียน ซึ่งตัวเองและเพื่อนก็ไม่ได้ค่าตอบแทน

“นักศึกษาก็ได้เยียวยาตัวเอง เมื่อต้องปิดเทอมหลายเดือน ไปไหนไม่ได้ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เขาได้แสดงศักยภาพและเห็นคุณค่าในตัวเอง ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากคนในชุมชน”

อาสาสอน: นวัตกรรมทางสังคมในช่วงวิกฤต 

“โครงการอาสาสอนเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมในวิฤตปัจจุบัน โดยเฉพาะสำหรับคนในชุมชน คนจนไม่มีทางออก แต่มีต้นทุนในชุมชน มีคน มีความรู้จักมักคุ้น มีสถานที่ แล้วมาช่วยกันแก้ปัญหา” 

ตอนนี้ โครงการอาสาสอนระยะแรกเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะสิ้นสุดลงช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แต่หากได้ผลตอบรับดี จึงจะมีระยะ 2 ต่อเนื่องอีก 1 เดือน 

อาจารย์พสุธาประเมินว่าเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จสูงเกินคาด เพราะเห็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจอย่างมาก  

เมื่อถามถึงความต่อเนื่องของโครงการหลังจากนี้ เขารู้ดีว่า เมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลาย สถาบันการศึกษาจะกลับมาทำหน้าที่ตามปกติ โครงการอาจจะไม่จำเป็น 

“อาสาสอนเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤต เพราะสถาบันหลักต่างๆ ไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามปกติ ก็ต้องมีกลไกทางเลือกมาสนับสนุน” 

จากบทเรียนอาสาสอน 10 หมู่บ้านในช่วงเดือนหนึ่งที่ผ่านมา อาจารย์พสุธาและนักศึกษาอาสาสอนกลุ่มนี้ได้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้น ในชุมชนที่เด็กๆ ผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และนักศึกษาอาสาสอนได้ออกแบบร่วมกันเพื่อรับมือกับวิกฤต ปัจจุบันอาจารย์พสุธาจึงพยายามผลักดันให้โครงการนี้มีต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น อีกเหตุผล คือการที่ยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลายหรือจะปะทุขึ้นใหม่ 

“หากมีโครงการนี้ต่อเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตทางสังคม แต่ก็ต้องออกแบบหรือปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เมื่อนักศึกษาจะต้องกลับมาเรียน อาจยังเป็นนักศึกษาอาสาสอนรุ่นนี้หรือคนกลุ่มอื่น เช่น บัณฑิตที่จบไปแล้วว่างงาน แรงงานคืนถิ่นที่มีศักยภาพ หากเปิดเรียนได้ปกติ เหล่าอาสาสอนก็ต้องปรับมาทำวันเสาร์และวันอาทิตย์เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ทางวิชาการและจัดกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม แต่ความคิดเรื่อง “อาสา” ที่มีค่าตอบแทนบ้างก็จะสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจกับอาสาสมัครอาสาสอนบ้าง 

“ถ้าถามถึงความยั่งยืนของโครงการฯ นี้ ในทางปฏิบัติ อาจจะทำต่อเนื่องได้ยาก เพราะคงไม่มีเงินจ่ายค่าตอนแทน แต่เมื่อมีวิกฤตก็พร้อมหยิบมาใช้หรืออาจจะเป็นโอกาสสร้างความสัมพันธ์ใหม่ หรือรูปแบบการพัฒนาสังคมใหม่ๆ จากการอาสาสอน” อาจารย์พสุธากล่าวอย่างมีหวัง

image_pdfimage_print