หทัยรัตน์ พหลทัพ : สัมภาษณ์

อติเทพ จันทร์เทศ : ภาพ 

วารสารชายคาเรื่องสั้นก่อเกิดหลังความสูญเสียของเหตุการณ์เมษาฯ-พฤษภาฯ 2553 โดย “คณะเขียน” ร่วมกันก่อการวารสารเล่มนี้เพื่อบันทึกเรื่องราวและถ่ายทอดความเจ็บปวดแห่งยุคสมัยผ่านงานวรรณกรรม 

10 ปีที่ผ่านมา นักเขียน บรรณาธิการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันผลิตวารสารมาแล้ว 13 เล่ม ส่วนเล่มที่ 14 เพิ่งวางแผนเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชื่อ “ผู้ปรารถนาเสรีภาพ” 

ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดสนทนากับ มาโนช พรหมสิงห์ ผู้อาวุโสในวงการวรรณกรรม ในฐานะบรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้น ตั้งแต่ชะตากรรมของหนังสือจนถึงความเห็นเกี่ยวกับมรดกคณะราษฎรที่กำลังถูกทำให้เลือนหาย 

The Isaan Record: 10 ปีของนิตยสารชายคาเรื่องสั้นให้ความหมายกับคนเป็นบรรณาธิการอย่างไร

มาโนช : ในบั้นปลายของชีวิต พอแก่เฒ่าลง กำลังวังชาก็ถดถอย เหมือนข้าราชการวัยเกษียณ นอกจากดูแลสวนในบ้านตัวเอง ปลูกต้นไม้ต่างๆ ก็ยังได้ทำงานสร้างสรรค์ที่ถือว่ามีคุณค่า มีความหมายกับชีวิตมาก งานสร้างสรรค์นั้นก็คือ การทำหนังสือ ซึ่งเชื่อมกันกับคนรุ่นใหม่ นักเขียนรุ่นใหม่ สร้างวรรณกรรม สร้างจิตวิญญาณของความเป็นนักเขียน สร้างตัวตนข้างในให้มันเติบโต 

หน้าที่บรรณาธิการก็ต้องช่วยสร้างเรื่องพวกนี้ให้แข็งแรง เป็นคนคอยชี้ความถูกต้อง ความดี ความงาม ความจริงให้กับสังคม เป็นคนที่คอยบันทึกชีวิตหรือสภาพของบ้านเมืองในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ 

ส่วนเสียงตอบรับความเชื่อถือนั้นก็สูงขึ้นเป็นลำดับ ได้ยินแต่น้องนุ่งคุยให้ฟัง เพราะเราไปเยือนหรือส่งงานไปยังเวทีอื่นๆ เช่น งานราหูอมจันทร์ทางภาคใต้ หรือ งานประกวดวรรณกรรม เปลื้อง วรรณศรี ของ จ.สุรินทร์ เป็นต้น  

The Isaan Record : ตอนคิดจะทำวารสารฉบับนี้กับตอนครบรอบ 10 ปี มันตอบโจทย์ความต้องการหรือไม่ 

มาโนช : แรกๆ ที่ออกกัน ก็ยังไม่ได้มุ่งที่จะทลายมายาคติหรือทำอะไรที่มันเกี่ยวกับความเป็นพื้นถิ่นหรือชาติพันธุ์ของทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง แรกๆ ก็จะทำเพื่อส่งเสียงต้านการล้อมปราบเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ช่วงเมษาฯ-พฤษภาฯ 2553 กับการปฏิวัติปี 2549 หลังจากนั้นก็เกิดการรัฐประหาร 2557 ก็มีน้ำเสียงคนด่าประณาม การเลือกตั้งว่า ปล่อยให้คนไร้การศึกษามาเลือกได้อย่างไร โดยเฉพาะพวกที่มาจากที่ราบสูง เพราะมีซื้อสิทธิ์ขายเสียง แล้วมันก็มีการด่าประณามว่า “โง่ จน เจ็บ” หนักหน่วงยิ่งขึ้น 

ปีแรกที่มาทำกับ ม.อุบลราชธานี ก็ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะต้องทลายมายาคติ “โง่ จน เจ็บ” ให้ได้ แต่ก็มีเสียงท้วงติงจากนักเขียนที่จะส่งงานเข้ามาว่า การเขียนเรื่องเฉพาะอีสานมันแคบไปหรือไม่? ดังนั้นเมื่อปี 2016 (พ.ศ. 2559) จึงเอาข้อความที่เขียนว่า “เรื่องสั้นว่าด้วยอีสาน” บนปกออก เพื่อให้มีความรู้สึกว่าเปิดกว้างกับทุกปัญหาทุกภูมิภาค เพราะปีนั้นครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แต่เรื่องของอีสานจากนักเขียนอีสานหรือคนภูมิภาคอื่นเขียนถึงคนอีสาน ก็ยังอยู่ในกรอบที่เราต้องการคือ ส่งเสียงให้ได้ยินว่า “เราไม่ได้โง่ จน เจ็บ” มีวิถีชีวิตแบบนี้ ถูกกระทำจากอำนาจรัฐอย่างไร หรือออกไปทางความรักที่เจืออยู่ด้วยชาติพันธุ์ฝั่งซ้ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอะไรประมาณนี้ 

นอกจากนี้ยังมีบางเรื่องที่ใช้ภาษาลาวอีสานเขียนล้วนๆ คือเขียนด้วยตัวอักษรไทยแต่เล่าเป็นลาวอีสานตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่ผุดออกมาเป็นบางคำ ซึ่งมันเหมือนกับเรื่องแปล เมื่อก่อนจะแปลวรรณกรรมโลกเป็นภาษาลาวอีสาน แต่ใช้ตัวอักษรไทย ทีนี้นักเขียนก็เขียนลาวอีสานมา ผมก็ปล่อยผ่านถ้าธีมมันได้ มันใหม่ มันสด มันไม่ผลิตซ้ำวรรณกรรมเก่า

The Isaan Record: งานวรรณกรรมของชายคาเรื่องสั้นได้จารึกอะไรเกี่ยวกับชุมชนอีสานหรือกระตุ้นให้คนเข้าใจความหมายของความเป็นอีสานมากขึ้นหรือไม่ 

มาโนช : ผมยังได้รับการสื่อด้วยจดหมายจากคนอ่านนั้น คนอ่านจะมีน้ำเสียงชื่นชมเข้ามา จากภูมิภาคอื่นก็มี ชื่นชมตัวหนังสือเรื่องที่ถูกคัดสรร ชื่นชมบรรณาธิการ จากภาคใต้ ภาคเหนือก็มี บางคนก็จะซื้อหนังสือ นอกจากน้ำเสียงชื่นชมที่มาทางจดหมายแล้ว มันก็เป็นการส่งหนังสือเล่มใหม่ๆ มาให้ ไม่ใช่หนังสือของเขานะ แต่เป็นหนังสือที่ออกใหม่ๆ ตามท้องตลาด ที่เขาคิดว่าเราต้องอ่านแนวนี้ ก็โอเค ก็ส่งมาให้ ส่วนพลังที่มันสามารถจะไปกระตุ้นให้คนในพื้นถิ่นตระหนักรู้อะไรมากยิ่งขึ้นหรือไม่นั้น ผมไม่สามารถจะรับรู้ได้ บางครั้งก็มีคอมเมนต์หรือส่งข้อความมาในกล่องข้อความของเฟซบุ๊ก ก็มี อ.ธีร์ (ธีรพล อันมัย) ที่เป็นแอดมินชายคาเรื่องสั้นเป็นคนนำมาเล่าให้ฟัง 

The Isaan Record: เท่ากับว่า 10 ปีที่ผ่านมา กำลังใจจากคนอ่านทำให้ชายคาเรื่องสั้นขับเคลื่อนต่อไปได้

มาโนช : ครับ สังเกตดูนักเขียนมือเก่าๆ คนรุ่นผม คนได้รางวัลเฉียดซีไรต์ก็ส่งกันมา นักแปลบางคนก็ยังส่งมา นักแปลวรรณกรรมต่างประเทศก็ส่งมา หรือเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็มาจากทุกภูมิภาคเลย น้องบางคนก็จะบอกว่า หมอนี่มันเป็นสลิ่มนะ แต่ขวาก็มี แต่ตัวบทตัว text (เนื้อหา) ผ่าน เราก็ไม่ได้ว่า ถ้าผ่านก็ผ่านโดยตัวเนื้อหา ผ่าน ก็ไม่เกี่ยวว่าคุณอยู่สีไหน

“ผมว่าหนังสือเป็นเล่มๆ มันไม่ตายหรอก มันจะคลาสสิกขึ้น” มาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้น

The Isaan Record: ในอนาคต วางวารสารชายคาเรื่องสั้นเป็นอย่างไร  

มาโนช : มาได้ 10 ปีผมก็ทึ่งแล้วนะ ผมมีความรู้สึกว่า มองย้อนกลับไป ไม่คิดว่าจะทำได้ถึง 10 ปี งมต้นฉบับ ตอบโปสการ์ด คิดว่าน่าจะตอบโปสเตอร์ประมาณ 1 พันฉบับแล้ว ถ้าตีว่าต้นฉบับมี 100 เรื่อง ไม่ใช่ผมเขียนโปสการ์ดเป็น 1 พันฉบับแล้วเหรอ 

ส่วนอนาคตชายคาเรื่องสั้นนั้น ผมว่า 10 ปีก็ทึ่งแล้ว แต่เราไม่รู้อนาคต เพราะการทำหนังสือแบบนี้ ถ้าไม่มีใจเป็นทุนสำคัญหรือมีมิตรสหายเป็นกลุ่มก้อนมาช่วยทำงานสำคัญ ลำพังเงินทุนที่ได้จากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich Boll Foundation) ที่เป็นตัวให้ตั้งแต่ปี 2010 คิดว่าตอนนี้ยังคาดหวังอนาคตไม่ได้ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีใจก็ตาม 

“มันเป็นชะตากรรมของหนังสือ วารสาร วรรณกรรมแบบนี้ ควรมีการช่วยจากรัฐบ้าง เช่น ช่วยลดค่ากระดาษ หรือสำนักศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดเอง หรือสำนักงานใหญ่ก็ควรให้ทุนบ้าง หรือจัดซื้อเข้าห้องสมุดบ้าง ผมว่ามันจะทำให้หนังสืออยู่ได้ แต่รัฐก็ไม่ค่อยดูแลเรื่องนี้ ยิ่งของเราเป็นหนังสือที่ค่อนข้างจะลิเบอรัลสักหน่อย มีน้ำเสียงเป็นกบฏหน่อยๆ” 

The Isaan Record: ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการเคยตั้งคำถามไหมว่า ทำหนังสือไปเพื่อใคร เพราะตอนนี้คนอ่านหนังสือน้อยลงและหนังสือกำลังจะตาย 

มาโนช : ผมว่าหนังสือเป็นเล่มๆ มันไม่ตายหรอก มันจะยังคงอยู่ แต่นิตยสาร วารสารต่างๆ ตามแผงมันจะตาย หนังสือพิมพ์อะไรอย่างนี้มันจะตาย แต่หนังสือวรรณกรรม สารคดี ที่เป็นรูปเล่ม เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กจะยังคงมีอยู่ แม้มันจะมีอี-บุ๊กส์อะไรก็ตาม ผมว่าหนังสือแบบนี้จะยังมีอยู่ จะคลาสสิกขึ้น ใครอ่านหนังสือแบบนี้ ซึ่งอารมณ์ต่างจากการพลิกดูอี-บุ๊กส์ ต่อไปสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งคลาสสิกมาก จะเท่ขึ้น

The Isaan Record: ตรวจต้นฉบับมาแล้วหลายเรื่อง มีเรื่องไหนที่ชอบที่สุด

มาโนช : ชอบที่สุด…(นิ่งคิด) ความเป็นบรรณาธิการมันก็ชอบทุกเรื่อง ตอบยากว่าชอบเรื่องไหนที่สุด ชอบทุกเรื่อง งามทุกเรื่อง คนรุ่นใหม่เขียนเก่งขึ้น ผมเขียนสู้ไม่ได้เลย คนรุ่นใหม่เขามีชั้นเชิงทางศิลปะสูง ค่อนข้างจะสูง ซ่อนอะไรบางอย่าง ซ่อนนัยยะบางอย่างได้ดี

วารสารชายคาเรื่องสั้นล่าสุด เล่ม 14 “ผู้ปรารถนาเสรีภาพ”  มาโนช พรหมสิงห์ เป็นบรรณาธิการ

The Isaan Record: ทราบว่าเคยเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับสะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลราชธานี ตอนเขียนต้องการสื่ออะไร

มาโนช : ผมข้ามสะพานเสรีประชาธิปไตยไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ มศ.1 อยู่โรงเรียนเบ็ญจะมะฯ หลังเก่า (เบ็ญจะมะมหาราช) ได้เห็นสะพานเสรีฯ เป็นครั้งแรก ผมชอบชื่อนี้ “เสรีประชาธิปไตย” ตอนนั้นมีกระแสของสังคมนิยมแล้ว บรรยากาศตอนนั้นมีฐานทัพอเมริกันมาตั้งฐานทัพในอุบลฯ ช่วงสงครามเวียดนามทำให้มีทหารอเมริกันอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ผมก็อ่านหนังสือไป ฟังเพลงฝรั่งไป ฟังบ็อบ ดีแลน ไซมอนแอนด์การ์ฟังเกล 

ผมชอบเพลงของไซมอนแอนด์การ์ฟังเกลอยู่เพลงหนึ่ง ชื่อ “Bridge Over Troubled Water” ผมไปอ่านเจอว่า พอล ไซมอน กับ อาร์ต การ์ฟังเกล ได้แรงบันดาลใจในการเขียนเพลงจากการเดินทางไกลของ เหมา เจ๋อตุง ที่เดินทางอ้อมขึ้นไปทางเหนือยาวไกลมาก หรือที่เรียก Long March มีคนล้มตาย ทหารล้มตายไปมาก เพื่อที่จะไปโอบตีญี่ปุ่นกับก๊กมินตั๋ง จึงเป็นแรงบันดาลใจการเขียนเพลง 

สำหรับผม ชื่อสะพานเสรีประชาธิปไตยนั้นไพเราะมาก เพราะช่วงนั้นสะพานถูกรื้อแล้วสร้างใหม่ แล้วเขาก็กะเทาะเอาเฉพาะป้ายสะพานไปตั้งไว้ในสนามหญ้าข้างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอุบลราชธานี ผมจึงรู้สึกว่ามันเป็นความสูญเสียเสรีประชาธิปไตยไป เหลือแต่ซาก 

“แม้การสร้างสะพานใหม่จะใช้ชื่อเก่า แต่จริงๆ แล้วมันเหลือแต่ซาก ผมจึงเขียนว่า สะพานนี้สามารถข้ามความทุกข์ยาก ข้ามไปสู่แสงสว่าง ข้ามไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ไปสู่สังคมอุดมคติ ไปสู่ประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย คนเท่าเทียมกัน ผมก็เลยเอามาเขียนเรื่องสะพานโดยให้สะพานนั้นมันมีชีวิต ก็คือให้คนแก่คนหนึ่งเป็นคนเล่า เหมือนคนแก่คนนั้นคือสะพาน”

The Isaan Record: นับตั้งแต่มีการสร้างสะพานเสรีประชาธิปไตย เมื่อปี 2497 เป็นต้นมา คนอุบลฯ รู้จักคำว่าเสรีประชาธิปไตยไหม

มาโนช : มันก็อาจจะมีเป็นบางคน บางกลุ่ม แต่โดยภาครัฐแล้วก็ถูกกำกับจากส่วนกลาง ไม่ค่อยเน้นย้ำให้ประชาชนทราบ ส่วนประชาชนก็สนใจแต่ปากท้อง มีคนเล่าให้ฟังว่า ครูมัธยมฯ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดง ผมก็ถามน้องๆ ที่ยังสอนหนังสืออยู่ ผมมีน้องสาวที่เป็นครูสอนก็บอกเป็นเสียงเดียวกัน เขาบอกว่ามีคนเชียร์ประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) อยู่ไม่ถึง 10 คน และยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ 

“ผมว่า อาจจะมีคนบางกลุ่มตระหนักเรื่องเสรีประชาธิปไตยตามชื่อสะพานที่ถูกสร้างขึ้นโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่คงไม่เยอะมาก แม้แต่มิตรสหายบางคนที่เคยหนีตายกันมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เขาหนีการล้อมปราบจากกรุงเทพฯ ส่วนผมเรียนอยู่มหาสารคามก็ถูกล้อมปราบเหมือนกัน ก็หนีเกือบตายเหมือนกัน แต่ว่าเพื่อนเหล่านั้น ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว” 

“ผมว่า เสื้อแดงก็ต้องการความเท่าเทียม ความอยู่ดีกินดี มีสวัสดิการต่างๆ ของรัฐที่รองรับประชาชน คนทุกข์ คนยาก มันคือหัวใจของเสรีประชาธิปไตย” มาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้น 

The Isaan Record: ความเป็นเสรีประชาธิปไตยกับคนเสื้อแดงมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

มาโนช : ผมว่า คนเสื้อแดงมันก็มีหลายเฉด แต่รวมๆ แล้วเสื้อแดงก็ต้องการความเท่าเทียม ความอยู่ดีกินดี ความเท่าเทียมก็คือเสรีประชาธิปไตย หรือการปกครองที่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียม ความสุข มีหลักประกันต่างๆ มีสวัสดิการต่างๆ ของรัฐที่รองรับประชาชน คนทุกข์ คนยาก มันคือหัวใจของเสรีประชาธิปไตย 

The Isaan Record: คณะราษฎรได้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไว้ในหลายจังหวัด ทั้งบุรีรัมย์ ขอนแก่น และจังหวัดต่างๆ แต่ตอนนี้รัฐพยายามทำลาย คนที่เติบโตมาพร้อมกับสะพานเสรีประชาธิปไตยรู้สึกอย่างไร

มาโนช : รู้สึกหดหู่ ตั้งแต่หมุดคณะราษฎรหาย อนุสาวรีย์ปราบกบฏก็ย้ายหนี ได้ข่าวจากเพื่อนทางลพบุรีว่าเขาทำลายรูปปั้นพระยาพหลฯ และ จอมพล ป. ก็รู้สึกหดหู่เศร้าใจ เราแทบไม่เหลืออะไรที่สามารถชี้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่า ครั้งหนึ่งมันเคยมีการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย แม้แต่วันชาติ วันอะไร ก็ยกเลิกมานาน เขาพยายามจะลบออก 

แม้แต่เรื่องกบฏผู้มีบุญก็ถูกเรียกว่า กบฎผีบ้าผีบุญ ทั้งที่มีคนตายมากที่สุด คือตายกว่า 300 คน ก็ยังไม่มีการกล่าวถึง ตอนที่ทางจังหวัดทำละครแสงสีก็ข้ามพื้นที่การปราบกบฏไปมา ตรงกันข้าม มีชาวต่างชาติ เขามีถ่ายหนังเรื่องอเล็กซานเดอร์ แถวๆ ผาแต้ม ก็มีการสร้างนิทรรศการ มีการฉายหนังให้ดู มีซุ้มอะไรต่างๆ อยู่แถวบ้านท่าช้าง ทั้งที่อเล็กซานเดอร์ไม่ได้กรีฑาทัพมาแถวนี้ด้วยซ้ำ แต่ว่ากบฏผีบุญหายไม่มี 

The Isaan Record: นั่นหมายความว่า รัฐพยายามทำให้ความเป็นเสรีประชาธิปไตยในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะทางภาคอีสานหายไป

ครับๆ (ผงกศรีษะ) แม้แต่รากเหง้าของบรรพบุรุษหรืออัตลักษณ์บางอย่างของอีสาน มันก็ถูกกลบถูกลบกันไปหลายอย่าง ย้อนมาเรื่องสะพานในเรื่องสั้นของผมมันมีสัญลักษณ์บางอย่างคือ คนแก่รอเด็ก 19 คน ถ้านับดูเด็กบางคนก็บินมาบางคนก็เดินมาแบบขากระโผลกกระเผลก บางคนก็เป็นโสเภณีเด็ก 

ตอนที่ผมเขียน จังหวัดในภาคอีสานมี 19 จังหวัด ดินที่นำไปวางรากฐานของสะพานครั้งแรกเป็นดิน 2 ถุง ถุงหนึ่ง 12 ก้อน อีกถุงหนึ่ง 14 ก้อน มันคือนัยะของฮีต 12 ครอง 14 บางคนอ่านแล้วก็เสมือนหนึ่งว่า ต้องการแยกอีสานออกจากประเทศไทยหรือไม่ คือให้อีสานเป็นอีสานมีคนรุ่นเก่าพาคนรุ่นใหม่กลับไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ กลับไปสู่เสรีประชาธิปไตย ดินแดนในอุดมคติที่ใฝ่ฝัน โดยรักษาฮีตคองหรือขนบประเพณีความเป็นอีสานไว้ให้เป็นดังเดิม

ดูบทสัมภาษณ์ฉบับวิดีโอได้ที่นี่ 

เปิดใจ บก.วารสารชายคาเรื่องสั้น

image_pdfimage_print