เดอะอีสานเรคคอร์ดนั่งสนทนากับ ชูเวช เดชดิษฐรักษา (นักร้องนำ)  และ จตุรภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน – มือพิณ) เพื่อถอดชุดความคิด รวมถึงที่มาที่ไปและอุดมการณ์ของวงดนตรี “สามัญชน” ซึ่งได้ถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ก The Isaan Record  เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ก่อนที่ ไผ่ ดาวดิน จะถูกจับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่  13 ตุลาคม 2563 

แม้ว่า ตอนนี้ “ไผ่ ดาวดิน” จะถูกจองจำ แต่อุดมการณ์และความคิดที่ถ่ายทอดผ่านบทเพลงที่ใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงอยู่ในใจผู้คน 

บนเส้นทางที่เราร่วมเดินกันไป อาจมองดูไม่สวยงาม นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และเราจะไม่ยอมแพ้” ส่วนหนึ่งของเพลง “บทเพลงของสามัญชน” เราจึงชวนมาฟังและวิเคราะห์ความฝันของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ผ่านบทเพลงที่พวกเขาแต่งขึ้นและขับขาน

The Isaan Record : บทเพลงของสามัญชนมีที่ไปที่มาอย่างไร 

ชูเวช : ที่มาที่ไปคือช่วงหลังรัฐประหารมีเพื่อนโดนจับและโดนปรับทัศนคติกันเยอะ ซึ่งช่วงนั้นก็เป็นบรรยากาศของความเศร้า เราจึงแต่งเพลงนี้ร้องกันเองในหมู่นักกิจกรรม และมีช่วงหนึ่งที่ กอล์ฟ (ภรณ์ทิพย์ มั่นคง) คนที่โดนคดีตามมาตรา 112 จากการเล่นละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า พวกเราก็ใช้เพลงนี้ไปร้องหน้าศาล หน้าคุก แต่ว่ามามีผลจริงๆ มีบทบาททางการเมืองจริงๆ ก็คือ หลังครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร 2557 ตอนนั้น ไผ่ (ดาวดิน) ก็จะชุมนุมอยู่ที่ขอนแก่น (หันหน้าไปถามไผ่)   

ไผ่ ดาวดิน : ใช่ครับ โดนจับ  

ชูเวช : แล้วก็มีอีกแก๊งค์หนึ่งที่กรุงเทพฯ จัดที่หน้าหอศิลป์ฯ รู้สึกว่าไผ่ก็เล่นเพลงนี้ด้วย 

ไผ่ ดาวดิน : ต้องบอกก่อนว่า พวกเราไม่ค่อยมีเพลงที่เราจะเอาไปใช้งาน ในยุคสมัยนั้นคือเพื่อชีวิตมันก็…เอ่อ   

ชูเวช : มีอยู่ไม่กี่วง 

ไผ่ ดาวดิน : นอกจากนั้นเราก็ไม่ศรัทธาในคนแต่งแล้ว อุดมการณ์เพลงมันไม่มี ทีนี้พวกเราก็จะมีกลุ่มเล็กๆ เป็นนักกิจกรรมที่รู้จักกัน แต่งเพลงขึ้นมา แล้วก็จะใช้เพลงเหล่านี้ร้องเป็นเพลงเพื่อหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ หล่อเลี้ยงอุดมการณ์ เป็นเพลงที่เราคิดว่าเข้ากับชีวิตเรา เหมือนกับเพลงเพื่อชีวิตของพวกเรา มันเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แบบนี้ เหมือนที่ชูเวชว่า มันเริ่มจากกลุ่มนักกิจกรรม 

The Isaan Record : ช่วงเวลาที่ไผ่อยู่ในเรือนจำได้ร้องเพลงนี้ไหม

ไผ่ ดาวดิน: ร้องครับ เพลงนี้ใช้เป็นเพลงเคลื่อนไหว มันก็มีหลายเพลง ชอบเพลงไหนเราก็หยิบมาใช้ เพลงนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เราหยิบมาใช้และรู้สึกว่า มันเพราะแล้วก็อินและเข้ากับบรรยากาศตอนนี้จริงๆ  

ชูเวช  : ถ้าจำไม่ผิดคือ หลังครบรอบ 1 ปี แล้วมีหมายเรียก 16 คน และมี 2 คน ต้องไปรายงานตัวก่อน อีก 14 คนไม่ไปรายงานตัว พวกเราจึงไปรวมตัวกันที่เจริญนคร 22 สวนเงินมีมา แล้วก็ให้เจ้าหน้าที่ลากออกไป อุ้มออกไปจากตรงนั้น ผมจำได้แม่นเลยว่า มีเพื่อนๆ ที่อยู่บริเวณนั้นและเห็นฉากตรงนั้น พวกเราก็ร้องเพลง “บทเพลงของสามัญชน” แล้วชู 3 นิ้ว จนเขาถูกลากออกไป เข้าใจว่า ไผ่อยู่ในคุก ไผ่ก็เอาไปใช้ มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเลือกเพลงนี้ (หันไปถามไผ่) 

ไผ่ ดาวดิน : ก็เอาไปใช้ เพราะมันตรงๆ อย่างคำว่า “บังเอิญเจอใครที่ยังฝันอยู่” ก็หมายถึงคนที่ยังฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คือ มันเข้ากับสถานการณ์เข้ากับชีวิตพวกเราก็เลยเอาไปใช้ รู้สึกว่ามันใช้ได้จริง มันตอบรับกับอารมณ์และจิตวิญญาณในตอนนั้นด้วย เพลงสามัญชนก็กอดคอร้องเพลงกัน  

The Isaan Record: ใครเป็นคนแต่งเพลงนี้  

ชูเวช : ผมก่อนครับ แล้วก็แต่งไม่จบเสียที แต่งอยู่หลายเดือน แล้วก็มาปรึกษาพี่แก้วใส (ณัฐพงษ์ ภูแก้ว) คนที่แต่งร่วมอีกคนหนึ่ง เขาก็เติมท่อนจบให้ว่า “อยากได้ยินเธอร่ำร้องตะโกนบทเพลงของสามัญชน ปลุกผู้คนปลุกฝันสู่วันของเรา” ก็คือพี่แก้วเป็นคนหาท่อนจบให้ 

“การต่อสู้หลังจากทำให้กลัวก็คือ เขาคาดหวังว่า เราจะต้องหดคนลง แต่วิธีสร้างคนก็คือ สร้างพื้นที่ให้กับคนหน้าใหม่เรื่อยๆ อันนี้ คือ เกมที่เขาจับเราไม่ทัน” ชูเวช เดชดิษฐรักษา นักร้องนำวงสามัญชน

The Isaan Record : วงดนตรีสามัญชนกับพรรคสามัญชน มันชื่อเดียวกัน มีที่ไปที่มาอย่างไร 

ชูเวช : มีช่วงหนึ่งใช้โลโก้เดียวกันเลย (หัวเราะ) คือ ต้องบอกก่อนว่าสมัยเราเป็นนักศึกษาเราเจอกัน ตอนนั้นผมอยู่ปี 3-4 ผมเจอไผ่ครั้งแรกที่จังหวัดชัยภูมิ ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เรียนกายภาพบำบัด  

ไผ่ ดาวดิน : ผมเรียนนิติศาสตร์ มข.  

ชูเวช : ตอนนั้นเป็นค่ายของมูลนิธิโกมลคีมทองจัดให้เด็กค่ายมาเจอกัน เรียนรู้ข้ามประเด็นกัน เราก็เรียนรู้ประเด็นแก้งค้อ จ.ชัยภูมิ  

ไผ่ ดาวดิน : ธนาคารน้ำเป็นโครงการจัดการน้ำ สมัยนั้นเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปลอดประสพ สุรัสวดี (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เป็นหัวหน้าโครงการ ที่แก้งค้อจะมีสันเขา มีภูผาแดง ภูแลนคา และภูเขียว เขาจะสร้างปูนกั้นแค่ที่เดียว แล้วเอาสันเขาเป็นที่กันน้ำ ซึ่งพวกเราก็เข้าไปศึกษา 

ชูเวช : คือ เขาจะอพยพคน 

ไผ่ ดาวดิน : ตอนนั้นเราเข้าไปศึกษาอย่างเดียวไม่พอ แต่เราเข้าไปปฏิบัติการด้วย ไปห้อยป้าย ไปไฮปาร์ค ผมยังจำได้เลยว่า ถือโทรโข่งไฮปาร์คในตลาด  

ชูเวช : จากค่ายในวันนั้นก็มีการคุยกันว่า น่าจะมีพรรคของวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ที่เป็นนักกิจกรรมเอาไว้เป็นพรรคไพรเวทเหมือนพรรคเมืองนอกที่ช่วงชิงประเด็น ช่วงชิงกระแสข่าวได้ ทำให้นโยบายของพรรคใหญ่เปลี่ยนได้ ด้วยโมเมนตั้มบางอย่างของพรรคเล็กที่มีลักษณะกวนตีนอะไรหน่อยๆ แล้วรัฐธรรมนูญตอนนั้นก็เอื้อให้เกิดพรรคเล็ก เราเลยคิดว่า จะตั้งพรรคกัน 

แต่ยังไม่ทันจดทะเบียนพรรค เราตั้งใจจะไปจดทะเบียนวันที่ 24 พฤษภาคม 2557  ตอนนั้นผมจะเป็นกรรมการด้วย อายุ 24-25 อายุ แต่ดันรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เสียก่อน จึงไม่ได้จดทะเบียนตั้งพรรค หลังจากนั้นก็คุยกันก็เลยได้ชื่อกลุ่มขบวนการจากตรงนั้นว่า พวกเราคือ “สามัญชน ขบวนสามัญชน” ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ แล้วเราตั้งวงดนตรีชื่อว่า “วงสามัญชน” เพราะมีอุดมการณ์เดียวกัน  

ไผ่ ดาวดิน : สามัญชนมันเป็นคำที่แบบว่า “สามัญชน” น่ะ  

ชูเวช : ไม่มี Nobility (ขุนนาง) ไม่มีศักดินา ไม่มีอำมาตย์ 

The Isaan Record : การที่เราเล่นดนตรีที่อีสานกับกรุงเทพฯ อันไหนส่งพลังมากกว่ากัน 

ชูเวช : ผมว่า แต่ละที่บรรยากาศไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบรรยากาศของศิลปินท้องถิ่นด้วย เพราะสมาชิกวงสามัญชนไม่ค่อยว่างตรงกัน แต่ละคนก็มีงานประจำ เพราะฉะนั้นเราไปบางจังหวัดเราก็จะ เฮ้ย ! คุณมาแจมกันๆ อย่างที่อีสานก็จะเห็นอีกชุดหนึ่ง ช่วงนี้อีสานบูมก็จะมีความต้องการความมันความโจ๊ะ อีกแบบหนึ่ง วงสามัญชนก็จะกลายเป็นวงเงียบๆ วงเนิร์ดๆ แต่ถ้าไปอยู่กรุงเทพฯ เราก็จะเป็นวงเครียดๆ ถ้าเทียบกับวงแร็พ คือ เราก็จะถูกจัดคนละแบบกัน  

“เรารู้ว่าประเทศเรา ประเทศไทยมันดีกว่านี้ได้จริงๆ มันทำได้” จุตภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

The Isaan Record: พอทั้ง 2 คนหรือทั้งวงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการถูกคุกคาม 

ไผ่ ดาวดิน : ไม่เตรียมใจ เพราะไปเล่นดนตรี เราเป็นนักกิจกรรม การทำกิจกรรมทางสังคมทำให้เรามารู้จักกัน แต่ละคนเล่นดนตรีได้ ร้องเพลงได้ ก็เลยเกิดวงแค่นั้นเอง คือ วงเกิดจากอุดมการณ์ ไม่ได้เกิดจากการอยากตั้งวง ไม่ได้เกิดจากการอยากเล่นดนตรีมาก่อน แต่เกิดจากการอยากทำอะไรเพื่อสังคม ก็เลยใช้ดนตรีเป็นช่องทางในการสื่อสาร 

เราเชื่อว่า บทเพลงแต่ละเพลงเป็นการบันทึกเรื่องราวของยุคสมัย เป็นการสะท้อนอะไรบางอย่าง บางเพลงก็แต่งแบบให้กำลังใจคนอีสาน อีสานใหม่ แต่งสู้กับทรัพยากร สู้กับทุนผูกขาด มันเป็นเพลงที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของชาวบ้านด้วย เวลาชาวบ้านเขาไปม็อบก็จะนำเพลงพวกเราไปเล่นบ้าง คือ เราใช้บทเพลงเป็นแนวรบทางวัฒนธรรม เรามีวัฒนธรรมในการฟังเพลงแบบนี้ เรามีวัฒนธรรมในการต่อสู้ผ่านภาษาเพลงแบบนี้ คือ ไฮปาร์ก การพูด การเคลื่อนไหวก็เป็นรูปแบบหนึ่ง การสื่อสารผ่านดนตรีก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนักกิจกรรมแต่ละคนที่มาในฐานะวงสามัญชนก็จะสื่อสารผ่านบทเพลง ผ่านดนตรี ผ่านเนื้อร้อง 

ชูเวช : ผมคิดว่า ประสบการณ์ของไผ่จะเฉพาะตัว เพราะเขาโตมาในม็อบ คือ ใช้บรรทัดฐานของไผ่เพื่อบอกน้องๆ หน้าใหม่ๆ อาจจะไม่ได้ มันคนละแบบ ผมขี้กลัว ผมก็จะเตรียมตัวเยอะ ก็จะแยก 2 ส่วน คือ ส่วนในแง่ของการประเมินความเสี่ยง โดยสมการก็คือว่า ความเสี่ยงเท่ากับความเปราะบางหารด้วยศักยภาพ ความเปราะบางก็คือ ความด้อยง่อยเปลี้ยของตัวเอง เราจัดการเรื่อง Digital security อย่างไร เรามีกิจวัตรประจำวันที่ทำให้ถูกติดตามง่ายหรือไม่ เราอยู่ในพื้นที่ที่หลบหนีออกมายากหรือเปล่าหรือในแง่ของศักยภาพ เราก็จะดูว่า ในวันที่เราไปชุมนุมใครเป็นคนจัด ไว้ใจได้ไหม มีผู้สังเกตการณ์ มีทนายหรือไม่ 

อีกส่วนหนึ่ง คือ ในแง่ของสภาพจิตใจก็คือ ผมจะนั่งสมาธิก่อนที่จะขึ้น จินตนาการหลายๆ อย่างเพื่อให้รู้สึกมั่นคงพอ เพราะเราคิดว่า บางทีคนที่มาชุมนุม เขาล้ามาจากการทำงาน ล้ามาจากการเรียน ถ้าเราขึ้นไปแล้วไปตะคอกตะโกนใส่เขา เราก็ไม่อยากทำ เราก็คิดว่า อยากให้เขารู้สึกนิ่งกับเราไปด้วย  

วงสามัญชนเล่นดนตรีในกิจกรรมทางการเมือง “อีสานสิปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่  22 กันยายน 2563

The Isaan Record: กรณีที่มีนักดนตรีหลายคน ถูกคุกคามจากการเล่นดนตรีในที่ชุมนุมทำให้อยากหยุดเคลื่อนไหวหรือไม่อยากไปร้องเพลงในม็อบอีกไหม 

ชูเวช : ไม่เลย คือ ผมคิดว่ามันยิ่งท้าทาย แต่ในแง่หนึ่งก็มีมุมที่อยากหยุดในมุมที่ว่าเราเล่นเยอะแล้ว เราอยากเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ที่เขารู้สึกเดือดกับตรงนี้ ได้มีพื้นที่ บางที่เชิญเราไปให้เวลาเรา 30 นาที ถ้าเราไปเจอศิลปินในพื้นที่ที่เขาอยากเล่นจริงๆ เราตัดเวลาตัวเองเหลือ 10 นาที เพื่อสร้างคนใหม่ๆ 

ผมคิดว่า การต่อสู้หลังจากทำให้กลัวก็คือ เขาคาดหวังว่าเราจะต้องหดคนลงใช่หรือไม่ แต่วิธีสร้างคนก็คือ สร้างพื้นที่ให้กับคนหน้าใหม่เรื่อยๆ อันนี้คือเกมที่เขาจับเราไม่ทัน เขาจะงงมากว่าไอ้นี่มันใครอีกวะเนี่ย อันนี้ผมคิดว่า เป็นเทคนิคที่อยากให้ทุกการชุมนุมผลิตคนหน้าใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ  

The Isaan Record: จากการที่ติดคุก เพราะแชร์เฟซบุ๊กมันทำให้ไผ่ขยาดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไหม 

ไผ่ ดาวดิน : ถามว่าหยุดได้ไหม ใช่ครับ พวกมึงหยุดได้ไหม (หัวเราะ) ผมบอกจริงๆ นะ ผมบอกเขาให้หยุดดีกว่า สำหรับผมรู้สึกมันกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปแล้ว ผมอาจจะไม่ได้ขี้กลัวด้วย ผ่านมาขนาดนี้แล้ว ผมก็รู้สึกว่า มันไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว ขี้เกียจกลัวแล้ว เบื่อและรำคาญมากกว่า โดนคดีจนน่ารำคาญและคิดว่ามันไร้สาระ 

ผมรู้สึกว่าไม่ขยาด มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าวิธีการเดิมๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แต่ผลของมันแตกต่างจากเดิม เขาใช้วิธีการทางกฎหมายเหมือนเดิม แต่ว่าคนไม่ได้กลัวเหมือนเดิม แล้วผมก็คิดเหมือนชูเวชพูด 

ผมถามคนในการชุมนุมก็มีคนพร้อมที่จะขึ้นมาพูด หมายความว่า ถ้าเขาเด็ดเอาคนไปหมดทั้ง 31 คนหรือเอาชูเวชไป ผมคิดว่าจะต้องมีศิลปิน มีอะไรขึ้นมาอีก เพราะมันไม่ไหวแล้ว อย่างแรปเปอร์ที่โดนผมก็รู้สึกว่า เขาเป็นศิลปินคนหนึ่ง ยิ่งการที่เขาโดนมันยิ่งทำให้รู้สึกว่า คนเรามันจะโดนสิ่งที่มันปะทะให้มันเปลี่ยนแปลงตัวเอง หมายถึงว่า เราอาจจะไปรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย รณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่พอเราโดนละเมิดสิทธิเสรีภาพไปแล้ว มันยิ่งทำให้เขาต้องพบเจอกับความจริง ความอยุติธรรมจริงๆ 

ผมยิ่งคิดว่ามันทำให้คนไม่พอใจกับการที่ศิลปินคนหนึ่งที่เขาเป็นตัวแทนในนามศิลปินที่จะมาร้องเพลงพูดถึงเรื่องราว ผมคิดว่า ที่ศิลปินโดน เพราะสิ่งที่เขาพูดผ่านบทเพลงมันเป็นความจริงของสังคมที่ฝ่ายผู้มีอำนาจรับไม่ได้กับเรื่องราวแบบนี้ รับไม่ได้กับสิ่งที่ศิลปินพูดและแสดงออกไป 

The Isaan Record: เพลงคนที่คุณก็รู้ว่าใครเป็นการยกเพดานสูงมาก โดยเฉพาะสอดคล้องข้อเรียกร้อง 10 ประการ เพลงนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร 

ชูเวช : ผมเป็นแฟนคลับ แฮรี่ พอตเตอร์ ตอนเด็กๆ ก็ไม่เข้าใจว่า ตาทอม ริดเดิ้ล ที่เป็นลอร์ด โวลเดอมอร์ ทำไมคนถึงไม่เรียกเขาว่าทอม ริดเดิ้ล ทำไมถึงต้องใส่ลอร์ดลงไป ใส่ยศฐาบรรดาศักดิ์ลงไปในชื่อ ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้เป็นคนสำคัญอะไรขนาดนั้น เราก็ตั้งคำถาม แล้ววันหนึ่งพอมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศว่า เรามีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ คล้ายคลึงกันก็คือ มันไม่เอื้อให้เกิดการพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เกิดบรรยากาศที่คนที่คุณก็รู้ว่าใครมันกลายเป็นเรื่องนินทาบนโต๊ะอาหารที่มีทุกบ้าน แต่ว่าไม่เคยถูกพูดอย่างจริงจังอย่างมีวุฒิภาวะ ทีนี้พอวันหนึ่งคนรุ่นใหม่เขากล้าหาญกว่า แล้วเขาก็ออกมาพูดเรื่องนี้แบบมีวุฒิภาวะมากกว่าเรา 

จากเรื่องนินทาบนโต๊ะอาหารก็นำมาคุยกับแบบซีเรียสว่า ภาษีของพวกเราถูกนำมาใช้กับเรื่องพวกนี้อย่างไรบ้าง เราก็เลยนึกถึงเพลงนี้ ผมเลยแต่งเพลงนี้ เพิ่งแต่งก่อนที่จะมีการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ไม่กี่วัน แต่บังเอิญวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ผมไม่ได้อยู่เล่น เล่นครั้งแรกที่ ม.ธรรมศาสตร์ แล้วกระแสดีจนน้องๆ ที่จัดชวนไปเล่นอีก ทีนี้จัดม็อบจริงจัง “แฮรี่ พอตเตอร์” เลย เข้ากับธีมเพลงเราด้วย 

The Isaan Record: แต่งเพลงเพราะว่าอยากให้มันเป็นอย่างในเพลงจริงหรือเปล่า  

ชูเวช : ใช่ครับ คือ ผมคิดว่ามันทำลายตัวเองอยู่ตลอดเวลา  

ไผ่ : แค่เขาไม่ยอมรับความจริงว่ามันพัง แล้วยังนำขนบแบบนั้นมากดอยู่คือ มันผ่านมาแล้ว  

The Isaan Record: แฮรี่ พอตเตอร์ ในโลกจินตนาการกับ แฮรี่ พอตเตอร์ในโลกความจริงเหมือนกันไหม  

ชูเวช : ค่อนข้างคล้ายกันในหลายเรื่อง แต่ว่าบทสรุปตอนจบผมก็คิดว่า คงไม่ได้ถึงขั้นต้องไปทำลายเพื่อให้เกิดความตายหรือลอร์ด โวลเดอมอร์ หรอกครับ 

ไผ่ ดาวดิน : มาถามผมไม่ได้ ผมไม่ได้อ่าน ผมไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) 

ชูเวช : ก่อนจะเล่น ผมจะร่ายคาถาชวนผู้ชุมนุม Expecto Patronum ประเด็นก็คือคาถานี้ชื่อ “คาถาผู้พิทักษ์” ในเรื่องเอาไว้คุ้มกันผู้คุมวิญญาณ ผู้คุมวิญญาณลักษณะพิเศษของเขาคือ ถ้าอยู่ใกล้จะเริ่มมีน้ำแข็งมาเกาะ ถ้าเกิดโฉบผ่านก็จะทำให้เรานึกถึงความกลัว ซึ่งก็เหมือนตำรวจ วันที่เราไปเล่นในม็อบ แฮรี่ พอตเตอร์ (ที่อนุสาวรีย์ชัยประชาธิปไตย) ตำรวจเป็นร้อยเลยคือ กูไม่ได้รู้สึกอุ่นใจขึ้นมาเลย ยิ่งขยับเข้ามาใกล้มันยิ่งร้อนๆ หนาวๆ เหมือนผู้คุมวิญญาณเลย มันมีความรู้สึกหนาวๆ แปลกๆ อยู่ หวิวๆ แล้วยิ่งเข้ามาใกล้เรายิ่งเห็นความกลัวของตัวเองมากขึ้น แต่คาถา Expecto Patronum คือ คุณต้องมีความสุข คุณต้องมีความหวัง มีจินตนาการถึงความหวังคุณถึงจะร่ายคาถานี้ได้ ผมก็เลยนึกถึงว่า ถ้าเราจะสู้เราต้องอย่าสู้ด้วยความสิ้นหวังและต้องมีความหวัง เราก็เลยชวนทุกคนร่ายคาถานี้ก่อนที่จะเล่น  

ทั้งที่จริงๆ ในเรื่องแฮรี่อาจจะใช้คาถา Dark wizard ฝ่ายมืด คำสาปกรีดแทงอะไรเยอะแยะ แต่ว่าเรารู้สึกว่า ไม่อยากทำลายชีวิตใคร เราแค่อยากกำกับอำนาจของลอร์ด โวลเดอมอร์ ไม่ให้มาคุกคามชีวิตคน แค่นั้นเอง 

The Isaan Record: คิดว่าเพลงนี้ปลุกพลังในตัวของคนรุ่นใหม่ได้ไหม 

ชูเวช: ต้องดูหลายอย่าง คนรุ่นใหม่เขาอยู่ในยุคมัลติมีเดีย เขาอาจต้องการสื่อหลากหลายประเภท ส่วนเพลง “สักวัน” นั้น ผมได้แรงบันดาลใจจากจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง) โดนตีหลายรอบ ตอนนั้นก็มี เอกชัย หงส์กังวาน โดนทำร้าย ถูกเผารถ โดนหนัก มันเหมือนอยู่ในยุคมืดที่นักกิจกรรมซึมเศร้ากันเป็นแถบเลย เหลือคนที่ยังต่อสู้อยู่เพียงหยิบมือ น้อยมาก ไผ่ก็อยู่ในคุก 

ตอนนั้นจ่านิวกำลังจะจัดงานทิ้งทวนก่อนที่จะไปเรียนต่อที่อินเดีย แต่โดนตีเสียก่อน ผมจึงแต่งเพลงนี้ออกมาเพื่อมอบให้จ่านิวโดยเฉพาะ แต่หลังจากนั้นก็พบว่า มีคนถูกคุกคามเต็มไปหมด 

The Isaan Record: เพลงนี้นอกจากจะส่งเสริมให้ทุกคนมีความเท่าเทียมแล้วยังบอกด้วยว่า หยุดคุกคามประชาชนด้วยหรือเปล่า 

ไผ่ ดาวดิน : มันเกิดจากเรื่องราวความเป็นจริง อย่างเราเห็นนิวโดนตีเราแต่งเพลงให้นิว แล้วก็นำไปใช้กับคนอื่นๆ ได้ด้วย เพราะนิวก็คือประชาชน เวลาเขาทำกับนิว เขาทำกับพี่เอกชัยเหมือนกัน เพลงนี้จึงนำไปใช้ได้ ไม่เฉพาะแค่นิว แต่จุดเริ่มต้นจากนิว

The Isaan Record: ไผ่มีประสบการณ์ในการอยู่รอดจากการถูกคุกคาม แชร์ประสบการณ์ให้น้องๆ นักศึกษาฟังหน่อย 

ไผ่ ดาวดิน : ผมคิดว่าเราทุกคนเหมือนกัน ไม่ว่าจะโตแค่ไหน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ในสายตาพ่อแม่ เราก็ยังเป็นเด็กสำหรับเขา ผมพูดคำว่า เด็ก ผมไม่ได้หมายถึงเด็กแบบนั้นนะ พ่อแม่มองว่า เรายังเด็กเสมอ อย่างรุ่นผมกับชูเวชผ่านความขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2549 ผ่านการต่อสู้ของเหลือง แดง มา 

ชูเวช: พวกเราเคยเป็นสลิ่ม เป็นเหลืองมาก่อน

ไผ่ ดาวดิน : ใช่ เป็นเหลืองมาก่อน เคยทะเลาะกับเพื่อนเสื้อแดงมาก่อน ทะเลาะกับครอบครัว คือ เราผ่านเรื่องอะไรแบบนี้มามาก แต่สิ่งสำคัญที่เราผ่านมาได้คือ การที่เราตั้งคำถาม ไม่ได้แค่เชื่ออย่างเดียว แน่นอนยังไงพ่อแม่ก็เป็นห่วงด้วยความรัก ต้องเข้าใจว่าชุดประสบการณ์ของพ่อแม่คือ ผ่าน 14 ตุลาฯ 2516 กับ 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งมันมีความสูญเสีย มีการตาย ผ่านชุดประสบการณ์ที่นักศึกษาเคลื่อนไหวโดนจับ ติดคุก ดังนั้นมายาคติที่เขามองก็จะมองเรื่องแบบนี้ 

บางคนอาจตัดขาดพ่อแม่เลย มันไม่ใช่เป็นความอกตัญญู ผมรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างเรื่องของเหตุผลกับความรักของครอบครัว มันต้องจัดสรร โอเค เราไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจได้ แต่เราก็ต้องยืนหยัดในอุดมการณ์ ไม่อย่างนั้นเราก็จะสูญเสียความเป็นตัวตน

ผมเลยรู้สึกว่า เรามีอุดมการณ์ยืนหยัดเหมือนต้นไม้และวิธีการเราอาจพลิ้วไหว เราอาจยอมเขาบ้าง เราอาจต้องแข็งบ้าง เราอาจจะต้องไปร่วมชุมนุมบ้าง เราอยากจะทำอะไรเราก็ต้องทำบ้าง มันก็ต้องแบบนี้

ช่วงหนึ่งที่ทางพ่อแม่ผมไป กปปส. เราก็ทะเลาะกันเหมือนกัน แต่สุดท้ายเขาก็ต้องส่งเงิน เพราะเราก็เป็นลูกหรือบางคนที่หนักมากกว่านั้น เห็นในทวิตเตอร์ตัดพ่อตัดลูกไม่ส่งเงินให้ ผมก็รู้สึกว่ามันต้องฝันฝ่า สุดท้ายผมกับครอบครัว ณ วันนี้ก็คุยเรื่องการเมืองได้ เพราะว่ามันผ่านความจริง 

สุดท้ายในสังคมไม่ว่า คุณจะมีความคิดทางการเมืองแบบไหน แต่ถ้าเราพูดถึงเรื่องความจริง อย่างที่ชูเวชบอก เราต้องคำถามกับเรื่องงบประมาณสถาบันฯ มันคุ้มค่าหรือไม่ เงินที่ซื้อเรือดำน้ำเอาไปทำอะไรได้บ้าง และมันเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ สิ่งที่ (พล.อ.) ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำ สิ่งที่บ้านเมืองมันเป็นอยู่นั้น สิ่งที่เราเสียไปมันเกิดประโยชน์อะไรบ้าง ทำให้ความเท่าเทียมกันของมนุษย์เกิดขึ้นหรือเปล่า หรือทำให้ช่องว่างมันห่างขึ้น คนรวยกระจุกคนจนกระจาย

ผมว่า ถ้าเราตั้งคำถามด้วยเหตุผลในครอบครัวไปเรื่อยๆ และยืนยันในหลักการไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วชีวิตเป็นของเรา ไม่อย่างนั้นเราจะรู้สึกเสียใจว่า ทำไมช่วงนั้นไม่เลือกแบบนี้ ทำไมไม่ออกไปใช้ชีวิตแบบนี้ ผมไม่อยากให้มาเสียใจในการตัดสินใจทีหลัง การทำในวันนี้มันยากลำบากแน่นอน นักเรียน น้องๆ ที่อยู่ประถม ผมเชื่อว่ายิ่งมีความห่วงมากกว่า ขนาดเราบรรลุนิติภาวะแล้ว เราอายุ 29 ปีแล้ว แม่ก็ยังเป็นห่วงอยู่ ทุกความเป็นห่วงมันมีหมด แต่เราจะจัดการกับความเป็นห่วงนี้อย่างไร โดยที่ครอบครัวด้วยและยืนหยัดในความเป็นตัวเองด้วย

“เรามีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เอื้อให้เกิดการพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เกิดบรรยากาศที่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ชูเวท เดชดิษฐรักษา

The Isaan Record: ทั้ง 2 คนไปร่วมกิจกรรมในแต่ละการชุมนุมมีความฝันหรืออยากเห็นอะไร

ไผ่ ดาวดิน : ก็ยังฝันเหมือนเพลง อยากบังเอิญเจอใครที่ยังฝันอยู่ นั่งฟังเพลงอยู่ตรงนี้ ทุกครั้งที่เราไปก็เหมือนเรานั่งดูความฝันเรามีความฝันกับการเปลี่ยนแปลง เราอยากเห็นการเมืองที่ดีกว่านี้ สังคมที่ดีกว่านี้ ระบบกฎหมายระบบอะไรต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตมันดีกว่านี้ จนพวกเราไม่ต้องมาม็อบ ไปใช้ชีวิตแบบไม่ได้มีคนถูกอุ้มหาย เราไม่ต้องมาคิดว่า จะจัดกิจกรรมอะไร ใช้ธีมหรือร้องเพลงอะไร หรือแต่งเพลงให้คนถูกอุ้มหาย แต่งเพลงคนโดนตี แต่งเพลงคนติดคุก มันไม่ใช่ เราควรใช้ชีวิตแบบสบายๆ อยากมีชีวิตปกติ ไม่ต้องมาคิดเรื่องสังคมเรื่องอะไร

ชูเวช :  จริงๆ ผมว่า นักกิจกรรมทุกคนก็อยากมีชีวิตตกเย็นกินหมูกระทะ กินเบียร์ แต่บังเอิญว่า การเมืองมันเป็นอย่างนี้ มันไล่บี้เราทุกช่วงเวลา ชาวบ้านเดือดร้อนกันเพราะว่ากติกาที่ออกมาในระดับกฎกระทรวง ดันเอื้อให้มีประทานบัตรเหมืองแร่ที่ชาวบ้านไม่ได้เป็นคนกำหนด จากเรื่องเล็กๆ มันขยายเป็นเรื่องใหญ่ทุกเรื่อง พอประชาชนมันไม่ได้ยึดโยงเป็นคนกำหนดกติกาต่างๆ ในการอยู่ร่วมกันมันก็ไม่เวิร์ค ไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของไม่รู้สึกว่ามีส่วนร่วม

ไผ่ ดาวดิน : เรารู้ว่า ประเทศเรา ประเทศไทยมันดีกว่านี้ได้จริงๆ มันทำได้ เช่น เงิน 2 หมื่นล้านที่ซื้อเรือดำน้ำ มันมีการเปรียบเทียบว่า เงินจำนวนนี้ทำอะไรได้บ้าง ทำถนนเอาสายไฟจากข้างบนลงใต้ดิน ผมคิดว่า สิ่งเหล่านี้มันทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นได้ทำให้ประเทศดีขึ้นได้ แต่เขาไม่เคยเอามาทำ มันเลยเป็นสิ่งที่เราต้องออกมาทำออกมาเรียกร้องว่า ซื้อเรือดำน้ำไม่ได้ คนจะอดตาย สภาพถนนบ้านเราโดยเฉพาะอีสานมันไม่เหมือนกรุงเทพฯ ยังไม่มีรถไฟฟ้า การคมนาคมที่ดี แต่เงิน 2 เหมือนล้านเอาไปซื้อเรือดำน้ำได้ 

ขณะเดียวกัน 2 หมื่นล้านนั้นสามารถนำมาทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นได้ แล้วเราจะปล่อยเรื่องอย่างนี้ไปได้อย่างไร ปล่อยให้รัฐเผด็จการเอาเงินไปซื้ออะไรก็ได้ผมก็รู้สึกว่า ถ้าเราแคร์ประชาชนจริง เราก็ต้องเอามาสนับสนุนประชาชน ข้อเท็จจริงมันรู้อยู่แล้วว่า สิ่งที่พวกคุณทำเงินที่มีมันทำให้ชีวิตคนดีขึ้นได้ เขามีการคำนวณด้วยซ้ำว่าเอาจ่าย 5,000 เป็นเวลา 6 เดือน ช่วยคนได้กี่คน พอเป็นรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนมันก็ไม่แคร์อะไรเลย ผมคิดว่า เป็นหน้าที่พวกเราที่ต้องไล่มันและเป็นหน้าที่เราที่ต้องสนับสนุนคนที่ไล่ 


Comments 491491 Comments in moderation

image_pdfimage_print