มาโนช พรหมสิงห์ 

เมื่อใดก็ตามที่เหล่าราษฎรยากไร้ถูกเอาเปรียบ เหล่าราษฎรเดินดินเพรียกหาสังคมที่เป็นธรรมร้องขอเสรีภาพ ความเท่าเทียมออกมาร่วมกระชับมือก้าวเท้าย่ำถนน เพื่อบอกถึงสิ่งที่หัวใจดวงน้อยด้อยค่าร้องขอ แล้วได้รับคำตอบเป็นการบิดเบือนทำหูทวนลมหรือถูกปราบปรามจนล้มเจ็บและตายอย่างอนาถ

มันทำให้ผมคิดถึงโศกนาฏกรรม แฟ้มอาชญากรรมที่ถูกซุกไว้ใต้พรมของประเทศมหาอำนาจของโลก หรืออีกนามที่มักพูดว่า ประเทศผู้นำของโลก นั่นคือ ดินแดนของประเทศสหรัฐอเมริกา

โศกนาฏกรรมของชนพื้นเมือง ‘อินเดียนแดง’

หรือเกิดซ้ำใน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และอีกมากมายหลายแห่ง

และมันมิได้เป็นชะตากรรมแสนเศร้าของพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้น ทว่ามันเป็นชะตากรรมของวงจรชีวิตของ ‘สยามเมืองยิ้ม’ เฉกเช่นกัน

สิ่งที่กล่าวมาในอเมริกา ถูกบันทึกไว้ในหนังสือเชิงสารคดี อ้างอิงประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลที่ถูกซ่อนไว้ ซึ่งผู้เขียน ดี บราวน์ (Dee Brown) กล่าวไว้ว่า ‘ลองเอ่ยนามดินแดนซึ่งประชาชนได้รับความอยุติธรรมและการกดขี่ข่มเหง ย่อมเป็นที่คาดได้ว่า น่าจะมีการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ที่นั่นด้วย’

มันถูกตีพิมพ์ในอเมริกาเมื่อปี 2513 ถูกแปลเป็นไทยตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ 2523 โดยบริษัทเซอร์เคิลบุ๊ค และพิมพ์ครั้งที่สอง โดยปรับปรุงเนื้อหา หมายเหตุให้สมบูรณ์ เป็นปกแข็งหนาเกือบหนึ่งพันหน้า โดยสำนักพิมพ์ Way of Book เมื่อเดือนตุลาคม 2555 

หนังสือเล่มนี้แปลโดย ‘ไพรัช แสนสวัสดิ์’ ซึ่งท่านเคยเอ่ยกับผมว่า เป็นคนวารินชำราบเหมือนกัน เกิดในหมู่บ้านที่อยู่ถัดกับหมู่บ้านคำแสนราชของผม

ชื่อหนังสือคือ ‘ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี: ประวัติศาสตร์อเมริกันบนโศกนาฏกรรมของอินเดียน’ (Bury My Heart at Wounded Knee : An Indian History of the American West) เป็นเรื่องจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ ในยุคชาวอเมริกันร่วมสร้างประเทศใหม่ๆ เมื่อการรุกเข้าสู่ดินแดนทางตะวันตกที่อุดมด้วยทองคำ 

แหละ ‘อินเดียนแดง’ เป็นเจ้าของแผ่นดินดั้งเดิม เลือดและน้ำตาของชนพื้นเมือง การสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมทารุณ การหักหลัง บ่ายเบี่ยง ไม่รักษา ทำตามคำมั่นสัญญา อันเกิดจากความโลภ กระหายอยากของคนขาวที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเจ็บปวดของอินเดียนเท่านั้น แต่มันเป็นความเศร้าปวดร้าวของมนุษยชาติเลยทีเดียว

ก็อินเดียนแดงที่แสนจะโง่เง่า ดุร้าย ป่าเถื่อน ซึ่งเราเคยเห็น เชื่อตามและคลั่งไคล้ พร้อมก่นด่าพวกเขาในภาพยนตร์คาวบอย จากดินแดนฮอลลีวู้ดนั่นแหละ

คนพื้นเมืองของประเทศที่เป็นผู้นำโลก แหละนำเข้าวัฒนธรรมหลากหลายที่คนไทยหลงใหลคลั่งไคล้ กระทั่งเดินต้อยๆ ตามหลัง แม้แต่ประชาธิปไตยและเสรีภาพแบบอเมริกา ก็ตามเถอะ

ผมว่าประเทศไทย ‘สยามเมืองยิ้ม’ ก็ไม่ต่างกันนักกับอเมริกาในการสร้างกำหนทิศทางเดินของประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นการปราบกบฏผู้มีบุญของอีสาน (ผีบ้าผีบุญ – คำเรียกของกรุงเทพฯ)

14 ตุลาฯ 16, 6 ตุลาฯ 19, คนญวนหลัง 6 ตุลา, ขบวนการหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน (ม็อบปากมูน) คนเสื้อแดง และกลุ่มนักเรียนกับกลุ่มราษฎรในขณะนี้ เป็นต้น

สำหรับตัวผมเอง ซึ่งมีชีวิตอยู่จนเส้นผมบนหัวขาวโพลน ฟันฟางแทบไม่เหลือ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ที่ผมได้เจอกับตนเอง นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ผมรู้สึกว่า ผมยังเจ็บปวด มีบาดแผลเกรอะกรังที่ไม่เคยถูกเยียวยา ผมเป็นคนนอกของประเทศชาติมาตลอดชีวิตเล็กๆ นี้

แหละจะรู้สึกโศกเศร้าเพียงใด กล่าวโทษตัวเอง ในฐานะที่อยู่มาก่อนแค่ไหน? ที่อำนาจนั้นยังตามกดขี่ ย่ำยี ลูกหลานของผม อยู่ในขณะนี้ อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรหนอ…

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print