ย้อนไปเมื่อ 8 มีนาคม 2561 ถือเป็นวันที่เปลี่ยนชีวิต “เคท ครั้งพิบูลย์” ชาวอุบลราชธานี ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TGA) ไปตลอดกาล 

ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกว่า “ทุกคนล้วนเท่าเทียม” หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกรรมการ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ไม่จ้างเธอเป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ทั้งที่ผ่านการคัดเลือก ด้วยอคติทางเพศและการตั้งแง่ว่า ใช้สื่อโซเชียลมีเดียไม่เหมาะสม 

“ทนายบอกว่า เราชนะแล้วนะ ตอนนั้นก็เลยแบบว่า จริงหรอ มันหมายความว่ายังไง แต่ก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราต่อสู้ มันเป็นการตัดสินใจที่ถูกแล้ว”เป็นความรู้สึกของเธอหลังฟังการตัดสินของศาล

วันนั้นศาลอธิบายว่า การที่จะใช้เกณฑ์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณสมบัติการสอน ไม่ได้อยู่ในดุลยพินิจ โดยเฉพาะการยกเรื่องการสื่อสารบนโซเซียลมีเดียมาตัดสินจึงใช้ไม่ได้ 

“ศาลบอกชัดเจน ตรงนี้เลยทำให้เราเห็นว่า อคติที่มีต่อความเป็นเพศ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่จะต้องเผชิญ มันจะต้องมีอีกหลายคนที่จะต้องเอาเรื่องทัศนคติมาใช้กับเรา”

ศาลพิพากษาให้มหาวิทยาลัยรับเธอเข้าทำงานภายใน 60 วัน นับจากวันที่คดีสิ้นสุด

แต่หลังจากเริ่มทำงานกรรมการที่ตัดสินไม่รับเข้าทำงานกลับให้กำลังและบอกว่า ดีใจที่เธอได้เป็นอาจารย์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ 

“เรารู้ว่า เรามีหน้าที่สอน ทำวิจัย ดูแลนักศึกษา อยากทำงานให้กับมหาวิทยาลัยเป็นที่จดจำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานทางด้านสังคม”เป็นความมุ่งมั่นที่เธอต้องการเป็นในฐานะ “อาจารย์”  

เคท ครั้งพิบูลย์ ในสนามหญ้า หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

แรงบันดาลใจฟ้อง ม.ธรรมศาสตร์ 

แรกเริ่มคงไม่มีใครอยากฟ้องใคร โดยเฉพาะหน่วยงานที่จะเป็นนายจ้างในอนาคต แต่กรณีนี้มีเรื่องราวทำให้เธอต้องสู้ ด้วยเหตุผลการไม่รับเข้าทำงานจากเพศภาพที่เป็น 

“เราจะปล่อยผ่านไม่ได้ เรายอมรับไม่ได้กับการที่เราคัดเลือกมา 7-8 เดือน ไม่ใช่ว่าสมัครแล้วได้เลย ซึ่งมันผ่านการทดสอบมาเยอะ เราเลยรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม”เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง 

แววตามุ่งมั่นต่อการสู้เพื่อความเป็นนี้ไม่ได้ถูกบ่มเพาะเพียงวันเดียว แน่นอน “ครอบครัว” มีส่วนบ่มเพาะให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง 

“พ่อแม่อยากให้เรื่องนี้ได้พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม และพ่อแม่ก็เห็นด้วยที่จะฟ้องทางมหาวิทยาลัย”

แรงส่งจากครอบครัวตั้งแต่วัยเด็กทำให้เธอกล้าที่แสดงการเป็นตัวของตัวเอง ทั้งเรื่องการเรียนและสังคม

“พ่อแม่ให้โอกาสในการแสดงออกความเป็นตัวเอง ในเพศสภาพตัวเอง ซึ่งพ่อแม่ก็ถามตลอดว่า เป็นยังไงบ้าง มีใครว่าอะไรไหม ซึ่งมันก็จะทำให้เรามีความมั่นใจ” 

“อยากให้อีกหลายคนไม่ยอม หลังถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะใช้อคติเรื่องเพศ ซึ่งยอมไม่ได้”เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อคติเรื่องเพศมีอยู่ทุกที่ 

การได้รับโอกาสจากครอบครัวทำให้เธอมีกำลังใจที่สร้างสรรค์หรือเรียกร้องสิทธิเพื่อคนอื่น โดยเฉพาะคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถูกกีดดันจากทัศนคติเรื่องเพศ 

เธอบอกว่า ความจริงแล้วอคติเรื่องเพศยังมีอยู่ทุกที่ รวมทั้งมีการเลือกปฏิบัติอีกแบบหลายรูปแบบ 

อคติเรื่องเพศทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนไม่มีสิทธิ์เข้าทำงานในองค์กรนั้นๆ ทั้งที่มีความสามารถ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เธอเคยข้ามผ่าน

“อยากให้อีกหลายคนไม่ยอม หลังถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะใช้อคติเรื่องเพศ ซึ่งยอมไม่ได้ ต้องหาช่องทางสื่อสารเรื่องนี้ ถ้าสะดวกร้องเรียนก็ร้องเรียน เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ”เธอแนะนำ 

จากประสบการณ์ของเธอพบว่า มีคนจำนวนมากที่ถูกเลือกจากการจ้างงานไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเพศสภาพและพวกเขาไม่ยอมออกมาเรียกร้อง เพราะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ปากท้อง 

“การเลือกปฏิบัติจากการจ้างงาน เพราะเป็นกะเทย เป็นเกย์ เป็นทอม  มันยังมีอยู่และคนเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงการจ้างงานที่เป็นธรรมได้” 

การเปลี่ยนแปลงหลังฟ้องร้อง 

เดือนพฤษภาคม 2558 เธอตัดสินใจฟ้องร้อง ม.ธรรมศาสตร์ ที่ปฏิบัติรับเธอเข้าทำงาน ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น 

ในฐานะที่เธอทำงานด้านนี้มากว่า 10 ปีแล้วก็เห็นพัฒนาการที่สังคมเปิดรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น  

“ตอนนี้คนเริ่มรู้แล้วว่าการที่เขาจะคิดหรือว่าละเมิดสิทธิเรื่องเพศของคนอื่นมันทำไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตัวต่อตัวหรือการใช้พื้นที่ออนไลน์”

แบบไหนจึงจะเท่าเทียม 

ผู้มีความหลายหลายทางเพศในหลายประเทศอาจจะเรียกร้องให้การสมรสมีความเท่าเทียม แต่เรื่องราวของผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิ่งเดียวที่ต้องคำนึง คือ “สิทธิความเป็นคนต้องเท่าเทียมกัน” 

“เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณยอมรับได้ไหมที่มีอาจารย์เป็นกะเทยในมหาวิทยาลัย หรือมีระบบการรองรับที่จะมีอาจารย์เป็นกะเทยแล้วอาจารย์ทำไมต้องมีคำนำหน้าว่า นาย แล้วสวัสดิการเป็นอย่างไร เพศสภาพอย่างเราใช้สิทธิอย่างไร วันลาเราจะลายังไง”เป็นคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีคำตอบ 

นอกจากนี้เธอยังเห็นอีกว่า สภาพสังคมที่เคยเป็นอยู่ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกกดขี่และเลือกที่จะไม่พูดออกมา รวมทั้งไม่กล้าแสดงความต้องการของตัวเอง 

“การเป็นกะเทย เป็นเกย์ มันอาจจะมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ท้ายที่สุดอยากให้เห็นว่าการเป็นตัวของตัวเองมันเป็นเรื่องที่ดี และมีคนที่คอยสนับสนุนเรา และหลายคนก็พร้อมจะช่วยเรา เมื่อเราเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเอง”เธอกล่าวทิ้งท้าย

image_pdfimage_print