ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ เรื่อง 

วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในขณะนี้มาจากการสร้างเขื่อน 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

กลุ่มแรก เขื่อนจีน 11 แห่ง กั้นแม่น้ำโขงตอนบนที่ไหลผ่านจีน บริเวณนี้ยังมีเขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาจำนวนมาก

กลุ่มสอง เขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างช่วงไหลผ่านลาวที่สร้างโดยทุนไทยและขายไฟฟ้าให้กับไทย

กลุ่มสาม เขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงเกือบร้อยแห่งทั้งในลาว ไทย และเวียดนาม

ถ้าเกิดวิกฤตกับแม่น้ำโขง ทั้งน้ำโขงแห้งหรือขึ้นลงผิดธรรมชาติที่ จ.เชียงราย นั่นคือ ผลกระทบจากเขื่อนจีนเต็ม

ถ้าเกิดวิกฤตกับแม่น้ำโขงแถบภาคอีสานของไทย ตั้งแต่จังหวัดเลยถึงอุบลราชธานี เช่น น้ำโขงแห้ง น้ำในลำนำลดระดับอย่างรวดเร็วหรือขึ้นลงผิดธรรมชาติ น้ำโขงมีสีครามราวน้ำทะเลเพราะเกิดภาวะไร้ตะกอน (Hungry water) แน่นอนว่า เกี่ยวข้องกับเขื่อนจีนด้วย แต่หลักๆ มาจากการควบคุมน้ำเพื่อผลิดตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี

เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น บางคนก็ตำหนิ NGOs ว่าไม่ทำอะไร ความจริง คือ NGOs เคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านเขื่อนจีนมากว่า 20 ปี ต่อต้านเขื่อนไซยะบุรีมานานถึง 10 ปี มีทั้งการวิจัย การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง แต่รัฐและทุนไม่ฟัง 

ขณะที่สังคมไม่ตระหนักว่า การสร้างเขื่อนจะนำมาซึ่งหายนะ คิดแต่จะเอาประโยชน์จากแม่น้ำ คิดแต่จะสะดวกสบายจากการมีไฟฟ้าใช้ โดยไม่สนใจใยดีต่อธรรมชาติและผู้คนอีกกว่า 60 ล้านคนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขง

เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น บางคนถึงกับเรียกร้องให้เร่งสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ในทำนองว่าเป็นทางออก แต่การสร้างเขื่อนกั้นสาขาแม่น้ำโขงจะยิ่งจะทำให้เกิดหายนะให้กับแม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้น ดูเขื่อนปากมูลในไทยเป็นตัวอย่าง

ตะไคร่น้ำที่ค้างเติ่งบนตอไม้และแห้งตาย หลังน้ำลดลงอย่างเฉียบพลัน บริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรี บริเวณบ้านหาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย เครดิตภาพ ชาญชัย ตาจันทร์ กลุ่มไลน์คนฮักแม่น้ำโขง

ทางออกมีไม่มาก แต่ก็มีความหวัง

หนึ่ง รัฐบาลลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องเรียกร้องต่อจีนให้หยุดเห็นแก่ตัว การใช้งานเขื่อนต้องตระหนักถึงคนท้ายน้ำ ตัวอย่าง คือ การที่รัฐบาลลุ่มน้ำโขงตอนล่างในนามของ MRC เรียกร้องต่อจีนในขณะนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องส่งเสียงและวิพากษ์วิจารณ์จีนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ร่วมมือกับจีนในด้านธุรกิจหรือรับความช่วยเหลือโดยไม่สนใจแม่น้ำโขงและคนในประเทศของตนที่ต้องแบกรับภาระ

สอง รัฐบาลลุ่มน้ำโขงตอนล่างโดยเฉพาะไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องมีมาตรการบังคับให้ทุนไทยที่เป็นเจ้าของเขื่อนไซยะบุรีแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงบริเวณท้ายเขื่อน รวมทั้งหยุดผลักดันโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากแบง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม ฯลฯ รวมถึงทบทวนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงและโครงการผันน้ำต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงด้วย

สาม สังคมต้องหยุดโปรจีนและหันมาวิพากษ์จีนให้มากที่สุด #MilkTeaAlliance คือ ตัวอย่าง แน่นอนกว่าจีนเป็นพี่ใหญ่ทางเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น การวิพากษ์การลงทุนของจีนกรณีแม่น้ำโขงจึงต้องอาศัยพลังของสังคมและต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง

สี่ นอกจากวิพากษ์จีนแล้วก็อย่าปล่อยให้ทุนไทย รัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนไซยะบุรีลอยนวล พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงด้วย

ห้า สังคมควรสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้าน NGOs และนักวิชาการ ที่กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสายนี้

หก การสร้างเขื่อน คือ ธุรกิจของอุตสาหกรรมพลังงาน ธุรกิจกลุ่มนี้ไม่ได้ตระหนักถึงหายนะที่เกิดกับแม่น้ำโขงที่เป็นมรดกของคน 60 ล้านคน สังคมต้องผลักดันให้รัฐบังคับให้การทำธุรกิจของกลุ่มนี้ต้องยึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) ขอให้ดูตัวอย่างของเกาหลีใต้ที่จัดการกับทุนของเขาที่มาสร้างเขื่อนในลาวและพังจนมีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก

เจ็ด สังคมควรมีความคิดกับเขื่อนใหม่ เขื่อนไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่มีเขื่อนไหนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และงานศึกษาเขื่อนทั่วโลกของคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก (World Commission on Dams) ก็ชี้ให้เห็นแล้วเขื่อนได้ไม่คุ้มเสีย

หลายปีมานี้ ในยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเริ่มทยอยรื้อเขื่อนหรือยกเลิกการใช้เขื่อน ในอนาคตเมื่อเขื่อนเริ่มหมดอายุ เขื่อนจะยิ่งอันตรายเพราะต้นทุนในการบำรุงรักษาให้เขื่อนปลอดภัย จะสูงมากจนอาจรับภาระไม่ไหว

ในวันนี้ การปกป้องแม่น้ำโขงอาจไม่สำเร็จ เขื่อนแล้วเขื่อนเล่าเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ดนฤดูฝน แต่วันข้างหน้า ถ้าไม่รุ่นเราก็รุ่นลูกรุ่นหลานเรา เราหลีกไม่พ้นที่จะต้องมีการรื้อเขื่อนหรือยกเลิกการใช้เขื่อน

image_pdfimage_print