ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง

“แถวหน้าอำเภอเขาไม่ให้ตั้งรถขายของแล้ว”  แม่ค้าขายข้าวบริเวณ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม กล่าว

“เงียบพี่ไม่มีคนมาเลย เข้าไม่อยากให้นั่งนาน” ผู้จัดการผับแห่งหนึ่งในจ. อุบลราชธานี บอกเล่า

“วันนี้ (12 พฤษภาคม 2564) ที่บริเวณชั้น 3 sky Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เขตจตุจักร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อม การจัดสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 (รัฐบาลไทย)

นับตั้งแต่การตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ในประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม 2563 จนถึงตอนนี้เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งแล้ว เชื้อโรคดังกล่าวยังคงอยู่กับสังคมไทยและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ในต่างประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เยอรมัน และอังกฤษ

ซึ่งในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโรคไวรัสดังกล่าวตรวจพบว่ามีอัตราผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ตอนนี้หลายประเทศสามารถแจกจ่ายวัคซีนป้องกันไวรัสให้กับประชาชน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มการผ่อนปรนมาตรการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอิสราเอล กำลังจะประกาศให้ประชาชนในประเทศไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย ประชาชนสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ และมีนโยบายเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบเดินทางได้แล้ว

สำหรับประเทศไทย ในช่วงแรกรัฐบาลยังไม่มีมาตรการสกัดกั้นการระบาดของเชื้อไวรัสที่มาจากต่างประเทศ จนกระทั่งเกิดการติดเชื้อจำนวนมากจากกรณีสนามมวยลุมพินี ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 ส่งผลให้รัฐบาลเริ่มมีการออกมาตรการต่างๆในการควบคุมโรค ตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการการควบคุมโรค (ศคบ.) การประกาศ พรก.ฉุกเฉิน การสั่งล็อคดาวน์จังหวัดต่างๆ

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ขณะออกตรวจ ภาพโดย Chris Beale

การให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการควบคุมโรคในจังหวัดของตนเอง  การสั่งการกำนันและผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการควบคุมคนเข้าออกในพื้นที่ รวมถึงการรณรงค์อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ และการรณรงค์ให้ล้างมือและสวมหน้ากากอนามัย ผลที่ตามมาคือ ในช่วงแรกดูเหมือนว่ามาตรการของรัฐจะสามารถหยุดการติดเชื้อไวรัสได้ ส่งผลให้ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยมาก จนได้รับการชื่นชมจากองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) เรื่องประสิทธิภาพในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19

อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสดังกล่าวกลับมาเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้งเป็นระลอกที่ 2 กรณี การติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร และบ่อนพนันในจังหวัดระยอง ในช่วงธันวาคม พ.ศ.2563 จนกระทั่งการระบาดในระลอกที่ 3 กรณีมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 จนตอนนี้ยังไม่สามารถจะสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ 

นอกจากมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รัฐได้มีความพยายามที่จะออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสผ่านการจัดทำโครงการแจกเงินเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ผ่านมามีทั้งหมด 13 โครงการ รวมเงินประมาณ 6 แสนล้านบาท (โปรดดูเพิ่มเติมในตารางที่ 1) เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและมาตรการในการควบคุมโควิดของรัฐให้สามารถดำเนินต่อไปได้

ตารางที่ 1 โครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐจะมีโครงการเยียวยาและช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน แต่ยังคงมีแรงงานจำนวนมากที่ตกงานเพราะถูกเลิกจ้าง ร้านค้าต่างๆต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีลูกค้า โรงแรมหลายแห่งขาดทุนจำนวนมากจนถึงปิดกิจการเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักและยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก มากกว่านั้นมีคนฆ่าตัวตายเพราะทนกับสภาพเศรษฐกิจไม่ไหว บทความนี้จึงต้องการชี้ให้เห็นว่าโครงการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนดังกล่าวได้สะท้อนถึงความไม่เข้าใจของรัฐไทยในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง นโยบายช่วยเหลือของรัฐไม่สะท้อนความเป็นจริง กล่าวคือ รัฐให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโดยการแจกเงินช่วยเหลือ อย่างเช่น โครงการเราชนะ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงม.33 เป็นต้น แต่การช่วยเหล่านี้ไม่ได้คำนวณถึงต้นทุนการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานว่าเพียงพอไหม เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบบางคนมีการเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัยและมีลูกต้องเลี้ยงดู การให้เงินสัปดาห์หรือเดือนละไม่กี่พันบาท เป็นเวลาระยะสั้น อาจจะพอแค่ค่าอาหารในเดือนนั้นแต่ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับที่พักอาศัยและเลี้ยงดูครอบครัว ยกตัวอย่าง แรงงานในร้านอาหาร และโรงแรม

เมื่อรัฐมีคำสั่งห้ามลูกค้าเข้ามากินหรือคำสั่งปิดเมืองทำให้ลูกค้าที่จองไว้เดินทางมาไม่ได้ ผลที่ตามมาคือ แรงงานพวกนี้ต้องถูกพักงาน หรือตกงานในกรณีที่เจ้าของกิจการแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่ไหว แรงงานขาดรายได้แต่ค่าใช้จ่ายยังคงมีอยู่และมีมากกว่าที่รัฐบาลมอบเงินช่วยเหลือให้ สิ่งที่เขาทำได้คือเดินทางกลับบ้านมาหางานทำที่บ้านเกิดของตนหรือไปหางานทำที่อื่น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรซึ่งไปขัดกับการรณรงค์ของรัฐที่ให้อยู่บ้านหยุดเชื้อ เพื่อชาติ ในความเป็นจริงนั้นเขาจะอยู่บ้านได้อย่างไรเนื่องจากมีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงและมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ซึ่งมากกว่าเงินที่รัฐให้

ประการที่สอง นโยบายช่วยเหลือของรัฐเป็นลักษณะของการพึ่งพาโชค ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่กระจายไวรัสจะได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด แต่มีแค่บางกลุ่มเท่านั้นที่จะโชคดีสามารถลงทะเบียนกับทางรัฐทันถึงจะได้รับสิทธิดังกล่าว เช่น โครงการคนละครึ่ง ประชาชนต้องตื่นมารอเพื่อแย่งกันลงทะเบียนกับโครงการตั้งแต่ 6 โมงเช้าให้ทัน ส่วนคนที่ลงไม่ทันนั้นต้องรอฟังมาตรการช่วยเหลือของรัฐต่อไป สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบและมีความจำเป็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือนั้นการรอถือว่ามีความหมายกับชีวิตของเขาอย่างมากเพราะเป็นเงินที่ช่วยให้เขามีชีวิตรอดจากผลกระทบจากทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้ แต่คำถามคือ ทำไมสิทธิการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวถึงต้องแย่งกันลงทั้งๆที่ทุกคนก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด รัฐควรมอบสิทธินี้ให้กับทุกคนไม่ใช่ให้กับคนที่มีอินเตอร์เน็ตเร็วหรือมีสมาร์ทโฟนที่สามารถชิงลงทะเบียนได้ก่อน

ประการที่สาม การช่วยเหลือที่ล่าช้า ภายหลังจากที่รัฐมีการประกาศ พรก.ฉุกเฉินและประกาศล็อคดาวน์ 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2563  ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รัฐได้มีการจัดทำโครงการ เราไม่ทิ้งกัน เพื่อให้เงินเยียวยากับประชาชนที่เป็นกลุ่มแรงงานลูกจ้างชั่วคราวและอาชีพอิสระ 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท ตั้งแต่ 28 มีนาคม 2563  – 30 มิถุนายน 2563 แต่สิ่งที่พบคือ ขั้นตอนในการให้เงินช่วยเหลือมีความล่าช้าอย่างมาก มีผู้ลงทะเบียน 27.5 ล้านคน แต่มีผู้ได้รับเงินเยียวยาเพียง 15.5 ล้านคน เท่านั้น เป็นผลให้ประชาชนเกิดการตั้งคำถามถึงเรื่องคุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิว่าใครควรได้รับสิทธิบ้าง อาชีพอิสระคืออะไร และการนำระบบ AI มาใช้ในการคัดกรองผู้มีสิทธิก็เกิดปัญหาในเรื่องของการระบุอาชีพ เช่น ทำงานมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ระบบระบุว่าเป็นเกษตรกร ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ ต้องทบทวนขอสิทธิกันใหม่ซึ่งทำให้การได้รับเงินล่าช้าออกไป 

ผู้ค้ารายย่อยได้รับผลกระทบจากการปิดตลาดล็อคดาวน์และราคาแมสป้องกันไวรัสที่ราคาแพงเกินกว่ารัฐบาลกำหนดเป็นสินค้าควบคุม ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่ของสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือสีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยรัฐมีคำสั่ง

  1. ให้ร้านหรือสถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะนำกลับไปบริโภคได้เท่านั้น 
  2. งดเว้นการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอลในร้าน 
  3. กำหนดให้ร้านเปิดบริการได้ถึง 21.00 น.
  4. ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน และห้ามฟิตเนสและสถานที่ออกกำลังกายให้บริการ         
  5. ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม งดเว้นการเดินทางออกนอกสถานที่ เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือรอบใหม่เพิ่งจะเริ่มให้เงินช่วยเหลือกับประชาชนในช่วงเดือนปลายเดือน พฤษภาคม 2564 สัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในโครงการม.33 เรารักกัน ที่ให้กับกลุ่มผู้มีสิทธิประกันตน ม.33 และมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท และให้เงินเดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ในโครงการเราชนะกับแรงงานรับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราวและแรงงานอิสระ กล่าวให้ถึงที่สุด พวกเขาเหล่านั้นได้รับผลกระทบไปแล้วแต่ต้องรออีก 1 เดือนกว่าที่จะได้รับการช่วยเหลือ ที่สำคัญการช่วยเหลือไม่ได้ลงไปเฉพาะจุดในพื้นที่ที่รัฐมีมาตราการเข้มงวดแต่กลับกระจายไปตามกลุ่มต่างๆทั่วประเทศ

ประการที่สี่ การช่วยเหลือของรัฐไม่มีความแน่นอนและเลี่ยงบาลี มาตรการที่ออกมาในเรื่องของการสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสของพื้นที่สีแดงเข้ม (ที่ได้กล่าวไปข้างต้น) นี้ไม่ต่างจากการประกาศล็อคดาวน์จังหวัดต่างๆในช่วง พ.ศ.2563 คือควบคุมการเคลื่อนย้ายของคนและกิจกรรมเศรษฐกิจทางด้านการค้าและการบริการ แต่สิ่งที่ต่างกันในก่อนนั้นรัฐมีการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจ ในเรื่องของค่าไฟฟ้า การลดภาษีในหลายรายการรวมถึงการลดจำนวนเงินที่ส่งให้กับประกันสังคม ประกอบกับธุรกิจต่างๆยังมีเงินสำรองที่จะเลี้ยงตัวเองได้ แต่มาในปี พ.ศ.2564 รัฐไม่ได้มีมาตรการในการช่วยเหลือธุรกิจต่างๆมากไปกว่าการขยายเวลาการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปอีก 1 ปี แต่ในส่วนการจ่ายเงินประกันสังคมให้กับลูกจ้าง 50 % นั้น ประกันสังคมไม่สามารถจ่ายได้เพราะรัฐไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดกิจการเหมือนใน พ.ศ.2563 ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจเหล่านี้ต้องแบกรับต้นทุนจ้างลูกจ้างไว้เพื่อที่ว่าถ้ารัฐลดระดับมาตรการจะได้ดำเนินธุรกิจต่อได้ทันไม่ต้องหาลูกจ้างใหม่ หรือปิดกิจการลงเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

ประการที่ห้า การช่วยเหลือของรัฐที่มีลักษณะสะท้อนโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจ เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นของไวรัส องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพยายามที่จะออกมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่สิ่งที่พบในช่วงแรกคือ องค์กรปกครองท้องถิ่นไม่สามารถนำงบกลางที่มีเป็นจำนวนมากออกมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ เนื่องจากกรมควบคุมโรคยังไม่ประกาศเป็นสาธารณภัย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค ที่สำคัญการเอาเงินดังกล่าวออกมาใช้อาจจะนำไปสู่การตรวจสอบจาก ปปช. ผลที่ตามมาคือ การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการช่วยเหลือประชาชนต้องรอคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยในการอนุมัติให้เอาเงินก้อนดังกล่าวมาใช้จ่ายได้ ทั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด ควรที่จะเริ่มทำงานรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและการช่วยเหลือประชาชนควรทำทันทีแต่กลับต้องรอคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยก่อน

มากกว่านั้น การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนั้นจะเป็นไปในลักษณะของการช่วยป้องกันการแพร่กระจาย ตรวจสอบคนเข้าออกในพื้นที่ และการมอบของช่วยเหลือเท่านั้น เพราะถ้าทำมากกว่านี้ต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย เห็นได้จากข่าวกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งจะสั่งวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่แต่ความคิดดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานส่วนกลางและผู้มีอำนาจในรัฐบาล

ประการที่หก วัฒนธรรมการช่วยเหลือแบบเอาหน้าบนภาษีประชาชน เมื่อภาครัฐหรือภาคเอกชนมีกิจกรรมที่จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส สิ่งที่พบคือ การจัดกิจกรรมต้องมีการเกณฑ์เจ้าหน้าที่มาร่วมพิธีเปิด มีผู้มีอำนาจมาเปิดงานและทำการมอบสิ่งของเหล่านั้นให้กับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ หรือติดป้ายตัวใหญ่ๆ ว่ามีผู้มีอำนาจมามอบของให้กับประชาชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจเหล่านั้น ความตลกร้ายคือ สิ่งของและความช่วยเหลือดังกล่าวมาจากภาษีของประชาชนหรือมาจากเงินของภาคเอกชนแต่ต้องมีพิธีเปิดงานและประกาศความช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับรู้ มากกว่าที่คำนึงถึงความปลอดภัยและการเว้นระยะห่างตามที่รัฐพยายามรณรงค์เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัส 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ตรวจคัดกรอกระหว่างจังหวัด

 ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นต้องคำนึงความรวดเร็วและความปลอดภัยเป็นหลัก แต่สิ่งที่เห็นในสังคมไทยคือผู้มีอำนาจรัฐบางคนมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อขอความช่วยเหลือจากประชาชน มีการนำรูปตัวเองไปไว้บนป้ายรณรงค์ของรัฐในการป้องกันเชื้อโรค หรือการเข้าไปแจกของและโพสต์รูปลงสื่อว่าตนเองได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว เช่น การแจกของมักจะมีการติดป้ายใหญ่ๆเพื่อโฆษณาว่าใครเป็นเจ้าของโครงการ หรือการรวมหมู่กันถ่ายรูปว่าผู้มีอำนาจได้เข้าไปตรวจดูและให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว 

จากที่กล่าวมา นับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศจนถึงปัจจุบัน มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากรัฐ มีลักษณะที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม มีความล่าช้าตอบสนองไม่ทันต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น มีความไม่แน่นอน มีการทำงานที่รวมศูนย์อำนาจ และมีวัฒนธรรมเอาหน้าบนภาษีประชาชน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ไม่รู้จะถูกควบคุมได้เมื่อไหร่ การได้รับวัคซีนของประชาชนยังมีความล่าช้า และไม่สามารถจูงใจให้ประชาชนไปฉีดได้ 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า ถึงแม้ว่ารัฐมีความพยายามที่จะช่วยเหลือเยียวยาประชาชนของตนให้ผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดไปให้ได้ แต่ไม่รู้ว่าการเยียวยาในลักษณะที่กล่าวมานี้จะช่วยให้ประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์อันโหดร้ายและสามารถกลับมาตั้งตัวได้อีกไหม? หรือเราจะอดตายเพราะไม่มีกิน ก่อนที่จะติดโควิด !!!

image_pdfimage_print